พระประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ตอนที่ ๓ สารีปุตตเถราปทาน


พระสาวกรูปใดชื่อว่าอัสสชิ เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าอยู่ ณ ทิศใด ข้าพเจ้าจะนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ ทรงระลึกถึงกรรมของข้าพเจ้าแล้ว ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอัครสาวก

พระประวัติในอดีตชาติของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก

ตอนที่ ๓ สารีปุตตเถราปทาน

พลตรี มารวย ส่งทานินทร์

๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

 

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑  

๓. เถราปทาน

ประวัติในอดีตชาติของพระเถระ

๑. สารีปุตตเถราปทาน

ประวัติในอดีตชาติของพระสารีบุตรเถระ

 

เกริ่นนำ

            พระสาวกรูปใดชื่อว่าอัสสชิ เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าอยู่ ณ ทิศใด ข้าพเจ้าจะนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ ทรงระลึกถึงกรรมของข้าพเจ้าแล้ว ประทับนั่งท่ามกลางหมู่ภิกษุ ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอัครสาวก

 

             พระอานนทเถระกล่าวว่า (พระอานนทเถระบอกให้พระเถระทั้งหลายผู้ร่วมทำปฐมสังคายนาตั้งใจฟัง) ต่อไปนี้ ขอท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังประวัติ ในอดีตชาติของพระเถระทั้งหลาย (ต่อไป)

             (พระสารีบุตรเถระบรรลุสาวกบารมีญาณแล้วได้อุทานขึ้นว่า)             

[๑๔๑] ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมพานต์ มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อลัมพกะ (ใกล้ๆ ภูเขาลัมพกะนั้น) เขาสร้างอาศรมและสร้างบรรณศาลาไว้อย่างดีเพื่อข้าพเจ้า             

[๑๔๒] ในที่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้า มีแม่น้ำสายหนึ่งมีฝั่งตื้น ท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ใจ มีทรายสะอาดเรี่ยรายกระจายอยู่ทั่ว             

[๑๔๓] ในที่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้านั้น มีแม่น้ำไม่มีก้อนกรวด ไม่มีเงื้อมยื่นง้ำออกมา น้ำมีรสดี ไม่มีกลิ่น ไหลไป ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม             

[๑๔๔] ในแม่น้ำ มีฝูงจระเข้ ฝูงมังกร ฝูงตะโขง และฝูงเต่า แหวกว่ายไปมาในแม่น้ำสายนั้น ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม

[๑๔๕] ฝูงปลาสลาด ฝูงปลากระบอก ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า ฝูงปลาตะเพียน ฝูงปลานกกระจอก ว่ายเวียนไปมา ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม             

[๑๔๖] ที่ฝั่งทั้ง ๒ ของแม่น้ำ หมู่ไม้ดอก ไม้ผล ห้อยระย้าอยู่ทั้ง ๒ ฝั่งประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม             

[๑๔๗] ต้นมะม่วง ต้นสาละ ต้นหมากเม่า ต้นแคฝอย ต้นย่านทราย มีดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์อยู่รอบๆ อาศรมของข้าพเจ้า             

[๑๔๘] ต้นจำปา ต้นช้างน้าว ต้นกระทุ่ม ต้นกากะทิง ต้นบุนนาค และต้นการะเกด มีดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์อยู่รอบๆ อาศรมของข้าพเจ้า             

[๑๔๙] ต้นลำดวน ต้นอโศก ต้นกุหลาบ มีดอกบานสะพรั่ง ต้นปรู และต้นมะกล่ำหลวง ก็มีดอกบานสะพรั่งอยู่รอบๆ อาศรมของข้าพเจ้า             

[๑๕๐] ต้นลำเจียก ต้นกล้วย ต้นพิกุล และต้นมะลิซ้อน ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม             

[๑๕๑] ต้นกรรณิการ์ ต้นกรรณิการ์เขา ต้นประดู่ ต้นอัญชัน มากมาย ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม             

[๑๕๒] ต้นบุนนาค ต้นบุนนาคเขา ต้นแคฝอย มีดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม             

[๑๕๓] ต้นราชพฤกษ์ ต้นอัญชันเขียว ต้นกระทุ่ม และต้นพิกุล มากมาย ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม             

[๑๕๔] ถั่วดำ ถั่วเหลือง ต้นกล้วย ต้นมะงั่ว งอกงามด้วยน้ำหอม ออกฝัก ออกผล (เป็นทองคำ ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม)             

[๑๕๕] (ในบึงใกล้ๆ อาศรมของข้าพเจ้า) ปทุมบางกอกำลังมีดอกตูม บางกอมีเกสรกำลังแย้ม บางกอมีเกสร(ในกลีบ)ร่วงหล่น บางกอมีดอกบานสะพรั่งอยู่ในบึง ในครั้งนั้น             

[๑๕๖] ปทุมบางกอกำลังมีดอกตูม เหง้าบัวเลื้อยไปทั่ว กอกระจับมีใบดารดาษ งดงามอยู่ในบึง ในครั้งนั้น             

[๑๕๗] ต้นตาเสือ ต้นจงกลนี ต้นอุตตลี และต้นชบา มีดอกบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์ อยู่ใกล้ๆ บึง ในครั้งนั้น             

[๑๕๘] ฝูงปลาสลาด ฝูงปลากระบอก ฝูงปลาสวาย ฝูงปลาเค้า ฝูงปลาตะเพียน ฝูงปลาสังกุลา(ปลาลูกดอก) และฝูงปลาทอง อาศัยอยู่ในบึง ในครั้งนั้น             

[๑๕๙] (ใกล้ๆ อาศรมของข้าพเจ้า) มีฝูงจระเข้ ฝูงตะโขง (ตะโขง มีลักษณะคล้ายจระเข้แต่ปากเรียวและยาวกว่า อีกอย่างหนึ่ง แปลว่า ปลาร้าย) ฝูงปลาฉนาก (ปลาฉนาก ได้แก่ปลามีปากมีลักษณะเป็นกระดูกแข็งยื่นออกไปเป็นก้านยาวมีฟันทั้ง ๒ ข้างคล้ายฟันเลื่อย) ฝูงผีเสื้อน้ำ(ยักษ์ร้าย)ฝูงงูหลาม ฝูงงูเหลือมอาศัยอยู่ในบึง ในครั้งนั้น             

[๑๖๐] (ใกล้ๆ อาศรมของข้าพเจ้า) มีฝูงนกพิราบ ฝูงนกเป็ดน้ำ ฝูงนกจักรพาก (จักรพาก หรือ จักรวาก คู่ของนกนี้ต้องพรากจากกันครวญถึงกัน ในเวลากลางคืน) ฝูงนกกาน้ำ ฝูงนกดุเหว่า ฝูงนกแก้ว และนกสาลิกา อาศัยสระนั้นหากิน             

[๑๖๑] ฝูงนกกวัก (ไก่เถื่อน ไก่ป่า) ฝูงไก่ป่า ฝูงนกนางนวล ฝูงนกต้อยตีวิด ฝูงนกแขกเต้า อาศัยสระนั้นหากิน (ใกล้ๆ อาศรมของข้าพเจ้า)             

[๑๖๒] ฝูงหงส์ ฝูงนกกระเรียน ฝูงนกยูง ฝูงนกดุเหว่า ฝูงไก่งวง ฝูงนกช้อนหอย (นกช้อนหอย นกกินปลา) ฝูงนกโพระดก (นกกระจอก นกออก) อาศัยสระนั้นหากิน             

[๑๖๓] ฝูงนกแสก (นกเค้าแมว นกทึดทือ) ฝูงนกหัวขวาน ฝูงนกออกขาว (นกเขา) ฝูงนกเหยี่ยวดำ ฝูงนกกาน้ำ มากมาย อาศัยสระนั้นหากิน             

[๑๖๔] ฝูงเนื้อฟาน (อีเก้ง) ฝูงหมูป่า ฝูงสุนัขจิ้งจอก (หมาป่า หมาใน) ฝูงแรด ฝูงละมั่ง ฝูงเนื้อทราย อาศัยสระนั้นหากิน             

[๑๖๕] ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาใน เสือดาว ช้างตระกูลมาตังคะตกมัน ๓ แห่ง (ตกมัน ๓ แห่ง คือ นัยน์ตา ใบหู และลูกอัณฑะ) (ไม่ทำอันตราย) อาศัยสระนั้นหากิน             

[๑๖๖] เหล่ากินนร (สัตว์ครึ่งคนครึ่งนก) ฝูงวานร คนทำงานในป่า สุนัขไล่เนื้อ นายพราน อาศัยสระนั้นหากิน             

[๑๖๗] ต้นมะพลับ ต้นมะหาด (ต้นไม้ขนาดใหญ่ มีผลคล้ายมะปราง รสเปรี้ยวๆ หวานๆ) ต้นมะซาง ต้นหมากเม่า เผล็ดผลทุกฤดูกาล อยู่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้า             

[๑๖๘] ต้นคำ (ไม้พุ่มชนิดหนึ่ง ต้นแสด หรือต้นคำแสด ก็เรียก) ต้นสน ต้นกระทุ่ม สะพรั่งด้วยผลมีรสหวาน เผล็ดผลเป็นประจำ อยู่ไม่ไกลอาศรมของข้าพเจ้า             

[๑๖๙] ต้นสมอไทย ต้นมะขามป้อม ต้นมะม่วง ต้นหว้า ต้นสมอพิเภก ต้นกระเบา ต้นรกฟ้า ต้นมะตูม เหล่านั้น เผล็ดผลเป็นนิตย์             

[๑๗๐] มันเทศ มันอ้อน มันมือเสือ หัวหอม หัวกระเทียม (ต้นดอกซ่อนกลิ่น) ต้นกะเม็ง (ต้นไม้ขนาดเล็ก ต้นสีม่วง ใบเขียวขนคาย ดอกขาว ใช้ทำยารักษาโรคเด็ก) ต้นขัดมอน (ต้นข้าวต้ม ต้นขัดมอน ก็เรียก เปลือกเหนียว ดอกเหลือง เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่ง ใช้ทำไม้กวาดได้) มีอยู่มากมายใกล้ๆ อาศรมของข้าพเจ้า             

[๑๗๑] ใกล้ๆ อาศรม(ของข้าพเจ้า)มีบึงน้ำที่บุญกรรมเนรมิตไว้อย่างดี มีน้ำใสเย็นสนิท มีท่าน้ำราบเรียบ เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ             

[๑๗๒] (สระน้ำเหล่านั้น) ดารดาษด้วยดอกบัวหลวง ดอกบัวขาบ (บัวสีน้ำเงินแก่อมม่วง) สะพรั่งด้วยบัวขาว ดารดาษด้วยบัวเฝื่อน ส่งกลิ่นหอมอบอวลคล้ายกลิ่นทิพย์             

[๑๗๓] ครั้งนั้น (ครั้งนั้น ในที่นี้หมายถึงในครั้งที่ข้าพเจ้าเป็นดาบส) ข้าพเจ้าอยู่ในอาศรมซึ่งสร้างไว้อย่างดี น่ารื่นรมย์ ในป่ามีไม้ดอกไม้ผล สมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบทุกอย่าง ดังกล่าวมานี้             

[๑๗๔] ข้าพเจ้าเป็นดาบสชื่อสุรุจิ มีศีล (มีศีล ในที่นี้หมายถึงศีล ๕) สมบูรณ์ด้วยข้อวัตร มีปกติเพ่งฌาน ยินดีในฌานในกาลทุกเมื่อ สำเร็จอภิญญาพละ ๕ (อภิญญาพละ ๕ คือ แสดงฤทธิ์ได้ หูทิพย์ รู้ใจผู้อื่น ระลึกชาติได้ และตาทิพย์) ประการ             

[๑๗๕] ข้าพเจ้ามีศิษย์ ๑,๐๒๔ คน ทั้งหมดนั้นเป็นพราหมณ์ มีชาติตระกูล มียศ ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่             

[๑๗๖] ศิษย์ของข้าพเจ้าเข้าใจตัวบท(หลักไวยากรณ์) ฉลาดในการพยากรณ์ สำเร็จวิชาทำนายลักษณะ วิชาอิติหาสศาสตร์ และไตรเพทอันเป็นธรรมของตน พร้อมทั้งวิชานิฆัณฑุศาสตร์ และวิชาเกฏุภศาสตร์ (วิชาทำนายลักษณะ หมายถึงคัมภีร์ประกาศลักษณะของหญิงและบุรุษชาวโลกทั้งหมดมีทุกข์และสุข/ อิติหาสศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ชี้แจงคำพูดที่ท่านกล่าวว่า อิติห อาสา/ นิฆัณฑุศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ประกาศชื่อต้นไม้และภูเขาเป็นต้น/ เกฏุภศาสตร์ หมายถึงคัมภีร์ว่าด้วยวิชาการกวี/ ไตรเพท หมายถึงพระเวท ๓ คือ ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท)             

[๑๗๗] ศิษย์ของข้าพเจ้าฉลาดในลางบอกเหตุในนิมิตร และในลักษณะ เป็นผู้ศึกษาดีแล้วในเรื่องดิน ในภาคพื้นดิน และในอากาศ             

[๑๗๘] ศิษย์เหล่านั้นเป็นผู้มักน้อย มีปัญญารักษาตน บริโภคแต่น้อย ไม่โลภ สันโดษตามมีตามได้ ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ             

[๑๗๙] ศิษย์ของข้าพเจ้ามีปกติเพ่งฌาน ยินดีในฌาน เป็นนักปราชญ์ มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น ปรารถนาความหมดกังวล ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ             

[๑๘๐] ศิษย์ของข้าพเจ้าสำเร็จอภิญญา ยินดีในอาหารซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของบิดา (ยินดีในอาหารซึ่งเป็นข้อปฏิบัติของบิดา หมายถึงยินดีในอาหารที่ได้ไม่ใช่ออกปากขอ) เหาะไปมาทางอากาศได้ เป็นนักปราชญ์ ปรนนิบัติข้าพเจ้าอยู่ทุกเมื่อ             

[๑๘๑] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น สำรวมทวารทั้ง ๖ ไม่หวั่นไหว (ไม่หวั่นไหว ในที่นี้หมายถึงไม่มีตัณหาเป็นเหตุให้หวั่นไหว) รักษาอินทรีย์ และไม่คลุกคลีเป็นนักปราชญ์ (เป็นนักปราชญ์ ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้มั่นคง ไม่สะทกสะท้านถึงอันตรายที่เกิดจากสัตว์มีราชสีห์และเสือ เป็นต้น) หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก             

[๑๘๒] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้นหาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก ให้เวลาผ่านไปด้วยการนั่งขัดสมาธิ การยืน และการจงกรม ตลอดคืน             

[๑๘๓] ศิษย์ของข้าพเจ้าไม่กำหนัดในวัตถุที่น่ากำหนัด ไม่ขัดเคืองในวัตถุที่น่าขัดเคือง ไม่ลุ่มหลงในวัตถุที่น่าลุ่มหลง หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก             

[๑๘๔] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก ด้วยการแข่งดีทดลองแสดงฤทธิ์อยู่เป็นนิตย์ บันดาลให้แผ่นดินไหวได้             

[๑๘๕] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก เมื่อจะเล่น ก็เล่นฌาน(เข้าฌาน) ไปนำผลหว้ามาได้             

[๑๘๖] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น พวกหนึ่งไปอปรโคยานทวีป พวกหนึ่งไปปุพพวิเทหทวีป พวกหนึ่งไปอุตตรกุรุทวีป              

[๑๘๗] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น ส่งหาบ(บริขารดาบส) ไปข้างหน้า ส่วนตนเองไปทีหลัง ท้องฟ้าถูกดาบส ๑,๐๒๔ รูป ปิดบังไว้แล้ว             

[๑๘๘] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น พวกหนึ่งเผา(ผลไม้น้อยใหญ่และผัก)ไฟฉัน พวกหนึ่งไม่เผาไฟฉันดิบๆ พวกหนึ่งกระแทะเปลือกออกฉัน พวกหนึ่งตำฉัน พวกหนึ่งเอาหินทุบฉัน พวกหนึ่งฉันผลไม้ที่หล่นเอง             

[๑๘๙] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้น หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก พวกหนึ่งรักความสะอาดลงอาบน้ำทั้งเช้าทั้งเย็น พวกหนึ่งตักน้ำอาบ             

[๑๙๐] ศิษย์ของข้าพเจ้า(ประพฤติวัตร) ปล่อยเล็บมือเล็บเท้าและขนรักแร้ยาว ขี้ฟันเขลอะ ศีรษะเปื้อนธุลี แต่หอมด้วยกลิ่นศีล หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก             

[๑๙๑] ดาบสทั้งหลายผู้ทรงชฎา มีตบะแก่กล้า ประชุมกันแต่เช้าแล้วประกาศลาภน้อย ลาภใหญ่ให้ทราบแล้ว เหาะไปในท้องฟ้า             

[๑๙๒] เมื่อดาบสเหล่านั้นเหาะไป เสียงดังย่อมสะพัดไป ทวยเทพย่อมยินดีเพราะได้ยินเสียงหนังสัตว์             

[๑๙๓] ฤๅษีผู้เหาะไปทางอากาศไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่ ฤๅษีเหล่านั้นมีกำลังของตนอุปถัมภ์ จึงไปได้ตามปรารถนา             

[๑๙๔] ฤๅษีเหล่านั้นทั้งหมดทำแผ่นดินให้ไหว เที่ยวไปในอากาศ มีเดชแผ่ไป ใครๆ ไม่อาจข่มได้ ผู้อื่นไม่อาจให้หวั่นไหวได้ ดังสมุทรสาครที่ใครอื่นให้กระเพื่อมไม่ได้             

[๑๙๕] ฤๅษีผู้เป็นศิษย์ของข้าพเจ้า บางพวกยืนและเดินจงกรม บางพวกถือการนั่งเป็นวัตร บางพวกฉันใบไม้ที่หล่นเอง หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก             

[๑๙๖] ศิษย์ของข้าพเจ้าเหล่านั้นมีปกติอยู่ด้วยการแผ่เมตตา แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ไม่ยกตน ไม่ข่มใครๆ             

[๑๙๗] ศิษย์ของข้าพเจ้านั้นไม่สะดุ้งกลัวอะไร เหมือนราชสีห์ มีกำลังเหมือนพญาคชสาร หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก เหมือนพญาเสือโคร่ง ย่อมมาอยู่ใกล้ข้าพเจ้า             

[๑๙๘] พวกวิทยาธร พวกเทวดา นาค คนธรรพ์ ผีเสื้อน้ำ กุมภัณฑ์ ทานพ(อสูร) ครุฑ อาศัยสระนั้นหากิน             

[๑๙๙] ศิษย์ของข้าพเจ้าเหล่านั้นเกล้าชฎา คอนบริขาร นุ่งห่มหนังสัตว์ เที่ยวไปในอากาศได้ทุกตน อาศัยสระนั้นหากิน             

[๒๐๐] ครั้งนั้น ศิษย์เหล่านั้นเป็นผู้เหมาะสมกันและกัน มีความเคารพต่อกันและกัน ศิษย์ ๑,๐๒๔ คน ไม่มีเสียงไอเสียงจามเลย             

[๒๐๑] ศิษย์เหล่านั้นเดินเข้าแถวกัน เงียบเสียง สำรวมดี ทั้งหมดเข้ามากราบข้าพเจ้าด้วยเศียรเกล้า             

[๒๐๒] ข้าพเจ้ามีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน อยู่ในอาศรมแห่งนั้นมีศิษย์เหล่านั้นแวดล้อม ซึ่งเป็นผู้สงบ มีตบะ             

[๒๐๓] อาศรมของข้าพเจ้าหอมด้วยกลิ่น ๒ อย่าง คือกลิ่นศีลของเหล่าฤๅษีและกลิ่นดอกไม้ผลไม้ของต้นไม้ที่ผลิดอกออกผล             

[๒๐๔] ข้าพเจ้าไม่รู้คืนและวัน ความไม่พอใจมิได้มีแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าสั่งสอนศิษย์ของตนได้ความร่าเริงอย่างยิ่ง             

[๒๐๕] เมื่อดอกไม้บานและผลไม้สุก มีกลิ่นทิพย์หอมฟุ้งไป ประดับอาศรมของข้าพเจ้าให้งดงาม             

[๒๐๖] ข้าพเจ้าออกจากสมาธิแล้ว มีความเพียรเผากิเลส มีปัญญารักษาตน คอนหาบบริขาร(ดาบส)เข้าป่าไป             

[๒๐๗] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้ศึกษาจนชำนาญ ในลางบอกเหตุ ในความฝันและในลักษณะทั้งหลาย ทรงจำบทแห่งมนตร์ที่แพร่หลายอยู่             

[๒๐๘] พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้เจริญที่สุดในโลก ทรงองอาจกว่านรชน ทรงประสงค์วิเวก ตรัสรู้เองโดยชอบ จึงเสด็จเข้าไปยังป่าหิมพานต์             

[๒๐๙] พระองค์ผู้เป็นมุนีผู้เลิศ ทรงประกอบด้วยพระกรุณา ผู้สูงสุดแห่งบุรุษ เสด็จถึงป่าหิมพานต์แล้วประทับนั่งขัดสมาธิ             

[๒๑๐] ข้าพเจ้าได้พบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงมีแสงสว่างเจิดจ้า น่ารื่นรมย์ใจ ทรงรุ่งเรืองดังดอกบัวเขียว เป็นดุจแท่นบูชาไฟ สว่างเจิดจ้า             

[๒๑๑] ข้าพเจ้าได้พบเห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก ทรงรุ่งเรืองดุจต้นพฤกษาประทีป (ต้นพฤกษาประทีป หมายถึงดอกไม้ไฟ โคมไฟ) ดุจสายฟ้าสว่างจ้ากลางอากาศ ดุจต้นพญาไม้สาละ มีดอกบานสะพรั่งอยู่             

[๒๑๒] พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ทรงเป็นผู้ประเสริฐ มีความเพียรมาก เป็นพระมุนีผู้กระทำที่สุดทุกข์ได้แล้ว เวไนยสัตว์ได้อาศัยการพบเห็นนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้             

[๒๑๓] ครั้นข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพแล้ว จึงได้ตรวจดูลักษณะว่า เป็นพระพุทธเจ้าหรือมิใช่ เอาละ เราจะดูพระชินเจ้าผู้มีพระจักษุ (ผู้มีพระจักษุ หมายถึงทรงมีจักษุ ๕ (คือ มังสจักษุ ตาเนื้อ มีพระเนตรงาม มีอำนาจ เห็นแจ่มใส ไว และเห็นไกล) ทิพยจักษุ (ตาทิพย์) ปัญญาจักษุ (ตาปัญญา) พุทธจักษุ (ตาพระพุทธเจ้า คือทรงทราบ อัธยาศัยและอุปนิสัยแห่งเวไนยสัตว์แล้วทรงสั่งสอนแนะนำให้บรรลุคุณวิเศษต่างๆ) สมันตจักษุ) ตาเห็นรอบ ทรงมีพระสัพพัญญุตญาณหยั่งรู้ธรรมทุกประการ))             

[๒๑๔] ที่พื้นฝ่าพระบาทอันยอดเยี่ยมปรากฏมีจักรมีกำตั้งพัน ข้าพเจ้าได้เห็นลักษณะทั้งหลายของพระองค์แล้ว จึงถึงความแน่ใจในพระตถาคต             

[๒๑๕] ครั้งนั้น ข้าพเจ้าได้หยิบไม้กวาดมากวาดสถานที่นั้นแล้ว ได้นำดอกไม้มา ๘ ดอก บูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด             

[๒๑๖] ครั้นข้าพเจ้าบูชาพระพุทธเจ้า ผู้ข้ามพ้นโอฆะได้แล้วไม่มีอาสวะ พระองค์นั้นแล้ว จึงห่มหนังสัตว์เฉวียงบ่า นมัสการพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก             

[๒๑๗] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีอาสวะ ประทับอยู่ด้วยพระญาณอันใด ข้าพเจ้าจักประกาศพระญาณอันนั้น ขอท่านทั้งหลายจงฟังข้าพเจ้ากล่าวเถิด            

[๒๑๘] (ดาบสสุรุจิกล่าวชมเชยพระผู้มีพระภาคอโนมทัสสีว่า) (พระดาบสสุรุจิเป็นอดีตชาติของพระสารีบุตรเถระได้พบพระพุทธเจ้าอโนมทัสสี ตามข้อความในคาถาข้างต้น ได้กล่าวชมเชยพระองค์) ข้าแต่พระสยัมภู ผู้มีพระคุณหาประมาณมิได้ ขอพระองค์จงทรงช่วยสัตว์โลกนี้ให้พ้นจากสังสารวัฏเถิด (พ้นจากสังสารวัฏ หมายถึงให้สิ้นจากสงสารแล้วให้ถึงฝั่งคือพระนิพพาน) สัตว์เหล่านั้นอาศัยการพบเห็นพระองค์แล้ว จะข้ามกระแสแห่งความสงสัยได้             

[๒๑๙] พระองค์ทรงเป็นศาสดา เป็นยอด เป็นธงชัย เป็นเสาหลัก เป็นจุดมุ่งหมาย เป็นที่พึ่ง เป็นดุจดวงประทีปของเหล่าสัตว์ เป็นผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย             

[๒๒๐] ข้าแต่พระสัพพัญญู น้ำในมหาสมุทรสามารถที่จะประมาณได้ด้วยมาตราตวง แต่พระญาณของพระองค์ไม่มีใครสามารถจะประมาณได้เลย             

[๒๒๑] ข้าแต่พระสัพพัญญู แผ่นดินยังสามารถที่จะนำมาวางไว้บนตราชั่งแล้วชั่งดูได้ แต่พระญาณของพระองค์ ไม่มีใครสามารถจะชั่งดูได้             

[๒๒๒] ข้าแต่พระสัพพัญญู อากาศยังสามารถที่จะใช้เชือกหรือนิ้วมือวัดดูได้ แต่พระญาณของพระองค์ ไม่มีใครสามารถจะวัดดูได้             

[๒๒๓] น้ำในมหาสมุทรทั้งหมดและแผ่นดินทั้งสิ้น บุคคลก็ยังข้ามได้ แต่พระพุทธญาณไม่ควรโดยการนำมาเปรียบเทียบ             

[๒๒๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ จิตของสัตว์เหล่าใดแล่นไปในโลกพร้อมทั้งเทวโลก สัตว์ผู้มีจิตเหล่านั้นได้อยู่ในข่ายคือญาณของพระองค์             

[๒๒๕] ข้าแต่พระสัพพัญญู พระองค์ทรงบรรลุพระโพธิญาณ (พระโพธิญาณ หมายถึงพระนิพพาน) อย่างสูงสุดทั้งสิ้นด้วยพระญาณใด พระองค์ทรงย่ำยีอัญเดียรถีย์ทั้งหลายด้วยพระญาณนั้น             

[๒๒๖] (พระเถระทั้งหลายผู้ทำสังคายนากล่าวว่า) ท่านสุรุจิดาบสนั้น ครั้นกล่าวคาถาเหล่านี้แล้ว จึงปูลาดหนังสัตว์นั่งลงบนแผ่นดิน             

[๒๒๗] (ดาบสสุรุจินั่งอยู่ ณ ที่นั้นแล้วกล่าวว่า) ผู้คนกล่าวกันในบัดนี้ว่า ขุนเขา (ขุนเขา หมายถึงขุนเขาพระสุเมรุ (ชื่อภูเขากลางจักรวาล มียอดเป็นที่ตั้งแผ่นดินของสวรรค์ดาวดึงส์ซึ่งมีพระอินทร์อยู่) หยั่งลงในห้วงมหรรณพ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์เช่นกัน             

[๒๒๘] ภูเขาสิเนรุก็สูงสุดเท่านั้น ภูเขาสิเนรุนั้น ทั้งด้านยาว ทั้งด้านกว้างถึงเพียงนั้น ก็ยังถูกบดให้ละเอียดเป็นแสนโกฏิด้วยการนับ             

[๒๒๙] ข้าแต่พระสัพพัญญู เมื่อตั้งคะแนนไว้ (ตั้งคะแนน หมายถึงนับพระญาณของพระองค์) ผงแห่งภูเขาสิเนรุก็จะพึงหมดสิ้นไปก่อน แต่พระญาณของพระองค์ ไม่มีใครสามารถจะนับได้             

[๒๓๐] ผู้ใดพึงเอาข่ายตาถี่ๆ ขึงล้อมน้ำไว้ สัตว์น้ำทั้งหมดที่มีอยู่ก็จะพึงเข้าไปอยู่ภายในข่าย ฉันใด             

[๒๓๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก เดียรถีย์มากมายบางพวกก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเข้าไปสู่ป่าทึบคือทิฏฐิ ถูกความยึดถือทำให้ลุ่มหลง             

[๒๓๒] เดียรถีย์เหล่านั้นเข้าไปภายในข่าย (ข่าย ในที่นี้หมายถึงข่ายคือพระญาณของพระพุทธเจ้า) เพราะพระญาณอันบริสุทธิ์ของพระองค์ ซึ่งมีปกติเห็นสรรพสิ่ง ไม่มีอะไรขัดขวาง เดียรถีย์เหล่านั้นหาล่วงเลยพระญาณของพระองค์ไปไม่             

[๒๓๓] ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคชินเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้มีพระยศยิ่งใหญ่ ออกจากสมาธิแล้วตรวจดูทิศ             

[๒๓๔] พระสาวกนามว่านิสภะ ของพระผู้มีพระภาค พระนามว่าอโนมทัสสี ผู้เป็นมุนี มีภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูป เป็นผู้มีจิตสงบ ผู้คงที่ แวดล้อมแล้ว (ผู้คงที่ หมายถึงผู้ไม่หวั่นไหวในอารมณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา)             

[๒๓๕] ผู้สิ้นอาสวะแล้ว ผู้บริสุทธิ์ ผู้ได้อภิญญา ๖ (อภิญญา ๖ หมายถึงความรู้ยิ่งคือ อิทธิวิธิ (แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้), ทิพพโสต (หูทิพย์), เจโตปริยญาณ (ทายใจคนอื่นได้), ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ระลึกชาติได้), ทิพพจักขุ (ตาทิพย์), อาสวักขยญาณ (ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป)) ผู้คงที่ ทราบพระดำริของพระพุทธเจ้าแล้ว จึงเข้าเฝ้าพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก             

[๒๓๖] สาวกเหล่านั้นยืนกลางอากาศ ณ ที่ใกล้พระผู้มีพระภาคนั้น ได้กระทำประทักษิณ ประนมมือ นมัสการแล้วลงมาเฝ้า ณ สำนักพระพุทธเจ้า             

[๒๓๗] พระผู้มีพระภาคชินเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้วทรงแย้มพระโอษฐ์ให้ปรากฏ             

[๒๓๘] พระสาวกนามว่าวรุณะ ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสี ห่มผ้าเฉวียงบ่า แล้วทูลถามพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลกว่า             

[๒๓๙] ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อะไรหนอ เป็นเหตุให้พระศาสดาทรงแย้มพระโอษฐ์ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นจะไม่ทรงแย้มพระโอษฐ์ โดยไม่มีเหตุ             

[๒๔๐] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอโนมทัสสี ผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า             

[๒๔๑] เราจักพยากรณ์ดาบสผู้ที่ใช้ดอกไม้บูชาเรา และชมเชยญาณของเราเนืองๆ ขอท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าวเถิด             

[๒๔๒] เทวดาทั้งปวง ทราบพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแล้วมาประชุมกัน เทวดาเหล่านั้น ประสงค์จะฟังพระสัทธรรม จึงเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า             

[๒๔๓] หมู่เทวดาผู้มีฤทธิ์มากทั้ง ๑๐ โลกธาตุ (๑๐ โลกธาตุ หมายถึง หมื่นจักรวาล) เหล่านั้น ประสงค์จะฟังพระสัทธรรมจึงเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า             

[๒๔๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสว่า) กองทัพ ๔ เหล่า คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า จักแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า             

[๒๔๕] เครื่องดนตรี ๑,๐๖๐ ชิ้น กลองที่ประดับตกแต่งสวยงาม จักบำรุงบำเรอผู้นี้เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า             

[๒๔๖] สตรีสาวล้วน ๑๖,๐๐๐ นาง ประดับตกแต่งสวยงาม สวมใส่ผ้าอาภรณ์อย่างงดงาม ห้อยตุ้มหูแก้วมณี             

[๒๔๗] มีหน้ากลมโต มีปกติร่าเริง รูปร่างงาม เอวเล็กเอวบาง จักแวดล้อมผู้นี้เป็นนิตย์ นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า             

[๒๔๘] ผู้นี้จักรื่นรมย์ในเทวโลกตลอด ๑๐๐,๐๐๐ กัป จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในแว่นแคว้น ๑,๐๐๐ ชาติ             

[๒๔๙] จักเป็นจอมเทพครองเทวสมบัติ ๑,๐๐๐ ชาติ จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับชาติไม่ถ้วน             

[๒๕๐] เมื่อภพสุดท้ายมาถึง ผู้นี้จักไปเกิดเป็นมนุษย์ นางพราหมณีชื่อสารี จักตั้งครรภ์             

[๒๕๑] ผู้นี้จักปรากฏนามว่าสารีบุตร ตามชื่อและโคตรของมารดา จักเป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม             

[๒๕๒] จักเป็นผู้ไม่มีความกังวล ละทิ้งทรัพย์ประมาณ ๘๐ โกฏิแล้วออกบวช เที่ยวแสวงหาทางแห่งความสงบทั่วแผ่นดินนี้             

[๒๕๓] ในกัปที่นับมิได้นับจากกัปนี้ไป พระศาสดาพระนามว่าโคดม ตามพระโคตร ทรงสมภพในราชสกุลโอกกากราช จักอุบัติขึ้นในโลก             

[๒๕๔] ดาบสนี้จักมีนามว่าสารีบุตร เป็นธรรมทายาท เป็นโอรสที่ธรรมเนรมิต จักเป็นอัครสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น             

[๒๕๕] แม่น้ำภาคีรถีนี้ไหลมาจากภูเขาหิมพานต์ ไหลลงสู่มหาสมุทร ทำมหาสมุทรให้เต็ม ฉันใด             

[๒๕๖] สารีบุตรนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักเป็นผู้สามารถแกล้วกล้าในไตรเพท จักสำเร็จปัญญาบารมี แล้วให้หมู่สัตว์อิ่มเอิบได้             

[๒๕๗] ตั้งแต่ป่าหิมพานต์จนถึงทะเลมีห้วงน้ำกว้างใหญ่ ในช่วงระหว่างนี้ มีกองทรายอยู่ขนาดเท่าใด คำนวณนับไม่ได้             

[๒๕๘] แม้กองทรายขนาดเท่านั้นสามารถจะคำนวณนับได้ โดยไม่มีเหลือด้วยการนับวิธีใด แต่ปัญญาของสารีบุตรจะมีที่สุดโดยวิธีนับนั้นๆ ก็หามิได้             

[๒๕๙] เมื่อตั้งคะแนนไว้ บรรดาทรายในแม่น้ำคงคาก็จะพึงหมดสิ้นไป แต่ปัญญาของสารีบุตรหาหมดสิ้นไปไม่             

[๒๖๐] คลื่นในมหาสมุทรคำนวณนับไม่ได้ ปัญญาของสารีบุตร จักไม่มีที่สุดอย่างนั้นเหมือนกัน             

[๒๖๑] สารีบุตรนั้นจักทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโคดมศากยะผู้ประเสริฐ ทรงโปรดปรานแล้ว สำเร็จปัญญาบารมีเป็นอัครสาวก(ของพระองค์)             

[๒๖๒] สารีบุตรนั้น จักประพฤติตามพระธรรมจักร ที่พระผู้มีพระภาคผู้ศากยบุตรผู้คงที่ ทรงประกาศไว้แล้ว บันดาลเม็ดฝนคือธรรมให้ตกลงโดยชอบ             

[๒๖๓] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ ทรงทราบความนั้นทั้งหมดแล้ว ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่ภิกษุ จักทรงตั้ง(สารีบุตร)ไว้ในตำแหน่งอัครสาวก             

[๒๖๔] โอ! กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำบุญญาธิการแด่พระศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสีแล้ว สำเร็จบารมีในจำนวนคุณทั้งสิ้น ชื่อว่าเป็นกรรมที่ทำไว้ดีแล้วหนอ             

[๒๖๕] กรรมที่ข้าพเจ้าได้ทำไว้ในกาลที่จะกำหนดจำนวนมิได้ แสดงผลแก่ข้าพเจ้าแล้วในอัตภาพสุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าหลุดพ้นดีแล้ว ดุจความเร็วแห่งลูกศรพ้นไปจากแล่ง เผากิเลสทั้งหลายได้แล้ว             

[๒๖๖] ข้าพเจ้านั้น เมื่อเที่ยวแสวงหาทางที่ไม่หวั่นไหวคือนิพพาน อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ เลือกเฟ้นเจ้าลัทธิทั้งปวงจึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ             

[๒๖๗] คนเป็นไข้พึงแสวงหายารักษา พึงสะสมทรัพย์ทั้งปวงไว้เพื่อพ้นจากความเจ็บไข้ ฉันใด             

[๒๖๘] ข้าพเจ้าก็ฉันนั้น เมื่อเที่ยวแสวงหาทาง คืออมตนิพพานอันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ จึงได้บวชเป็นฤๅษี ๕๐๐ ชาติ ติดต่อกัน             

[๒๖๙] ข้าพเจ้าเพียบพร้อมด้วยชฎาและภาระ(บริขาร) นุ่งห่มหนังสัตว์ สำเร็จอภิญญา ได้ไป(เกิด)ยังพรหมโลก             

[๒๗๐] เว้นศาสนาของพระชินเจ้าเสียแล้ว ก็หาความบริสุทธิ์ในลัทธิภายนอกไม่ได้ เหล่าสัตว์ผู้มีปัญญาย่อมบริสุทธิ์ได้ในศาสนาของพระชินเจ้า             

[๒๗๑] สิ่งที่สำเร็จด้วยการทำของตนนั้น ไม่เป็นดังที่ได้ยินกันต่อๆ มาว่า เป็นอย่างนี้ๆ ข้าพเจ้าเมื่อแสวงหาทางที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ จึงเที่ยวไปในลัทธิที่ผิด             

[๒๗๒] คนที่ต้องการแก่นไม้ตัดต้นกล้วยแล้วผ่า ก็จะไม่พึงได้แก่นไม้ในต้นกล้วยนั้น เขาย่อมเป็นผู้ไร้แก่นไม้ ฉันใด             

[๒๗๓] เหล่าเดียรถีย์ทั้งหลายในโลกก็ฉันนั้น มีทิฏฐิต่างกัน ถึงจะมีจำนวนมาก ก็เป็นผู้ว่างเปล่าจากนิพพานอันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ดุจต้นกล้วยว่างเปล่าจากแก่นไม้ ฉะนั้น             

[๒๗๔] เมื่อภพสุดท้ายมาถึง ข้าพเจ้าเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ ได้ละทิ้งโภคสมบัติมากมายแล้วออกบวชเป็นบรรพชิต             

[๒๗๕] (พระสารีบุตรเถระกราบทูลว่า) (ตั้งแต่คาถานี้ไปพระเถระได้กราบทูลให้พระผู้มีพระภาคทราบเรื่องราวของท่าน สมตามข้อความในธรรมบทอรรถกถาด้วย) ข้าพระองค์อยู่ในสำนักของพราหมณ์นามว่าสัญชัย ซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียน ทรงมนตร์ จบไตรเพท             

[๒๗๖] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พราหมณ์นามว่าอัสสชิ สาวกของพระองค์ ซึ่งหาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก มีเดชแผ่ไป เที่ยวบิณฑบาตในครั้งนั้น             

[๒๗๗] ข้าพระองค์ได้เห็นท่านผู้ประเสริฐนั้น ผู้มีปัญญา เป็นมุนี มีจิตตั้งมั่นในความเป็นมุนี มีจิตสงบ เบิกบานดุจดอกปทุมที่แย้มบาน             

[๒๗๘] เพราะเห็นท่านผู้ฝึกฝนดีแล้ว มีจิตบริสุทธิ์ องอาจ ประเสริฐ มีความเพียร ความคิดของข้าพเจ้าจึงเกิดขึ้นว่า ท่านผู้นี้คงจะเป็นพระอรหันต์             

[๒๗๙] ท่านผู้นี้ เคลื่อนไหวกิริยาท่าทางน่าเลื่อมใส รูปงาม สำรวมดี ฝึกฝนแล้วในอุบายเครื่องฝึกอย่างสูงสุด คงจะเป็นผู้เห็นทางอมตะ             

[๒๘๐] ทางที่ดี เราควรจะถามท่านผู้มีประโยชน์อย่างสูงสุด ผู้มีจิตยินดี หากท่านถูกเราถามแล้วจักตอบ เราก็จะย้อนถามท่านอีก ในครั้งนั้น             

[๒๘๑] ข้าพระองค์ได้เดินตามไปข้างหลังท่านผู้กำลังเที่ยวบิณฑบาต รอคอยโอกาสอยู่เพื่อจะสอบถามทางอมตะ             

[๒๘๒] จึงเข้าไปหาท่านซึ่งอยู่ในระหว่างถนนแล้วถามว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ผู้มีความเพียร ท่านมีโคตรตระกูลอย่างไร เป็นศิษย์ของใคร             

[๒๘๓] ท่านถูกข้าพระองค์ถามแล้วก็ไม่ครั่นคร้าม เป็นดังพญาไกรสรราชสีห์ตอบว่า ท่านผู้มีอายุ พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก อาตมาเป็นศิษย์ของพระองค์             

[๒๘๔] (ข้าพระองค์ได้ถามต่อไปว่า) ข้าแต่ท่านผู้มีความเพียรมาก ท่านผู้มียศยิ่งใหญ่เกิดตามมา ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าของท่านเป็นเช่นไร ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอโอกาส ขอท่านโปรดบอกแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด             

[๒๘๕] ท่านถูกข้าพระองค์ถามแล้ว จึงแสดงบททุกบทที่ลึกซึ้งละเอียด สำหรับกำจัดลูกศรคือตัณหา สำหรับเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวงว่า             

[๒๘๖] ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสสอนอย่างนี้             

[๒๘๗] เมื่อพระอัสสชิเถระแก้ปัญหาแล้ว ข้าพระองค์นั้นได้บรรลุผลที่หนึ่ง(โสดาปัตติผล) เป็นผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส ปราศจากมลทินคือกิเลส เพราะได้ฟังคำสอนของพระชินเจ้า             

[๒๘๘] ข้าพระองค์ได้ฟังคำของพระมุนีแล้ว ได้เห็นธรรมอันสูงสุด หยั่งรู้พระสัทธรรมจึงได้กล่าวคาถานี้ว่า             

[๒๘๙] ถ้ามีเพียงเท่านั้น ธรรมนี้นั่นแหละ(ที่ข้าพเจ้าพึงบรรลุ) ท่านรู้แจ้งทางที่ไม่เศร้าโศก (ทางที่ไม่เศร้าโศก หมายถึงนิพพาน) ซึ่งข้าพเจ้าไม่เห็นแล้ว ล่วงเลยมาหลายหมื่นกัป             

[๒๙๐] ข้าพเจ้าเมื่อแสวงหาธรรม ได้เที่ยวไปในลัทธิที่ผิด (บัดนี้)ได้บรรลุความประสงค์นั้นแล้ว จึงมิใช่เวลาที่ข้าพเจ้าจะประมาท             

[๒๙๑] ข้าพระองค์ที่พระอัสสชิเถระให้ยินดีแล้ว บรรลุทางที่ไม่หวั่นไหว (ทางที่ไม่หวั่นไหว หมายถึงการถึงนิพพาน) เมื่อจะไปเสาะหาสหาย จึงได้ไปยังอาศรม             

[๒๙๒] สหายของข้าพระองค์ ผู้ได้ศึกษามาดี เพียบพร้อมด้วยอิริยาบถ เห็นข้าพระองค์แต่ไกลเทียว จึงได้กล่าวคำนี้ว่า             

[๒๙๓] ท่านมีหน้าตาผ่องใส ปรากฏประหนึ่งว่าจะเป็นมุนี ท่านได้บรรลุอมตนิพพานหรือได้บรรลุบทคือพระนิพพานอันไม่จุติ             

[๒๙๔] ท่านเป็นผู้สมควรแก่ความงาม เป็นเหมือนผู้ฝึกฝนตนมาแล้ว เหมือนช้างถูกแทงด้วยหอก ไม่หวั่นไหว พราหมณ์ ท่านเป็นผู้มีการฝึกฝนมาดี จึงสงบระงับแล้ว ในทางเป็นที่ฝึก             

[๒๙๕] ข้าพระองค์ตอบว่า ข้าพเจ้าได้บรรลุอมตธรรม ซึ่งเป็นเครื่องบรรเทาลูกศรคือความเศร้าโศกแล้ว ถึงตัวท่านก็จะบรรลุอมตธรรมนั้นได้ พวกเราไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันเถิด             

[๒๙๖] สหายนั้นอันข้าพระองค์ให้ศึกษาอย่างดีแล้ว จึงรับคำว่า ดีละ แล้วได้จูงมือกันมายังสำนักของพระองค์             

[๒๙๗] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร ข้าพระองค์ทั้ง ๒ จักบวชในสำนักของพระองค์ อาศัยคำสอนของพระองค์อยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ             

[๒๙๘] ท่านโกลิตะเป็นผู้เลิศด้วยฤทธิ์ ข้าพระองค์เลิศด้วยปัญญา ข้าพระองค์ทั้ง ๒ จะร่วมมือกันทำศาสนาให้งดงาม             

[๒๙๙] (เมื่อก่อน) ข้าพระองค์มีความดำริยังไม่ถึงที่สุด จึงได้เที่ยวไปในลัทธิที่ผิด (แต่บัดนี้)เพราะได้อาศัยทัศนะของพระองค์ ความดำริของข้าพระองค์จึงเต็ม             

[๓๐๐] หมู่ไม้เกิดบนแผ่นดินย่อมแย้มบานในฤดูกาล กลิ่นทิพย์หอมอบอวลไปทำให้สรรพสัตว์ยินดี (ฉันใด)             

[๓๐๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ผู้เป็นศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ดำรงอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว ย่อมแสวงหากาลเวลาเพื่อจะแย้มบาน             

[๓๐๒] ข้าพระองค์แสวงหาดอกไม้คือวิมุตติ (ดอกไม้คือวิมุตติ หมายถึงอรหัตตผลวิมุตติ) ซึ่งเป็นเหตุหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพ ให้สรรพสัตว์ยินดีด้วยการได้ดอกไม้คือวิมุตติ             

[๓๐๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ ตลอดพุทธเขต (พุทธเขต หมายถึงมีแสนโกฏิจักรวาล) ยกเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นมหามุนีเสีย ก็ไม่มีใครจะมีปัญญาเหมือนกับข้าพระองค์ผู้เป็นบุตรของพระองค์เลย             

[๓๐๔] ศิษย์และชุมนุมชนของพระองค์ที่พระองค์ทรงแนะนำดีแล้ว ให้ศึกษาดีแล้ว ฝึกฝนในอุบายเครื่องฝึกอันสูงสุด แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ             

[๓๐๕] ท่านเหล่านั้นมีปกติเข้าฌาน ยินดีในฌาน เป็นนักปราชญ์ มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น เป็นมุนี สมบูรณ์ด้วยความเป็นมุนี แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ             

[๓๐๖] ท่านเหล่านั้นมักน้อย มีปัญญารักษาตน เป็นนักปราชญ์ ฉันอาหารแต่น้อย ไม่โลภ สันโดษตามมีตามได้ แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ             

[๓๐๗] ท่านเหล่านั้นถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ยินดีในธุดงค์ เข้าฌาน ใช้จีวรเศร้าหมอง ยินดียิ่งในความสงัด เป็นนักปราชญ์ แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ             

[๓๐๘] ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติ(พรั่งพร้อมด้วยมรรค) ดำรงอยู่ในผล และเป็นพระเสขะพรั่งพร้อมด้วยผล (ผล ในที่นี้หมายถึงผลเบื้องต่ำ ๓ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล) มุ่งหวังประโยชน์อย่างสูงสุด(คือพระนิพพาน) แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ             

[๓๐๙] ท่านเหล่านั้นทั้งที่เป็นพระโสดาบัน ทั้งที่เป็นพระสกทาคามี ทั้งที่เป็นพระอนาคามี และที่เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ปราศจากมลทิน(คือกิเลส) แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ             

[๓๑๐] สาวกของพระองค์จำนวนมาก ฉลาดในสติปัฏฐาน (สติปัฏฐาน หมายถึงสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา) ยินดีในการเจริญโพชฌงค์ ทุกท่านแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ             

[๓๑๑] ท่านเหล่านั้นฉลาดในอิทธิบาท ยินดีในการเจริญสมาธิ หมั่นประกอบสัมมัปปธาน แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ             

[๓๑๒] ท่านเหล่านั้นได้วิชชา ๓ (วิชชา ๓ หมายถึง (๑) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อนได้ ระลึกชาติได้) (๒) จุตูปปาตญาณ (ญาณกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม) (๓) อาสวักขยญาณ (ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ความตรัสรู้)) ได้อภิญญา ๖ ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ ถึงความสำเร็จแห่งปัญญา แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ             

[๓๑๓] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ศิษย์ของพระองค์เป็นเช่นนี้ เป็นผู้ศึกษาดีแล้ว หาผู้กระทบกระทั่งได้ยาก มีเดชแผ่ไป แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ             

[๓๑๔] พระองค์มีศิษย์เหล่านั้นแวดล้อม ผู้สำรวมแล้ว ผู้มีตบะ เป็นผู้ไม่ครั่นคร้ามดังราชสีห์ ย่อมทรงงดงามดังดวงจันทร์             

[๓๑๕] ต้นไม้เกิดบนแผ่นดินย่อมงอกงามไพบูลย์บนแผ่นดิน ต้นไม้เหล่านั้นย่อมเผล็ดผล (โดยลำดับ)             

[๓๑๖] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงเป็นเช่นกับแผ่นดิน ศิษย์ (เป็นเช่นกับต้นไม้) ดำรงอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว ย่อมได้ผลเป็นอมตะ             

[๓๑๗] แม่น้ำสินธุ แม่น้ำสรัสวดี แม่น้ำจันทภาคา แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำสรภู และแม่น้ำมหี             

[๓๑๘] เมื่อแม่น้ำหลายสายนั้นไหลไป(ถึงทะเล)ทะเลย่อมรองรับไว้ แม่น้ำเหล่านั้นย่อมละชื่อเดิม ปรากฏชื่อว่าทะเล ฉันใด             

[๓๑๙] วรรณะทั้ง ๔ (วรรณะทั้ง ๔ หมายถึงตระกูล ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร) เหล่านี้ก็ฉันนั้น มาบวชในสำนักของพระองค์แล้ว ก็ย่อมละชื่อเดิม ปรากฏชื่อว่าพุทธบุตร             

[๓๒๐] ดวงจันทร์ปราศจากมลทินโคจรอยู่ในอากาศ มีแสงรุ่งโรจน์ยิ่งกว่าหมู่ดาวในโลกทั้งหมด ฉันใด             

[๓๒๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีศิษย์แวดล้อม ก็ย่อมรุ่งเรืองยิ่งกว่าเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นทั้งหมดในกาลทุกเมื่อ             

[๓๒๒] คลื่นเกิดขึ้นในน้ำลึกย่อมไม่ล่วงเลยล้นฝั่งไปได้ คลื่นเหล่านั้นกระทบฝั่งเป็นระลอกกระจายหายไปหมด ฉันใด             

[๓๒๓] เดียรถีย์ทั้งหลายในโลกก็ฉันนั้น มีทิฏฐิต่างกัน เป็นชนจำนวนมาก พวกเขาต้องการจะกล่าวธรรม แต่ก็ไม่ล่วงเลยพระองค์ผู้เป็นมุนีไปได้             

[๓๒๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ ก็ถ้าเดียรถีย์เหล่านั้น เข้ามาหาพระองค์ด้วยความประสงค์จะคัดค้าน ครั้นมาถึงสำนักของพระองค์แล้ว ก็จะกลายเป็นจุรณไป             

[๓๒๕] ดอกโกมุท ดอกบัวเผื่อน จำนวนมาก เกิดในน้ำแล้วติดอยู่กับน้ำและเปือกตม ฉันใด             

[๓๒๖] เหล่าสัตว์จำนวนมากก็ฉันนั้น เกิดมาในโลกแล้ว ถูกราคะและโทสะเบียดเบียน ย่อมงอกงาม(ในวัฏฏสงสาร) ดุจดอกโกมุทงอกงามในเปือกตม ฉะนั้น             

[๓๒๗] ดอกบัวหลวงเกิดในน้ำ งดงามอยู่กลางน้ำ (แต่)ดอกบัวหลวงนั้นยังคงบริสุทธิ์ ไม่ติดอยู่กับน้ำ ฉันใด             

[๓๒๘] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ทรงเป็นฉันนั้น เป็นมหามุนี เกิดมาแล้วในโลก (แต่)ไม่ทรงติดอยู่กับโลก ดุจดอกบัวหลวงไม่ติดอยู่กับน้ำ ฉะนั้น             

[๓๒๙] ดอกไม้หลายชนิดที่เกิดในน้ำ ย่อมแย้มบานในเดือน ๑๒ ไม่ล่วงเลยเดือน ๑๒ นั้นไป เพราะเดือน ๑๒ นั้นเป็นกาลสมัยที่ดอกไม้จะบาน ฉันใด             

[๓๓๐] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร พระองค์ก็เป็นผู้แย้มบานแล้ว ฉันนั้น เหล่าศิษย์ของพระองค์ก็เป็นผู้แย้มบานแล้วด้วยวิมุตติ ไม่ล่วงเลยคำสั่งสอนของพระองค์ไปได้ ดุจดอกบัวหลวงซึ่งแย้มบานด้วยน้ำ ไม่ล่วงเลยกาลสมัยเป็นที่แย้มบานไปได้ ฉะนั้น             

[๓๓๑] ต้นพญาไม้สาละออกดอกบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมอบอวลไปคล้ายกลิ่นทิพย์ แวดล้อมด้วยไม้สาละชนิดอื่น ย่อมงดงาม ฉันใด             

[๓๓๒] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงแย้มบานด้วยพระพุทธญาณ มีหมู่ภิกษุแวดล้อม ย่อมงดงาม ดุจพญาไม้สาละ ฉะนั้น             

[๓๓๓] เปรียบเหมือนภูเขาศิลาล้วนชื่อหิมวา เป็นภูเขาที่มีโอสถสำหรับสรรพสัตว์ เป็นที่อยู่ของพวกนาค อสูร และเทวดาทั้งหลาย             

[๓๓๔] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก พระองค์ก็ทรงเป็นฉันนั้น ทรงเป็นดุจโอสถของสรรพสัตว์ (เพราะทรงปลดเปลื้องสรรพสัตว์ให้พ้นจากชรา พยาธิ และมรณะ) ทรงได้วิชชา ๓ ได้อภิญญา ๖ ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์             

[๓๓๕] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก ผู้ที่พระองค์ทรงพระกรุณาพร่ำสอนแล้วนั้น ย่อมยินดีในธรรม อยู่ในศาสนาของพระองค์             

[๓๓๖] ราชสีห์ผู้เป็นพญาเนื้อพอออกจากถ้ำที่อาศัยแล้ว เหลียวดูทิศทั้ง ๔ จึงบันลือสีหนาท ๓ ครั้ง             

[๓๓๗] เมื่อราชสีห์ผู้พญาเนื้อคำราม สัตว์ทั้งปวงย่อมสะดุ้งกลัว อันที่จริง ชาติราชสีห์นี้ ย่อมทำให้เหล่าสัตว์สะดุ้งกลัวทุกเมื่อ ฉันใด             

[๓๓๘] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่ พื้นพสุธานี้ย่อมหวั่นไหว เหล่าสัตว์ผู้ควรตรัสรู้ก็ย่อมตรัสรู้ เหล่าสัตว์ผู้อยู่ในหมู่มารย่อมสะดุ้ง ฉันนั้น             

[๓๓๙] ข้าแต่พระมหามุนี เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่ เหล่าเดียรถีย์ทั้งปวงย่อมสะดุ้ง ดุจฝูงกา ฝูงเหยี่ยวบินกระเจิงไป ดุจฝูงสัตว์แตกกระเจิงไปเพราะราชสีห์ผู้เป็นพญาเนื้อ ฉะนั้น             

[๓๔๐] เหล่าคณาจารย์บางพวกประชาชนเรียกกันว่า เป็นศาสดาในโลก ท่านเหล่านั้นย่อมแสดงธรรมที่สืบๆ กันมาแก่ชุมนุมชน             

[๓๔๑] ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรมาก แต่พระองค์หาเป็นอย่างนั้นไม่ ครั้นทรงตรัสรู้สัจจะทั้งหลายด้วยพระองค์เองแล้ว จึงทรงแสดงโพธิปักขิยธรรมทั้งมวลแก่เหล่าสัตว์             

[๓๔๒] พระองค์ทรงทราบอัธยาศัยและอนุสัย ทรงทราบว่าอินทรีย์มีกำลังแก่กล้าและไม่แก่กล้า ทรงทราบบุคคลสมควรและไม่สมควร (สมควรและไม่สมควร ในที่นี้หมายถึงผู้สามารถบรรลุธรรมและไม่สามารถบรรลุธรรม) จึงทรงบันลือดุจมหาเมฆ             

[๓๔๓] เพื่อจะทรงตัดความสงสัยของชุมนุมชนที่จะพึงนั่งรอบจักรวาล ผู้มีทิฏฐิต่างกัน มีความคิดคิดต่างกัน             

[๓๔๔] พระองค์ผู้เป็นมุนีทรงรู้จิตของเหล่าสัตว์ทั้งปวง ทรงฉลาดในข้ออุปมา ตรัสแก้ปัญหาข้อเดียวเท่านั้น ก็ทรงตัดความสงสัยของเหล่าสัตว์เสียได้             

[๓๔๕] พื้นแผ่นดินพึงเต็มด้วยมนุษย์ผู้เช่นกับจอกแหน พวกเขาทั้งหมดพึงประคองอัญชลี ประกาศคุณของพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก             

[๓๔๖] อีกอย่างหนึ่งเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น เมื่อประกาศคุณอยู่ตลอดกัปหนึ่ง (กัปหนึ่ง ระยะเวลายาวนานเหลือเกิน กำหนดกันว่าโลกคือสากลจักรวาลประลัยครั้งหนึ่ง ท่านเปรียบด้วยอุปมาว่า เหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูง ด้านละ ๑ โยชน์ ทุกๆ ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อบางละเอียดอย่างดีมาลูบเขานั้นครั้งหนึ่งๆ จนกว่าภูเขาลูกนั้น จะสึกหรอหมดสิ้นไป กัปหนึ่งยังยาวนานกว่านั้นอีก) พึงประกาศคุณโดยประการต่างๆ ก็ยังไม่สามารถจะประกาศคุณให้สิ้นสุดได้ พระตถาคตมีพระคุณหาประมาณมิได้             

[๓๔๗] ก็ข้าพระองค์สรรเสริญพระชินเจ้าด้วยกำลังของตนอย่างไร เหล่าเทวดาและมนุษย์เมื่อสรรเสริญอยู่ตลอดโกฏิกัป ก็พึงสรรเสริญอย่างนั้นเหมือนกัน             

[๓๔๘] ก็ถ้าใครๆ จะเป็นเทวดา หรือมนุษย์ก็ตาม ได้ศึกษามาเป็นอย่างดีแล้ว จะพึงกำหนดเพื่อจะประมาณ(คุณ) ผู้นั้นจะพึงได้รับความลำบากเปล่า             

[๓๔๙] ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร มีพระยศยิ่งใหญ่ ข้าพระองค์ดำรงอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว สำเร็จปัญญาบารมีอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ             

[๓๕๐] ข้าพระองค์จะย่ำยีเหล่าเดียรถีย์ วันนี้ ข้าพระองค์เป็นจอมทัพธรรมในศาสนาของพระศากยบุตร ประกาศศาสนาของพระชินเจ้า             

[๓๕๑] กรรมที่ข้าพระองค์ได้ทำไว้ในกาลที่จะกำหนดจำนวนมิได้ แสดงผลแก่ข้าพระองค์แล้วในอัตภาพสุดท้ายนี้ ข้าพระองค์หลุดพ้นดีแล้ว ดุจกำลังลูกศรหลุดพ้นไปจากแล่ง เผากิเลสของข้าพระองค์ได้แล้ว             

[๓๕๒] มนุษย์คนใดคนหนึ่งพึงทูนของหนักไว้บนศีรษะตลอดเวลา เขาต้องลำบากเพราะของหนัก เป็นผู้เต็มไปด้วยของหนักทั้งหลาย              

[๓๕๓] ข้าพระองค์ถูกไฟ ๓ กอง (ไฟ ๓ กอง หมายถึงไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ) เผาไหม้อยู่ เป็นผู้เต็มไปด้วยของหนักคือภพ (ของหนักคือภพ หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดในภพ) โดยประการนั้น ท่องเที่ยวไปแล้วในภพทั้งหลาย ภูเขาสิเนรุอันบุคคลถอนขึ้นแล้วฉันใด             

[๓๕๔] ก็ภาระอันหนักข้าพระองค์ยกลงแล้ว ภพทั้งหลายข้าพระองค์ก็เพิกได้แล้ว ฉันนั้น กิจที่ควรทำทั้งหมด (กิจที่ควรทำทั้งหมด ในที่นี้หมายถึงกรรมเป็นเครื่องกำจัดกิเลสโดยลำดับแห่งมรรค) ในศาสนาของพระองค์ผู้ศากยบุตร ข้าพระองค์ก็ได้กระทำสำเร็จแล้ว             

[๓๕๕] ตลอดพุทธเขตยกเว้นพระผู้มีพระภาคผู้ศากยะ ผู้ประเสริฐ ข้าพระองค์เป็นผู้เลิศด้วยปัญญา ไม่มีผู้เช่นกับข้าพระองค์             

[๓๕๖] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาธิ ถึงความสำเร็จแห่งฤทธิ์ วันนี้ เมื่อต้องการจะเนรมิตคน ๑,๐๐๐ คนก็ได้             

[๓๕๗] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมหามุนี เป็นผู้ชำนาญในอนุปุพพวิหารธรรม ตรัสสอนแก่ข้าพระองค์ นิโรธสมาบัติเป็นที่นอนของข้าพระองค์             

[๓๕๘] ข้าพระองค์มีทิพยจักษุบริสุทธิ์หมดจด ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาธิ หมั่นประกอบในสัมมัปปธาน (สัมมัปปธานมี ๔ คือ (๑) เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น (๒) เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว (๓) เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น (๔) เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว) ยินดีในการเจริญโพชฌงค์             

[๓๕๙] ข้าพระองค์ได้ทำกิจทุกอย่างที่สาวกจะพึงบรรลุแล้ว ยกเว้นพระผู้มีพระภาคผู้ทรงเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกเสียแล้ว ไม่มีผู้เช่นกับข้าพระองค์             

[๓๖๐] ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในสมาบัติ ได้ฌานและวิโมกข์ (วิโมกข์ คือ ภาวะที่จิตปลอดพ้นจากสิ่งรบกวนและน้อมดิ่งเข้าไปในอารมณ์นั้นๆ อย่างปล่อยตัวเต็มที่ ในอรรถกถาหมายเอาโลกุตตรวิโมกข์ ๘ คือ ๑-๒-๓. ผู้เจริญกสิณต่างๆ แล้วได้รูปฌาน ๔; ๔-๖-๗. ผู้ได้อรูปฌาน ๔; ๘. ผู้ได้สัญญาเวทยิตนิโรธ) เร็วพลัน ยินดีในการเจริญโพชฌงค์ เป็นผู้บรรลุสาวกบารมีญาณ             

[๓๖๑] ข้าพระองค์เป็นคนมีคารวะอย่างสูงสุด เพราะได้บรรลุสาวกบารมีญาณด้วยความรู้ ข้าพระองค์มีจิตอนุเคราะห์เพื่อนสพรหมจารี (เพื่อนสพรหมจารี หมายถึงผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน เพื่อนบรรพชิต)- ด้วยศรัทธาทุกเมื่อ             

[๓๖๒] ข้าพระองค์ละทิ้งความถือตัวและความเย่อหยิ่งแล้ว ดุจงูถูกถอนเขี้ยวเสียแล้ว (หรือ) ดุจโคอุสภะตัวเขาหักเสียแล้ว เข้าหาหมู่คณะด้วยความเคารพหนักแน่น             

[๓๖๓] หากปัญญาของข้าพระองค์จะพึงมีรูปร่าง ปัญญาของข้าพระองค์ก็จะต้องเสมอกับพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย นี้เป็นผลของการชมเชยพระญาณของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าอโนมทัสสี             

[๓๖๔] ข้าพระองค์ประพฤติตามโดยชอบซึ่งพระธรรมจักร (ธรรมจักร ในที่นี้หมายถึงพระไตรปิฎก (พระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม)) นี้เป็นผลของการชมเชยพระญาณ             

[๓๖๕] บุคคลผู้มีความปรารถนาเลวทราม เป็นคนเกียจคร้าน ละความเพียร มีการศึกษาน้อย ไม่มีมารยาท (มีความปรารถนาเลวทราม หมายถึงมีความปรารถนาลามกแล้วประพฤติชั่ว, เป็นคนเกียจคร้าน หมายถึงเกียจคร้านในการทำวัตรปฏิบัติในอิริยาบถมีการยืนและนั่งเป็นต้น) อย่าได้มาสมาคมกับข้าพระองค์ในที่ไหนๆ สักคราวเลย             

[๓๖๖] ส่วนบุคคลผู้มีการศึกษามาก มีปัญญา มีจิตตั้งมั่นดีในศีลทั้งหลาย หมั่นประกอบความสงบทางใจ ขอจงมาดำรงอยู่บนศีรษะของข้าพระองค์เถิด             

[๓๖๗] (เมื่อพระสารีบุตรเถระจะชักชวนภิกษุอื่นๆ ในคุณสมบัตินั้น จึงกล่าวว่า) เหตุนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวกับท่านทั้งหลาย ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย ตามจำนวนที่มาประชุมกัน ณ ที่นี้ ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ยินดีให้ทานทุกเมื่อเถิด             

[๓๖๘] ข้าพเจ้าพบสาวกรูปใดก่อนแล้ว ได้เป็นผู้ปราศจากธุลีคือกิเลส ปราศจากมลทินคือกิเลส สาวกรูปนั้นมีนามว่าอัสสชิ เป็นนักปราชญ์ เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า             

[๓๖๙] ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระอัสสชิเถระนั้น วันนี้ ข้าพเจ้าได้เป็นธรรมเสนาบดีถึงความสำเร็จในคุณทั้งปวง จึงอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ             

[๓๗๐] พระสาวกรูปใดชื่อว่าอัสสชิ เป็นอาจารย์ของข้าพเจ้าอยู่ ณ ทิศใด ข้าพเจ้าจะนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น             

[๓๗๑] พระผู้มีพระภาคผู้โคดมศากยะผู้ประเสริฐ ทรงระลึกถึงกรรมของข้าพเจ้าแล้ว ประทับนั่งท่ามกลางหมู่ภิกษุ ทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ในตำแหน่งอัครสาวก             

[๓๗๒] กิเลสทั้งหลายข้าพเจ้าเผาได้แล้ว ภพทั้งปวงข้าพเจ้าถอนได้แล้ว   ข้าพเจ้าตัดกิเลสเครื่องผูกพันได้แล้วอยู่อย่างผู้ไม่มีอาสวะ ดุจพญาช้างตัดเครื่องพันธนาการได้อยู่อย่างอิสระ             

[๓๗๓] การที่ข้าพเจ้าได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุด เป็นการมาดีแล้วหนอ วิชชา ๓ ข้าพเจ้าได้บรรลุแล้วโดยลำดับ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว             

[๓๗๔] คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ (ปฏิสัมภิทา ๔ คือ (๑) อัตถปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในอรรถ, ปรีชาแจ้งในความหมาย) (๒) ธัมมปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในธรรม, ปรีชาแจ้งในหลัก) (๓) นิรุตติปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในนิรุตติ ปรีชาแจ้งในภาษา) (๔) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ, ปรีชาแจ้งในความคิดทันการ มีไหวพริบ)) วิโมกข์ ๘ (วิโมกข์ ๘ คือ (๑) ผู้มีรูป มองเห็นรูปทั้งหลาย (ได้แก่รูปฌาน ๔ ของผู้ได้ฌาน โดยเจริญกสิณที่กำหนดวัตถุในกายของตน เช่น สีผม) (๒) ผู้มีอรูปสัญญาภายใน มองเห็นรูปทั้งหลายภายนอก (ได้แก่ อรูปฌาน ๔ ของผู้ได้ฌาน โดยเจริญกสิณกำหนดอารมณ์ภายนอก) (๓) ผู้น้อมใจดิ่งไปว่า “งาม” (ได้แก่ ฌานของผู้เจริญวรรณกสิณกำหนดสีที่งาม หรือเจริญอัปปมัญญา) (๔) เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวงเพราะปฏิฆสัญญาดับไป เพระไม่ใส่ใจนานัตตสัญญา จึงเข้าถึงอากาสานัญจายตนะ โดยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ (๕) เพราะล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงวิญญาณัญจายตนะโดยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ (๖) เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง จึงเข้าถึงอากิญจัญญายตนะโดยมนสิการว่าไม่มีอะไรเลย (๗) เพราะล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวงจึงเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่ (๘) เพราะล่วงเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวงจึงเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ หรือ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ หรือ รูปฌาน และอรูปฌาน) และอภิญญา ๖ ข้าพเจ้าได้ทำให้แจ้งแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าก็ได้ทำสำเร็จแล้ว (คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าได้ทำให้สำเร็จแล้ว หมายถึงคำสั่งสอนเป็นอนุศาสนีและโอวาทของพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าให้สำเร็จด้วยอรหัตตมรรคญาณ) ดังนี้แล             

ได้ทราบว่า ท่านพระสารีบุตรเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้สารีปุตตเถราปทานที่ ๑ จบ

------------------------------------------------

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนี้นำมาจากบางส่วนของอรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ 

เถราปทาน ๑. พุทธวรรค

พรรณนาสารีปุตตเถราปทาน               

              ได้ยินว่า ในอดีตกาล ในที่สุดหนึ่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป ท่านพระสารีบุตรบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล เป็นผู้ชื่อว่า สรทมาณพ โดยชื่อ, ท่านพระมหาโมคคัลลานะบังเกิดในตระกูลคหบดีมหาศาล โดยชื่อมีชื่อว่า สิริวัฑฒนกุฏุมพี.
               คนทั้งสองนั้นเป็นสหายเล่นฝุ่นด้วยกัน บรรดาคนทั้งสองนั้น สรทมาณพ เมื่อบิดาล่วงลับไปแล้ว ได้ครอบครองทรัพย์อันเป็นของตระกูล. วันหนึ่ง อยู่ในที่ลับคิดว่า ชื่อว่าความตายของสัตว์เหล่านี้เป็นสิ่งที่แน่นอน เพราะฉะนั้น เราควรเข้าถือการบวชอย่างหนึ่ง แสวงหาทางหลุดพ้น จึงเข้าไปหาสหายแล้วกล่าวว่า สหาย เราอยากบวช ท่านจักอาจบวชไหม. เมื่อสหายนั้นกล่าวว่าไม่อาจ จึงกล่าวว่า ช่างเถอะ เฉพาะเราเท่านั้นจักบวช แล้วให้เปิดคลังรัตนะให้มหาทานแก่คนกำพร้าและคนเดินทางเป็นต้น แล้วไปยังเชิงเขาบวชเป็นฤาษี.
               เมื่อสรทมาณพนั้นบวชได้มีเหล่าบุตรพราหมณ์ประมาณ ๗๔,๐๐๐ คนบวชตาม. สรทดาบสนั้นทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้บังเกิด แล้วจึงบอกกสิณบริกรรมแก่ชฎิลเหล่านั้น. ชฎิลทั้งหมดนั้นก็ทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้บังเกิดขึ้น.
               สมัยนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า อโนมทัสสี เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ ได้ยังเหล่าสัตว์ให้ข้ามจากโอฆะสงสารใหญ่ วันหนึ่ง มีพระประสงค์จะสงเคราะห์สรทดาบสและเหล่าอันเตวาสิก พระองค์เดียวไม่มีเพื่อน ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จไปทางอากาศ ทรงดำริว่า จงรู้ว่าเราเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อสรทดาบสนั้นเห็นอยู่นั่นแล จึงเสด็จลงจากอากาศ ประทับยืนบนแผ่นดิน.
               สรทดาบสพิจารณา มหาบุรุษลักษณะ ในพระสรีระของพระศาสดา แล้วลงสันนิษฐานว่า ท่านผู้นี้เป็นพระสัพพัญญูพุทธะแท้เทียว จึงได้กระทำการต้อนรับ ให้ปูลาดอาสนะถวาย พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดแล้ว สรทดาบสนั่งอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ในสำนักของพระศาสดา.
               สมัยนั้น ชฎิลประมาณ ๗๔,๐๐๐ ผู้เป็นอันเตวาสิกของสรทดาบสนั้น ถือผลไม้น้อยใหญ่อันประณีตๆ มีโอชะมาอยู่ ได้เห็นพระศาสดาเกิดความเลื่อมใส แลดูอาการนั่งแห่งอาจารย์ของตนและพระศาสดา แล้วพากันกล่าวว่า ท่านอาจารย์ เมื่อก่อนพวกข้าพเจ้าสำคัญว่า ใครๆ ผู้จะใหญ่กว่าท่านไม่มี ก็บุรุษนี้เห็นจะใหญ่กว่าท่าน. สรทดาบสกล่าวว่า พ่อทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไร พวกเธอปรารถนาจะกระทำเขาสิเนรุอันสูงหกล้านแปดแสนโยชน์ ให้เสมอกับเมล็ดพันธุ์ผักกาด พวกเธออย่ากระทำเราให้เท่ากับพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเลย.
               ลำดับนั้น ดาบสเหล่านั้น ครั้นได้ฟังคำของอาจารย์แล้วพากันคิดว่า ท่านผู้นี้เป็นอุดมบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ทีเดียวหนอ ทั้งหมดจึงหมอบลงที่พระบาทไหว้พระศาสดา.
               ทีนั้น อาจารย์จึงกล่าวกะพวกศิษย์นั้นว่า นี่แน่ะพ่อทั้งหลาย ไทยธรรมของพวกเราอันสมควรแก่พระศาสดา ไม่มี และพระศาสดาก็เสด็จมา ณ ที่นี้ในเวลาภิกขาจาร เอาเถอะ พวกเราจักถวายไทยธรรมตามกำลังผลาผลอันประณีตใดๆ พวกเธอได้นำมาแล้ว พวกเธอก็จงนำเอาผลาผลไม้นั้นๆ มาเถิด ครั้นให้นำมาแล้ว จึงล้างมือทั้งสอง ให้ตั้งผลาผลไม้ ลงในบาตรของพระตถาคตด้วยตนเอง เมื่อพระศาสดาสักว่าทรงรับผลาผลไม้ เทวดาทั้งหลายได้ใส่ทิพโอชาเข้าไป. แม้น้ำ พระดาบสก็ได้กรองถวายด้วยตนเองเหมือนกัน.
               จากนั้น เมื่อพระศาสดาทรงทำกิจด้วยโภชนะให้เสร็จแล้วประทับนั่ง ดาบสให้เรียกเหล่าอันเตวาสิกทั้งหมดมาแล้วนั่งกล่าวสาราณียกถาอยู่ในสำนักของพระศาสดา.
               พระศาสดาทรงดำริว่า อัครสาวกทั้งสองจงมาพร้อมกับหมู่ภิกษุ. ทันใดนั้น พระอัครสาวกมีพระขีณาสพหนึ่งแสนเป็นบริวาร ก็มาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง.
               ลำดับนั้น สรทดาบสจึงเรียกเหล่าอันเตวาสิกมาว่า พ่อทั้งหลายควรทำการบูชาด้วยอาสนะดอกไม้แก่พระศาสดาและภิกษุสงฆ์ เพราะฉะนั้น พวกเธอจงนำดอกไม้มา. ทันใดนั้น เหล่าอันเตวาสิกจึงนำดอกไม้ทั้งหลายอันสมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่นมาด้วยฤทธิ์ แล้วปูลาดอาสนะดอกไม้ประมาณหนึ่งโยชน์แก่พระพุทธเจ้า ปูลาดอาสนะดอกไม้ประมาณ ๓ คาวุตแก่พระอัครสาวกทั้งสอง ปูลาดอาสนะดอกไม้ชนิดกึ่งโยชน์เป็นต้น แก่เหล่าภิกษุที่เหลือ ปูลาดอาสนะดอกไม้ประมาณอุสภะแก่ภิกษุผู้ใหม่ในสงฆ์.
               ครั้นปูลาดอาสนะทั้งหลายอย่างนี้แล้ว สรทดาบสจึงประคองอัญชลี ตรงพระพักตร์ของพระตถาคต แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์เสด็จขึ้นยังอาสนะดอกไม้นี้ เพื่ออนุเคราะห์ข้าพระองค์. พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้ เมื่อพระศาสดาประทับนั่งแล้ว พระอัครสาวกทั้งสองและเหล่าภิกษุที่เหลือ ก็นั่งบนอาสนะอันถึงแก่ตนๆ.
               พระศาสดาทรงเข้านิโรธสมาบัติด้วยพระประสงค์ว่า ผลใหญ่จงมีแก่ดาบสเหล่านั้น. ฝ่ายพระอัครสาวกทั้งสองและภิกษุที่เหลือ รู้ว่าพระศาสดาทรงเข้านิโรธสมาบัติ จึงพากันเข้านิโรธสมาบัติ. พระดาบสได้ยืนกั้นฉัตรดอกไม้แด่พระศาสดาสิ้นกาลหาระหว่างมิได้ตลอด ๗ วัน. พระดาบสนอกนี้ฉันมูลผลาหารจากป่าแล้ว ในเวลาที่เหลือก็ได้ยืนประคองอัญชลีอยู่.
               พอล่วงไปได้ ๗ วัน พระศาสดาทรงออกจากนิโรธสมาบัติ แล้วตรัสเรียก พระนิสภเถระอัครสาวก ว่า เธอจงกระทำอนุโมทนาอาสนะดอกไม้แก่ดาบสทั้งหลาย. พระเถระตั้งอยู่ในสาวกบารมีญาณ ได้กระทำอนุโมทนาอาสนะดอกไม้แก่ดาบสทั้งหลายเหล่านั้น ในเวลาจบเทศนาของพระนิสภเถระนั้น พระศาสดาตรัสเรียก พระอโนมเถระทุติยอัครสาวก ว่า แม้เธอก็จงแสดงธรรมแก่ดาบสเหล่านี้. ฝ่ายพระอโนมเถระพิจารณาพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก แล้วกล่าวธรรมแก่ดาบสเหล่านั้น ธรรมาภิสมัยการตรัสรู้ธรรม มิได้มีด้วยเทศนาของพระอัครสาวกทั้งสอง.
               ลำดับนั้น พระศาสดาทรงตั้งอยู่ในพุทธวิสัย แล้วทรงเริ่มพระธรรมเทศนา. ในเวลาจบเทศนา ชฎิลเจ็ดหมื่นสี่พันที่เหลือแม้ทั้งหมด เว้นสรทดาบสบรรลุพระอรหัตแล้ว. พระศาสดาทรงเหยียดพระหัตถ์ ตรัสกะชฎิลเหล่านั้นว่า เธอทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด. ทันใดนั้น ชฎิลเหล่านั้นมีเพศดาบสอันตรธานหายไป ได้เป็นผู้ทรงบริขาร ๘ ดุจพระเถระมีพรรษา ๖๐ ฉะนั้น.
               ส่วนสรทดาบส เพราะความที่ตนเป็นผู้เกิดปริวิตกขึ้นเวลาแสดงธรรมว่า โอหนอ แม้เราก็พึงเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตเหมือนพระนิสภเถระนี้ ได้มีจิตส่งไปอื่น จึงไม่ได้อาจเพื่อจะทำให้รู้แจ้งมรรคผล.
               ลำดับนั้น จึงถวายบังคมพระศาสดา แล้วได้กระทำความปรารถนาเหมือนอย่างนั้น.
               พระศาสดาทรงเห็นว่าจะสำเร็จโดยหาอันตรายมิได้ จึงทรงพยากรณ์ว่า ล่วงไปหนึ่งอสงไขยยิ่งด้วยแสนกัป แต่กัปนี้ไป อัครสาวกของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า จักมีนามว่าสารีบุตร ดังนี้แล้วตรัสธรรมกถา มีภิกษุสงฆ์เป็นบริวารแล่นไปยังอากาศแล้ว.
               ฝ่ายสรทดาบสก็ได้ไปยังสำนักของสิริวัฑฒกุฎุมพีผู้สหาย แล้วกล่าวว่า สหาย เราปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้จะอุบัติขึ้นในอนาคต ณ ที่บาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี แม้ท่านก็จงปรารถนาตำแหน่งทุติยสาวกของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น.
               สิริวัฑฒกุฎุมพีได้ฟังการชี้แจงดังนั้น จึงให้กระทำที่ประมาณ ๘ กรีสที่ประตูนิเวศน์ของตนให้มีพื้นราบเรียบ แล้วโรยดอกไม้มีข้าวตอกเป็นที่ ๕ ให้สร้างมณฑปมุงด้วยอุบลเขียว ให้ลาดอาสนะสำหรับพระพุทธเจ้า ให้ลาดอาสนะสำหรับภิกษุทั้งหลาย แล้วตระเตรียมเครื่องสักการะและสัมมานะมากมาย แล้วให้สรทดาบสไปนิมนต์พระศาสดามายังมหาทานให้เป็นไปตลอด ๗ วัน แล้วให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ครองผ้าทั้งหลายอันควรค่ามาก แล้วได้กระทำความปรารถนาเพื่อความเป็นทุติยสาวก.
               พระศาสดาทรงเห็นความสำเร็จของสิริวัฑฒกุฎุมพีนั้นโดยหาอันตรายมิได้ จึงทรงพยากรณ์โดยนัยดังกล่าวแล้ว ทรงทำอนุโมทนาภัตแล้วเสด็จหลีกไป.
               สิริวัฑฒกุฎุมพีร่าเริงแจ่มใส กระทำกุศลกรรมตลอดชั่วอายุ แล้วบังเกิดในกามาวจรเทวโลก ในวาระจิตที่ ๒ สรทดาบสเจริญพรหมวิหาร ๔ แล้วบังเกิดในพรหมโลก.
               จำเดิมแต่นั้น ท่านไม่กล่าวถึงกรรมในระหว่างของสหายทั้งสอง.
               ก็สรทดาบสถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางรูปสารีพราหมณี ในอุปติสสคาม ไม่ไกลนครราชคฤห์ ก่อนกว่าการอุบัติขึ้นแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย. ในวันนั้นเอง แม้สหายของสรทดาบสนั้น ก็ถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางโมคคัลลีพราหมณี ในโกลิตคาม ไม่ไกลนครราชคฤห์เหมือนกัน. เพราะฉะนั้น โมคคัลลานะ ชื่อว่าโมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของนางโมคคัลลีพราหมณี.
               ได้ยินว่า ตระกูลทั้งสองนั้นเป็นสหายเนื่องกันมา ๗ ชั่วสกุล. บิดามารดาได้ให้การบริหารครรภ์แก่คนทั้งสองนั้นในวันเดียวกัน. พอล่วงไปได้ ๑๐ เดือน บิดามารดาก็เริ่มตั้งแม่นม ๖๖ คน แก่คนทั้งสองนั้นแม้ผู้เกิดแล้ว. ในวันตั้งชื่อ บิดามารดาตั้งชื่อบุตรของนางรูปสารีพราหมณีว่า อุปติสสะ เพราะเป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในอุปติสสคาม. ตั้งชื่อของบุตรนอกนี้ว่า โกลิตะ เพราะเป็นบุตรของตระกูลผู้เป็นหัวหน้าในโกลิตคาม. คนทั้งสองนั้นเจริญอยู่ด้วยบริวารใหญ่ อาศัยความเจริญเติบโตแล้ว ได้ถึงความสำเร็จศิลปะทั้งปวง.
               อยู่มาวันหนึ่ง คนทั้งสองนั้นกำลังดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ เห็นมหาชนประชุมกัน เพราะญาณถึงความแก่กล้า จึงเกิดความคิดขึ้นโดยแยบคายได้ความสังเวชว่า คนเหล่านี้ทั้งหมดภายในร้อยปีเท่านั้น ก็จะเข้าไปยังปากของมัจจุราช จึงทำการตัดสินใจว่า เราทั้งหลายควรแสวงหาโมกขธรรม และเมื่อจะแสวงหาโมกขธรรมนั้น ควรได้การบรรพชาอย่างหนึ่ง จึงพากันบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชกพร้อมกับมาณพ ๕๐๐ คน.
               จำเดิมแต่คนทั้งสองนั้นบวชแล้ว สัญชัยปริพาชก ได้เป็นผู้ถึงลาภอันเลิศและยศอันเลิศ. โดย ๒-๓ วันเท่านั้น คนทั้งสองนั้นก็เรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมด ไม่เห็นสาระในลัทธินั้น ได้เหนื่อยหน่ายลัทธินั้น จึงถามปัญหากะสมณพราหมณ์ที่เขาสมมติกันว่าเป็นบัณฑิตในที่นั้นๆ สมณพราหมณ์เหล่านั้นผู้ถูกคนทั้งสองคนถามแล้ว ไม่ยังการแก้ปัญหาให้สำเร็จได้ โดยที่แท้ คนทั้งสองนั้นนั่นเองพากันแก้ปัญหาให้แก่สมณพราหมณ์เหล่านั้น.
               เมื่อเป็นอย่างนั้น คนทั้งสองนั้น เมื่อจะแสวงหาโมกขธรรม (ต่อไป) จึงได้ทำกติกาว่า ในเราทั้งสอง คนใดบรรลุอมตะก่อน คนนั้นจงบอกแก่อีกคนหนึ่ง.
               ก็สมัยนั้น เมื่อพระศาสดาของเราทั้งหลายทรงบรรลุพระปฐมาภิสัมโพธิญาณแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวร ทรงทรมานชฎิลพันคนมีอุรุเวลกัสสปเป็นต้น แล้วประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์โดยลำดับ.
               วันหนึ่ง อุปติสสปริพาชกไปยังปริพาชการาม เห็นท่านพระอัสสชิเถระเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ คิดว่า บรรพชิตผู้สมบูรณ์ด้วยมารยาทเห็นปานนี้ เราไม่เคยเห็น ชื่อว่าธรรมอันละเอียดจะพึงมีในบรรพชิตนี้ จึงเกิดความเลื่อมใส มองดูท่านผู้มีอายุเพื่อจะถามปัญหา ได้ติดตามไปข้างหลัง.
               ฝ่ายพระเถระได้บิณฑบาตแล้ว ไปยังโอกาสอันเหมาะสม เพื่อจะบริโภค. ปริพาชกได้ลาดตั่งปริพาชกของตนถวาย และในเวลาเสร็จภัตกิจ ได้ถวายน้ำในคนโทของตนแก่พระเถระ. ปริพาชกนั้นกระทำอาจริยวัตรอย่างนี้แล้ว กระทำปฏิสันถารกับพระเถระผู้กระทำภัตกิจเสร็จแล้วจึงถามว่า ใครเป็นศาสดาของท่านหรือ หรือว่าท่านชอบใจธรรมของใคร?
               พระเถระอ้างเอาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันปริพาชกนั้นถามอีกว่า ก็ศาสดาของท่านผู้มีอายุมีวาทะอย่างไร คิดว่า เราจักแสดงความที่พระศาสนานี้เป็นของลึกซึ้ง จึงประกาศว่าตนยังเป็นผู้ใหม่ และเมื่อจะแสดงธรรมในพระศาสนาแก่ปริพาชกนั้นโดยสังเขป จึงกล่าวคาถาว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา เป็นต้น.
               ปริพาชกได้ฟังเฉพาะสองบทแรกเท่านั้น ก็ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติมรรคและโสดาปัตติผลอันสมบูรณ์ด้วยนัยพันหนึ่ง สองบทหลังจบลง ในเวลาเขาเป็นพระโสดาบัน. ก็ในเวลาจบคาถา เขาเป็นพระโสดาบัน เมื่อคุณวิเศษในเบื้องบนยังไม่เป็นไป จึงกำหนดว่า เหตุในพระศาสนานี้จักมี จึงกล่าวกะพระเถระว่า ท่านผู้เจริญ ท่านอย่าขยายธรรมเทศนาให้สูงเลย เท่านี้แหละพอแล้ว พระศาสดาของเราทั้งหลายอยู่ที่ไหน.
               พระอัสสชิกล่าวว่า อยู่ที่พระเวฬุวัน.
               ปริพาชกกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านจงล่วงหน้าไป ข้าพเจ้าจะเปลื้องปฏิญญาที่ทำไว้แก่สหายของข้าพเจ้าแล้วจักพาสหายนั้นมาด้วย แล้วไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ กระทำประทักษิณ สั่งพระเถระแล้วได้ไปยังปริพาชการาม.
               โกลิตปริพาชกเห็นอุปติสสปริพาชกนั้นกำลังมาแต่ไกล คิดว่า สีหน้าไม่เหมือนวันอื่น อุปติสสะนี้จักบรรลุอมตธรรมเป็นแน่จึงยกย่องการบรรลุคุณวิเศษของอุปติสสะนั้น โดยอาการนั้นแหละ แล้วถามถึงการบรรลุอมตธรรม.
               ฝ่ายอุปติสสะนั้นก็ปฏิญญาแก่โกลิตะนั้นว่า ผู้มีอายุ ข้าพเจ้าบรรลุอมตธรรมแล้ว จึงได้กล่าวคาถานั้นนั่นแหละ.
               ในเวลาจบคาถา โกลิตะดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วกล่าวว่า พระศาสดาของพวกพวกเราอยู่ที่ไหน.
               อุปติสสะกล่าวว่า อยู่ที่พระเวฬุวัน.
               โกลิตะกล่าวว่า ผู้มีอายุ ถ้าอย่างนั้น พวกเราจงมา จักเฝ้าพระศาสดา.
               อุปติสสะเป็นผู้บูชาอาจารย์แม้ตลอดกาลทั้งปวงทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงได้เป็นผู้ใคร่จะประกาศคุณของพระศาสดาแก่สัญชัย แล้วนำสัญชัยแม้นั้นไปยังสำนักของพระศาสดาด้วย.
               สัญชัยปริพาชกนั้นถูกความหวังในลาภครอบงำ ไม่ปรารถนาจะเป็นอันเตวาสิก จึงปฏิเสธว่า เราไม่อาจเป็นตุ่มสำหรับตักวิดน้ำ คนทั้งสองนั้นเมื่อไม่อาจให้สัญชัยปริพาชกนั้นยินยอมได้ด้วยเหตุหลายประการ จึงได้ไปยังพระเวฬุวันพร้อมกับอันเตวาสิก ๒๕๐ คนผู้ประพฤติตามโอวาทของตน.
               พระศาสดาทรงเห็นคนเหล่านั้นมาจากที่ไกล จึงตรัสว่า นี้จักเป็นคู่สาวกของเรา จักเป็นคู่อันเจริญเลิศ แล้วทรงแสดงธรรมตามจริยาแห่งบริษัทของคนทั้งสองนั้น ให้ดำรงอยู่ในพระอรหัต แล้วได้ประทานอุปสมบทด้วยความเป็นเอหิภิกขุ บาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ได้มา แม้แก่พระอัครสาวก เหมือนมาแก่ภิกษุเหล่านั้น แต่กิจแห่งมรรคสามเบื้องบนของพระอัครสาวกยังไม่สำเร็จ เพราะเหตุไร? เพราะสาวกบารมีญาณเป็นคุณยิ่งใหญ่.
               บรรดาพระอัครสาวกนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ในวันที่ ๗ แต่บวชแล้วกระทำสมณธรรมอยู่ที่บ้านกัลลวาลคาม ในมคธรัฐ เมื่อถีนมิทธะก้าวลงอยู่ อันพระศาสดาให้สังเวชแล้ว บรรเทาถีนมิทธะ (ความโงกง่วง) ได้ กำลังฟังธาตุกรรมฐานอยู่ทีเดียว ได้บรรลุมรรคเบื้องบนทั้ง ๓ ถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ.
               ท่านพระสารีบุตรล่วงไปได้กึ่งเดือนแต่การบรรพชา อยู่ในถ้ำสุกรขตะ (ที่ปรากฏโดยมากว่า สุกรขาตา) ในกรุงราชคฤห์กับพระศาสดา เมื่อพระศาสดาทรงแสดง เวทนาแนวแห่งปริคคหสูตร แก่ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลานของตน ส่งญาณไปตามพระธรรมเทศนา จึงถึงที่สุดแห่งสาวกบารมีญาณ เหมือนบุคคลบริโภคภัตที่เขาคดมาเพื่อผู้อื่นฉะนั้น ดังนั้น สาวกบารมีญาณของพระอัครสาวกทั้งสองได้ถึงที่สุดในที่ใกล้พระศาสดาทีเดียว.
               ท่านพระสารีบุตรบรรลุสาวกบารมีญาณอย่างนี้แล้วจึงรำพึงว่า สมบัตินี้เราได้ด้วยกรรมอะไร ได้รู้กรรมนั้นแล้ว เมื่อจะเปล่งอุทานด้วยอำนาจความปีติโสมนัส จึงกล่าวคำมีอาทิว่า หิมวนฺตสฺส อวิทูเร ดังนี้.
                                            จบพรรณนาสารีปุตตเถราปทาน      

-----------------------------------------------------

คำสำคัญ (Tags): #พระสารีบุตร
หมายเลขบันทึก: 712739เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2023 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2023 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท