วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙)  ๑๔๗. นวัตกรรมของระบบ ววน. ที่พัฒนาจากฐาน


 

วันที่ ๑๘ - ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๖ ผมไปร่วมประชุมรีทรีต ของส่วนงานศูนย์วิจัยเป็นเลิศ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พัทยาเหนือ   กลับถึงบ้านสี่โมงเย็นวันอาทิตย์ด้วยความเพลียกาย  แต่อิ่มใจ

เพลียกายเพราะรถติด เนื่องจากเป็นเทศกาลเช็งเม้ง  และคนออกเที่ยวมากเพราะโรงเรียนปิดเทอมแล้ว     อิ่มใจเพราะได้เห็นการพัฒนาระบบ ววน. ที่พัฒนาจากฐาน    คือจากหน่วยปฏิบัติ    ที่นอกจากตนเองดำเนินการแล้ว ยังหาทางไปขับเคลื่อนระบบใหญ่ของประเทศด้วย    โดยที่โครงการนี้เริ่มปี ๒๕๖๐ สมัยท่านคณบดีประสิทธิ์    และตอนปลายปี ๒๕๖๕ มหาวิทยาลัยมหิดลก็ประกาศให้เป็นส่วนงานภายในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล    คือไม่ใช่เป็นโครงการชั่วคราวอีกต่อไป   

ท่านคณบดี (ศ. นพ. อภิชาติ อัศวมงคลกุล) และอดีตคณบดี (ศ. ดร. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา) ไปร่วมงานตั้งแต่ต้นจนจบ    ด้วยท่าทีใส่ใจ และร่วมให้ความเห็นตลอด    ผู้ร่วมงานทั้งสิ้นราวๆ ๕๐ คน ต่างหน้าตาแช่มชื่น    ที่จะได้ทำงานวิจัยที่มีคุณค่ายิ่งต่อสังคมไทย และต่อโลก   

ย้ำว่า นี่คือการวางรากฐานมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก   โดยศิริราชลงทุนทั้งด้านเงินสนับสนุนการวิจัยจากเงินรายได้คณะ และจากศิริราชมูลนิธิ    เอามาหนุนให้ทีมวิจัยเป็นเลิศ (SiCORE) แข็งแรง สร้างผลงานที่ไม่เพียงก่อ impact ด้านการตีพิมพ์    แต่ก่อ impact ด้านการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ และของโลก ด้วย 

เท่ากับศิริราชสนับสนุนระบบวิจัยภายในคณะ ให้เกิดทีมนักวิจัยอาชีพ    ที่ทำงานวิจัยเพื่อผลกระทบต่อการพัฒนาระบบสุขภาพ และต่อชีวิตของผู้คน   ไม่ใช่ทำวิจัยเพียงเพื่อการตีพิมพ์สู่ความก้าวหน้าทางวิชาการของนักวิจัยเฉพาะคราวเท่านั้น   

เนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ในประเทศไทยพัฒนาขึ้นบนฐานความเข้มแข็งด้านบริการ และด้านการศึกษา (ผลิตบัณฑิต)   งานวิจัยจึงเป็นงานเสริม และทำจริงจังในอาจารย์จำนวนน้อยมาก    เพราะไม่มีระบบสนับสนุนจริงจัง   น่ายินดีที่ท่านอดีตคณบดีประสิทธิ์ริเริ่มกิจการนี้ขึ้น    และชวน นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ กับผม ไปร่วมกันให้คำแนะนำและร่วมเรียนรู้ (mentoring)

การไปร่วมงานนี้ ให้ความสนุก สุขใจ และการเรียนรู้ แก่ผมมาก    เพราะเราแนะนำอะไรไป เขาไม่ปักใจเชื่อ แต่เอาไปคิดต่อและดำเนินการ   หลายครั้งเราแนะ ๑ เขาทำ ๓   โดยที่ทำนั้นไม่ตรงตามที่เราแนะเสียทีเดียว    เป็นการทำงานที่ใช้ปัญญาสูงมาก   

ขอย้ำว่า ศิริราชโมเดล ของการสร้างทีมวิจัยอาชีพ ใส่ทรัพยากรสนับสนุนหลายอย่าง   โดยส่วนที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือการจัดการในลักษณะที่เรียกได้ว่าแบบ sandbox    โดยคณบดีนำไปรายงานสภามหาวิทยาลัยเป็นระยะๆ    และสภาฯ หนุนเต็มที่    คือทำไปก่อนแล้วค่อยไปรายงาน     ไม่ขออนุญาตก่อน แต่นำผลเบื้องต้นไปรายงานเพื่อให้บอร์ดห้ามหรือหนุน    ผมคิดว่า นี่คือการบริหารแบบ แซนด์บ็อกซ์ อย่างแท้จริง   

ผมชี้ให้ที่ประชุมฝ่ายบริหารตอนเย็นวันที่ ๑๘ ว่า    ต้องระวังอย่าสนับสนุนให้ทีมวิจัยอ่อนแอด้านการหาทรัพยากรภายนอกมาเลี้ยงตัวเอง    คือระวังไม่หลงเลี้ยงให้อ่อนแอ    ต้องเลี้ยงให้แข็งแรง   ให้มีความสามารถหาทรัพยากรภายนอกมาเลี้ยงโครงการวิจัยได้    ผมยกตัวอย่างความผิดพลาดของผมสมัยเป็น ผอ. สกว.   และเลี้ยงเมธีวิจัยอาวุโส (บางคน) ให้หลงอยู่ใน comfort zone ด้านการแสวงหาทุนสนับสนุนการวิจัยของตน

ชื่นใจที่ได้เห็นความใจกว้างของผู้บริหารของศิริราช    ที่กล่าวสนับสนุนให้ร่วมมือกันข้าม CORE   และร่วมมือออกไปนอกคณะ  นอกมหาวิทยาลัยมหิดล    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีระดับ TRL 4-5 ข้ามหุบเหวมรณะออกสู่ตลาด    เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมให้แก่ประเทศ   

ชื่นใจที่หน่วยงานระดับปฏิบัติอย่างศิริราช ยื่นมือออกไปผลักดันการพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศ    ที่ยังขาดๆ วิ่นๆ ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น              

ชื่นใจที่มีกลไก RIAC  และ SAB จากต่างประเทศ ช่วยให้คำแนะนำเชิงลึก   และนำสู่ความร่วมมือกับต่างประเทศ   

วิจารณ์ พานิช

๑๙ มี.ค. ๖๖

 

หมายเลขบันทึก: 712292เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2023 17:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2023 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท