บ่ายวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๖๖ เราไปเยี่ยมชม Playlab Campus Carlsberg คือไปชมกิจการ Play Lab ที่วิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุคแห่งโคเปนฮาเกน (Copenhagen University of Applied Science) ที่เขาเรียกติดปากว่าUniversity College เป็น ๑ ใน ๗ วิทยาเขต และเป็นวิทยาเขตที่ใหม่และใหญ่ที่สุดของมหาวิทยาลัยนี้ ที่เมื่ออ่านรายละเอียดแล้วมีลักษณะคล้ายๆ เป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
เรานัดไปขอชมสถานที่และกิจการของ Play Lab ซึ่งเป็นส่วนเล็กนิดเดียวของวิทยาเขต มีอาจารย์ ๓ คนอธิบาย ว่า Play Lab นี้มี ๖ แห่ง ที่นี่เป็น ๑ ใน ๖ เป็นสถานที่ที่พ่อแม่นัดพาลูกเล็กๆ มาเล่นได้ ผู้สนใจขอนัดมาใช้บริการได้ และมีการจัดหลักสูตรแก่ นศ. ครู และแก่ครูประจำการ Play Lab เริ่มปี 2019 (https://playful-learning.dk/english/)
สิ่งประทับใจมากคือเครื่องมือ Play Wheel ที่เข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่ https://issuu.com/sile-kp/docs/playbook_2_uk/s/11860193 ที่เป็นเครื่องมือช่วยให้การเรียนแบบเล่นๆ ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้อย่างลึก และหลากหลายมิติของการเรียนรู้ เป็นเรื่องที่น่าจะมีการวิจัยในบริบทไทย เพราะคนไทยเราชอบเล่นอยู่แล้ว หากมีเครื่องมือมาช่วยให้เกิดการทบทวนตรวจสอบ และสะท้อนคิดว่าการเล่นนั้นๆ ก่อการเรียนรู้อย่างไรบ้าง ในมิติใด ก็จะช่วยให้การศึกษาของเราทั้งสนุก และเกิดการเรียนรู้
Play Wheel ในรูปข้างบนยังเป็นชุดเก่า ชุดใหม่เพิ่มวงกลางสุดที่มี ๒ ส่วนคือ Learning Goals กับ Learning Content
ค้นไปค้นมา พบหนังสือ On Play ที่น่าสนใจมาก สรุปสั้นที่สุดคือ การเล่นเป็น experiential learning อย่างหนึ่ง อีกเล่มหนึ่งคือ PlayBook 3 เล่มนี้เขียนโดยทีมงานที่มาอธิบายให้เราฟัง และมีรูปของเขาด้วย ก่อนหน้านี้มี PlayBook 2 และ PlayBook 1 ที่ดาวน์โหลดได้ฟรี สาระในหนังสือ จากการอ่านคร่าวๆ บอกให้รู้ว่าการเล่นมีกี่แบบ ส่งผลต่อการเรียนรู้หลากหลายมิติอย่างไร
สรุปว่าการเล่นเพื่อเรียน เป็นวิธีการพัฒนาครบด้าน (holistic learning) แบบหนึ่ง ที่มีการทดลองและวิจัยและนวัตกรรมอย่างจริงจังมากในเดนมาร์ค
วิจารณ์ พานิช
๒๕ เม.ย. ๖๖
ในห้องพัก ที่บ้านท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโคเปนเฮเกน ศิริลักษณ์ นิยม
เพิ่มเติม ๒๖ เม.ย. ๖๖ ที่ห้อง ๑๖๐๒ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช
ไม่มีความเห็น