ชีวิตที่พอเพียง 4427. รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๖๕  และกิจการของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล


 

            คุณธราธร เหมทิวากร  บรรณาธิการเพจ "เจาะลึกธุรกิจสุขภาพ"  THE HUMANs   ขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ที่ในปี ๒๕๖๕ มีข่าวการพระราชทานรางวัลเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๖ ที่ (๑)  (๒)   (๓) 

 โดยแจ้งคำถามล่วงหน้าดังต่อไปนี้ 

1. รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ กับวงการแพทย์ไทยในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา

2. เกณฑ์การพิจารณารางวัล (เช่นตัวอย่างในปีนี้)

3. มุมมองของต่างชาติให้คุณค่ารางวัลนี้อย่างไร 

4. โอกาสที่แพทย์ไทยจะคิดค้นการรักษาโรคใหม่ๆ ได้มาตรฐานสูง พอจะได้รับรับรางวัลมีมากน้อยแค่ไหน

 

คำตอบข้อ ๑ คือ รางวัลนี้มีผลต่อวงการแพทย์ไทยทางอ้อม ไม่ใช่ทางตรง    นอกจากบรรลุเป้าหมายโดยตรง คือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนกของ ร. ๙ และพระบรมราชจักรีวงศ์แล้ว    รางวัลนี้มีส่วนทำให้วงการแพทย์และวงการสุขภาพไทยได้รับการยกย่องไปทั่วโลก   แต่คำถามนี้อาจไม่ตรงกับเป้าหมายของรางวัลนัก    เพราะเป้าหมายของรางวัลคือ ยกย่องผู้มีผลงานที่ก่อคุณประโยชน์ด้านสุขภาพต่อผู้คนจำนวนมากทั่วโลก    เป็นรางวัลที่มุ่งทำเพื่อโลก ไม่ใช่เพื่อประเทศไทย    ตามพระปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนกว่า “จงทำเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”   

เมื่อผู้ได้รับพระราชทานรางวัลเดินทางมารับรางวัล    และได้รับเชิญไปในที่ต่างๆ ก็เกิดความคุ้นเคย และเกิดการร่วมมือทำงานวิจัยกับนักวิจัยไทย   ดังตัวอย่าง ศาสตราจารย์ Ralf Bartenschlager ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลปี ๒๕๖๒ จากผลงานวิจัยไวรัสตับอักเสบ ซี   ได้ร่วมทำวิจัยไวรัสไข้เลือดออกกับทีมวิจัยของศิริราช โดยได้ขอทุนวิจัยจากประเทศเยอรมนีมาใช้    อีกตัวอย่างหนึ่งคือ DNDi (Drug for Neglected Diseases International) ประธานคือ Dr Bernard Pecoul มารับพระราชทานรางวัล เกิดความร่วมมือพัฒนายารักษาโรคไข้เลือดออก จากยาที่มีอยู่แล้วแต่ใช้เพื่อการอื่น  เป็นต้น   

เกณฑ์การพิจารณารางวัลคงเดิมตลอดมาตั้งแต่ปีแรกคือ รางวัลประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๕   เน้นที่ผลงานที่ก่อผลดีต่อสุขภาพของคนจำนวนมากทั่วโลก    โดยมี ๒ รางวัล ได้แก่รางวัลสาขาการแพทย์ เน้นผลงานด้านการค้นพบความรู้หรือเทคนิคใหม่ ที่เรียกว่าเป็น discovery  ส่วนรางวัลสาขาสาธารณสุข เน้น application คือเป็นผลงานการเอาความรู้หรือเทคนิคใหม่ไปประยุกต์ใช้จนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของคนทั่วโลก   อาจกล่าวได้ว่า รางวัลด้านการแพทย์ให้แก่ผลงานเชิงทฤษฎีหรือวิธีการ   ส่วนรางวัลด้านสาธารณสุขให้แก่ผลงานเชิงประยุกต์   

มุมมองของต่างชาติเป็นอย่างไร ไม่ทราบชัด   มีการพูดกันว่าเป็นคล้ายรางวัลโนเบลด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ หรือการสาธารณสุข   ขณะนี้มีรางวัลเกิดขึ้นมากมาย และหลายรางวัลมีมูลค่าสูงกว่ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลมาก     เราให้เงินเพียง ๑ แสนดอลล่าร์    ในขณะที่รางวัลโนเบลให้กว่า ๑ ล้านเหรียญ    และมีบางรางวัลสูงถึง ๒ – ๓ ล้านเหรียญ    เราปรึกษากันบ่อยๆ ว่า เงินที่ให้น้อยไปไหม ควรเพิ่มไหม   ได้รับคำแนะนำจากกรรมการรางวัลนานาชาติ และผู้รู้ท่านอื่นว่า ไม่จำเป็นต้องเพิ่ม   เพราะจุดเด่นของรางวัลนี้คือเกียรติยศที่ได้รับตอนเดินทางมารับพระราชทานรางวัล     

คงต้องให้ข้อมูลเพิ่มว่า กิจการของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ไม่ได้มีเพียงการพระราชทานรางวัล    เรายังมีการประชุมวิชาการนานาชาติ ที่จัดทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา  ในชื่อว่า Prince Mahidol Award Conference  โดยจัดร่วมกับองค์การระหว่างประเทศและของประเทศรายได้สูง เช่น JICA ของรัฐบาลญี่ปุ่น,   SIGHT แห่งสวีเดน, Rockefeller Foundation, China Medical Board,  Bill & Melinda Gates Foundation, องค์การอนามัยโลก, ธนาคารโลก เป็นต้น   เป็นการประชุมวิชาการเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพโลก (Global Health)    ที่เวลานี้ได้รับการยกย่องว่า เป็นการประชุมด้าน Global Health ที่ดีที่สุดในโลก   เพราะประเทศไทยไม่มีอำนาจ 

กิจการที่ ๓ ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล คือโครงการเยาวชน (PMA Youth Program)     พระราชทานทุนให้แก่แพทย์จบใหม่ปีละ ๕ คน    เพื่อไปฝึกเรื่องอะไรก็ได้ ในประเทศใดก็ได้ เป็นเวลา ๑ ปี    ดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ เป็นต้นมา     เป้าหมายสำคัญที่สุดคือ เพื่อหนุนให้เกิดผู้นำรุ่นใหม่ในวงการแพทย์และสาธารณสุข   

กิจการที่ ๔ ที่กำลังจะเริ่มดำเนินการในปีนี้คือ Prince Mahidol Fund at Trinity    ให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาชีวการแพทย์ แก่คนไทย    ไปเรียนที่ Trinity College มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร   เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  กับมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล    โดยท่านนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ในฐานะศิษย์เก่าของทรินิตี คอลเลจ ได้ดำเนินการระดมเงินบริจาค ๒.๕ ล้านปอนด์ ให้แก่มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   เพื่อมอบแก่ทรินิตี คอลเลจ ตั้งเป็นกองทุน    โดยทางทรินิตี คอลเลจ ใส่เงินเข้ามาอีก ๕ แสนปอนด์ ตั้งเป็นกองทุนนี้   เอาดอกผลใช้เป็นทุนการศึกษาครั้งละ ๑ คน 

คนไทยเคยได้รับรางวัลนี้แล้ว ๒ ครั้ง    ครั้งแรกปี ๒๕๓๙  ศ. นพ. ประสงค์ ตู้จินดา รับรางวัลด้านการแพทย์ คู่กับ พญ. สุจิตรา นิมมานนิตย์ จากผลงานจัดระดับความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก    และในปี ๒๕๕๒  นพ. วิวัฒน์ โรจนพิทยากร รับรางวัลสาขาสาธารณสุขร่วมกับนายมีชัย วีระไวทยะ จากผลงานป้องกันโรคติดเชื้อเอ็ชไอวี/เอดส์ ด้วยการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100%              

คนไทยมีโอกาสได้รับพระราชทานรางวัลเท่ากันกับคนชาติอื่นๆ   ขึ้นกับผลงานสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาสุขภาพของคนจำนวนมาก ในทุกส่วนหรือหลายส่วนของโลก   ไม่เฉพาะในประเทศไทย             

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ก.พ. ๖๖

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 712089เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2023 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2023 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท