วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙)  ๑๕๓. หนุนให้หน่วยงานวิจัยของรัฐเข้มแข็ง 


 

ในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาพัฒนาระบบ ววน. ของ สอวช. ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖  มีวาระเรื่อง แนวทางการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยงานวิจัยและนวัตกรรมของรัฐ (Public Research Organizations – PROs) ในการขับเคลื่อนภารกิจตามเป้าหมายของประเทศ    

อ่านเอกสารและฟังการประชุมแล้ว    ผมมีความเห็นว่า ประเทศไทยยังใช้กระบวนทัศน์ที่ไม่ถูกต้องในเรื่องนี้    คือใช้กระบวนทัศน์ภาครัฐนำ    ในขณะที่ผมเชื่อว่ากระบวนทัศน์ที่ถูกต้องคือ ภาครัฐหนุน  ไม่ทราบว่าผมในฐานะคนแก่มีความหลงผิดหรือเปล่า

งานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนที่มีเป้าหมายหนุนความสามารถในการแข่งขัน ต้องนำโดยภาคธุรกิจเอกชน    ภาครัฐหนุน    เน้นหนุนด้วยระบบคุณภาพและมาตรฐานต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งคือระบบกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงได้ว่องไวทันกาล    อีกส่วนหนึ่งคือบริการห้องปฏิบัติการแก่ภาคเอกชนรายย่อย หรือ SME กับ Start-Up   

ในเรื่องการเงินนั้น ต้องหาทางหนุนให้ venture capital เข้มแข็ง   เป็นส่วนที่ผมไม่มีความรู้ 

ผมมีความเห็นว่า ในปัจจุบัน ระบบงานวิจัยภาครัฐของไทยยังอยู่ในลักษณะที่แหว่งๆ วิ่นๆ ไม่เป็นระบบ    ที่สำคัญที่สุดคือ ขาดหน่วยงานดูแลการวิจัยเชิงระบบ เช่นระบบการศึกษา  ระบบพลังงาน ระบบการคมนาคมขนส่ง  ระบบการเกษตร เป็นต้น   ทำให้หลากหลายระบบของประเทศดำเนินไปแบบไม่มีหลักการ  เช่นระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพ    ระบบการศึกษาของประเทศ   

ในการประชุม (ซึ่งผมเป็นประธาน) มีการนำเสนอที่ได้รับคำชมว่า เป็นการเริ่มต้นที่ดี   แต่ต้องขยายมุมมองออกไปให้กว้างกว่าการศึกษากรณีตัวอย่างหน่วยงานวิจัยด้านเกษตรและอาหาร   

กรรมการหลายท่านแนะนำว่า ต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ complex systems ของระบบ ววน. ของประเทศก่อน   โดยที่ PRO ประกอบด้วย หน่วยงานวิจัยในมหาวิทยาลัย (URO)  กับหน่วยงานวิจัยภาคราชการ (GRO)   ซึ่งจะต้องทำงานเชื่อมโยงและสนับสนุนหน่วยงานวิจัยของภาคธุรกิจเอกชน    แล้วตั้งโจทย์เชิง value chain 

คณะทำงานยกตัวอย่าง PRO ใน ๔ ประเทศ คือ ญี่ปุ่น  เนเธอร์แลนด์  อินเดีย และอินโดนีเซีย    โดย ๒ ประเทศแรกเป็นประเทศพัฒนาแล้ว    ๒ ประเทศหลังกำลังพัฒนา   กรรมการแนะนำให้ศึกษาลึกลงในรายละเอียดส่วนที่น่าสนใจของญี่ปุ่นคือมหาวิทยาลัยกับเอกชนร่วมมือกันดีมาก    เราจะเอาวิธีของเขามาปรับใช้ได้อย่างไร    ในส่วนของเนเธอร์แลนด์มีคนให้รายละเอียดเพิ่มมาก เช่น เงินวิจัยของรัฐ ร้อยละ ๑๐ ไปยัง PRO   ร้อยละ ๓๐ ไปยังมหาวิทยาลัย    ร้อยละ ๖๐ ไปยังภาคเอกชน   และเรื่องการวิจัยภาคเกษตรมี Wagenigen Food Valley   และมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศคือ Wagenigen University   

กรรมการบางท่านแนะนำให้ศึกษาประเทศที่มีการเกษตรเป็นฐาน เช่น ไต้หวัน (Academial Sinica), บางมณฑลของจีน  ออสเตรเลีย  เวียดนาม        

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ก.ค. ๖๖

   

 

หมายเลขบันทึก: 713928เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2023 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2023 18:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท