จาก UHC สู่ USP : โอกาสสร้างระบบปกป้องทางสังคมถ้วนหน้า


 

บ่ายวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๖ ศ.นพ. ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย ชวนผมไปร่วมประชุมเรื่อง แนวทางพัฒนาระบบหลักประกันสิทธิโอกาสทางสังคม ที่ กสศ.   ช่วยให้ผมสะท้อนคิดสู่บันทึกนี้

UHC = Universal Health Coverage   คุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า

USP = Universal Social Protection    ปกป้องทางสังคมถ้วนหน้า 

ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องใหญ่มากทางสังคม    คุณหมอศุภสิทธิ์ มีส่วนทำวิจัยเมื่อสามสิบปีที่แล้ว หนุนการเกิดระบบ UHC อันโด่งดังของไทย    ตอนนี้ตั้ง มูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ และหันมาชวนนักวิจัยรุ่นศิษย์ ทำงานวิจัยเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม    น่าสรรเสริญยิ่งนัก   

ผลงานที่เอามาเสนอเป็นการพัฒนาระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม และการเชื่อมต่อข้อมูลของหน่วยงาน    โดย App แจ้งเหตุทาง Line สองชิ้น คือ พม. SMART  กับ ESS   ให้ อพม. (อาสาสมัครพัฒนาสังคมละความมั่นคงของมนุษย์) ที่มีอยู่กว่า ๓ แสนคนทั่วประเทศ    ใช้โทรศัพท์มือถือแจ้งข่าว    เข้าไปยังระบบข้อมูลที่ใช้ง่ายเพื่อให้รายงานว่า เหตุที่เกิดอยู่ในกลุ่มใดใน ๕ กลุ่ม   แล้วระบบข้อมูลจะแจ้งไปยังตำรวจและ พม. จังหวัด    มีการทดลองใช้แล้วในจังหวักพิษณุโลก   

ข้อแนะนำในที่ประชุมที่สำคัญที่สุดคือ    ควรพัฒนา ๒ ระบบให้เกิดการทำงานเสริมกัน คือระบบสร้างเสริมการปกป้องทางสังคม ที่เทียบได้กับ สสส. ด้านสังคม    กับงานด้านแก้ปัญหาอย่างที่นำเสนอ    คือมีทั้งระบบงานเชิงรุกและเชิงรับ   

งาน UHC ของไทย มีพัฒนาการก้าวหน้าสุดๆ ตรงที่มีการแยกระหว่าง purchaser กับ provider   ที่ นพ. ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ เสนอว่า ระบบ USP ก็ควรเดินในเส้นทางเดียวกัน   

นพ. สมศักดิ์ ชุณหะรัศมิ์ เสนอเรื่อง community-based intervention    นำสู่แนวคิดว่า พมจ. ควรทำหน้าที่ provincial manager ของจังหวัด   ไม่ใช่ provider   โดยแต่ละจังหวัดควรพัฒนา provider ขึ้นมา  โดยอาจเป็นมูลนิธิ (เอ็นจีโอ)   หรือเป็นบริษัทที่เป็น social enterprise   มีการวิจัย classification ของปัญหา    และค่าบริการ และเงินช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา ที่รัฐจ่าย   

Essential service เป็นอีกหลักการหนึ่งที่ นพ. สมศักดิ์ เสนอ   เลียนมาจาก essential drug list   และบริการที่อยู่ในรายการของระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า    เป็นอีกโจทย์วิจัยเพื่อนำไปใช้พัฒนาระบบปกป้องทางสังคมถ้วนหน้า (ปคถ. - ผมตั้งเอง)   

งานเชิงรุกของระบบปกป้องทางสังคมถ้วนหน้า ต้องเลยจากตัวเด็ก    ไปสู่ครอบครัว และชุมชน    และต้องเน้นการ empower ให้มีการช่วยตัวเอง และช่วยกันเองในชุมชนเป็นหลัก   ควรหลีกเลี่ยงการช่วยเหลือแบบวัฒนธรรมอุปถัมภ์  หลีกเลี่ยงการช่วยเหลือเพื่อเอาผลงาน CSR หรือเพื่อสร้างภาพลักษณ์   เพราะจะเป็นการบ่อนทำลายคนด้อยโอกาสทางสังคม ไม่ให้มีโอการพัฒนาตนเองให้หลุดจากวงจรความยากจน ความด้อยโอกาส

ผมชอบแนวคิดค้นหา resilient case (กรณีที่ปรับตัวได้)   ที่อาจเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ได้   ที่ฟันฝ่าเอาชนะความยากลำบากหรือปัญหาทางสังคมของตนเองได้   อาจโดยตนเอง หรือมีคนเข้าไปช่วยเหลือ    ให้ในที่สุดมีความสามารถพึ่งตนเองได้    เอาเรื่องราวของคนเหล่านั้นมาเป็นพลัง empower คนที่กำลังเผชิญปัญหา   ให้มีพลังกายพลังใจลุกขึ้นมาต่อสู้ โดยมีระบบช่วยเกื้อหนุน    นี่ก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์วิจัย          

วิจารณ์ พานิช

๕ ส.ค. ๖๖

     

หมายเลขบันทึก: 714334เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2023 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2023 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท