ชีวิตที่พอเพียง  4561. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ๒๑๓. โครงการจัดการความรู้และขับเคลื่อนระบบการศึกษาและการเรียนรู้ ระยะที่ ๒ 


 

ต่อจากตอนที่ ๒๑๒ นะครับ

สกสว. จะสนับสนุน “โครงการจัดการความรู้และขับเคลื่อนระบบการศึกษาและการเรียนรู้ ระยะที่ ๒”    ที่ รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี เป็นหัวหน้าทีมดำเนินการ ระยะที่ ๑ และส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ผมวิจารณ์ในบันทึกตอนที่ ๒๑๒ ไปแล้ว    ต่อไปนี้จะวิจารณ์ TOR และข้อเสนอโครงการระยะที่ ๒

ผมชอบแผนผังบอกวัตถุประสงค์ที่สกสว. กำหนด ดังนี้

โดย สกสว. ระบุวัตถุประสงค์ไว้ ๔ ประการคือ  (๑) แนวทางการใช้ ววน. เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศ  (๒) แนวทางการพัฒนากลไกเชิงระบบด้านการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศ  (๓) เครือข่ายการวิจัยทางการศึกษา   (๔) โมเดลขับเคลื่อนแผน ววน. ร่วมกับ PMU และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์   

เมื่ออ่านข้อเสนอของทีมดำเนินการ ที่แยกเป็น ๒ โครงการ แล้ว   ผมคิดว่าท่านยังตีโจทย์ไม่แตก   ยังไม่เดินข้ามเส้นนักวิชาการเชื่อมไปยังฝ่ายปฏิบัติการหลากหลายระดับ หลากหลายมิติ    และยังทำงานแบบจัดประชุมแล้วเขียนรายงาน        

ที่จริงคำกล่าวของผมอาจจะผิด เพราะข้อเสนอของท่าน เน้นที่ฝ่ายปฏิบัติอยู่แล้ว    เน้นที่ผู้ปฏิบัติระดับฐานล่างเสียด้วย    แต่ผมหมายความว่า ผมมองว่าท่านมุ่งสังเคราะห์ความรู้จากปฏิบัติการเหล่านั้นเสนอต่อผู้เกี่ยวข้อง     แต่ผมมองว่าท่านควรให้ผู้เกี่ยวข้อง (โดยเฉพาะจากต้นสังกัด) มาร่วมสังเคราะห์เอง   คือ สกสว. และทีมผู้เสนอโครงการ ควรใช้โครงการนี้ทะลายกำแพงวิชาการ (วิจัย) ที่ขวางกั้นนักปฏิบัติระดับหลักการและนโยบาย ออกจากนักปฏิบัติระดับปฏิบัติการ ที่นักวิจัย (โดยเฉพาะทีมผู้เสนอโครงการ) มักจะเข้าถึงได้ดีกว่า    

ที่จริงความเห็นของผมอาจจะผิด หากมองจากมุมของข้อเสนอโครงการที่ ๒ ที่เสนอกระบวนการขับเคลื่อนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่แล้ว  (แต่ก็ยังไม่เห็นกลยุทธการ engage PMU)    แต่ผมเดาวิธีคิดว่า ผู้เสนอโครงการที่ ๒ มุ่งใช้เวทีที่ ๒ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน แล้วก็จบ    ผมมองว่า ควรใช้เวลาในโครงการ ๑ ปี ให้ท่านเหล่านั้นได้มาเรียนรู้สัก ๓ ครั้ง   โดยมีข้อมูลหลักฐานที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ที่ยกระดับขึ้นจริงในตอนปลายปีการศึกษา ที่มีการประชุมครั้งที่ ๓    ซึ่งหมายความว่า โครงการนี้ต้องจัดเวลาให้สอดคล้องกับปีการศึกษาในโรงเรียน     

ผมไม่เห็นด้วยกับการจัด Education Journey Forum อย่างที่จัดในปีแรก   หากจะจัดต้องจัดแบบ “ข้ามกำแพง” อย่าง ที่ผมเสนอไว้แล้ว   และจัดอย่างมีกลยุทธ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ  engage คนในวงการ ววน.    เน้นที่ PMU   เพื่อสร้างความตระหนัก ว่าวงการ ววน. ไทย ต้องเข้ามาหาทางสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นระบบ ... วิจัยเพื่อพัฒนาระบบการศึกษา   

กล่าวใหม่ว่า EJF แบบใหม่น่าจะใช้กระบวนการแนว Developmental Evaluation   คือหาทาง engage ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบตามที่เสนอในโครงการที่ ๒   แต่ต้องไม่ใช่ engage ครั้งเดียว เพราะจะไม่เกิดผลขับเคลื่อนได้จริง 

วิจารณ์ พานิช 

๒๗ ก.ค. ๖๖    

 

หมายเลขบันทึก: 714610เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2023 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2023 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท