ชีวิตที่พอเพียง  4578. นิวยอร์ก ๒๕๖๖  (7) ชีวิตส่วนตัวของคนแก่ในการเดินทางไกลคนละซีกโลก


 

หัวข้อของบันทึกนี้เป็นโจทย์ส่วนตัวของผมในการเดินทาง ๑ สัปดาห์ (๒๓ - ๒๙ กันยายน ๒๕๖๖) ครั้งนี้    เพราะการเดินทางไกลแบบโหดต่อร่างกายคนแก่วัย ๘๑ ครั้งสุดท้ายก่อนหน้านี้คือ เดือนตุลาคม ๒๕๖๑ ดังบันทึกไว้ที่ (๑)    ตอนนั้นผมหนุ่มกว่านี้ ๕ ปี    ไปพักที่อีกโรงแรมหนึ่ง     

การปรับเวลาใน biological clock ของสมองน่าจะเริ่มดีขึ้นในคืนวันที่ ๒๔ ที่ผมเข้านอนก่อนเวลาสามทุ่มเพราะง่วงจัด (ทนนั่งทำงานเพื่อจะได้เข้านอนตามเวลาท้องถิ่นที่ตรงกับวัตรปกติที่เมืองไทย) และตื่นเองเวลาเกือบตีสาม   

ในการเดินทางครั้งนี้ ที่นิวยอร์ก ฝนตกในวันที่ ๒๔ - ๒๖    ทำให้ไม่ได้เดินออกกำลังตอนเช้า    สู้ตอนไปเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๑ ไม่ได้เลย    ยิ่งเมื่อย้อนกลับไปอ่านบันทึกที่ไปเมื่อปี ๒๕๖๐ (๒) ซึ่งไปพักที่โรงแรม Fairfield Inn ได้เดินออกกำลังตอนเช้าดีมาก    คราวนี้ได้เดินออกกำลังตอนเช้าเพียงวันที่ ๒๗ วันเดียว   

ข้อดีของการเดินทางแบบนี้คือ ได้มีโอกาสพูดคุยหาความรู้จากคนรุ่นลูกรุ่นหลาน   ได้ทำความเข้าใจวิถีชีวิต และวิธีคิดของเขา    รวมทั้งความรู้รอบตัวอื่นๆ   อย่างตอนกินอาหารเช้าวันที่ ๒๕ กันยายน ที่ห้องอาหารของโรงแรม    ได้คุยกับ ดร. ตวง วลัยพร พัชรนฤมล ผอ. กองการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข  ที่ไปประชุม UNGA ในสัปดาห์ก่อนด้วย   ผมถามว่าได้ความรู้อะไรจากการเข้าร่วม   ได้คำตอบว่า UNGA  ต่างจาก WHA   ตรงที่ WHA มีสาระมากกว่า    ในขณะที่ UNGA เต็มไปด้วยพิธีกรรม   เพราะคนที่มาประชุมเป็นหัวหน้ารัฐบาล   ต่างก็มาหาพวก มาใช้เวทีขององค์การสหประชาชาติเป็นที่แสดง เพื่อหาเสียงจากประชาชนภายในประเทศ ให้รัฐบาลของตนได้รับความนิยม    จะเห็นว่า เวทีการเมืองระหว่างประเทศ กลายเป็นเวทีหาเสียงภายในประเทศ   

ในฐานะผู้สูงอายุ พ้นจากความรับผิดชอบองค์กร และไม่ค่อยได้รับรู้ความขัดแย้งต่างๆ    การได้นั่งคุยกับคนรุ่นลูกศิษย์ ได้รับฟังเรื่องราวต่างๆ   ช่วยให้ได้เรียนรู้โลกและโลกย์มนุษย์   และผมตีความว่า ความเจริญก้าวหน้าหรือความถดถอยในสังคม ส่วนใหญ่ขึ้นกับตัวมนุษย์เอง   หากมีกิเลสตัณหาเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก สังคมและโลกก็ปั่นป่วน    หากมีศรัทธาและปัญญาเป็นตัวเคลื่อน โลกก็ขยับไปในเส้นทางที่มีความยั่งยืน   ปัญหาอยู่ที่มนุษย์ไม่รู้ตัวว่าตนเองตกอยู่ในภพภูมิแห่งปัญญาหรือตัณหากันแน่    ที่จริงปุถุชนมีทั้งสองด้านผสมปนเปกันไปอย่างซับซ้อน   ขึ้นอยู่ว่าใครจะมีฝ่ายกุศลเป็นเจ้าเรือนมากหน่อย   

ยิ่งช่วงนี้เปลี่ยนรัฐบาล และข้าราชการตำแหน่งสูงเกษียณอายุราชการกันมาก   เป็นโอกาสให้นักการเมืองได้แต่งตั้งข้าราชการระดับสูง    ที่เมื่อข่าวออกมาและผู้รู้วิพากษ์ให้ฟัง ผมก็ได้เรียนรู้วิธีใช้อำนาจเพื่ออำนาจพรรคและเพื่ออำนาจตนเอง  ที่คนซื่อบื้ออย่างผมคิดไม่เป็น          

เช้าวันที่ ๒๗ กันยายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม และคืนนี้ก็จะเดินทางกลับ    ฝนไม่ตก   ผมจึงได้โอกาสไปเดินออกกำลัง และรำลึกถึงความหลังนิดหน่อย    เดินไปตามถนนในอุณหภูมิ ๑๑ องศา (สวมเสื้อ ๓ ชั้น)   จนถึง Bryant Park พบว่าสวนยังกั้นโซ่ ระบุว่ายังปิดอยู่  ก็เดินกลับ    ที่จริงมีคนเดินข้ามโซ่เข้าไป    แต่ผมไม่อยากทำเช่นนั้น    ระหว่างเดิน มีสาววิ่งออกกำลังผ่านมา นุ่งกางเกงขาสั้น และเสื้อกล้ามตัวเดียว    และระหว่างทางก็พบคนไร้บ้านนอนแผ่หราอยู่ข้างทาง   

ข้อน่าสังเกตคือ ระหว่างที่เราเดินไป Rockefeller Foundation   และเดินไปภัตตาคาร ได้กลิ่นกัญชาอบอวล   ทำให้นึกถึงหนังสือเรื่อง หลงกลิ่นกัญชา โดย รงค์ วงษ์สวรรค์    ถามผู้รู้ ได้ความว่า เราได้กลิ่นเพราะเขาสูบริมถนนในรูปของบุหรี่  

วิจารณ์ พานิช      

๒๗ ก.ย. ๖๖

โรงแรมฮิลตัน การ์เด้นท์อินน์ ถนน ๓๕   นิวยอร์ก   และบนเครื่องบิน EVA Air กลับกรุงเทพ     

 

หมายเลขบันทึก: 715162เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2023 18:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2023 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์เก่งนะคะ ที่เดินทางไกลและใช้เวลานานมากค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท