วิพากษ์การพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG 4) เพื่อการศึกษาไทยไม่ตกหลุมพราง


 

Sustainable Development Goals เป้าหมายที่ ๔ ด้านการศึกษา ระบุเป้าหมายหลักว่า  “Ensure inclusive and equitable quality education and promote lifelong learning opportunities for all”     แล้วแตกเป็น ๑๐ เป้าหมายย่อย (คลิกที่ Targets and Indicators)    ที่เมื่อผมเข้าไปอ่านและพิจารณาโยงเข้าสู่สภาพของประเทศไทยแล้ว    เห็นข้อบกพร่องฉกรรจ์ของเป้าหมายดังกล่าวหลายข้อ

ข้อที่ร้ายแรงที่สุดในสายตาของผมคือ เขาให้ความสำคัญเฉพาะที่การเรียนรู้ทักษะ (S – skills) และความรู้ ( K – knowledge) เท่านั้น   ละเลยเรื่องค่านิยมหรือคุณธรรม (V – values)   และเรื่องเจตคติ (A – attitude) ที่เป็นด้านบวก    ทีมยกร่างเรื่อง SDG ไม่เข้าใจเรื่องการศึกษาอย่างแท้จริง    ไม่เข้าใจว่าเป้าหมายการเรียนรู้ต้องครบ VASK ตามที่ระบุโดย OECD (1)   

โลกจะไม่มีวันพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ หากการศึกษาไม่เอาใจใส่การพัฒนาค่านิยมด้านดี หรือคุณธรรมจริยธรรมให้แก่เด็กเยาวชนในโรงเรียนหรือระบบการศึกษา และในการเรียนรู้ตลอดชีวิต   เพราะหากการศึกษาไม่เอาใจใส่การสร้างคนดีอย่างจริงจัง สังคมจะเต็มไปด้วยคนเห็นแก่ตัว คนที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต และนิสัยชั่วร้ายอื่นๆ    สังคมไทยในปัจจุบันมีข่าวคนโกง หลอกลวง  ทุจริตต่อหน้าที่ ทุกวัน    คนฉลาดมากโอกาสมากโกงมาก   โดยผมมีความเห็นว่าสภาพของความชั่วร้ายในสังคมไทยสมัยนี้น่าจะเกิดจากความอ่อนแอของระบบการศึกษา   ที่ไม่ได้เอาใจใส่เรื่องการพัฒนาค่านิยมด้านดีหรือคุณธรรม  มาเป็นเวลานานหลายสิบปี  

ผมมีความเห็นว่า ในเรื่อง SDG 4   ไทยเราต้องไปไกลกว่า UN    เพราะแม้ว่าในเป้าหมายใหญ่เขาเน้นคุณภาพ   แต่ตัวชี้วัดกลับเน้นที่ปริมาณหรือตัวเลข    ไม่เน้นเรื่องคุณภาพ    โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายย่อย 4.c ที่เขาเน้นผลิต qualified teachers  ผ่าน teacher training ที่ผมอ่านระหว่างบรรทัดว่า สะท้อนมุมมองต่อครูแบบตกยุค    คือมองครูเป็นผู้ทำงานตามรูปแบบที่กำหนด จึงต้องฝึกให้ทำงานเป็น    แล้วให้การรับรองวุฒิ   ขาดการมองครูว่าต้องเป็นผู้ที่เรียนรู้ต่อเนื่องจากการทำงาน    เขาไม่เอ่ยเรื่อง experiential learning ของครูเลย   ยังมองการพัฒนาครูโดยเน้นที่ training  ไม่เน้นที่ learning       

ผมอ่านระหว่างบรรทัดว่า ผู้ร่าง SDG มองเรื่องการศึกษาว่าเป็นกระบวนการถ่ายทอดความรู้และทักษะ    ไม่มองว่าเป็นกระบวนการสร้างสมรรถนะ (VASK) ใส่ตัว   มิจฉาทิษฐินี้อันตรายมาก   ประเทศไทยไม่ควรตกหลุมไปกับเขาด้วย   

เราต้องช่วยกันพัฒนาการศึกษาไทยให้เลยไปจากกระบวนทัศน์ของทีมยกร่าง SDG    ที่ใช้กระบวนทัศน์ของการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๐ (และ ๑๙)     

เราต้องใช้กระบวนทัศน์การศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑   มุ่งพัฒนาเด็กและเยาวชน (และทุกกลุ่มอายุ) ให้มีการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑   และทักษะ (สมรรถนะ) แห่งอนาคต    ไม่ใช่แค่อ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็น อย่างที่ระบุใน SDG   

 วิจารณ์ พานิช

๒๔ มิ.ย. ๖๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 713391เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2023 18:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2023 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท