ชีวิตที่พอเพียง  4563. เดินทางไปประชุมวิชาการ HTASiaLink ที่มาเลเซีย : การเดินทางขาไป และวันที่ ๑


 

วันอาทิตย์ที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๖ ผมเดินทางโดยสายการบิน แอร์เอเซีย จากดอนเมืองไปกัวลาลัมเปอร์    ได้มีประสบการณ์การใช้สนามบินดอนเมืองอาคาร ๑ เพื่อเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรก   ได้รับรู้ว่าการตรวจความปลอดภัยเข้มงวดกว่าสนามบินภายในประเทศอย่างมากมาย    และได้มีประสบการณ์ใช้บัตร Priority Pass เข้าไปใช้บริการห้องรับรอง Miracle เป็นครั้งแรกในชีวิต   ได้เห็นความสะดวกสบาย และบริการที่ดีเยี่ยม    ดีกว่าเล้าจ์นของสายการบิน   

ผมแลกเงินริงกิตไป ๑ พันบาท เผื่อเอาไว้ซื้ออาหารกิน    ได้มา ๑๒๘ ริงกิต    อัตราแลกเปลี่ยนประมาณ ๘ บาทต่อ ๑ ริงกิต  แสดงว่าในช่วงเวลาสี่สิบปีที่ผ่านมาเงินไทยแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินมาเลย์    ตอนที่ผมอยู่หาดใหญ่อัตราแลกเปลี่ยน ๑ ริงกิตประมาณ ๑๒ บาท       

ยิ่งได้ไปนั่งคุยกับ ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย ที่กำลังดำเนินการองค์กร ธัชภูมิ ยิ่งประเทืองปัญญา     และยิ่งดีใจที่ทราบว่า ดร. นพ. สุภกร บัวสาย กำลับเริ่มค้นหาแนวทางตั้งองค์กรใหม่ ที่จับเรื่องการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ เตรียมเป็นผู้สูงอายุ ภายใต้ digital platform ยิ่งดีใจแทนสังคมไทย   

HITAP เป็นสปอนเซอร์ของการเดินทางครั้งนี้   เพื่อไปประชุม 11th HTASiaLink Annual Conference 2023 : Reshaping and Reshifting Health Technology Assessment in Navigating the Future Landscape  ที่นคร Putrajaya  มาเลเซีย   วันนี้มีทีมไฮแท็ปเดินทางโดยสายการบินเที่ยวเดียวกัน ๓๘ คน   พรุ่งนี้จะไปอีก ๒๘ คน    และวันที่ ๗ ทีมธุรการอีกจำนวนหนึ่งจะเดินทางไปร่วมการประชุม Retreat ของมูลนิธิที่กัวลาลัมเปอร์   

เป็นครั้งแรกที่ผมเดินทางระหว่างประเทศโดยสายการบินแอร์เอเซีย    พบว่าบรรยากาศบนเครื่องบินแทบไม่ต่างจากเที่ยวบินภายในประเทศ    ถามทีมไฮแท็ปเรื่องราคาตั๋วเครื่องบินไปกลับ ได้ความว่าแปดพันกว่าบาท         

ตอนเครื่องจะลง เห็นสวนปาล์มน้ำมันเป็นระเบียบกว้างสุดลูกหูลูกตา    ดร. สีลาภรณ์บอกว่า เขากำลังจเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นเป็นครั้งที่สาม   คือครั้งที่ ๑ ปลูกยางพารา   แล้วเปลี่ยนเป็นสวนปาล์มน้ำมัน   ครั้งที่สามจะเป็นพืชอะไร ดร. สีลาภรณ์จำไม่ได้    ระบบการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมของประเทศมาเลเซียดีกว่าของไทยมาก

จากสนามบินไปนครปุตราจายาระยะทาง ๒๕ ก.ม. ใช้เวลาราวๆ ชั่วโมงครึ่ง   โดยที่รถไม่ได้ติดมากอย่างในกรุงเทพ   ผมมัวนั่งทำงาน จึงไม่ได้สังเกตสภาพสองข้างทาง    ถึงโรงแรม Mercure Living Hotel Putrajaya เวลาราวๆ ๑๕ น. มาเลย์ (เร็วกว่าไทย ๑ ชั่วโมง)    ผมขึ้นห้อง (๒๓๐๑) แล้วขอนั่งทำงาน ไม่ออกไปกินอาหารเย็นตามที่คุณหมอยศเสนอ   เพราะกำลังติดพันตีความและเขียนหนังสือ โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ 

ห้องพักของโรงแรมเป็นคล้ายๆ ห้องพักระยะยาวยาว มีชุดครัว และเครื่องซักผ้าให้ด้วย    แต่สู้โรงแรมแคนทารีฮิลล์ที่เชียงใหม่ไม่ได้   ยิ่งเซนทาราแกรนด์บีชภูเก็ตยิ่งทิ้งห่างมาก  ไม่มีสลิปเปอร์ให้ และในห้องน้ำก็ไม่มีโลชั่น  แต่เตียงนอนสบาย และผ้าเช็ดตัวคุณภาพดีมาก   

ที่น่าชื่นชมคือเขามีระบบรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างขยะพลาสติก    โดยมีกระติกน้ำให้ไปรองน้ำที่เครื่องทำน้ำดื่ม ไม่มีน้ำขวดให้   

ที่น่าสังเกตคือ ไม่เห็นรถติดที่เมืองนี้   

ตอนเช้า ๖.๓๐ น. ผมออกไปเดินออกกำลังรอบๆ โรงแรม  สิ่งแรกที่รู้สึกคืออุณหภูมิต่ำกว่าบ้านเรา (๒๕ องศาเซลเซียส)    พบว่าบรรยากาศของเมืองร่มรื่นมาก    มีสนามหญ้าและต้นไม้สวยงามให้ความสดชื่น    มีเสียงจิ้งหรีดร้อง แต่แปลกที่ไม่ได้ยินเสียงนกร้องเซ็งแซ่แบบที่หมู่บ้านผม 

ห้องพักที่โรงแรมไม่หรูมาก  แต่อาหารสุดยอด    อาหารเช้ามีหลากหลายและมีคุณภาพดี    อาหารเที่ยงที่เลี้ยงโดยการประชุม HTASiaLink ก็จัดที่ห้องอาหารเช้า มีอาหารทะเลสดให้ลวกกินเองในหม้อต้มสำหรับแต่ละคน (Shabu Shabu)   อาหารเนื้อเอาไปให้พ่อครัวย่างบนกระทะเหล็กให้    เขาปรุงมาแล้ว กินอร่อยมาก    ผมเอามามากเกิน กินจนเหนื่อย 

วันที่ ๔ กันยายน  การประชุม Pre-conference Session ที่ชั้น ๓๕ และ ๓๖    ครึ่งเช้า น่าสนใจมาก    ผมเข้าห้อง ๓ เรื่อง Health Equity   ได้รับรู้มิติใหม่ๆ มากมายเกี่ยวกับเครื่องมือ CEA (Cost Effectiveness Analysis)   ที่มีการพัฒนาขยายเป็น DCEA (Distributional CEA) ที่เอา efficiency กับ มา equity ขึ้นตาชั่งเทียบกัน   และ ECEA (Extended CEA) ที่นำเอาผลลัพธ์ที่ไม่ใช่ด้านสุขภาพมาคิดด้วย    คนที่เป็นต้นคิดคือ ศ. Richard Cookson Co-director, Equity in Health Policy Research Group, แห่งมหาวิทยาลัย ยอร์ค    มีการนำหลักการไปทดลองใช้ในหลายประเทศ         

ตอนบ่ายผมไปเข้าฟังเรื่อง OITB – Open Innovation Test Beds : Single Entry Point Supporting Innovations on its pathway to the market เสนอโดยทีมเยอรมัน  ทีมเดียวกับที่มาเสนอเรื่อง iHTS ที่พัทยาเมื่อปีที่แล้ว ที่ผมบันทึกไว้ที่ (๑)      เรื่องดีมาก แต่คนเสนอพูดเยิ่นเย้อน่าเบื่อเหมือนปีที่แล้ว 

ตอนค่ำเป็นงานเลี้ยงต้อนรับ ที่อาคารถัดไปเดินไปในหลังคาเดียวกัน   ได้กินอาหารมาเลย์ และฟังเพลงมาเลย์ ชมศิลปะมาเลย์ที่ให้ความสดชื่นและบันเทิง 

วิจารณ์ พานิช

๔ ก.ย. ๖๖

ห้อง ๒๓๐๑  โรงแรม Mercure Living Hotel Putrajaya

 

 

 

1 วิวเมืองยามเย็น ถ่ายจากห้องพัก

2 วิวเดียวกัน กลางคืน

3 ลู่เดินออกกำลังยามเช้า

 

4 ลู่เดินออกกำลัง และโรงแรมที่พัก

5 ห้องประชุมตอนเช้า คนแน่นจนต้องยืน

6 ห้องประชุมตอนบ่าย คนโหรงเหรง

 

7 ห้องเลี้ยงรับรองตอนแขกยังไม่มา

8 ขันโตกมาเลย์

9 ของหวาน

10 กังฟูมาเลย์ (ผมตั้งชื่อเอง)

11 รำร้อยท่า (ผมตั้งชื่อเอง)

หมายเลขบันทึก: 714648เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2023 18:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กันยายน 2023 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท