วัมมิกสูตร


พระสูตรเรื่องวัมมิกสูตร เป็นคำถามปริศนาเกี่ยวกับจอมปลวกที่กลางคืนพ่นควัน กลางวันพ่นไฟ ที่พระพรหมองค์หนึ่ง (เป็นพระอริยเจ้าชั้นอนาคามี) ตั้งใจมาสงเคราะห์ท่านพระกุมารกัสสปะ เพราะในอดีตชาติเคยเป็นเพื่อนพระภิกษุด้วยกันมา

วัมมิกสูตร

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

เกริ่นนำ

            พระสูตรเรื่องวัมมิกสูตร เป็นคำถามปริศนาเกี่ยวกับจอมปลวกที่กลางคืนพ่นควัน กลางวันพ่นไฟ ที่พระพรหมองค์หนึ่ง (เป็นพระอริยเจ้าชั้นอนาคามี) ตั้งใจมาสงเคราะห์ท่านพระกุมารกัสสปะ เพราะในอดีตชาติเคยเป็นเพื่อนพระภิกษุด้วยกันมา ซึ่งคำถามทั้ง ๑๕ ข้อนี้ พระพรหมให้พระกุมารกัสสปะเถระจำคำถามทั้งหมด แล้วให้มาทูลถามกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าทรงเป็นสัพพัญญูรู้แจ้งอย่างสมบูรณ์ทุกเรื่อง ต่อมาท่านพระกุมารกัสสปะนำพระสูตรนี้เป็นกัมมัฏฐาน เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตต์ และได้เป็นเอตทัคคะผู้กล่าวธรรมได้วิจิตร 

 

วัมมิกสูตร มจร

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

๓. วัมมิกสูตร

ว่าด้วยจอมปลวกปริศนา

 

             [๒๔๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระกุมารกัสสปะพักอยู่ที่ป่าอันธวัน ครั้งนั้น เมื่อราตรี (ราตรี ในที่นี้หมายถึงปฐมยาม ความนี้มีความหมายว่า เมื่อสิ้นปฐมยามกำลังอยู่ในช่วงมัชฌิมยาม เทวดาก็ปรากฏ) ผ่านไป เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนักได้เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วป่าอันธวัน เข้าไปหาท่านพระกุมารกัสสปะถึงที่อยู่ แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กล่าวกับท่านพระกุมารกัสสปะว่า

             “พระคุณเจ้า จอมปลวกนี้ย่อมพ่นควันในเวลากลางคืน ย่อมลุกโพลงในเวลากลางวัน พราหมณ์ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงนำศัสตราไปขุดดู’

             สุเมธใช้ศัสตราไปขุดก็ได้เห็นลิ่มสลัก จึงกล่าวว่า ‘ลิ่มสลัก ขอรับ’

             พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงยกลิ่มสลักขึ้นแล้วใช้ศัสตราขุดต่อไป’

             สุเมธใช้ศัสตราขุดลงไปก็ได้เห็นอึ่ง จึงกล่าวว่า ‘อึ่ง ขอรับ’

             พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงนำอึ่งขึ้นมา แล้วใช้ศัสตราขุดต่อไป’

             สุเมธใช้ศัสตราขุดต่อไปได้เห็นทางสองแพร่ง จึงกล่าวว่า ‘ทางสองแพร่ง ขอรับ’

             พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงถากทางสองแพร่งออกเสีย แล้วใช้ศัสตราขุดต่อไป’

             สุเมธใช้ศัสตราขุดต่อไปได้เห็นหม้อกรองน้ำด่าง จึงกล่าวว่า ‘หม้อกรองน้ำด่างขอรับ’

             พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงยกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นมา แล้วใช้ศัสตราขุดต่อไป’

             สุเมธใช้ศัสตราขุดต่อไปได้เห็นเต่า จึงกล่าวว่า ‘เต่า ขอรับ’

             พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงนำเต่าขึ้นมา แล้วใช้ศัสตราขุดต่อไป’

             สุเมธใช้ศัสตราขุดต่อไปได้เห็นเขียงหั่นเนื้อ จึงกล่าวว่า ‘เขียงหั่นเนื้อ ขอรับ’

             พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงยกเขียงหั่นเนื้อขึ้นมา แล้วใช้ศัสตราขุดต่อไป’

             สุเมธใช้ศัสตราขุดต่อไปได้เห็นชิ้นเนื้อ จึงกล่าวว่า ‘ชิ้นเนื้อ ขอรับ’

             พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงหยิบชิ้นเนื้อขึ้นมา แล้วใช้ศัสตราขุดต่อไป’

             สุเมธใช้ศัสตราขุดต่อไปได้เห็นนาค จึงกล่าวว่า ‘นาค ขอรับ’

             พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘นาคจงดำรงอยู่เถิด เธออย่าเบียดเบียนนาคเลย จงทำความนอบน้อมนาค’

             พระคุณเจ้า ท่านควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามปัญหาทั้ง ๑๕ ข้อนี้ ท่านควรทรงจำคำเฉลยปัญหาเหล่านั้นตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเถิด ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ยกเว้นพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต หรือบุคคลผู้ฟังจากสำนัก(ของข้าพเจ้า) นี้เสียแล้ว ข้าพเจ้ายังไม่เห็นบุคคลผู้จะทำจิต(ของข้าพเจ้า) ให้ยินดีด้วยการตอบปัญหาเหล่านี้ได้”

             เทวดานั้นได้กล่าวคำนี้แล้วก็อันตรธานไปจากที่นั้น

 

พระกุมารกัสสปะทูลถามปริศนาธรรม

             [๒๕๐] ครั้นคืนนั้นผ่านไป ท่านพระกุมารกัสสปะก็เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

             “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อคืนนี้ เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาองค์หนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วป่าอันธวัน เข้ามาหาข้าพระองค์ถึงที่อยู่ ยืน ณ ที่สมควรแล้วได้กล่าวกับข้าพระองค์ว่า

             ‘พระคุณเจ้า จอมปลวกนี้พ่นควันในเวลากลางคืน ลุกโพลงในเวลากลางวัน พราหมณ์ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงนำศัสตราไปขุดดู’

             สุเมธใช้ศัสตราขุดลงไปได้เห็นลิ่มสลัก จึงกล่าวว่า ‘ลิ่มสลัก ขอรับ’

             พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สุเมธ เธอจงยกลิ่มสลักขึ้นแล้วใช้ศัสตราขุดต่อไป’

             สุเมธใช้ศัสตราขุดต่อไปก็ได้เห็นอึ่ง จึงกล่าวว่า ‘อึ่ง ขอรับ’ ฯลฯ ได้เห็นนาค จึงกล่าวว่า ‘นาค ขอรับ’

             พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘นาคจงดำรงอยู่เถิด เธออย่าเบียดเบียนนาคเลย จงทำความนอบน้อมนาค’

             พระคุณเจ้า ท่านควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วทูลถามปัญหาทั้ง ๑๕ ข้อนี้ ท่านควรทรงจำคำเฉลยปัญหาเหล่านั้นตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบเถิด ในโลก พร้อมทั้งเทวดาโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ยกเว้นพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคต หรือบุคคลผู้ฟังจากสำนัก(ของข้าพเจ้า)นี้เสียแล้ว ข้าพเจ้ายังไม่เห็นบุคคลผู้จะทำจิต(ของข้าพเจ้า)ให้ยินดีด้วยการตอบปัญหาเหล่านี้’

             เทวดานั้นได้กล่าวคำนี้แล้วก็อันตรธานไปจากที่นั้น

             ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

             ๑. อะไรหนอ ชื่อว่าจอมปลวก

             ๒. อย่างไร ชื่อว่าการพ่นควันในเวลากลางคืน

             ๓. อย่างไร ชื่อว่าการลุกโพลงในเวลากลางวัน

             ๔. ใคร ชื่อว่าพราหมณ์

             ๕. ใคร ชื่อว่าสุเมธ

             ๖. อะไร ชื่อว่าศัสตรา

             ๗. อย่างไร ชื่อว่าการขุด

             ๘. อะไร ชื่อว่าลิ่มสลัก

             ๙. อะไร ชื่อว่าอึ่ง

             ๑๐. อะไร ชื่อว่าทางสองแพร่ง

             ๑๑. อะไร ชื่อว่าหม้อกรองน้ำด่าง

             ๑๒. อะไร ชื่อว่าเต่า

             ๑๓. อะไร ชื่อว่าเขียงหั่นเนื้อ

             ๑๔. อะไร ชื่อว่าชิ้นเนื้อ

             ๑๕. อะไร ชื่อว่านาค”

 

พระผู้มีพระภาคทรงเฉลยปริศนาธรรม

             [๒๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ

             ๑. คำว่า จอมปลวก นั้น เป็นชื่อของร่างกายนี้ ซึ่งประกอบด้วยมหาภูตรูปทั้ง ๔ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เติบโตด้วยข้าวสุกและขนมกุมมาส ไม่เที่ยง ต้องบริหาร ต้องนวดฟั้น จะต้องแตกสลาย และกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา

             ๒. คำว่า อย่างไร ชื่อว่าการพ่นควันในเวลากลางคืน นั้น ได้แก่การที่บุคคลทำการงานในเวลากลางวัน แล้วตรึกตรองถึงในเวลากลางคืน นี้ชื่อว่าการพ่นควันในเวลากลางคืน

             ๓. คำว่า อย่างไร ชื่อว่าการลุกโพลงในเวลากลางวัน นั้น ได้แก่การที่บุคคลตรึกตรองถึงบ่อยๆ ในเวลากลางคืน แล้วประกอบการงานในเวลากลางวัน ด้วยกายและวาจา นี้ชื่อว่าการลุกโพลงในเวลากลางวัน

             ๔. คำว่า พราหมณ์ นั้น เป็นชื่อของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

             ๕. คำว่า สุเมธ นั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้เป็นเสขะ

             ๖. คำว่า ศัสตรา นั้น เป็นชื่อแห่งปัญญาอันประเสริฐ

             ๗. คำว่า จงขุด นั้น เป็นชื่อของการปรารภความเพียร

             ๘. คำว่า ลิ่มสลัก นั้น เป็นชื่อแห่งอวิชชา คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธเธอจงใช้ศัสตรายกลิ่มสลักขึ้น คือ จงละอวิชชา จงขุดขึ้นมา’

             ๙. คำว่า อึ่ง นั้น เป็นชื่อของความคับแค้นใจเนื่องมาจากความโกรธ คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตรานำอึ่งขึ้นมา คือ จงละความคับแค้นใจเนื่องมาจากความโกรธ จงขุดขึ้นมา’

             ๑๐. คำว่า ทางสองแพร่ง นั้น เป็นชื่อแห่งวิจิกิจฉา คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตราถากทางสองแพร่ง คือ จงละวิจิกิจฉา จงขุดขึ้นมา’

             ๑๑. คำว่า หม้อกรองน้ำด่าง นั้น เป็นชื่อแห่งนิวรณ์ ๕ ประการ คือ

                         กามฉันทนิวรณ์ (สิ่งที่กั้นจิตคือความพอใจในกาม)

                         พยาบาทนิวรณ์ (สิ่งที่กั้นจิตคือความขัดเคืองใจ)

                         ถีนมิทธนิวรณ์ (สิ่งที่กั้นจิตคือความหดหู่และเซื่องซึม)

                         อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ (สิ่งที่กั้นจิตคือความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)

                          วิจิกิจฉานิวรณ์ (สิ่งที่กั้นจิตคือความลังเลสงสัย)

             คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตรายกหม้อกรองน้ำด่างขึ้นมา คือจงละนิวรณ์ ๕ ประการ จงขุดขึ้นมา’

             ๑๒. คำว่า เต่า นั้น เป็นชื่อแห่งอุปาทานขันธ์  ๕ ประการ คือ

                         รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)

                         เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา)

                         สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา)

                         สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร)

                         วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)

             คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตรานำเต่าขึ้นมา คือ จงละอุปาทานขันธ์ ๕ ประการ จงขุดขึ้นมา’

             ๑๓. คำว่า เขียงหั่นเนื้อ นั้น เป็นชื่อแห่งกามคุณ ๕ ประการ คือ

             รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด

             เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ

             กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ

             รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ

             โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด

             คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตรายกเขียงหั่นเนื้อขึ้นมา คือ จงละกามคุณ ๕ ประการ จงขุดขึ้นมา’

             ๑๔. คำว่า ชิ้นเนื้อ นั้น เป็นชื่อแห่งนันทิราคะ(ความกำหนัดด้วยอำนาจ ความเพลิดเพลิน) คำนั้นมีอธิบายว่า ‘สุเมธ เธอจงใช้ศัสตราหยิบชิ้นเนื้อขึ้นมา คือ จงละนันทิราคะ จงขุดขึ้นมา’

             ๑๕. คำว่า นาค นั้น เป็นชื่อของภิกษุผู้เป็นขีณาสพ คำนั้นมีอธิบายว่า ‘นาคจงดำรงอยู่เถิด เธออย่าเบียดเบียนนาคเลย เธอจงทำความนอบน้อมนาค”

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระกุมารกัสสปะมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

 

วัมมิกสูตรที่ ๓ จบ

-----------------------------------------

 

         คำอธิบายนี้ นำมาจากบางส่วนของอรรถกถาวัมมิกสูตร

                อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค

วัมมิกสูตร ว่าด้วยปริศนาจอมปลวก

 

               วัมมิกสูตร เริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้วอย่างนี้ :-
               กุมารกสฺสโป เป็นชื่อของท่าน. แต่เพราะท่านบวชในเวลายังเด็ก เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า จงเรียกกัสสปมา จงให้ผลไม้หรือของเคี้ยวนี้แก่กัสสป เพราะภิกษุทั้งหลายสงสัยว่า กัสสปองค์ไหน จึงขนานนามท่านอย่างนี้ว่า กุมารกัสสป ตั้งแต่นั้นมา ในเวลาที่ท่านแก่เฒ่าก็ยังเรียกว่า กุมารกัสสปอยู่นั้นเอง. อีกอย่างหนึ่ง คนทั้งหลายจำหมายท่านว่า กุมารกัสสป เพราะเป็นบุตรเลี้ยงของพระราชา.
               จะกล่าวให้แจ่มแจ้งตั้งแต่บุพพประโยคของท่าน ดังต่อไปนี้.
               ดังได้สดับมา พระเถระเป็นบุตรเศรษฐี ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ต่อมาวันหนึ่ง พระเถระเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาสาวกของพระองค์รูปหนึ่ง ผู้กล่าวธรรมได้วิจิตรไว้ในฐานันดร ถวายทาน ๗ วันแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าทำความปรารถนาว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ข้าพระองค์ก็พึงเป็นสาวกผู้กล่าวธรรมได้วิจิตรเหมือนพระเถระรูปนี้ของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล ดังนี้แล้ว กระทำบุญทั้งหลาย บวชในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสป ไม่อาจทำคุณวิเศษให้บังเกิดได้.
               ได้ยินว่า ครั้งนั้นเมื่อพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วเสื่อมลง ภิกษุ ๕ รูปผูกบันไดขึ้นภูเขากระทำสมณธรรม. พระสังฆเถระบรรลุพระอรหัตต์วันที่ ๓. พระอนุเถระเป็นพระอนาคามีวันที่ ๔. ฝ่ายพระเถระอีก ๓ รูปไม่อาจทำคุณวิเศษให้บังเกิด ก็ไปบังเกิดในเทวโลก.
               เมื่อเทพเหล่านั้นเสวยสมบัติในเทวดาและมนุษย์ตลอดพุทธันดรหนึ่ง องค์หนึ่งก็ไปเกิดในราชตระกูล กรุงตักกสิลา เป็นพระราชาพระนามว่าปุกกุสาติ บวชอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า มาสู่กรุงราชคฤห์ ฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่โรงช่างหม้อ บรรลุอนาคามิผล.
               องค์หนึ่งบังเกิดในเรือนสกุลใกล้ท่าเรือแห่งสุปารกะแห่งหนึ่ง ขึ้นเรือ เรืออับปาง นุ่งท่อนไม้แทนผ้า ถึงลาภสมบัติเกิดความคิดขึ้นว่า ข้าเป็นพระอรหันต์ ถูกเทวดาผู้หวังดีตักเตือนว่า ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ดอก ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดาเถิด ได้กระทำเหมือนอย่างนั้น บรรลุอรหัตตผล.
               องค์หนึ่งเกิดในท้องของหญิงผู้มีสกุลคนหนึ่ง ในกรุงราชคฤห์. นางได้อ้อนวอนมารดาบิดา เมื่อไม่ได้บรรพชาก็แต่งงาน ไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ อ้อนวอนสามี สามีอนุญาตก็บวชในสำนักภิกษุณี. ภิกษุณีทั้งหลายเห็นนางตั้งครรภ์จึงถามพระเทวทัตต์. พระเทวทัตต์ตอบว่า นางไม่เป็นสมณะแล้ว. เหล่าภิกษุณีจึงไปทูลถามพระทศพล.
               พระศาสดาโปรดให้พระอุบาลีรับเรื่องไว้พิจารณา พระเถระให้เชิญสกุลชาวพระนครสาวัตถีและนางวิสาขาอุบาสิกา ให้ช่วยกันชำระ (ได้ข้อเท็จจริงแล้ว) จึงกล่าวว่า นางมีครรภ์มาก่อน บรรพชาจึงไม่เสีย. พระศาสดาประทานสาธุการแก่พระเถระว่า อุบาลีวินิจฉัยอธิกรณ์ชอบแล้ว. ภิกษุณีนั้นคลอดบุตรมีประพิมประพายดังแท่งทอง. พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงรับเด็กนั้นมาชุบเลี้ยง ประทานนามเด็กนั้นว่า กัสสป. ต่อมาทรงเลี้ยงเจริญวัยแล้วนำไปยังสำนักพระศาสดา ให้บรรพชา. ดังนั้น คนทั้งหลายจึงหมายชื่อเด็กนั้นว่า กุมารกัสสป เพราะเป็นบุตรเลี้ยงของพระราชาแล.
               จริงอยู่ สรีรธาตุของพระพุทธเจ้าผู้มีชนมายุน้อย ไม่เป็นแท่งเดียวกัน ย่อมกระจัดกระจายไปด้วยอานุภาพแห่งการอธิษฐาน. ด้วยเหตุนั้นนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายทรงอธิษฐานว่า เราดำรงอยู่ได้ไม่ยั่งยืน เหล่าสัตว์เป็นจำนวนน้อยเห็นเรา ที่ไม่เห็นเราจำนวนมากกว่า สัตว์เหล่านั้นถือเอาธาตุของเราบูชาอยู่ในที่นั้น จักมีสวรรค์เป็นเบื้องหน้า เพราะฉะนั้น คราวปรินิพพาน ขอสรีรธาตุของเราจงกระจัดกระจายไป.
               ส่วนพระพุทธเจ้าผู้มีพระชนมายุยืน พระสรีรธาตุตั้งอยู่เป็นแห่งเดียวกัน เหมือนแท่งทองคำ. พระสรีรธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้พระนามว่ากัสสปะ ก็ตั้งอยู่อย่างนั้นเหมือนกัน.
               แต่นั้น มหาชนก็ประชุมปรึกษากันว่า เราไม่อาจจะแยกพระธาตุที่เป็นแท่งเดียวกันได้ พวกเราจะทำอย่างไร จึงตกลงกันว่า เราจักทำพระธาตุแท่งเดียวนั้นแล ให้เป็นพระเจดีย์ จะมีขนาดเท่าไหร่. พวกหนึ่งบอกว่า เอา ๗ โยชน์ แต่ตกลงกันว่า นั่นใหญ่เกินไป ใครๆ ไม่อาจจะบำรุงได้ในอนาคตกาล เอา ๖ โยชน์ ๕ โยชน์ ๔ โยชน์ ๓ โยชน์ ๒ โยชน์ ๑ โยชน์ ปรึกษากันว่า จะใช้อิฐเช่นไร ตกลงกันว่า ภายนอกเป็นอิฐแท่งเดียวทำด้วยทองสีแดงมีค่า ๑๐๐,๐๐๐ ภายในมีค่า ๕๐,๐๐๐ ฉาบด้วยหรดาล และมโนสิลาแทนดินชะโลมด้วยน้ำมันแทนน้ำ แยกมุขทั้ง ๔ ออกด้านละ ๔. พระราชาทรงรับมุขหนึ่ง ปฐวินธรกุมารราชบุตรรับมุขหนึ่ง เสนาบดีหัวหน้าอำมาตย์รับมุขหนึ่ง เศรษฐีหัวหน้าชาวชนบทรับมุขหนึ่ง.
               บรรดาชนเหล่านั้น เพราะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ แม้พระราชาให้ขนทองมา ทรงเริ่มงานที่มุขที่พระองค์รับไว้ ทั้งอุปราชทั้งเสนาบดีก็เหมือนกัน. ส่วนงานที่มุขที่เศรษฐีรับไว้หย่อนไป.
               ครั้งนั้น อุบาสกคนหนึ่งชื่อยโสธร เป็นอริยสาวกชั้นอนาคามีทรงพระไตรปิฏก รู้ว่าเศรษฐีนั้นทำงานหย่อนไป จึงให้เทียมเกวียน ๕๐๐ เล่มไปในชนบทชักชวนคนทั้งหลายว่า พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระชนม์ ๒๐,๐๐๐ ปี ปรินิพพานนานแล้ว พวกเราจักทำรัตนเจดีย์โยชน์หนึ่งของพระองค์ ผู้ใดจะสามารถจะให้สิ่งใด จะเป็นทองหรือเงิน แก้ว ๗ ประการ หรดาลหรือมโนสิลาก็ตามที ผู้นั้นจงให้สิ่งนั้น.
               ชนทั้งหลายได้ให้เงินและทองเป็นต้นตามกำลังของตนๆ เมื่อไม่สามารถจะให้ก็ให้น้ำมันและข้าวสารเป็นต้นเท่านั้น. อุบาสกส่งน้ำมันและข้าวสารเป็นต้นเพื่อเป็นอาหารประจำวันแก่กรรมกรทั้งหลาย ที่เหลือจงใจจะให้ทองส่งไป ได้ป่าวร้องไปทั่วชมพูทวีปด้วยอาการอย่างนี้. งานที่พระเจดีย์เสร็จแล้ว เพราะฉะนั้น พวกเขาส่งหนังสือไปจากเจดีย์สถานว่า การงานเสร็จแล้ว ขออาจารย์จงมาไหว้พระเจดีย์. แม้อาจารย์ก็ส่งหนังสือไปว่า เราชักชวนชมพูทวีปทั่วแล้ว สิ่งใดที่มีอยู่ จงถือเอาสิ่งนั้นทำการงานให้สำเร็จ. หนังสือ ๒ ฉบับมาประจวบกันระหว่างทาง แต่หนังสือจากเจดีย์สถานมาถึงมือของอาจารย์ก่อนหนังสือของอาจารย์. อาจารย์นั้นอ่านหนังสือแล้วก็คิดว่า จักไหว้พระเจดีย์ ก็ออกไปตามลำพัง. ระหว่างทาง โจร ๕๐๐ ก็ปรากฏขึ้นที่ดง.
               บรรดาโจรเหล่านั้นบางพวกเห็นอาจารย์นั้น คิดว่า คนผู้นี้รวบรวมเงินและทองจากชมพูทวีปทั้งสิ้น คนทั้งหลายผู้รักษาขุมทรัพย์คงมากันแล้ว จึงบอกแก่โจรที่เหลือแล้ว จับอาจารย์นั้น.
               อาจารย์ถามว่า พ่อเอ๋ย เหตุไรพวกเจ้าจึงจับเรา. พวกโจรตอบว่า ท่านรวบรวมเงินและทองทั้งหมดจากชมพูทวีป ท่านจงให้ทรัพย์เล็กๆ น้อยๆ แก่พวกเราเถอะ.
               อาจารย์ถามว่า พวกเจ้าไม่รู้หรอกหรือว่า พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปปรินิพพานแล้ว พวกเรากำลังสร้างพระรตนเจดีย์โยชน์หนึ่งสำหรับพระองค์ ก็ข้าชักชวนเขาเพื่อประโยชน์นั้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตน ฉะนั้น จำส่งของที่เก็บไว้ๆ แล้วไปในที่นั้นแหละ ส่วนผ้านอกจากที่นุ่งมา ก็ไม่มีอะไรอย่างอื่นแม้แต่กากณึกหนึ่ง.
               โจรพวกหนึ่งกล่าวว่า ข้อนั้นจริงอย่างนั้น ก็จงปล่อยอาจารย์ไปเสีย. โจรพวกหนึ่งกล่าวว่า อาจารย์ผู้นี้ พระราชาก็บูชา อำมาตย์ก็บูชา เห็นบางคนในพวกเราที่ถนนพระนคร พึงบอกพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชาเป็นต้น จะทำให้พวกเราถึงความย่อยยับได้. อุบาสกกล่าวว่า พ่อเอ๋ย ข้าจักไม่ทำอย่างนั้นแน่ ก็ข้อนั้นแล มีด้วยความกรุณาในโจรเหล่านั้น ไม่ใช่มีด้วยความรักในชีวิตของตน.
               เมื่อเป็นเช่นนั้น บรรดาโจรเหล่านั้นซึ่งกำลังทุ่มเถียงกันว่า ควรจับไว้ ควรปล่อยไป พวกโจรเหล่าที่มีความเห็นว่าควรจับ มีจำนวนมากกว่า ก็ฆ่าอาจารย์นั้นเสีย. ดวงตาของโจรเหล่านั้น ก็อันตรธานไปเหมือนประทีปด้ามที่ดับ เพราะผิดในพระอริยสาวกผู้มีพลังคุณ. โจรเหล่านั้นรำพันว่า ดวงตาอยู่ไหน ดวงตาอยู่ไหน บางพวกญาติก็นำกลับบ้าน บางพวกไม่มีญาติก็กลายเป็นเป็นคนอนาถา เพราะฉะนั้น จึงอาศัยอยู่ที่บรรณศาลาที่โคนไม้ในดงนั้นเอง. เหล่ามนุษย์ที่มาในดง ก็ให้ข้าวสารบ้าง ห่อข้าวบ้าง เสบียงบ้างแก่โจรเหล่านั้นด้วยความความกรุณา. เหล่ามนุษย์ที่ไปแสวงหาไม้และใบไม้เป็นต้นกลับมากันแล้ว เมื่อถูกถามว่าพวกท่านไปไหนกัน ตอบว่าพวกเราไปป่าคนตาบอด. ป่านั้นปรากฏชื่อว่าอันธวัน ครั้งพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ด้วยประการฉะนี้.
               ก็ป่านั้น ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป ได้กลายเป็นดงในชนบทที่ร้างไป. แต่ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ได้กลายเป็นเรือนสำหรับทำความเพียร เป็นสถานที่อยู่ของเหล่ากุลบุตรผู้ต้องการความสงัด อยู่หลังพระเชตวันไม่ไกลกรุงสาวัตถี.
               สมัยนั้น ท่านกุมารกัสสปก็บำเพ็ญเสกขปฏิปทาอยู่ที่อันธวันนั้น. 

               ท่านจึงอธิบายว่า เมื่อราตรีสิ้นไปแล้ว. ในข้อนั้นพึงทราบว่า เทพบุตรนี้มาในระหว่างมัชฌิมยาม.
               จริงอยู่ เทวดาทั้งหลาย เมื่อมาสู่มนุษย์โลกละผิวอย่างปกติฤทธิ์ปกติ ทำอัตตภาพให้หยาบ เนรมิตรผิวเกินปกติ ฤทธิ์เกินปกติ มาด้วยกายที่ปรุงแต่งแล้ว เหมือนมนุษย์ไปสู่ที่ชุมนุมฟ้อนรำเป็นต้น. เทพบุตรแม้นี้ก็มาโดยอาการอย่างนั่นนั้นแล. 
               ได้ยินว่า เทพบุตรได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ผู้นี้อยู่ในระหว่างกามาวจรภูมิ ส่วนเราเป็นพรหมจารีตั้งแต่กาลนั้นในเวลานั้น. แม้สมณสัญญาของเทพบุตรนั้นยังปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้น เทพบุตรนั้นจึงไม่ไหว้ กล่าวโดยสมณโวหารอย่างเดียว.
               ถามว่า ได้ยินว่า เทพบุตรนั้นเป็นบุรพสหายของพระเถระ ตั้งแต่ครั้งไหน.
               ตอบว่า ตั้งแต่กาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามกัสสปะ.
               จริงอยู่ บรรดาสหายทั้ง ๕ ที่มาในครั้งก่อน สหายนั้นใดที่ท่านกล่าวว่าพระอนุเถระได้เป็นพระอนาคามี ในวันที่ ๔ สหายนั้นก็คือผู้นี้.
               ได้ยินว่า ครั้งนั้นบรรดาพระเถระเหล่านั้น อภิญญากับพระอรหัตต์นั้นแลมาถึงแก่สังฆเถระ. พระสังฆเถระนั้นคิดว่า กิจของเราถึงที่สุดแล้ว จึงเหาะสู่นภากาศ บ้วนปากที่สระอโนดาด รับบิณฑบาตจากอุตตรกุรุทวีป กลับมาแล้วกล่าวว่า ผู้มีอายุจงฉันบิณฑบาตนี้ อย่าประมาท กระทำสมณธรรม. เหล่าภิกษุนอกนี้กล่าวว่า ผู้มีอายุ พวกเราไม่มีกติกาอย่างนี้ว่า ผู้ใดบังเกิดคุณวิเศษก่อนก็นำบิณฑบาตมา พวกที่เหลือฉันบิณฑบาตที่ผู้นั้นนำมากระทำสมณธรรม พวกท่านบรรลุที่สุดกิจด้วยอุปนิสสัยของตน ถ้าว่าพวกเราจักมีอุปนิสสัยก็จักบรรลุที่สุดกิจ นั่นเป็นความชักช้าของพวกเราเอง พวกท่านจงไปเถิด.
               สังฆเถระนั้นไปตามความผาสุก ปรินิพพานเมื่อสิ้นอายุ.
               วันรุ่งขึ้น พระอนุเถระกระทำให้แจ้งพระอนาคามิผล อภิญญาทั้งหลายก็มาถึงท่าน. แม้ท่านก็นำบิณฑบาตมาเหมือนอย่างนั้นเหมือนกัน ถูกภิกษุเหล่านั้นปฏิเสธ ก็ไปตามความผาสุก เมื่อสิ้นอายุก็บังเกิดในชั้นสุทธาวาส. พระอนุเถระนั้นครั้นดำรงอยู่ในชั้นสุทธาวาสแล้ว ตรวจดูสหายเหล่านั้น ก็เห็นว่า สหายผู้หนึ่งปรินิพพานในครั้งนั้นแล ผู้หนึ่งบรรลุอริยภูมิในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยไม่นาน ผู้หนึ่งอาศัยลาภสักการะเกิดความคิดขึ้นว่า เราเป็นพระอรหันต์ อยู่ที่ท่าเรือชื่อสุปปารกะนั่นแล แล้วเข้าไปหาเขา สั่งเขาไปด้วยกล่าวว่า ท่านไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ ยังปฏิบัติไม่ถึงพระอรหัตตมรรค จงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าฟังธรรมเสีย. แม้สหายผู้นั้นทูลขอโอวาทกะพระผู้มีพระภาคเจ้าในละแวกบ้าน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโอวาทโดยสังเขปว่า พาหิยะ เพราะฉะนั้นแล เธอพึงศึกษาในสิ่งที่ท่านเห็นแล้ว จงเป็นสักแต่ว่าเห็น ก็บรรลุอริยภูมิ.
               สหายผู้หนึ่งนอกจากนั้นมีอยู่ เขาตรวจดูว่าอยู่ที่ไหน ก็เห็นว่ากำลังบำเพ็ญเสกขปฏิปทาอยู่ในอันธวัน จึงคิดว่า เราจักไปยังสำนักของสหาย แต่เมื่อไปไม่ไปมือเปล่า ควรจะถือเครื่องบรรณาการบางอย่างไปด้วย แต่สหายของเราไม่มีอามิสอยู่บนยอดเขา แต่สหายนั้นจักไม่ฉันแม้บิณฑบาตที่เรายืนอยู่บนอากาศถวาย ได้กระทำสมณธรรม บัดนี้ท่านจักรับอามิสบรรณาการหรือจำเราจักถือธรรมบรรณาการไป แล้วดำรงในพรหมโลกนั่นแล จำแนกปัญหา ๑๕ ข้อเหมือนร้อยรัตนวลีพวงแก้วถือธรรมบรรณาการนั้นมา ยืนอยู่ในที่ไม่ไกลสหาย ไม่อภิวาทพระเถระนั้นโดยกล่าวด้วยสมณสัญญาเรียกว่า ภิกษุ ภิกษุ 
               กายนั้น ชื่อว่าวัมมิกะ กายอันตัวปลวกคายแล้ว เหตุนั้น จึงชื่อว่าวัมมิกะ. กายอันตัวปลวกก่อขึ้นด้วยผงฝุ่น ที่ตัวคายยกขึ้นด้วยจะงอยปากประมาณเพียงสะเอวบ้าง ชั่วบุรุษบ้าง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวัมมิกะ. กายเมื่อฝนตก ๗ สัปดาห์อันตัวปลวกเกลี่ย เพราะเนื่องด้วยยางน้ำลายที่คายออก แม้ในฤดูแล้งมันก็คายเอาฝุ่นจากที่นั้น บีบที่นั้นให้เป็นกอง ยางเหนียวก็ออก แล้วก็ติดกันด้วยยางเหนียวที่คาย เหตุนั้นจึงชื่อว่าวัมมิกะ ฉันใดนั้นแล แม้กายนี้ก็ฉันนั้น ชื่อว่าวัมมิกะ เพราะคายของไม่สะอาด ของมีโทษและมลทินมีประการต่างๆ โดยนัยเป็นต้นว่าขี้ตาออกจากลูกตาเป็นต้น และชื่อว่าวัมมิกะ เพราะอันพระอริยเจ้าคายแล้ว เหตุพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธะและพระขีณาสพ ทิ้งอัตตภาพไป เพราะหมดความเยื่อใยในอัตตภาพนี้ ชื่อว่าวัมมิกะ เพราะคายหมดทั้งร่างที่ประชุมธาตุ ๔ เหตุที่พระอริยเจ้าคายร่างทั้งหมดที่กระดูก ๓๐๐ ท่อนยกขึ้นรัดด้วยเอ็น ฉาบด้วยเนื้อ ห่อด้วยหนังสด ย้อมผิว ลวงสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าวัมมิกะ เพราะผูกด้วยเสน่หาที่คายเสียแล้ว เหตุกายนี้ผูกด้วยใยยางคือตัณหาที่พระอริยทั้งหลายคายแล้ว เพราะตัณหาก่อให้เกิดตามพระบาลีอย่างนี้ว่า ตัณหาทำคนให้เกิด จิตของคนนั้นย่อมแล่นไป.
               อนึ่ง สัตว์เล็กๆ มีประการต่างๆ ภายในจอมปลวก ย่อมเกิด ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ นอนป่วย ย่อมตายตกไปในจอมปลวกนั้นนั้นเอง ดังนั้น จอมปลวกนั้นจึงเป็นเรือนเกิด เป็นส้วม เป็นโรงพยาบาลและเป็นสุสานของสัตว์เล็กๆ เหล่านั้นฉันใด กายแม้ของกษัตริย์มหาศาลเป็นต้นก็ฉันนั้น เหล่าสัตว์ที่อาศัยผิวหนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก มิได้คิดว่า กายนี้ถูกคุ้มครองรักษาแล้ว ประดับตกแต่งแล้ว เป็นกายของผู้มีอานุภาพใหญ่ รวมความว่า หมู่หนอนโดยการนับตระกูลมีประมาณ ๘๐,๐๐๐ ตระกูล ย่อมเกิด ย่อมถ่ายอุจจาระปัสสาวะ นอนกระสับกระส่าย เพราะความป่วยไข้ ตายตกคลักอยู่ในกายนี้เอง เหตุนั้น จึงนับได้ว่าเป็นจอมปลวก เพราะเป็นเรือนคลอด เป็นส้วม เป็นโรงพยาบาลและเป็นสุสานของสัตว์เหล่านั้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่า วัมมิกะ นี้เป็นชื่อของกายนี้ที่เกิดจากมหาภูตทั้ง ๔.
               กายนี้ชื่อว่ามีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา เพราะอรรถาว่ามีแล้วกลับไม่มี ชื่อว่ามีการฉาบทาเป็นธรรมดา เพราะฉาบทาด้วยหนังบางเพื่อประโยชน์แก่การกำจัดกลิ่นเหม็น ชื่อว่ามีการนวดฟั้นเป็นธรรมดา เพราะมีการนวดฟั้นเล็กๆ น้อยๆ เพื่อประโยชน์แก่การบรรเทาความเจ็บป่วยทางอวัยวะน้อยใหญ่.
               อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่ามีการประคบประหงมเป็นธรรมดาโดยการหยอดยาตาและบีบเป็นต้น เพื่อความสมบูรณ์แห่งทรวดทรงแห่งอวัยวะเหล่านั้นที่ตั้งอยู่ไม่ดี โดยให้นอนอยู่บนขาให้นอนแต่ในห้องในเวลาเป็นเด็ก.
               อธิบายว่า แม้ถึงจะถูกประคบประหงมอยู่อย่างนี้ ก็ยังมีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา กายมีสภาพอย่างนี้.
               ความโกรธเป็นดังควันไฟ โทษของโจรกรรมเป็นดังเถ้า. เป็นไปในตัณหา ในคำนี้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีตัณหาดังควันไฟ. เป็นไปในวิตก ได้ในคำนี้ว่า สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งนั่งตรึกดังควันไฟในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาคเจ้า.
               เล่ากันมาว่า พราหมณ์ชาวชนบทคนหนึ่งออกจากบ้านแต่เช้าตรู่พร้อมด้วยเหล่ามาณพ ตอนกลางวันสอนมนต์ในป่า ตอนเย็นก็กลับบ้าน. ระหว่างทางมีจอมปลวกจอมหนึ่ง จอมปลวกนั้นกลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นไฟ พราหมณ์จึงพูดกะสุเมธมาณพศิษย์ว่า พ่อเอ๋ย จอมปลวกนี้กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นไฟ เราจักเห็นความผิดปกติของจอมปลวกนั้น เจ้าจงทำลายมันแบ่งเป็น ๔ ส่วน ทิ้งไป. ศิษย์นั้นก็รับคำ จับจอบใช้ ๒ เท้าเหยียบเสมอกันยืนหยัดที่พื้นดินแล้วได้กระทำอย่างนั้น.
               ใน ๒ อาจารย์และศิษย์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเปรียบเหมือนพราหมณ์ผู้อาจารย์ เสกขภิกษุเปรียบเหมือนสุเมธมาณพศิษย์ กายเปรียบเหมือนจอมปลวก เวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจงแบ่งกายที่เกิดแต่มหาภูตรูปทั้ง ๔ ส่วน กำหนดถือเอาเป็นอารมณ์ ก็เปรียบเหมือนเวลาที่พราหมณ์ผู้อาจารย์กล่าวว่า พ่อเอ๋ย จอมปลวกนี้กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นไฟ เราจักเห็นความผิดปกติของจอมปลวกนั้น เจ้าจงทำลายมันแบ่งเป็น ๔ ส่วน แล้วทิ้งไป.
               พึงทราบกำหนดกายสำหรับเสกขภิกษุโดยกำหนดธาตุ ๔ เป็นอารมณ์ อย่างนี้คือ ความที่กายเป็นของแข้น ๒๐ ส่วนจัดเป็นปฐวีธาตุ. ความที่กายเอิบอาบ ๑๒ ส่วนจัดเป็นอาโปธาตุ. ความที่กายอบอุ่น ๔ ส่วนจัดเป็นเตโชธาตุ. ความที่กายเคลื่อนไหว ๖ ส่วนจัดเป็นวาโยธาตุ. เปรียบเหมือนสุเมธมาณพศิษย์ รับคำแล้วจับจอบแล้วกระทำอย่างนั้น.
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงอวิชชาชื่อว่ากลอนเหล็ก 
               ตอบว่า เหมือนอย่างว่า เมื่อปิดประตูพระนคร ใส่ลิ่มสลัก มหาชนก็ขาดการไป เหล่าชนที่อยู่ภายในพระนครก็คงอยู่ภายในนั้นเอง พวกที่อยู่ภายนอกพระนครก็อยู่ภายนอกฉันใด กลอนเหล็กคืออวิชชาตกไปในปากคือญาณของผู้ใด การไปคือญาณที่ให้ถึงพระนิพพานของผู้นั้นก็ขาด. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอวิชชาให้เป็นดังกลอนเหล็ก.
               ขึ้นชื่ออึ่งที่พองขึ้นไม่ใหญ่ประมาณเท่าหลังเล็บอยู่ในระหว่างใบไม้เก่าๆ ในระหว่างกอไม้ หรือระหว่างเถาวัลย์ มันถูกปลายไม้ปลายเถาวัลย์หรือละอองฝุ่นเสียดสีขยายออกมีปริมณฑลใหญ่ ขนาดเท่าแว่นมะตูม ๔ เท้าขวักไขว่ในอากาศขาดการไป (เดินไม่ได้) ตกอยู่ในอำนาจของศัตรู เป็นเหยื่อของกาและนกเค้าเป็นต้นฉันใด ความโกรธนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเกิดขึ้นคราวแรกก็เป็นเพียงความขุ่นมัวแห่งจิตเท่านั้น ไม่ถูกข่มเสียในขณะนั้นก็ขยายให้ถึงการหน้านิ้วคิ้วขมวด ไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้นก็ให้ถึงคางสั่น ไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้นก็ให้ถึงการเปล่งวาจาหยาบ ไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้น ก็ให้ถึงการมองไม่เห็นทิศ ไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้น ให้ถึงการยื้อกันมายื้อกันไป ไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้นก็ให้ถึงการจับมือ ก้อนดิน ท่อนไม้และศาสตรา ไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้น ให้ถึงการประหารด้วยท่อนไม้ และศาสตรา ไม่ถูกข่มเสียในเวลานั้น ให้ถึงการฆ่าผู้อื่นบ้าง ฆ่าตัวเองบ้าง.
               สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
               ความโกรธนี้ ฆ่าผู้อื่นแล้ว ฆ่าตนเพียงใด ความโกรธเพียงนี้ ก็จะหนาแน่นยิ่งขึ้น กำเริบเสิบสานอย่างยิ่ง.
               ในข้อนั้น เมื่อเท้าทั้ง ๔ ของตัวอึ่งขวักไขว่ในอากาศ ก็ขาดการไป (เดินไม่ได้) ตัวอึ่งก็ตกอยู่ในอำนาจของศัตรู เป็นเหยื่อของสัตว์มีกาเป็นต้นฉันใด บุคคลผู้ตกอยู่ในอำนาจของความโกรธก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่สามารถจะกำหนดกัมมัฏฐานให้ขยายไปได้ ตกอยู่ในอำนาจของศัตรู เป็นผู้อันปวงมารพึงทำได้ตามความปรารถนา.
               บุรุษผู้มีทรัพย์โภคะ เดินทางไกลอันกันดาร ถึงทาง ๒ แพร่ง ไม่อาจตัดสินใจว่า ควรไปทางนี้หรือไม่ควรไปทางนี้ หยุดอยู่ในที่นั้นนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น เหล่าโจรปรากฏตัวขึ้นมาก็จะทำผู้นั้นให้ถึงความย่อยยับฉันใด ภิกษุผู้นั่งกำหนดกัมมัฏฐานเบื้องต้นก็ฉันนั้นนั่นแล เมื่อเกิดความสงสัยในพระพุทธเจ้าเป็นต้นก็ไม่อาจเจริญกัมมัฏฐานได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ปวงมารมีกิเลสมารเป็นต้นย่อมทำภิกษุนั้นให้ถึงความย่อยยับ วิจิกิจฉาจึงเสมอด้วยทาง ๒ แพร่งด้วยประการฉะนี้.
               เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่า ทาง ๒ แพร่งนี้เป็นชื่อของวิจิกิจฉา.               

     เมื่อช่างย้อมใส่น้ำลงในหม้อกรองน้ำด่าง หม้อน้ำ ๑ หม้อ ๒ หม้อบ้าง ๑๐ หม้อบ้าง ๒๐ หม้อบ้าง ๑๐๐ หม้อบ้างก็ไหลออก น้ำแม้ฟายมือเดียวก็ไม่ขังอยู่ฉันใด กุศลธรรมภายในของบุคคลผู้ประกอบด้วยนีวรณ์ ย่อมไม่ตั้งอยู่ฉันนั้นเหมือนกัน.
               เต่ามีอวัยวะ ๕ คือ เท้า ๔ ศีรษะ ๑ ฉันใด สังขตธรรมทั้งหมด เมื่อรวบรัดก็มีขันธ์ ๕ เท่านั้นฉันนั้นเหมือนกัน. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่า เต่านี้เป็นชื่อของอุปาทานขันธ์ ๕.
               เอาเนื้อวางบนเขียง เอามีดสับฉันใด สัตว์เหล่านี้ เมื่อถูกกามกิเลสกระทบ เพื่อประโยชน์แก่ทำไว้บนวัตถุกาม ถูกกิเลสกามตัดสับก็ฉันนั้น. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่า เขียงมีด นี้เป็นชื่อของกามคุณทั้ง ๕.               

     ขึ้นชื่อว่าชิ้นเนื้อนี้ คนเป็นอันมากปรารถนากันแล้ว ทั้งเหล่ามนุษย์มีกษัตริย์เป็นต้น ทั้งสัตว์ดิรัจฉานมีกาเป็นต้น ต่างปรารถนามัน สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยอวิชชา อาศัยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ต่างก็ปรารถนาวัฏฏะ ชิ้นเนื้อย่อมติดอยู่ในที่วางไว้ๆ ฉันใด สัตว์เหล่านี้ถูกความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลินผูกไว้ก็ติดอยู่ในวัฏฏะ แม้ประสบทุกข์ก็ไม่เบื่อฉันนั้น ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลินย่อมเสมือนชิ้นเนื้อด้วยประการฉะนี้. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ คำว่า ชิ้นเนื้อ นี้เป็นชื่อของความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน.            

     ท่านจงกระทำการนอบน้อมพระพุทธนาคผู้พระขีณาสพว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นตรัสรู้แล้ว ย่อมแสดงธรรมเพื่อความรู้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงฝึกแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อฝึก พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นสงบแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อสงบ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงข้ามแล้ว แสดงธรรมเพื่อข้าม พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นดับสนิทแล้ว แสดงธรรมเพื่อดับสนิท.
               พระสูตรนี้ได้เป็นกัมมัฏฐานของพระเถระด้วยประการฉะนี้ ฝ่ายพระเถระทำพระสูตรนี้แลให้เป็นกัมมัฏฐาน เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตต์.
               


               จบอรรถกถาวัมมิกสูตรที่ ๓               
               -----------------------------------------------------    

 



 

หมายเลขบันทึก: 712135เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2023 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2023 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมคงต้องเรียนรู้อีกนานสำหรับความหมายที่น่าจดจำ…วิโรจน์ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท