รู้ได้อย่างไรว่าเราไม่รู้ (How do we know that we don't know!)


ผมสนใจเกี่ยวกับ ‘ความไม่รู้’ มาระยะหนึ่งแล้ว เพราะเชื่อว่าปัญหาทั้งหลายเกิดจากความไม่รู้ และที่แย่ยิ่งกว่าคือ ‘ไม่รู้แล้วชี้ และไม่รู้แล้วทำ’ ดังที่เคยเขียนไว้ในบทเขียนก่อน ๆ 

แต่ปัญหาที่ค้างใจผมมาตลอดตั้งแต่สนใจเรื่องนี้คือ ‘แล้วผมจะรู้ได้อย่างไรว่าผมไม่รู้ เพราะสิ่งที่ผมรู้ก็คือสิ่งที่ผมรู้ และความรู้ดังกล่าวก็ไม่ใช่ตัวบ่งชี้สิ่งที่เราไม่รู้ไม่รู้’ ใช่ไหม 

งานวิจัยหลายเรื่อง และหนังสือหลายเล่มให้ข้อมูลตรงกันว่า ‘การไม่รู้ว่าเราไม่รู้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง’ และหนังสือ Think Again ของ Grant (2021) ยังชี้ต่อไปว่าถ้าเราไม่รู้ว่าเราไม่รู้ การแสวงหาความรู้จะไม่มี และการเรียนรู้ก็จะไม่เกิด ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับผมในฐานะนักการศึกษา เพราะหน้าที่ของเราคือการเรียนรู้ของเพื่อนมนุษย์ 

บทสรุปข้อหนึ่งที่ได้จากการอ่านหนังสือ Think Again คือเราควรจะซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เรารู้ แล้วที่เหลือก็คือสิ่งที่เราไม่รู้ เพื่อเรามีโจทย์ต้องคิดและแก้ไข เราต้องถามตัวเองว่าสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มีอะไรบ้าง และถ้าสิ่งที่เรารู้ยังไม่เพียงพอที่เราจะแก้โจทย์ดังกล่าว สิ่งที่ต้องทำคือการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม และการเรียนรู้เริ่มต้นจากตรงนี้เอง 

ปัญหาของคนส่วนใหญ่ (รวมทั้งตัวผมด้วย) คือ ไม่อยากบอกว่าตนเองไม่รู้ เพราะจะทำให้ตนเองดูไม่ดี และเสียภาพลักษณ์ของตัวเอง โดยเฉพาะคนที่เรียนสูง ๆ หรือมีตำแหน่งสูง ๆ ครับ 

ผมก็เคยเป็นแบบนี้มาก่อน โดยเฉพาะก่อนที่จะจบการศึกษาระดับปริญญาเอก ผู้ต้องต่อสู้กับศักดิ์ศรีของคนเรียนเก่ง (ตามที่ตัวเองเข้าใจ) ยิ่งหลังจากได้ปริญญาเอกแล้ว สังคมคงคาดหวังให้เป็นผู้รู้ ฯลฯ 

และแล้ววันหนึ่งผมก็บรรลุธรรม ‘ถ้าคนจบปริญญาเอกต้องรู้ทุกเรื่อง แล้วความรู้ใหม่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร’ แล้วผมก็ได้คำถามเปิดทางว่า ‘ดร. เหยียบหนามเจ็บไหม’  ซึ่งคำตอบก็คือ ‘เจ็บ’ นั่นก็แปลว่า ดร. ก็คือปุถุชนคนธรรมดา ซึ่งไม่รู้ทุกเรื่อง หรือโง่ได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่รับผิดชอบต่อความเป็นดุษฎีบัณฑิตที่ได้รับมา 

บทสรุปและบทเรียนเกี่ยวกับความไม่รู้นี้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อผมทำแบบทดสอบว่าผมอยู่ใน ‘ชมรม Dunning-Kruger’ไหม (Dunning & Kruger ค้นพบว่าคนจะนวนมากคิดว่าตัวเองรู้ ในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ ซึ่งผมเรียกว่า ‘ชมรมคนอวดรู้’)  คำถามมี 5 ข้อ ผมตอบผิดทุกข้อ (555  ผมอยู่ในชมรมคนอวดรู้ 100 %)

ข้อแรกถามว่า ‘ทำไมภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาราชการของประเทศสหรัฐอเมริกา’ ผมก็ตอบอย่างมั่นใจว่าผู้อบยพส่วนใหญ่ส่วนเป็นชาวอังกฤษ และผู้ตั้งรกรากช่วงแรกก็ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกัน  

ผิดครับ ประเด็นคือประเทศสหรัฐอเมริกาไม่มีภาษาราชการครับ  

ที่ผมตอบผิดเพราะผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าประเทศสหรัฐอเมริการมีภาษาราชการไหม แต่ผมก็ยังตอบ ซึ่งเป็นตัวอย่างของ ‘การไม่รู้ แต่ชี้’ ครับ 

นี่เป็นคำตอบว่า ‘จะรู้ได้อย่างไรว่าเราไม่รู้’ กล่าวคือ ต้องต้องซื่อสัตย์ต่อความรู้ที่เรามีอยู่ ถ้ารู้ก็บอกว่ารู้ ถ้าไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ และถ้าสิ่งที่เราไม่รู้สำคัญกับชีวิต หรือการงานของเรา หรือสำคัญต่อการแก้ปัญหาของเรา ก็แสวงหาความรู้ดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหา หรือนำใช้ในชีวิตต่อไป 

นี่คือหัวใจและประโยชน์ของการนำใช้ ‘ความไม่รู้’ และน่าจะเป็นสมรรถนะหนึ่งของผู้เรียนในการทำงานและการดำรงชีวิตในอนาคตครับ 

สมาน อัศวภูมิ

19 เมษายน 2566

 

หมายเลขบันทึก: 712384เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2023 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2023 09:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท