ผมหยิบหนังสือ จากแผ่นดินแม่ สู่แผ่นดินอื่น : รวมบทความวิชาการและบทวิจารณ์ โครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย ภาค ๒” (๒๕๔๘) เขียนโดย ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ มาอ่านเป็นครั้งที่สอง อ่านแล้วได้ข้อเรียนรู้ที่ต่างไปจากเดิม เริ่มตั้งแต่อ่านคำนำ หน้า ๑๑ ที่ท่านผู้เขียนบอกว่าการวิจารณ์ส่วนใหญ่เป็นการวิจารณ์การแสดงสด ชมการแสดงจบก็วิจารณ์เดี๋ยวนั้น โดยนักวิจารณ์ต้องทำหน้าที่สะท้อนประสบการณ์นั้นออกมา ซึ่งหมายความว่าผู้วิจารณ์ต้องตื่นตัวขึ้นรับประสบการณ์จากการแสดงสดนั้น
โปรดสังเกตว่า pdf file ของหนังสือเล่มนี้ ดาวน์โหลดได้ฟรี
อา! ผมทบทวนความจำกลับไปยังประสบการณ์ตรงของผม ต่อเหตุการณ์การแสดงสดเมื่อกว่ายี่สิบปีมาแล้ว และคำวิจารณ์ที่ตามมาทั้งตอนวิจารณ์สด และพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือในภายหลัง ที่ตอนนี้ผมตีความว่า ผมได้รับการเรียนรู้จากประสบการณ์สามซ้อน หรือสามชั้น คือชั้นที่ผมตีความเองแบบงูงูปลาปลา ชั้นหนึ่ง แล้วฟังกูรูทั้งหลายวิจารณ์สดอีกชั้นหนึ่ง ตามด้วยอ่านหนังสืออีกชั้นหนึ่ง
ตอนอยู่ในเหตุการณ์สด และตอนอ่านหนังสือเมื่อเกือบยี่สิบปีมาแล้ว ผมไม่รู้จัก การเรียนรู้จากประสบการณ์ ตอนนี้กำลังคลั่งใคล้ ช่วยให้อ่านหนังสือ จากแผ่นดินแม่ สู่แผ่นดินอื่น สนุกยิ่งขึ้น ที่อ่านแล้วก็เห็นชัดว่า ผู้วิจารณ์ต้องใช้หลักการของ Kolb’s Experiential Learning Cycle คือต้องสะท้อนคิด (reflection - ที่ ศ. เจตนา ใช้คำว่า “ครุ่นคิดพินิจนึก”) สู่หลักการ แล้วเสนอออกมาเดี๋ยวนั้น ผู้วิจารณ์จึงต้องปฏิภาณดีมาก และมีคลังความรู้มาก
ผมเพิ่มอ่านไปได้ ๑๖๗ หน้า จากทั้งหมด ๒๕๑ หน้า ได้อ่านบทวิจารณ์เพลงไทยสากล บทวิจารณ์งานของคีตกวีไทย บทวิจารณ์งานของดุริยศิลปินไทย และกำลังอ่านบทวิจารณ์งานของดุริยศิลปินต่างประเทศ อ่านไปพิศวงไป กับความลุ่มลึกของท่านผู้เขียน แล้วย้อนมาดูตัวเอง ว่าเป็นคนที่เติบโตมาคนละขั้วสังคมกับท่านผู้เขียน จึงกล่าวได้ว่า ผมมีชีวิตที่ไร้สุนทรียะด้านเสียง
ย้อนกลับไปทบทวนความจำที่รางเลือนสู่ประสบการณ์สามซ้อนดังกล่าวข้างต้นได้ว่า ตอนผมฟังเพลงหรือดนตรีสดที่ท่านผู้เขียนวิจารณ์นั้น ผมไม่รับรู้ประเด็นที่ลึกอย่างที่ ศ. ดร. เจตนาเขียนเลย ทำนองฟังเข้าหูซ้ายทะลุออกหูขวา
ดังนั้น การอ่านหนังสือเล่มนี้ จึงให้ประโยชน์แก่ผมในลักษณะเปิดโลกความสุนทรีย์ของเพลงและดนตรีในมิติที่ลึก ที่มีความหมายล้ำลึก
วิจารณ์ พานิช
๓๑ ส.ค. ๖๖
ไม่มีความเห็น