ระบบนิเทศติดตามการฝึกงานที่ให้คุณค่าสูงลิ่ว


 

เช้าวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่ธนาคารไทยพาณิชย์    วาระการประชุมเรื่อง โครงการพัฒนาอาชีวะ ด้านทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล  ดำเนินการที่วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย    ในส่วน โครงการฐานข้อมูลและระบบการนิเทศติดตามการฝึกอาชีพทวิภาคี สร้างมาตรฐานและจัดทำระบบดิจิทัลเพื่อการติดตามผลการฝึกอาชีพ เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือนักศึกษาทวิภาคี ให้สามารถฝึกงานอย่างมีคุณภาพ  ชวนผมสะท้อนคิดสู่บันทึกนี้

อ่านเอกสารและฟังข้อเสนอในการประชุมแล้ว    ผมได้ความคิดว่า หากมองการฝึกงานด้วยแว่นใหม่    คือแว่นการเรียนรู้จากประสบการณ์    ระบบ e-Portfolio ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลมุ่งไปพัฒนาให้แก่นักศึกษาของวิทยาลัย  จะให้คุณค่าสูงลิ่วแก่นักศึกษาที่เอางานเอาการ สำหรับเอาไปเป็นหลักฐานเสนอต่อนายจ้างในอนาคต    ว่าตนเป็นทั้งคนเอาถ่าน และมีปัญญาปฏิบัติ อย่างไร   

หลักการคือ ตั้งเป้าหมายให้การฝึกงานเป็นทั้งการเรียนรู้ภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎีไปพร้อมๆ กัน   โดยใช้หลักการและวิธีการเรียนรู้จากประสบการณ์ช่วยหนุน   

หากจะให้เกิดผลดังกล่าว ต้องฝึกครูของวิทยาลัย   โดยเฉพาะครูกลุ่มที่รับผิดชอบดูแลการฝึกงานของนักศึกษา    และหากจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีก รวมเอาครูฝึกสังกัดสถานประกอบการที่รับนักศึกษาไปฝึกงาน มาร่วมรับการฝึกทักษะการเป็น “ครูฝึกการเรียนรู้จากประสบการณ์”    คือมีทักษะออกแบบการเรียนรู้จากประสบการณ์  และมีทักษะตั้งคำถามเพื่อให้ นศ. สะท้อนคิดจากการปฏิบัติของตน    เน้นสะท้อนคิดสู่ความเข้าใจหลักการหรือทฤษฎีในมิติที่เชื่อมโยงกับงานชิ้นนั้นๆ   รวมทั้งเข้าใจทฤษฎีที่เรียนมาแล้วในมิติที่ลึกยิ่งขึ้น    ซึ่งทีมงานของมูลนิธิสยามกัมมาจลมีทักษะที่จะฝึกให้ ได้เป็นอย่างดี   

การเตรียมการประเด็นที่ ๒ คือการจัดระบบดิจิทัล ให้นักศึกษาที่ไปฝึกงานเขียน reflective journal/diary จากการฝึกงานแต่ละวัน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง   เริ่มจากการเขียนเป้าหมายของตน ในการไปฝึกงาน (ย้ำว่าเขียนเป้าหมายของ นศ. เอง   ไม่ใช่เป้าหมายของหลักสูตรหรือสถาบัน)   แล้วเขียนสะท้อนคิดข้อสงสัย ข้อเรียนรู้ ข้ออยากเรียนรู้เพิ่มเติม ข้อเรียนรู้ที่ได้จากการค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเอง ฯลฯ    ลงในระบบไอที (อาจเป็น FB หรือ Line ของกลุ่ม)   ที่ครูฝึก (ทั้งจากวิทยาลัยและครูฝึกที่บริษัท) เข้าไปอ่าน และตั้งคำถามแหย่ให้คิดเพิ่ม ได้  เน้นแหย่ให้สะท้อนคิดสู่หลักการหรือทฤษฎี ทีตกผลึกได้จากประสบการณ์ของการฝึกงาน   

จะยิ่งดี หากเปิดให้เพื่อนๆ เข้าไปอ่านและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้    จะได้เรียนรู้จากมุมมองที่ต่างกันของคนวัยเดียวกัน   

ข้อมูลที่บันทึกไว้ในระบบไอที จะเป็นข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับแนบ E-Portfolio ที่ท่านประธานมูลนิธิ (ดร. วิชิต สุนพงษ์ชัย) กำหนดให้เป็นเป้าหมายหลักของโครงการ   เพราะจะเป็นข้อมูลให้เห็นระดับความเอางานเอาการ และระดับความคิด ของนักศึกษาได้เป็นอย่างดี    เป็นคุณค่าเพิ่มจากการฝึกงาน

แต่ที่มีคุณค่าสูงกว่า คือการได้เรียนรู้ไม่เฉพาะภาคปฏิบัติ   แต่ได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีไปพร้อมๆ กันด้วย   เป็นการหมุนวงจรยกระดับการเรียนรู้ผ่านการเรียนรู้ทั้งสองแบบ    ที่หมุนด้วยพลังของการสะท้อนคิดอย่างจริงจัง   

คุณค่าสูงสุดคือ นศ. ได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต   ที่เป็นการเรียนรู้จากการทำงาน หรือจากประสบการณ์ตรง   

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ก.ค. ๖๖

บนรถยนต์ เดินทางจากสยามพารากอน ไปวัดบึงทองหลาง 

             

 

หมายเลขบันทึก: 713983เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2023 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 สิงหาคม 2023 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท