การประชุมเตรียมการที่โตเกียว จัดระหว่างวันที่ ๓ - ๕ เมษายน ๒๕๖๖ เพื่อทำความตกลงสาระหลัก และหัวข้อย่อย (Subtheme) ของการประชุม ที่จนปัจจุบันก็ยังไม่ชัดเจนนัก ตามที่เล่าในบันทึกชุด เตรียมจัด PMAC 2024 บันทึกที่ ๔ – ๖
เราเดินทางคืนวันที่ ๑ ต่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๖ ด้วยสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 642 ออกเวลา ๒๓.๕๐ น. ของวันที่ ๑ กำหนดว่าใช้เวลาบิน ๖ ชั่วโมง ๒๐ นาที ไปลงที่สนามบินนาริตะเวลา ๘.๑๐ น. เวลาท้องถิ่น ปีก่อนๆ ตอนก่อนโควิดเราก็ใช้เที่ยวบินนี้มาตลอด ผู้เดินทางโดยเที่ยวบินนี้มี ๙ คน ยังมีคนอื่นๆ เดินทางโดยสายการบินอื่นหรือเที่ยวบินอื่นอีกหลากหลาย
ผู้เข้าเมืองญี่ปุ่นต้องตรวจโควิดเฉพาะคนจีนหรือผ่านประเทศจีนเท่านั้น คนไทยจึงเข้าเมืองสะดวกเหมือนยุคก่อนโควิด คือไม่ต้องมีวีซ่า มีแค่พาสปอร์ตก็พอ
เนื่องจากผมเอาพาสปอร์ตเล่มเก่าไปทำวีซ่าเข้าเดนมาร์ก และอาจได้รับคืนไม่ทัน (ไม่ทันจริงๆ ได้รับเล่มพาสปอร์ตระหว่างผมอยู่ที่โตเกียว) จึงต้องไปทำพาสปอร์ตฉบับที่ ๒ เอามาใช้ในการเดินทางครั้งนี้
หลังเช็ดอิน และผ่านด่านตรวจคนเดินทางออกนอกประเทศอย่างสะดวก อ. บุ๋ม กับผมก็ไปนั่งที่ห้องรับรองการบินไทย ปีกที่เปิดใหม่ มีบริการครบครับ หลังจากนั้นคนอื่นๆ ก็ตามมาสมทบ เครื่องบินออกที่ระตู C2 กำหนดเรียกขึ้นเครื่อง ๒๓.๑๐ น. พอถึงเวลาเขาก็ประกาศว่าการขึ้นเครื่องจะช้าเล็กน้อย เพราะรอเครื่องบินขาเข้า
เอาเข้าจริงก็เรียกช้าเพียงราวๆ ๒๐ นาที แต่กว่าเครื่องบินจะออกก็เข้าไปตี ๑ โดยเวลาบินจริงๆ ๕ ชั่วโมง ๒๐ นาที ผมได้ที่นั่ง 11E คู่กับท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศ. นพ. บรรจง มไหศวริยะ ได้คุยกันเรื่องลึกๆ ช่วยให้ผมได้ความรู้มากมาย
ผมไม่กินอาหาร ขอน้ำดื่ม และกินยา แล้วนอน ทั้งนอนไม่หลับ และปวดท้องฉี่ แต่ฉี่ไม่ค่อยออก เทียวเข้าเทียวออกห้องน้ำทั้งในเครื่องบิน และตอนผ่านตรวจคนเข้าเมืองที่ผมลืมกรอกข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเพื่อตรวจคนเข้าเมืองทาง Fast Lane ก็ต้องมากรอกเอกสารตัวเล็กๆ ที่ตาของผมมองไม่เห็น ได้เพื่อนร่วมทีมช่วยจึงรอดมาได้ อ. บุ๋มจัดการไปซื้อตั่วรถไฟ Skyliner Keisei – Ueno ค่าโดยสารคนละ ๒,๕๗๐ เยน ไปลงสถานีปลายทาง อูเอโนะ ใช้เวลาราวๆ ๑ ชั่วโมง แล้วนั่งแท็กซี่คันละ ๓ คน อีกราวๆ ๒๐ นาที ไปยังโรงแรม ถึงโรงแรม ๑๑.๔๐ น. ผมเป็นคนเดียวที่ได้รับสิทธิพิเศษเช็กอินเลย เพราะ อ. บุ๋ม ขอ early check-in ให้ ซึ่งหมายความว่า ยอมเสียค่าที่พักอีก ๑ คืน คนอื่นๆ ต้องรอเวลาเช็กอิน ๑๔ น. ผมขึ้นไปที่ห้อง ๗๐๔ พบว่า ห้องข้างๆ ยังอยู่ระหว่างทำความสะอาด
อากาศดี อุณหภูมิ ๑๗ องศา แต่ดอกซากุระบานจนส่วนหนึ่งโรยไปแล้ว ห้องพักของผมมี ๒ เตียง ไม่ หรูหรา เทียบกับบ้านได้สี่ดาว ผมได้ห้องที่หันหน้าออกถนน เห็นดอกซากุระเรียงรายริมถนน หน้าต่างแง้มรับลมได้
๕ เมษายน ๒๕๖๖ ขากลับ
การประชุมเลิกก่อนเที่ยงเล็กน้อย ลงไปถ่ายรูปร่วมกันที่ชั้น ๑ แล้วนัดคนที่จะเดินทางไปสนามบินด้วยกัน ๖ คน ออกจากโรงแรมบ่ายโมง นั่งแท็กซี่คันละ ๓ คน ไปที่สถานี อูเอโน แท็กซี่พาไปส่งที่สถานีรถไฟปกติ ไม่ใช่ที่สถานี Skyline ต้องไปหาอยู่พักหนึ่ง ผมได้อาศัย ดร. ตวง กับคุณหมอสุวิทย์ทำหน้าที่นำทาง
เมื่ออกจากสถานีรถไฟ คุณหมอสุวิทย์ชวนเดินเข้าตรอกไปกินข้าวปลาไหลย่างที่ร้านริมทางเดิน ที่ราคาถูกมาก เพียง _ ๘๐๐ เยน เดินไปไกลพอสมควร ในตรอกที่มีคนเดินคับคั่ง และมีร้านขายของกินสารพัดอย่าง ร้านปลาไหลย่างและอาหารจานเดียว เป็นร้านเล็กๆ ริมทาง ย่างปลาไหลเดี๋ยวนั้น คนอื่นกินแบบเดียวกับหมอสุวิทย์และผมบ้าง กินข้าวหน้าปลาแซมมอนกับปลาหมึกย่างกับไข่ปลาบ้าง รวมคณะของเรา ๖ คน คุณหมอสุวิทย์บอกให้คุณหมอจเด็จ เลขาธิการ สปสช. เลี้ยง ๖ คนแค่ ๔.๙๐๐ เยน
แล้วเดินมาขึ้นรถไฟขบวนเดียวกันกับขามา ลงที่ปลายทางคือ Terminal 1 ไปเช็กอิน ที่การบินไทย แล้วไปที่ประตู ๕๑ ขึ้นบันไดเลื่อนไปนั่งที่ห้องรับรอง ANA ที่กว้างขวางมาก ผมได้แค่ลองจิบเหล้าญี่ปุ่นหลายชนิดหาความรู้เรื่องรสชาติของเหล้า ไม่ได้กินอาหารเลย เพราะยังอิ่มข้าวปลาไหลย่าง ใกล้เวลา ๑๖.๕๕ น. คุณหมอสุวิทย์ คุณหมอจเด็จ และผม ก็ออกมาลงบันไดเลื่อนสองต่อ และเดินลอดอุโมงค์ ระยะทางราวๆ ๓๐๐ เมตร (มีทางเลื่อน) ที่มีแค่พวกเรา ๓ คนเท่านั้น คุณหมอสุวิทย์ผู้เชี่ยวชาญ บอกว่า นี่เป็นทางลัด ไม่ต้องเดินอ้อม แต่คนทั่วไปชอบเดินอ้อม เพราะได้ช็อปปิ้งด้วย ไปขึ้นบันไดเลื่อน ไปที่ประตู 41 ที่เขากำลังให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่อง ผมได้ที่นั่ง 17J ริมทางเดิน และติดหน้าต่าง
TG 677 ออกตรงเวลา ผู้โดยสารเกือบเต็ม ใช้เวลาเดินทาง ๕ ชั่วโมง ๕ นาที ถึงก่อนเวลา ๒๐ นาที พนักงานให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ก่อนลงจากเครื่องก็ขอบคุณที่ใช้บริการ โดยบอกว่าผู้โดยสารมีความหมายต่อบริษัทมาก
ผมได้นอนไม่ถึง ๒ ชั่วโมง หลังกินอาหารเย็นที่อร่อยปานกลาง และสังเกตว่า พนักงานยังได้รับการฝึกให้เข้าใจความต้องการของผู้โดยสารมากกว่านี้ คือน่าจะให้บริการที่ประทับใจ รู้ใจ ผู้โดยสารต่างกลุ่ม มากกว่านี้ การเดินทางไปโคเปนฮาเกน ปลายเดือนนี้น่าจะบอกความสามารถของทีมบริหารการบินไทย อย่างชัดเจนขึ้น
ทีมเจ้าหน้าที่ของการบินไทยในเที่ยวบินนี้ทำงานอย่างตั้งใจเต็มที่ แต่ประเด็นของผมคือคุณภาพของบริการ แก้ผู้โดยสารต่างกลุ่ม ต่างความต้องการ
ผมได้ตระหนักว่า จุดอ่อนที่สุดของผมในการเดินทางคือตา ตาผมไม่ดี ทั้งมองไม่ชัด และไม่ไว ทำให้ผมใช้เครื่องบริการตนเองในการเข้าเมืองไม่สำเร็จ ขอขอบคุณคุณหมอสุวิทย์ ที่คอยดูแล และบอกให้ผมไปใช้บริการของเจ้าหน้าที่
ถึงบ้านก่อนเที่ยงคืน คุยกับโชเฟอร์แท็กซี่ ได้เรียนรู้กระบวนทัศน์ของคนระดับแรงงาน ว่าเขาเชื่อในโชคชตา
วิจารณ์ พานิช
๖ เม.ย. ๖๖
1 ฝั่งตรงข้ามด้านซ้ายมือคือสถานีรถไฟ Skyline
2 หน้าตรอก
3 สภาพภายในตรอก ที่เห็นหลังสองท่านคือ ดร. วลัยพร กับ นพ. สุวิทย์
4 ป้ายรายการอาหารและราคา ที่ผมกินคืออันล่างซ้ายสุด
5 บรรยากาศภายในร้านส่วนที่แขกนั่งรับประทาน
6 ถ่ายรูปหมู่ระหว่างรออาหารที่หน้าร้าน
7 จานนี้ของผม
8 ของท่านอื่น
9 ของอีกท่านหนึ่ง
10 บนรถไฟ
ขอบคุณครับ….วิโรจน์ ครับ