บทเรียนอิสราเอล ( Israel Lesson)


ก่อนอื่นผมก็ขอแสดงความเสียใจกับบุคคล ครอบครัว และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายกับเหตุการณ์สู้รบกันที่ตะวันออกกลาง ส่วนเรื่องราวเป็นอย่างไร เชื่อว่าทุกคนก็คงได้รับข้อมูลและข่าวสารเช่นเดียวกับที่ผมได้รับครับ สำหรับประเด็นที่ผมจะเขียนไว้นี้เป็นความเห็นและข้อเสนอแนะซึ่งอาจจะเป็นทางออกสำหรับประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แต่เป็นผู้ได้ร้บผลกระทบครับ 

จากข้อมูลและข่าวที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยคือเรามีแรงงานไทยจำนวนกว่า 7,000 คนที่ประสงค์จะกลับประเทศ และอีกหลายหมื่นคนยังจะอยู่ต่อในประเทศอิสราเอล เพื่อทำงานต่อไป ส่วนแรงงานเหล่านี้จะกลับมาเมื่อไหร่ และอย่างไรนั้น ผมก็ให้กำลังใจกับรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ทุกคนครับ 

แต่สิ่งที่ผมแปลกใจอย่างยิ่งคือ (1) ไม่น่าเชื่อว่าแรงงานไทยมีฝีมือจะไปทำงานในประเทศอิสราเอลมากขนาดนั้น และประเทศอื่นๆ อีกเท่าไหร่ และ (2) ที่แปลกใจยิ่งขึ้นคือแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่ไปทำงานเกษตรกรรมครับ เกษตรกรรมในประเทศที่อยู่ท่ามกลางทะเลทราย และภูมิอากาศแห้งแล้ง ขณะที่ประเทศไทยซึ่งมีดินที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์และสภาพแวดล้อมเหมาะในการทำเกษตร กลับไม่มีงานให้พวกเขาทำครับ 

จะด้วยเหตุผลกลใดก็ชั่ง แต่เมื่อวิกฤติได้เกิดขึ้นแล้ว คือ เรามีพี่น้องผู้ใช้แรงงานจำนวมากที่ต้องเดินทางกลับจากอิสราเอลเพราะสงคราม และหลายคนในจำนวนนั้นยังเป็นหนี้ที่ยืมมาใช้ในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยหวังว่าจะใช้เงินเดือนที่ได้จากการขายแรงงานเพื่อใช้คืนเงินยืม แต่บัดนี้ไม่มีโอกาสนั้นแล้ว ถ้ารัฐบาลจะใช้หนี้แทนก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องนัก และที่จะชดเชยก็คงเป็นแค่การเยียวยาเบื้องต้นเท่านั้น การนี้ผมมีข้อเสนอดังนี้ครับ 

  1. รัฐบาลน่าจะประสานงานกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อสร้างศูนย์การเกษตรเมืองเหนือในพื้่นที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หรือหาที่ดินแถวนั้นจัดตั้งเป็นศูนย์การเกษตรดังกล่าว และรับแรงงานฝีมือที่จะกลับมาเข้าทำงาน (หรือจะเปิดรับบุคคลทั่วไปเข้าทำงานด้วยก็ได้) และให้มหาวิทยาลัยแม้โจ้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการ โดยรัฐบาลตั้งกองทุนเพื่อดำเนินงาน ซึ่งน่าจะดีกว่าการจ่ายหนี้แทนครับ ส่วนการจำหน่ายผลผลิต ก็คงเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการต่างประเทศ ในกรณีที่จะส่งขายต่างประเทศครับ 
  2. อีกโครงการหนึ่งน่าจะทำคือ ศูนย์ประมงน้ำจืดที่ทะเลสาบสงขลาและพืชพิ้นถิ่น ที่จังหวัดสงขลา และที่โขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งที่จังหวัดสงขลานั้นรัฐบาลควรประสานงานให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ส่วนที่จัวหวัดอุบลราชธานีนั้นรัฐบาบควรประสานให้วิทยาลัยเกษตรหนองขอน (วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งวิทยลัยมีศูนย์เพาะพันธุ์สัตว์น้ำของตนเองอยู่แล้ว และมีบึงบัวติดรั้ววิทยาลัยด้วย 

ทั้งสองโครงการนี้น่าจะสมารถรองรับแรงงานที่กลับจากประเทศอิสราเอลได้มากพอสมควร และหากแนวคิดนี้ใช้ได้ รัฐบาลก็ควรเป็นศูนย์เกษตรกรรม และการประมงน้ำจืดแหล่งอื่นๆ ต่อไปเพื่อเป็นส่วนสนับสนุนโครงการเกษตรอินทรีย์ และนโยบายบายครัวไทยสู่ครัวโลกได้ในระยะต่อไปครับ 

สมาน อัศวภูมิ 

17 ตุลาคม 2566

 

หมายเลขบันทึก: 715058เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2023 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2023 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท