ชีวิตที่พอเพียง  4602. กำกับตัวเองคือเป้าหมาย


 

หนังสือเรื่อง Discipline is Destiny : The Power of Self Control (2022)  เขียนโดย Ryan Holiday (นักเขียนระดับเบสต์เซลเล่อร์)  เป็นหนังสือในชุด Stoic Series   

Stoicism เป็นลัทธิความเชื่อสมัยหลายพันปีก่อน คือสมัยกรีกและโรมัน   ว่าชีวิตที่มีคุณธรรมเป็นชีวิตที่ดี   ทำให้ผมสะท้อนคิดว่า ผมคงจะเป็นมนุษย์โบราณ    เพราะผมเชื่อเช่นนี้มาตั้งแต่เด็ก จนแก่ใกล้เข้าโลงก็ยิ่งเชื่อแน่นแฟ้นขึ้น   

หนังสือบอกว่า ลัทธิ สโตอิก โบราณ สอนความดี ๔ ด้านคือ ความกล้าหาญ (courage), การกำกับหรือบังคับตัวเองได้ (temperance), ความยุติธรรม (justice), และ ปัญญา (wisdom)   หนังสือเล่มนี้จับเรื่องกำกับตัวเอง  ที่อ่านแล้วเป็นเรื่องเลือกเส้นทางชีวิตของตนเอง   

ยกตัวอย่างด้วยเรื่องราวในตำนาน   ที่ เฮอร์คิวลีส ที่ได้รับข้อเสนอของเทพธิดาสององค์ ตรงทางสองแพร่งในชีวิต    ทางแรกเต็มไปด้วยสิ่งหอมหวานสะดวกสบาย ไม่ต้องเผชิญความยากลำบาก   เทพธิดาองค์ที่สองเสนอเส้นทางที่ต้องทำงานเพื่อความสำเร็จในชีวิต ต้องอดทนมานะพยายามฟันฝ่า   สู่เป้าหมายชีวิตที่ตนเองต้องการ   เรารู้อยู่แล้วว่าเฮอร์คิวลีสเลือกเส้นทางไหน ที่นำเขาสู่ความเป็นวีรบุรุษของโลกตลอดกาล  

การกำกับตนเองนำมาซึ่งเสรีภาพ ไม่ใช่ถูกจำกัดเสรีภาพอย่างที่คนมักเข้าใจ   เป็นการเปิดเสรีภาพผ่านการวางตัว วางความคิดอยู่ในทางสายกลางระหว่างขั้วตรงกันข้าม    สู่การมองเห็นโอกาสใหม่ๆ  ที่คนกำกับตัวเองไม่เก่งไม่สามารถมองเห็นได้    เพราะมัวหลงถือข้าง

การกำกับตนเอง ทำทั้งมิติทางกาย ใจ และจิตวิญญาณ  ผ่านความอดทนมานะพยายามหมั่นฝึกฝนปรับปรุงตนเอง    โดยผมขอเพิ่มว่า เป็นการกำกับตนเองอย่างมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่   ตัวเป้าหมายที่ทรงคุณค่านั้นเป็นพลังสู่การกำกับตนเอง    รวมทั้งมีความมั่นใจว่าตนสามารถฝึกฝนเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นได้    ที่ภาษาวิชาการในปัจจุบันเรียกว่า grit   ซึ่งในภาษาไทยคืออิทธิบาทนั่นเอง 

ในมิติทางกาย    เขาแนะนำให้ออกกำลังกายทุกวัน   จะออกแบบใดก็ได้ โดยมีหลักว่า ให้เกิดความรู้สึกเหนื่อย ล้า หรือไม่สบายนิดๆ ทุกวัน    ผมตีความว่า เป็นการออกกำลังกายเพื่อฝึกใจให้เผชิญอนิฏฐารมณ์อยู่ทุกวัน   ใช้ความรู้สึกนี้เตือนสติให้ฝึกบังคับใจตนเอง     มองอีกมุมหนึ่ง เป็นการฝึกตนเองให้ไม่เสพติด พื้นที่สบาย (comfort zone)    และให้มีความพอใจกับผลประโยชน์ที่ได้รับเพียงเล็กน้อย ผ่านความยากลำบาก 

ตรงกับความเชื่อของผม ที่ได้รับการสอนจาก ศ. นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว ว่า “ชีวิตที่ลำบาก เป็นชีวิตที่เจริญ” 

การมีวินัยทางกายที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ นอนให้พอ    เข้านอนแต่หัวค่ำ เพื่อตื่นเช้า ได้รับบรรยากาศธรรมชาติยามเช้าที่สดชื่น   รวมทั้งให้มีวินัยในการฝึกซ้อมสรรถนะที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง   

มิติทางใจ นอกจากกำกับด้วยกายที่สุขภาพดีแล้ว   ต้องฝึกสุขภาพใจด้วย   ด้วยการฝึกให้จิตสงบในท่ามกลางความวุ่นวายรอบตัว    โดยผมตีความว่า เป็นการกำกับตนเองให้อยู่ในอารมณ์บวก 

ต้องกำกับให้ กาย จิต และจิตวิญญาณ ประสานสัมพันธ์กัน (align)   หรือมีดุลยภาพ   โดยตั้งความหวังไว้สูงเสมอ   และไม่ว่าจะทำอะไร ทั้งที่ได้ผลดีเกินคาด และที่ล้มเหลว ต้องมีการเรียนรู้จากประสบการณ์เสมอ   ชีวิตจึงมีแต่ได้กับได้ ทั้งจากประสบการณ์ของความสำเร็จ   และจากประสบการณ์ที่ล้มเหลวที่ไม่ได้ผลงาน แต่ได้เรียนรู้สูงมาก   ทดแทนตัวผลงานที่ไม่ได้ 

กำกับตัวเองให้ตั้งเป้าสูง    แต่ไม่ท้อหรือทุกข์เมื่อไม่ได้ตามเป้า    มุ่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาต่อเนื่อง

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ต.ค. ๖๖

   

หมายเลขบันทึก: 716405เขียนเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2023 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2023 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบคำว่า กำกับตนเองไม่เก่งเพราะมัวถือข้าง

ถ้าเราไม่ถือข้างจะทำให้เรามีเสรีภาพของตนเอง

เป็นเรื่องจริงเลยค่ะ เพราะคนหลงถือข้างจะเป็นทาสเกือบทั้งชีวิต

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท