เรื่องของพราหมณ์วาเสฏฐะ และภารทวาชะ ตอนสุดท้าย


พระพุทธองค์ได้ทรงอธิบายการก่อกำเนิดของโลก และการกำเนิดมนุษย์

เรื่องของพราหมณ์วาเสฏฐะ และภารทวาชะ ตอนสุดท้าย

พลตรี มารวย ส่งทานินทร์

 ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๖

อัคคัญญสูตร

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

๔. อัคคัญญสูตร

ว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก

 

เรื่องสามเณรชื่อวาเสฏฐะและสามเณรชื่อภารทวาชะ

             [๑๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขามิคารมาตา ในบุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น สามเณรชื่อวาเสฏฐะและสามเณรชื่อภารทวาชะ หวังความเป็นภิกษุ จึงอยู่อบรมในสำนักของภิกษุทั้งหลาย ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคทรงออกจากการหลีกเร้นแล้ว ได้เสด็จลงจากปราสาท ทรงจงกรมอยู่ในที่กลางแจ้งที่ร่มเงาปราสาท

             [๑๑๒] สามเณรชื่อวาเสฏฐะได้เห็นพระผู้มีพระภาคทรงออกจากการหลีกเร้นเสด็จลงจากปราสาทแล้ว ทรงจงกรมอยู่ในที่กลางแจ้งที่ร่มเงาปราสาทในเวลาเย็น จึงเรียกสามเณรชื่อภารทวาชะมากล่าวว่า “คุณภารทวาชะ พระผู้มีพระภาคนี้ทรงออกจากการหลีกเร้น เสด็จลงจากปราสาท ทรงจงกรมอยู่ในที่กลางแจ้งที่ร่มเงาของปราสาทในเวลาเย็น มาเถิด เราจักไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ เราควรจะได้ฟังธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคบ้าง” ภารทวาชสามเณรก็รับคำแล้ว

             [๑๑๓] ครั้งนั้น วาเสฏฐสามเณรและภารทวาชสามเณรพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้เดินจงกรมตามเสด็จพระผู้มีพระภาคซึ่งกำลังทรงจงกรมอยู่ พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งเรียกวาเสฏฐสามเณรและภารทวาชสามเณรมาตรัสว่า “วาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสองมีชาติเป็นพราหมณ์ มีตระกูลเป็นพราหมณ์ ออกจากตระกูลของพราหมณ์ บวชเป็นบรรพชิต พวกพราหมณ์ไม่ด่าไม่บริภาษเธอทั้งสองบ้างหรือ”

             “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ด่า (ด่า ในที่นี้หมายถึงด่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ อย่าง คือ (๑) เจ้าเป็นโจร (๒) เจ้าเป็นคนพาล (๓) เจ้าเป็นคนหลง (๔) เจ้าเป็นอูฐ (๕) เจ้าเป็นโค (๖) เจ้าเป็นลา (๗) เจ้าเป็นสัตว์นรก (๘) เจ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน (๙) เจ้าไม่ได้สุคติ (๑๐) เจ้าหวังได้แต่ทุคติเท่านั้น) บริภาษข้าพระองค์ทั้งสองด้วยคำเหยียดหยามอย่างสมใจ เต็มรูปแบบ (เต็มรูปแบบ ในที่นี้หมายถึงยกอักโกสวัตถุทั้ง ๑๐ อย่างมาด่า) ไม่ใช่ไม่เต็มรูปแบบ”

             “ก็พวกพราหมณ์ด่าบริภาษเธอทั้งสองด้วยคำเหยียดหยามอย่างสมใจ เต็มรูปแบบไม่ใช่ไม่เต็มรูปแบบอย่างไร”

             “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุดคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว วรรณะที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตรเป็นโอรส เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม เกิดจากพระพรหม เป็นผู้ที่พระพรหมสร้างขึ้น เป็นทายาทของพระพรหม เจ้าทั้งสองมาละวรรณะที่ประเสริฐที่สุด เข้าไปอยู่ในวรรณะที่เลวทราม คือ สมณะโล้น เป็นคนรับใช้ (เป็นคนรับใช้ ในที่นี้หมายถึงคหบดีซึ่งพวกวรรณะพราหมณ์ถือว่าเป็นคนชั้นต่ำ เพราะยังถูกเครื่องผูกคือเรือนผูกไว้) เป็นคนวรรณะต่ำ (กัณหโคตร) เป็นเผ่าของมาร เกิดจากพระบาทของพระพรหม (เกิดจากพระบาทของพระพรหมเท่านั้น) เธอทั้งสองมาละวรรณะที่ประเสริฐที่สุด เข้าไปอยู่ในวรรณะที่เลวทราม คือ สมณะโล้น เป็นคนรับใช้ เป็นคนวรรณะต่ำ เป็นเผ่าของมาร เกิดจากพระบาทของพระพรหมนี้ ไม่เป็นความดี ไม่เป็นการสมควรเลย’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ได้พากันด่า บริภาษข้าพระองค์ทั้งสองด้วยถ้อยคำเหยียดหยามอย่างสมใจ เต็มรูปแบบ ไม่ใช่ไม่เต็มรูปแบบอย่างนี้”

             [๑๑๔] “วาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกพราหมณ์ระลึกถึงเรื่องเก่าของตนไม่ได้ (ระลึกถึงเรื่องเก่าของตนไม่ได้ หมายถึงไม่รู้จักกำเนิดและความเป็นไปของโลก ที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกอันมีมาแต่โบราณ) จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุด คือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว วรรณะที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตร เป็นโอรส เกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม เกิดจากพระพรหม เป็นผู้ที่พระพรหมสร้างขึ้น เป็นทายาทของพระพรหม’

             วาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ปรากฏชัดอยู่ว่า นางพราหมณีของพราหมณ์ทั้งหลายมีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง คลอดอยู่บ้าง ให้ลูกดื่มนมบ้าง ก็พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้เกิดทางช่องคลอดของนางพราหมณีทั้งนั้น ยังกล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุด คือพราหมณ์เท่านั้น ฯลฯ เป็นทายาทของพระพรหม’ ก็พราหมณ์เหล่านั้นกล่าวตู่พรหมและพูดเท็จ พวกเขาจะต้องประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก

 

ความบริสุทธิ์แห่งวรรณะ ๔

             [๑๑๕] วาเสฏฐะและภารทวาชะ วรรณะ ๔ เหล่านี้ คือ (๑) กษัตริย์ (๒) พราหมณ์ (๓) แพศย์ (๔) ศูทร

             ๑. แม้กษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตพยาบาท เห็นผิดด้วยประการดังกล่าวมานี้ ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล มีโทษ นับว่ามีโทษ ไม่ควรประพฤติ นับว่าไม่ควรประพฤติ ไม่สามารถเป็นอริยธรรม นับว่าไม่สามารถเป็นอริยธรรม เป็นธรรมดำ (ธรรมดำ ในที่นี้หมายถึงธรรมที่ไม่บริสุทธิ์มาแต่เดิม) มีวิบากดำ (มีวิบากดำ ในที่นี้หมายถึงมีผลเป็นทุกข์) ที่วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านั้นปรากฏอย่างชัดเจนในกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้

             ๒. แม้พราหมณ์ ...

             ๓. แม้แพศย์ ...

             ๔. แม้ศูทรบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตพยาบาท เห็นผิด ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศล นับว่าเป็นอกุศล มีโทษ นับว่ามีโทษ ไม่ควรประพฤติ นับว่าไม่ควรประพฤติ ไม่สามารถเป็นอริยธรรม นับว่าไม่สามารถเป็นอริยธรรม เป็นธรรมดำ มีวิบากดำที่วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านั้นปรากฏอย่างชัดเจนในศูทรบางคนในโลกนี้

             วาเสฏฐะและภารทวาชะ

             ๑. แม้กษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตไม่พยาบาท เห็นชอบด้วยประการดังกล่าวมานี้ ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ไม่มีโทษ นับว่าไม่มีโทษ ควรประพฤติ นับว่าควรประพฤติ สามารถเป็นอริยธรรม นับว่าสามารถเป็นอริยธรรม เป็นธรรมขาว (ธรรมขาว ในที่นี้หมายถึงธรรมที่บริสุทธิ์เพราะปราศจากกิเลส) มีวิบากขาว (มีวิบากขาว ในที่นี้หมายถึงมีผลเป็นสุข) ที่วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านั้นปรากฏอย่างชัดเจนในกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้

             ๒. แม้พราหมณ์ ...

             ๓. แม้แพศย์ ...

             ๔. แม้ศูทรบางคนในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ... ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของเขา มีจิตไม่พยาบาท เห็นชอบ ด้วยประการดังกล่าวมานี้ ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล ไม่มีโทษ นับว่าไม่มีโทษ ควรประพฤติ นับว่าควรประพฤติ สามารถเป็นอริยธรรม นับว่าสามารถเป็นอริยธรรม เป็นธรรมขาว มีวิบากขาว ที่วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านั้นปรากฏอย่างชัดเจนในศูทรบางคนในโลกนี้

             [๑๑๖] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อวรรณะ ๔ เหล่านี้ รวมกันเป็นบุคคล ๒ จำพวก คือ

             ๑. พวกที่ดำรงอยู่ในธรรมดำที่วิญญูชนติเตียนจำพวกหนึ่ง

             ๒. พวกที่ดำรงอยู่ในธรรมขาวที่วิญญูชนสรรเสริญจำพวกหนึ่ง

             ในเรื่องนี้ พวกพราหมณ์ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ‘วรรณะที่ประเสริฐที่สุด คือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นเลว วรรณะที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณะอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้ที่ไม่ใช่พราหมณ์ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตร เป็นโอรสเกิดจากโอษฐ์ของพระพรหม เกิดจากพระพรหม เป็นผู้ที่พระพรหมสร้างขึ้น เป็นทายาทของพระพรหม’ วิญญูชนทั้งหลายย่อมไม่รับรองถ้อยคำของพราหมณ์เหล่านั้น

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่า บรรดาวรรณะ ๔ เหล่านี้ ผู้ใดเป็นภิกษุอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว (อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว หมายถึงได้เป็นพระอเสขะ ส่วนพระเสขะ ๗ จำพวก และกัลยาณปุถุชนชื่อว่ากำลังประพฤติพรหมจรรย์) ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว (ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว หมายถึงทำกิจมีความกำหนดรู้ เป็นต้นในอริยสัจ ๔ ด้วยมรรค ๔) ปลงภาระได้แล้ว (ปลงภาระได้แล้ว หมายถึงปลงกิเลสภาระ(ภาระคือกิเลส) ขันธภาระ(ภาระคือร่างกาย) และอภิสังขารภาระ (ภาระคืออภิสังขาร) ลงแล้ว) บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้นเรียกได้ว่าเป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลายในวรรณะ ๔ เหล่านั้น โดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม เพราะธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

             [๑๑๗] วาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยเหตุผลนี้ เธอทั้งสองพึงทราบเถิดว่า ‘ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า’

             วาเสฏฐะและภารทวาชะ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบว่า ‘พระสมณโคดมเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูลที่เท่าเทียมกัน (เท่าเทียมกัน เป็นคำเปรียบเทียบที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงใช้เพื่อยกย่องศากยตระกูลว่าเสมอกับราชตระกูลของพระองค์)’ ดังนี้ ก็พวกศากยะยังต้องตามเสด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่ตลอดเวลา และพวกเจ้าศากยะยังต้องกระทำการนอบน้อม การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรม ในพระเจ้าปเสนทิโกศลอยู่ด้วยประการดังว่ามานี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระทำการนอบน้อม การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมนั้นในเราตถาคต ดังที่พวกเจ้าศากยะกระทำการนอบน้อม การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมในพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์มิได้ทรงกระทำการนอบน้อม การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมนั้น ด้วยทรงดำริว่า ‘พระสมณโคดมมีพระชาติกำเนิดดี เราเองมีชาติกำเนิดไม่ดี พระสมณโคดมทรงแข็งแรง เราเองไม่แข็งแรง พระสมณโคดมมีผิวพรรณผ่องใส เราเองมีผิวพรรณเศร้าหมอง พระสมณโคดมเป็นผู้สูงศักดิ์ เราเองเป็นผู้ต่ำศักดิ์’ โดยที่แท้ พระองค์เมื่อจะทรงสักการะธรรม เคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม นอบน้อมธรรม จึงทรงกระทำการนอบน้อม การอภิวาท การต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมในเราตถาคตอย่างนี้ โดยเหตุผลนี้ เธอพึงทราบอย่างนี้ว่า ‘ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า’

             [๑๑๘] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสองมีชาติกำเนิดต่างกัน มีชื่อต่างกัน มีโคตรต่างกัน มีตระกูลต่างกัน ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต เมื่อมีผู้ถามว่า ‘ท่านเป็นพวกไหน’ พึงตอบเขาว่า ‘เราเป็นพวกพระสมณศากยบุตร’ ดังนี้เถิด ผู้ใดแลมีศรัทธาตั้งมั่นในตถาคต เกิดแต่ราก ประดิษฐานมั่นคงที่สมณพราหมณ์ เทพ มาร พรหม หรือใครๆ ในโลกให้หวั่นไหวไม่ได้ ควรจะเรียกผู้นั้นว่า ‘เป็นบุตร เป็นโอรส เกิดจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค เกิดจากพระธรรม อันพระธรรมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพระธรรม’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคำว่า ‘ธรรมกาย’ ก็ดี ‘พรหมกาย’ ก็ดี ‘ธรรมภูต’ ก็ดี ‘พรหมภูต’ ก็ดี ล้วนเป็นชื่อของตถาคต

             [๑๑๙] วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยหนึ่ง ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน โลกนี้เสื่อม เมื่อโลกกำลังเสื่อม เหล่าสัตว์ส่วนมากไปเกิดที่พรหมโลกชั้นอาภัสสระ นึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นภักษา มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน

             สมัยหนึ่ง ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน โลกนี้เจริญขึ้น เมื่อโลกกำลังเจริญขึ้น เหล่าสัตว์ส่วนมากจุติจากพรหมโลกชั้นอาภัสสระมาเป็นอย่างนี้ (มาเป็นอย่างนี้ ในที่นี้หมายถึงมาเกิดเป็นมนุษย์) นึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา (นึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา หมายความว่าสัตว์เหล่านั้นแม้มาเกิดในมนุษยโลกนี้ ก็ยังเป็นโอปปาติกะ เกิดขึ้นด้วยใจที่บรรลุอุปจารฌานอย่างเดียวกัน) มีปีติเป็นภักษา (มีปีติเป็นภักษา หมายความว่าแม้อยู่ในมนุษยโลกนี้ก็มีปีติเป็นอาหารเหมือนอยู่ในพรหมโลก) มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมานอันงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน

ความปรากฏแห่งง้วนดิน

             [๑๒๐] วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยนั้น ทั่วทั้งจักรวาลนี้แหละเป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนอนธการ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายยังไม่ปรากฏ กลางคืน กลางวันยังไม่ปรากฏ เดือนหนึ่ง ครึ่งเดือน ฤดูและปีก็ยังไม่ปรากฏ หญิงชายก็ยังไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลายปรากฏชื่อแต่เพียงว่า ‘สัตว์’ เท่านั้น

             ครั้นเวลาล่วงเลยมาช้านาน เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำ ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้น ดุจน้ำนมที่บุคคลเคี่ยวให้แห้งแล้วทำให้เย็นสนิทจับเป็นฝาอยู่ข้างบน ง้วนดินนั้นสมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส มีสีเหมือนเนยใสหรือเนยข้นอย่างดี และมีรสอร่อยเหมือนน้ำผึ้งมิ้มซึ่งปราศจากโทษ (ปราศจากโทษ ในที่นี้หมายถึงไม่มีตัวอ่อนในรัง) ต่อมา สัตว์ผู้หนึ่งมีนิสัยโลภกล่าวว่า ‘ท่านผู้เจริญสิ่งนี้จะเป็นเช่นไร (สิ่งนี้จะเป็นเช่นไร หมายความว่ารสของง้วนดินนี้จะเป็นเช่นไร)’ แล้วใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดู  เมื่อเขาใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดูอยู่ รสง้วนดินได้แผ่ซ่านไป เขาจึงเกิดความอยากในรส แม้สัตว์เหล่าอื่นก็พากันถือแบบอย่างสัตว์นั้น จึงใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดู เมื่อสัตว์เหล่านั้นใช้นิ้วช้อนง้วนดินขึ้นมาลิ้มดูอยู่ รสง้วนดินก็แผ่ซ่านไป และสัตว์เหล่านั้นก็เกิดความอยากในรสขึ้นเช่นเดียวกัน

ความปรากฏแห่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ เป็นต้น

             [๑๒๑] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมา สัตว์เหล่านั้นพากันใช้มือปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆ เพื่อจะบริโภค เมื่อใด สัตว์เหล่านั้นพากันใช้มือปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆ เพื่อบริโภค เมื่อนั้น รัศมีที่ซ่านออกจากร่างกายของสัตว์เหล่านั้นก็หายไป เมื่อรัศมีที่ซ่านออกจากร่างกายหายไป ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ก็ปรากฏ เมื่อดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ปรากฏ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ปรากฏ เมื่อดวงดาวนักษัตรทั้งหลายปรากฏ กลางคืน กลางวันก็ปรากฏ เมื่อกลางคืน กลางวันปรากฏ เดือนหนึ่ง ครึ่งเดือนก็ปรากฏ เมื่อเดือนหนึ่ง ครึ่งเดือนปรากฏ ฤดูและปีก็ปรากฏ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ โลกนี้ จึงได้กลับฟื้นขึ้นอีก

             [๑๒๒] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา สัตว์เหล่านั้นเมื่อบริโภคง้วนดิน มีง้วนดินนั้นเป็นภักษา มีง้วนดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เมื่อบริโภคง้วนดิน มีง้วนดินนั้นเป็นภักษา มีง้วนดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายหยาบขึ้น ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏแตกต่างกัน สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม บางพวกมีผิวพรรณทราม สัตว์เหล่าใดมีผิวพรรณงาม สัตว์เหล่านั้นก็ดูหมิ่นสัตว์ที่มีผิวพรรณทรามว่า ‘พวกเรามีผิวพรรณงามกว่าสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นมีผิวพรรณทรามกว่าพวกเรา’ เมื่อสัตว์เหล่านั้นเกิดมีมานะถือตัว เพราะการดูหมิ่นเรื่องผิวพรรณเป็นปัจจัย ง้วนดินจึงหายไป

             เมื่อง้วนดินหายไป สัตว์เหล่านั้นจึงประชุมกัน ครั้นแล้วต่างก็พากันโหยหาว่า ‘รสเอ๋ย รสเอ๋ย (รสเอ๋ย รสเอ๋ย เป็นคำรำพึงรำพันว่า ‘รสอร่อยที่เคยบริโภคหายไปแล้ว’)’ แม้ทุกวันนี้ก็เหมือนกัน พวกมนุษย์ได้ของมีรสดีบางอย่าง มักกล่าวอย่างนี้ว่า ‘รสเอ๋ย รสเอ๋ย’ พวกพราหมณ์พากันนึกได้แต่คำโบราณที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกเท่านั้น แต่ไม่รู้เนื้อความแห่งคำนั้นเลย

ความปรากฏแห่งสะเก็ดดิน

             [๑๒๓] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อง้วนดินของสัตว์เหล่านั้นหายไป สะเก็ดดินก็ปรากฏ สะเก็ดดินนั้นปรากฏลักษณะเหมือนดอกเห็ด สะเก็ดดินนั้นสมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส มีสีเหมือนเนยใสหรือเนยข้นอย่างดี และมีรสอร่อยเหมือนน้ำผึ้งมิ้มซึ่งปราศจากโทษ

             ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นได้พากันบริโภคสะเก็ดดิน เมื่อบริโภคสะเก็ดดินนั้น มีสะเก็ดดินนั้นเป็นภักษา มีสะเก็ดดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เมื่อบริโภคสะเก็ดดิน มีสะเก็ดดินนั้นเป็นภักษา มีสะเก็ดดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายหยาบขึ้น ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏแตกต่างกัน สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม บางพวกมีผิวพรรณทราม สัตว์เหล่าใดมีผิวพรรณงาม สัตว์เหล่านั้นก็ดูหมิ่นสัตว์ที่มีผิวพรรณทรามว่า ‘พวกเรามีผิวพรรณงามกว่าสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นมีผิวพรรณทรามกว่าพวกเรา’ เมื่อสัตว์เหล่านั้นเกิดมีมานะถือตัว เพราะการดูหมิ่นเรื่องผิวพรรณเป็นปัจจัย สะเก็ดดินจึงหายไป

ความปรากฏแห่งเครือดิน

             [๑๒๔] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อสะเก็ดดินหายไป เครือดินก็ปรากฏ เครือดินนั้นปรากฏคล้ายเถาผักบุ้ง เครือดินนั้นสมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส มีสีเหมือนเนยใสหรือเนยข้นอย่างดี และมีรสอร่อยเหมือนน้ำผึ้งมิ้มซึ่งปราศจากโทษ

             ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นได้พากันบริโภคเครือดิน เมื่อบริโภคเครือดินนั้น มีเครือดินนั้นเป็นภักษา มีเครือดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เมื่อบริโภคเครือดิน มีเครือดินนั้นเป็นภักษา มีเครือดินนั้นเป็นอาหาร ดำรงอยู่นานแสนนาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายหยาบขึ้น ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏแตกต่างกัน สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม บางพวกมีผิวพรรณทราม สัตว์เหล่าใดมีผิวพรรณงามสัตว์เหล่านั้นก็ดูหมิ่นสัตว์ที่มีผิวพรรณทรามว่า ‘พวกเรามีผิวพรรณงามกว่าสัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นมีผิวพรรณทรามกว่าพวกเรา’ เมื่อสัตว์เหล่านั้นเกิดมีมานะถือตัว เพราะการดูหมิ่นเรื่องผิวพรรณเป็นปัจจัย เครือดินจึงหายไป

             เมื่อเครือดินหายไป สัตว์เหล่านั้นจึงประชุมกัน ครั้นแล้วต่างพากันโหยหาว่า ‘พวกเราเคยมีเครือดิน บัดนี้เครือดินของพวกเราหายไปแล้ว’ ในสมัยนี้ก็เหมือนกัน พวกมนุษย์ ถูกทุกข์ระทมบางอย่างกระทบเข้าก็พากันบ่นเพ้อว่า ‘เราเคยมีของสิ่งนี้ แต่เดี๋ยวนี้ของของเราหายไปแล้ว’ พวกพราหมณ์พากันนึกได้แต่คำโบราณที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกเท่านั้น แต่ไม่รู้เนื้อความแห่งคำนั้นเลย

ความปรากฏแห่งข้าวสาลีในที่ที่ไม่ต้องไถ

             [๑๒๕] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อเครือดินของสัตว์เหล่านั้นหายไปแล้ว ข้าวสาลีอันผลิผลในที่ที่ไม่ต้องไถ ไม่มีรำ ไม่มีแกลบ บริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสารก็ปรากฏ ที่ที่พวกเขาเก็บเกี่ยวข้าวสาลีไปเพื่อเป็นอาหารเย็นในตอนเย็น ก็กลับมีข้าวสาลีงอกสุกขึ้นได้ในตอนเช้า ที่ที่พวกเขาเก็บเกี่ยวข้าวสาลีไปเพื่อเป็นอาหารเช้าในตอนเช้า ก็กลับมีข้าวสาลีงอกสุกขึ้นได้ในตอนเย็น ความพร่องไม่ปรากฏเลย ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหลายพากันบริโภคข้าวสาลีซึ่งเกิดสุกเองในที่ที่ไม่ต้องไถ มีข้าวสาลีนั้นเป็นภักษา มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน

ความปรากฏแห่งเพศหญิงและเพศชาย

             [๑๒๖] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อสัตว์เหล่านั้นบริโภคข้าวสาลี ซึ่งเกิดสุกเองในที่ที่ไม่ต้องไถ มีข้าวสาลีนั้นเป็นภักษา มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายหยาบขึ้น ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏแตกต่างกัน และอวัยวะเพศหญิงปรากฏแก่ผู้เป็นหญิง อวัยวะเพศชายปรากฏแก่ผู้เป็นชาย กล่าวกันว่า หญิงเพ่งดูชาย และชายก็เพ่งดูหญิงนานเกินไป เมื่อชนทั้ง ๒ เพศต่างเพ่งดูกันและกันนานเกินไป ก็เกิดความกำหนัดขึ้น ความเร่าร้อนก็ปรากฏขึ้นในกาย เพราะความเร่าร้อนเป็นปัจจัย ชนเหล่านั้นจึงได้เสพเมถุนธรรม

             ก็โดยสมัยนั้น สัตว์เหล่าใดเห็นสัตว์เหล่าอื่นกำลังเสพเมถุนกันจึงขว้างฝุ่นใส่บ้าง ขว้างขี้เถ้าใส่บ้าง ขว้างมูลโคใส่บ้าง ด้วยกล่าวว่า ‘คนถ่อย เจ้าจงฉิบหาย คนถ่อย เจ้าจงฉิบหาย’ แล้วกล่าวต่อไปว่า ‘ก็ไฉน สัตว์จึงทำกรรมอย่างนี้แก่สัตว์เล่า’ ข้อที่ว่ามานั้น แม้ในขณะนี้ ในชนบทบางแห่ง เมื่อเขานำสัตว์ที่จะถูกฆ่าไปสู่ที่ประหาร มนุษย์เหล่าอื่นก็จะขว้างฝุ่นใส่บ้าง ขว้างขี้เถ้าใส่บ้าง ขว้างมูลโคใส่บ้าง พวกพราหมณ์พากันนึกได้แต่คำโบราณที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลกเท่านั้น แต่ไม่รู้เนื้อความแห่งคำนั้นเลย

การประพฤติเมถุนธรรม

             [๑๒๗] วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมัยนั้น การเสพเมถุนธรรมอันเป็นเหตุให้ถูกขว้างฝุ่นใส่เป็นต้นนั้น ถือว่าเป็นเรื่องไม่ดี แต่บัดนี้ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา สมัยนั้นเหล่าสัตว์ผู้เสพเมถุนธรรม ไม่ได้เข้าไปยังหมู่บ้านหรือนิคมตลอด ๑ เดือนบ้าง ๒ เดือนบ้าง เนื่องจากสัตว์เหล่านั้นต้องการเสพอสัทธรรมเกินเวลา ต่อมาจึงพากันสร้างเรือนขึ้น เพื่อปกปิดอสัทธรรมนั้น สัตว์ (สัตว์ ในที่นี้หมายถึงมนุษย์ในระยะแรกๆ ที่เปลี่ยนสภาพมาจากเทพ) บางคนเกิดความเกียจคร้าน จึงมีความเห็นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ เรานี้ช่างลำบากเสียจริง ที่ต้องนำข้าวสาลีมาเพื่อเป็นอาหารเย็นในตอนเย็น และเพื่อเป็นอาหารเช้าในตอนเช้า ทางที่ดี เราควรนำข้าวสาลีมาครั้งเดียวให้พอเพื่อเป็นอาหารเช้าและอาหารเย็น’

             ต่อแต่นั้นมา สัตว์นั้นก็นำข้าวสาลีมาเพียงครั้งเดียว เพื่อเป็นอาหารเย็นและอาหารเช้า ครั้งหนึ่ง สัตว์ผู้หนึ่งเข้าไปหาสัตว์นั้นถึงที่อยู่แล้วได้ชักชวนว่า ‘มาเถิดท่านผู้เจริญ พวกเราไปเก็บข้าวสาลีกันเถิด’ สัตว์นั้นจึงตอบว่า ‘อย่าเลย ท่านผู้เจริญ เรานำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารเย็นและอาหารเช้าแล้ว’ ต่อมา สัตว์นั้นจึงถือแบบอย่างสัตว์คนแรก นำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารถึง ๒ วัน ด้วยกล่าวว่า ‘เออ อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันนะท่าน’

             ต่อมา สัตว์อีกผู้หนึ่งจึงเข้าไปหาสัตว์คนที่ ๒ ถึงที่อยู่ กล่าวชวนสัตว์คนนั้นว่า ‘มาเถิดท่านผู้เจริญ พวกเราไปเก็บข้าวสาลีกันเถิด’ สัตว์นั้นจึงตอบว่า ‘อย่าเลยท่านผู้เจริญ เรานำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารถึง ๒ วัน’ ต่อมา สัตว์นั้นจึงถือเอาแบบอย่างสัตว์คนที่ ๒ นำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารถึง ๔ วัน ด้วยกล่าวว่า ‘เออ อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันนะท่าน’

             ต่อมา สัตว์อีกผู้หนึ่งเข้าไปหาสัตว์คนที่ ๓ ถึงที่อยู่ กล่าวชวนสัตว์คนนั้นว่า ‘มาเถิดท่านผู้เจริญ พวกเราไปเก็บข้าวสาลีกันเถิด’ สัตว์นั้นจึงตอบว่า ‘อย่าเลยท่านผู้เจริญ เรานำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารถึง ๔ วัน’ ต่อมา สัตว์นั้นจึงถือแบบอย่างสัตว์คนที่ ๓ นำข้าวสาลีมาครั้งเดียวพอเพื่อเป็นอาหารถึง ๘ วัน ด้วยกล่าวว่า ‘เออ อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันนะท่าน’

             เพราะสัตว์ทั้งหลายพากันบริโภคข้าวสาลีที่สั่งสมไว้ ดังนั้น ข้าวสาลีจึงมีรำห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกขึ้นอีก ความพร่องได้ปรากฏให้เห็น จึงได้มีข้าวสาลีเป็นหย่อมๆ

การแบ่งข้าวสาลี

             [๑๒๘] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นจึงประชุมกัน ครั้นแล้วต่างพากันปรับทุกข์ว่า ‘ท่านผู้เจริญ บาปธรรมก็ปรากฏในสัตว์ทั้งหลายแล้ว ด้วยว่าในกาลก่อน พวกเรานึกคิดอะไรก็สำเร็จได้ตามปรารถนา มีปีติเป็นภักษา มีรัศมีซ่านออกจากร่างกาย เที่ยวสัญจรไปในอากาศ อยู่ในวิมานงดงาม สถิตอยู่นานแสนนาน

             สมัยหนึ่ง เมื่อล่วงไปนานๆ เกิดง้วนดินลอยขึ้นบนน้ำปรากฏแก่พวกเรา ง้วนดินนั้นสมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส พวกเรานั้นได้พากันใช้มือปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆ เพื่อบริโภค เมื่อพวกเราพากันใช้มือปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆ เพื่อบริโภคอยู่ รัศมีที่ซ่านออกจากร่างกายก็หายไป เมื่อรัศมีที่ซ่านออกจากร่างกายหายไป ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ก็ปรากฏ เมื่อดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ปรากฏแล้ว ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ปรากฏ เมื่อดวงดาวนักษัตรทั้งหลายปรากฏแล้ว กลางคืนกลางวันก็ปรากฏ เมื่อกลางคืนกลางวันปรากฏแล้ว เดือนหนึ่ง ครึ่งเดือนก็ปรากฏ เมื่อเดือนหนึ่ง ครึ่งเดือนปรากฏ ฤดูและปีก็ปรากฏ พวกเรานั้นบริโภคง้วนดิน มีง้วนดินเป็นภักษา มีง้วนดินเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เพราะบาปอกุศลธรรมปรากฏ ง้วนดินของพวกเราจึงหายไป เมื่อง้วนดินหายไป สะเก็ดดินก็ปรากฏ สะเก็ดดินนั้นสมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส พวกเรานั้นได้พากันบริโภคสะเก็ดดิน พวกเรานั้นบริโภคสะเก็ดดินนั้น มีสะเก็ดดินนั้นเป็นภักษา มีสะเก็ดดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เพราะบาปอกุศลธรรมปรากฏ สะเก็ดดินของพวกเราจึงหายไป เมื่อสะเก็ดดินหายไป เครือดินก็ปรากฏ เครือดินนั้นสมบูรณ์ด้วยสี สมบูรณ์ด้วยกลิ่น สมบูรณ์ด้วยรส พวกเรานั้นได้พากันบริโภคเครือดิน พวกเรานั้นบริโภคเครือดินนั้น มีเครือดินนั้นเป็นภักษา มีเครือดินนั้นเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เพราะบาปอกุศลธรรมปรากฏ เครือดินของพวกเราจึงหายไป เมื่อเครือดินหายไป ข้าวสาลีอันผลิผลในที่ที่ไม่ต้องไถ ไม่มีรำ ไม่มีแกลบ บริสุทธิ์ มีกลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสารก็ปรากฏ ที่ที่พวกเราเก็บเกี่ยวข้าวสาลีไปเพื่อเป็นอาหารเย็นในตอนเย็น ก็กลับมีข้าวสาลีงอกสุกขึ้นได้ในตอนเช้า ที่ที่พวกเราเก็บเกี่ยวข้าวสาลีไปเพื่อเป็นอาหารเช้าในตอนเช้า ก็กลับมีข้าวสาลีงอกสุกขึ้นได้ในตอนเย็น ความพร่องไม่ปรากฏเลย พวกเรานั้นเมื่อพากันบริโภคข้าวสาลีซึ่งเกิดสุกเองในที่ที่ไม่ต้องไถ มีข้าวสาลีนั้นเป็นภักษา มีข้าวสาลีเป็นอาหาร ได้ดำรงอยู่นานแสนนาน เพราะบาปอกุศลธรรมปรากฏ ข้าวสาลีของพวกเราจึงมีรำห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกขึ้นอีก ความพร่องได้ปรากฏให้เห็นจึงได้มีข้าวสาลีเป็นหย่อมๆ ทางที่ดี เราควรแบ่งข้าวสาลีและปักปันเขตแดนกันเถิด’ ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงพากันแบ่งข้าวสาลีและปักปันเขตแดนกัน

             [๑๒๙] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์ผู้หนึ่งมีนิสัยโลภ รักษาส่วนของตนไว้แล้ว ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ให้มาบริโภค คนทั้งหลายจับเขาได้ จึงกล่าวว่า ‘คุณ คุณทำกรรมชั่วที่รักษาส่วนของตนไว้แล้ว ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ให้มาบริโภค คุณอย่าทำกรรมชั่วอย่างนี้อีก’ สัตว์นั้นก็รับคำแล้ว

             แม้ครั้งที่ ๒ สัตว์นั้น ...

             แม้ครั้งที่ ๓ สัตว์นั้นก็รักษาส่วนของตนไว้แล้ว ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ให้มาบริโภค คนทั้งหลายได้พากันจับเขาแล้ว กล่าวคำนี้ว่า ‘คุณ คุณทำกรรมชั่ว ที่รักษาส่วนของตนไว้แล้ว ถือเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ให้มาบริโภค คุณอย่าได้ทำอย่างนี้อีก’ คนเหล่าอื่น ใช้ฝ่ามือบ้าง ก้อนดินบ้าง ท่อนไม้บ้าง ทำร้าย วาเสฏฐะและภารทวาชะ ในเพราะเรื่องนั้นเป็นเหตุ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จึงปรากฏ การครหาจึงปรากฏ การพูดเท็จจึงปรากฏ การถือทัณฑาวุธจึงปรากฏ

มหาสมมตราช

             [๑๓๐] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงได้ประชุมกันปรับทุกข์กันว่า ‘ท่านผู้เจริญ บาปธรรมปรากฏในหมู่สัตว์แล้ว คือ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จักปรากฏ การครหาจักปรากฏ การพูดเท็จจักปรากฏ การถือทัณฑาวุธจักปรากฏ ทางที่ดี พวกเราควรสมมต(แต่งตั้ง)สัตว์ผู้หนึ่ง ซึ่งจะว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบ พวกเราจักแบ่งปันข้าวสาลีให้แก่สัตว์ผู้นั้น

             ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงเข้าไปหาท่านที่มีรูปงดงามกว่า น่าดูกว่า น่าเลื่อมใสกว่า น่าเกรงขามกว่า แล้วจึงได้กล่าวดังนี้ว่า ‘มาเถิด ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว จงติเตียนผู้ที่ควรติเตียน จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบเถิด และพวกเราจักแบ่งปันข้าวสาลีให้แก่ท่าน’

             สัตว์ผู้นั้นรับคำแล้ว ได้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าว ติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่โดยชอบ และสัตว์เหล่านั้นก็ได้แบ่งปันข้าวสาลีให้แก่สัตว์ผู้นั้น

             [๑๓๑] วาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุที่สัตว์นั้นอันมหาชนสมมต(แต่งตั้ง)ฉะนั้น คำแรกว่า ‘มหาสมมต มหาสมมต’ จึงเกิดขึ้น เพราะเหตุที่สัตว์นั้นเป็นใหญ่แห่งที่นาทั้งหลาย ฉะนั้น คำที่ ๒ ว่า ‘กษัตริย์ กษัตริย์’ จึงเกิดขึ้น เพราะเหตุที่สัตว์นั้นให้ชนเหล่าอื่นยินดีได้โดยชอบธรรม ฉะนั้น คำที่ ๓ ว่า ‘ราชา ราชา’ จึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงได้เกิดมีแวดวง (แวดวง แปลจากคำว่า มณฺฑล ซึ่งอรรถกถาให้ความหมายว่า คณะ(หมู่) เช่น คำว่า พฺราหฺมณคณสฺส แปลว่าหมู่ของพราหมณ์) กษัตริย์นั้นขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์พวกเดียวกันเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ที่มิใช่พวกเดียวกัน มีโดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม ตามคำโบราณที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

แวดวงพราหมณ์

             [๑๓๒] วาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์บางพวกได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ บาปธรรมเกิดขึ้นในหมู่สัตว์แล้ว คือ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้จักปรากฏ การครหาจักปรากฏ การพูดเท็จจักปรากฏ การถือทัณฑาวุธจักปรากฏ การขับไล่จักปรากฏ ทางที่ดี พวกเราควรลอยบาปอกุศลธรรมทิ้งเสียเถิด สัตว์เหล่านั้นจึงได้พากันลอยบาปอกุศลธรรมนั้นทิ้งไป เพราะสัตว์ทั้งหลายพากันลอยบาปอกุศลธรรมทิ้งไป ฉะนั้น คำแรกว่า ‘พราหมณ์ พราหมณ์’ จึงเกิดขึ้น

             พราหมณ์เหล่านั้นจึงสร้างกระท่อมมุงด้วยใบไม้ไว้ในราวป่าแล้ว บำเพ็ญฌานอยู่ในกระท่อมที่มุงด้วยใบไม้นั้น พราหมณ์เหล่านั้นไม่มีการหุงต้ม ไม่มีการตำข้าว พากันเที่ยวไปยังหมู่บ้านตำบลและเมืองแสวงหาอาหาร เพื่อเป็นอาหารเย็นในตอนเย็น เพื่อเป็นอาหารเช้าในตอนเช้า พวกเขาได้อาหารแล้วก็บำเพ็ญฌานอยู่ในกระท่อมมุงด้วยใบไม้ในราวป่านั่นเทียวอีก หมู่มนุษย์พบเขาแล้วจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ สัตว์เหล่านี้สร้างกระท่อมมุงด้วยใบไม้ในราวป่าแล้ว บำเพ็ญฌานอยู่ในกระท่อมที่มุงด้วยใบไม้นั้น พวกเขาไม่มีการหุงต้ม ไม่มีการตำข้าว พากันเที่ยวไปยังหมู่บ้านตำบลและเมืองแสวงหาอาหาร เพื่อเป็นอาหารเย็นในตอนเย็น เพื่อเป็นอาหารเช้าในตอนเช้า พวกเขาได้อาหารแล้วมาบำเพ็ญฌานอยู่ในกระท่อมที่มุงด้วยใบไม้ในราวป่าอีก เพราะพวกเขาบำเพ็ญฌานอยู่ คำที่ ๒ ว่า ‘ฌายกา ฌายกา’ จึงเกิดขึ้น ในจำนวนสัตว์เหล่านั้น สัตว์บางพวก เมื่อไม่บรรลุฌานนั้นในกระท่อมที่มุงด้วยใบไม้ในราวป่า จึงเที่ยวไปยังหมู่บ้านที่ใกล้เคียงกันและนิคมที่ใกล้เคียงกัน พากันทำคัมภีร์อยู่ มนุษย์ทั้งหลายเห็นเขาแล้วจึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ สัตว์เหล่านี้ไม่ได้บรรลุฌานนั้นในกระท่อมที่มุงด้วยใบไม้ในราวป่า จึงเที่ยวไปยังหมู่บ้านที่ใกล้เคียงกันและนิคมที่ใกล้เคียงกัน พากันทำคัมภีร์อยู่ ชนเหล่านี้ไม่บำเพ็ญฌาน’ เพราะชนเหล่านี้ ไม่บำเพ็ญฌาน ในบัดนี้ คำที่ ๓ ว่า ‘อัชฌายกา อัชฌายกา’ จึงเกิดขึ้น สมัยนั้น คำว่า ‘อัชฌายกา’ นั้นถือกันว่าเป็นคำเลว แต่ในสมัยนี้ คำว่า ‘อัชฌายกา’ นั้นถือกันว่าประเสริฐ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงได้เกิดมีแวดวงพราหมณ์นั้นขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์พวกเดียวกันเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ที่มิใช่พวกเดียวกัน มีโดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม ตามคำโบราณที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

แวดวงแพศย์

             [๑๓๓] วาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาสัตว์เหล่านั้น บางพวกยึดมั่นเมถุนธรรม (เมถุนธรรม แปลว่า ธรรมแห่งการดำเนินชีวิตของคนคู่ หมายถึงอสัทธรรมซึ่งเป็นประเวณีของชาวบ้าน มารยาทของคนชั้นต่ำ กิริยาชั่วหยาบ มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่ต้องทำในที่ลับ ต้องทำกันสองต่อสอง) แล้วแยกประกอบการงานที่แตกต่างออกไป (การงานที่แตกต่างออกไป ในที่นี้หมายถึงการงานที่ทำให้มีชื่อเสียงโดดเด่น เช่น โคปกกรรม (การรักษาความปลอดภัย) พาณิชยกรรม (การค้าขาย)) เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านั้นยึดมั่นเมถุนธรรม แล้วแยกประกอบการงานที่แตกต่างออกไป ฉะนั้น คำว่า ‘เวสสา เวสสา’ จึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงได้เกิดมีแวดวงแพศย์นั้นขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์พวกเดียวกันเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ที่มิใช่พวกเดียวกัน มีโดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม ตามคำโบราณที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

แวดวงศูทร

             [๑๓๔] วาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาสัตว์เหล่านั้น สัตว์ที่เหลือประพฤติตนโหดร้าย ทำงานต่ำต้อย เพราะสัตว์เหล่านั้นประพฤติตนโหดร้าย ทำงานที่ต่ำต้อย ฉะนั้น คำว่า ‘ศูทร ศูทร’ จึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงได้เกิดมีแวดวงศูทรนั้นขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์พวกเดียวกันเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ที่มิใช่พวกเดียวกัน มีโดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม ตามคำโบราณที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

             [๑๓๕] วาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยที่กษัตริย์ติเตียนธรรม (ธรรม ในที่นี้หมายถึงอาชีพการงานนั้นๆ) ของตน จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยประสงค์ว่า ‘เราจักเป็นสมณะ’ พราหมณ์ติเตียนธรรมของตนจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยประสงค์ว่า ‘เราจักเป็นสมณะ’ แพศย์ติเตียนธรรมของตนจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยประสงค์ว่า ‘เราจักเป็นสมณะ’ แม้ศูทรก็ติเตียนธรรมของตนจึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยประสงค์ว่า ‘เราจักเป็นสมณะ’ จึงได้เกิดมีแวดวงสมณะจากแวดวงทั้งสี่นี้ขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้นเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์เหล่าอื่น มีแก่สัตว์พวกเดียวกันเท่านั้น ไม่มีแก่สัตว์ที่มิใช่พวกเดียวกัน มีโดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม ตามคำโบราณที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีว่าด้วยต้นกำเนิดของโลก ก็ธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

เรื่องการประพฤติทุจริต เป็นต้น

             [๑๓๖] วาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้กษัตริย์ผู้ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

             แม้พราหมณ์ ...

             แม้แพศย์ ...

             แม้ศูทร ...

             แม้สมณะผู้ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต มีความเห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

             แม้กษัตริย์ผู้ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

             แม้พราหมณ์ ...

             แม้แพศย์ ...

             แม้ศูทร ...

             แม้สมณะผู้ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

             [๑๓๗] วาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้กษัตริย์ผู้ประพฤติทั้งกายทุจริตและกายสุจริต ทั้งวจีทุจริตและวจีสุจริต ทั้งมโนทุจริตและมโนสุจริต ทั้งมีความเห็นผิดและมีความเห็นชอบ ทั้งชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วเขาจะเสวยทั้งสุขและทุกข์

             แม้พราหมณ์ผู้ประพฤติทั้งกายทุจริตและกายสุจริต ทั้งวจีทุจริตและวจีสุจริต ทั้งมโนทุจริตและมโนสุจริต ทั้งมีความเห็นผิดและมีความเห็นชอบ ทั้งชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วเขาจะเสวยทั้งสุขและทุกข์

             แม้แพศย์ผู้ประพฤติทั้งกายทุจริตและกายสุจริต ทั้งวจีทุจริตและวจีสุจริต ทั้งมโนทุจริตและมโนสุจริต ทั้งมีความเห็นผิดและมีความเห็นชอบ ทั้งชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วเขาจะเสวยทั้งสุขและทุกข์

             แม้ศูทรผู้ประพฤติทั้งกายทุจริตและกายสุจริต ทั้งวจีทุจริตและวจีสุจริต ทั้งมโนทุจริตและมโนสุจริต ทั้งมีความเห็นผิดและมีความเห็นชอบ ทั้งชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วเขาจะเสวยทั้งสุขและทุกข์

             แม้สมณะผู้ประพฤติทั้งกายทุจริตและกายสุจริต ทั้งวจีทุจริตและวจีสุจริต ทั้งมโนทุจริตและมโนสุจริต ทั้งมีความเห็นผิดและมีความเห็นชอบ ทั้งชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เพราะการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิดและการชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบเป็นเหตุ หลังจากตายแล้วเขาจะเสวยทั้งสุขและทุกข์

การเจริญโพธิปักขิยธรรม

             [๑๓๘] วาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๗ หมวดแล้ว จะปรินิพพานในโลกนี้ทีเดียว

             แม้พราหมณ์ผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๗ หมวดแล้ว จะปรินิพพานในโลกนี้ทีเดียว

             แม้แพศย์ผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๗ หมวดแล้ว จะปรินิพพานในโลกนี้ทีเดียว

             แม้ศูทรผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๗ หมวดแล้ว จะปรินิพพานในโลกนี้ทีเดียว

             แม้สมณะผู้สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๗ หมวดแล้ว จะปรินิพพานในโลกนี้ทีเดียว

             [๑๓๙] วาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาวรรณะทั้ง ๔ เหล่านี้ ผู้ใดเป็นภิกษุอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้นเรียกได้ว่า เป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลายในวรรณะ ๔ เหล่านั้น โดยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่โดยอธรรม เพราะธรรมเท่านั้นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

             [๑๔๐] วาเสฏฐะและภารทวาชะ สมดังคาถานี้ที่สนังกุมารพรหมกล่าวไว้ว่า

                                       ‘ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่

                          กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด

                          ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

                          จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทพและมนุษย์’

             วาเสฏฐะและภารทวาชะ สนังกุมารพรหมกล่าวคาถานั้นไว้ชอบ ไม่ใช่ไม่ชอบ กล่าวไว้ถูกต้อง ไม่ใช่ไม่ถูกต้อง มีประโยชน์ ไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ เราเห็นด้วยทีเดียว

             แม้เราก็กล่าวอย่างเดียวกันนี้ว่า

                                       ‘ในหมู่ชนที่ถือตระกูลเป็นใหญ่

                          กษัตริย์จัดว่าประเสริฐที่สุด

                          ส่วนท่านผู้เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

                          จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่เทพและมนุษย์’

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว วาเสฏฐสามเณรและภารทวาชสามเณรมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

อัคคัญญสูตรที่ ๔ จบ

----------------------------------------

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนี้ นำมาจากบางส่วนของอรรถกถาอัคคัญญสูตร

อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

อัคคัญญสูตร

                              

  วาเสฏฺฐภารทฺวาชวณฺณนา 

               อัคคัญญสูตร มีคำขึ้นต้นว่า เอวมฺเม สุตํ ดังนี้
               ได้ยินว่า ในอดีตกาลในที่สุดแสนกัลป์ อุบาสิกาคนหนึ่งนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ แล้วถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์แสนหนึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วหมอบลงแทบบาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ได้ตั้งความปรารถนาว่า
               ในอนาคตกาล ดิฉันจงได้เป็นอุปัฏฐากยิกาผู้เลิศของพระพุทธเจ้าผู้เช่นกับพระองค์.
               อุบาสิกานั้นท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลกตลอดแสนกัลป์ แล้วได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางสุมนาเทวีในเรือนของธนญชัยเศรษฐีผู้เป็นบุตรของเมณฑกะเศรษฐี ในภัททิยนคร ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย. ในเวลาที่นางเกิดแล้ว หมู่ญาติได้ตั้งชื่อให้นางว่าวิสาขา.
               นางวิสาขานั้น เมื่อใดที่พระผู้มีพระภาคได้เสด็จไปยังเมืองภัททิยนคร เมื่อนั้นนางไปทำการต้อนรับพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยเด็กหญิงอีก ๕๐๐ คน ในการได้เห็นพระผู้มีพระภาคเพียงครั้งแรกเท่านั้น นางก็ได้เป็นพระโสดาบัน. ในกาลต่อมา นางได้ไปสู่เรือนของปุณณวัฒนกุมารบุตรของมิคารเศรษฐีในเมืองสาวัตถี. มิคารเศรษฐีตั้งนางไว้ในตำแหน่งมารดาในเรือนนั้น. ฉะนั้น เขาจึงเรียกนางว่า มิคารมารดา.
               ก็เมื่อนางไปสู่ตระกูลสามี บิดาให้นายช่างทำเครื่องประดับชื่อว่ามหาลดาประสาธน์. เพชร ๓ ทะนาน แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน แก้วประพาฬ ๒๒ ทะนาน แก้วมณี ๓๓ ทะนานได้ถึงการประกอบเข้าในเครื่องประดับนั้น. เครื่องประดับนั้นได้สำเร็จลงด้วยรัตนะทั้งหลายเหล่านี้ดังกล่าวมานี้และด้วยรัตนะ ๗ สี เหล่าอื่นอีก. เครื่องประดับนั้นสวมบนศีรษะย่อมย้อยคลุมจนจดหลังเท้า. หญิงที่ทรงพลังช้างสาร ๕ เชือกได้เท่านั้น จึงจะสามารถทรงเครื่องประดับนั้นไว้ได้.
               ในกาลต่อมา นางวิสาขานั้นได้เป็นอุปัฏฐายิกาผู้เลิศของพระทสพล นางได้สละเครื่องประดับนั้นแล้ว ให้สร้างวิหารถวายพระผู้มีพระภาคด้วยทรัพย์เก้าโกฏิแล้ว ให้สร้างปราสาทบนภูมิภาคประมาณกรีสหนึ่ง. ปราสาทนั้นประดับด้วยห้องพันห้องอย่างนี้คือ ที่พื้นชั้นบนมี ๕๐๐ ห้อง ที่พื้นชั้นล่างก็มี ๕๐๐ ห้อง. นางคิดว่า ปราสาทล้วนอย่างเดียวย่อมไม่งามดังนี้ จึงให้สร้างเรือน ๒ ชั้น ๕๐๐ หลัง ปราสาทเล็ก ๕๐๐ หลัง ศาลายาว ๕๐๐ หลังแวดล้อมปราสาทนั้น. การฉลองวิหารได้เสร็จสิ้นลงโดยใช้เวลา ๔ เดือน.
               ขึ้นชื่อว่าการบริจาคทรัพย์ไว้ในพระพุทธศาสนาของหญิงอื่น เหมือนการบริจาคของนางวิสาขาผู้ดำรงอยู่ในภาวะความเป็นมาตุคาม หามีไม่.
               การบริจาคทรัพย์ไว้ในพระพุทธศาสนาของชายอื่น เหมือนการบริจาคของอนาถปิณฑิกเศรษฐี ผู้ดำรงอยู่ในความเป็นบุรุษก็หามีไม่. เพราะอนาถปิณฑิกเศรษฐีนั้นสละทรัพย์ ๕๔ โกฏิ แล้วให้สร้างมหาวิหารชื่อว่าเชตวัน ในที่เช่นกับมหาวิหารของเมืองอนุราธบุรีในด้านทิศทักษิณของเมืองสาวัตถี.
               นางวิสาขาให้สร้างวิหารชื่อว่าบุพพารามในที่เช่นกับวิหารของนางอุตตมเทวี ในด้านทิศปราจีนแห่งเมืองสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยประทับอยู่ในเมืองสาวัตถีอยู่ประจำในวิหารทั้ง ๒ นี้ ด้วยความอนุเคราะห์ตระกูลทั้ง ๒ เหล่านี้. ภายในพรรษาหนึ่ง ประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหาร. ภายในพรรษาหนึ่ง ประทับอยู่ในปุพพารามวิหาร.
               ก็ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ปุพพาราม.

               วาเสฏฐสามเณรและภารทวาชสามเณร. สามเณรทั้งสองอยู่ปริวาสอย่างเดียรถีย์ หาอยู่ปริวาสเพื่อพ้นอาบัติไม่. แต่สามเณรเหล่านั้น เพราะมีอายุยังไม่บริบูรณ์ จึงปรารถนาความเป็นภิกษุอยู่. 
               แท้จริง สามเณรแม้ทั้งสองเหล่านั้นเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาลชื่ออุทิจจะ มีทรัพย์สมบัติฝ่ายละ ๔๐ โกฏิ บรรลุถึงฝั่งแห่งไตรเพท ได้ฟังวาเสฏฐสูตรในมัชฌิมนิกายได้ถึงสรณะ ฟังเตวิชชสูตรแล้วได้บรรพชา ในเวลานี้ปรารถนาความเป็นภิกษุจึงอยู่ปริวาส.
               พระผู้มีพระภาคทรงงดงามด้วยพระรัศมีอันมีวรรณะ ๖ ซึ่งแผ่ซ่านออกไปในกลางหาว เปรียบเสมือนทองคำอันมีค่าสูง ๑๑ ศอก ซึ่งบุคคลดึงมาด้วยเชือกยนต์ฉะนี้ เสด็จจงกรมไปๆ มาๆ อยู่ที่เงาของปราสาทในส่วนทิศบูรพาของปราสาทซึ่งติดต่อกันกับทางด้านทิศอุดรและทิศทักษิณ.
               สามเณรทั้งสองประคองอัญชลีน้อมสรีระลงแล้วจงกรมตามพระผู้มีพระภาค.
               วาเสฏฐะและภารทวาชะสามเณรเหล่านั้น วาเสฏฐะสามเณรฉลาดกว่า ย่อมรู้ถึงสิ่งที่ควรยึดถือเอาและสิ่งที่ควรสละ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกวาเสฏฐสามเณรนั้นมา.
               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า พราหมณ์ทั้งหลายย่อมด่า ย่อมบริภาษสามเณรเหล่านี้ดังนี้แท้จึงได้ตรัสถาม ด้วยประการฉะนี้.
               ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถาม.
               ตอบว่า พระองค์ทรงดำริว่า สามเณรเหล่านี้ เราไม่ถามจะไม่พูดขึ้นก่อน เมื่อเราไม่กล่าว ถ้อยคำก็จะไม่เกิดขึ้นดังนี้ ฉะนั้น พระองค์จึงตรัสถามเพื่อให้ถ้อยคำตั้งขึ้น.

              สามเณรเหล่านี้เป็นบุตรของพราหมณ์ผู้เลิศบรรลุถึงฝั่งไตรเพทมีชื่อเสียงปรากฏ ได้รับยกย่องในระหว่างพราหมณ์ทั้งหลายในชมพูทวีป. เพราะข้อที่สามเณรทั้งสองนั้นบวช บุตรของพราหมณ์อื่นเป็นอันมากก็ได้บวชตาม.
               ลำดับนั้น พวกพราหมณ์ทั้งหลายคิดว่า เราทั้งหลายหมดที่พึ่งพาอาศัยดังนี้ เพราะข้อที่ตนเองไม่มีที่พึ่งนี้เอง พบสามเณรเหล่านั้นที่ประตูบ้านก็ดี ภายในบ้านก็ดีจึงกล่าวว่า พวกท่านทำลายลัทธิของพราหมณ์ พวกท่านเป็นผู้ติดในรส จึงท่องเที่ยวตามหลังสมณะโล้นดังนี้เป็นต้น และกล่าวคำเป็นต้นว่า พราหมณ์เท่านั้นมีวรรณะประเสริฐสุด ดังนี้ อันมาในพระบาลีแล้วจึงด่า.
               ถึงแม้เมื่อพราหมณ์เหล่านั้นจะพากันด่า สามเณรทั้งหลายก็ไม่ได้ทำความโกรธหรือความอาฆาต เพราะข้อที่ถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถาม จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์ทั้งหลายย่อมพากันด่าพากันบริภาษพวกข้าพระองค์ดังนี้.
               ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสถามอาการคือการด่า จึงตรัสถามว่า ก็เธอกล่าวว่าอย่างไรดังนี้. สามเณรเหล่านั้นเมื่อจะกราบทูลอาการคือการด่า จึงกราบทูล

               ตอบว่า กล่าวว่า พราหมณ์เท่านั้นเป็นวรรณะประเสริฐที่สุด ฯลฯ เป็นทายาทของพระพรหม.
               ถามว่า ก็ถ้าคำพูดของพราหมณ์เหล่านั้นพึงเป็นคำจริงแล้วไซร้ ท้องของนางพราหมณีพึงเป็นอกของท้าวมหาพรหม ช่องคลอดของนางพราหมณีก็พึงเป็นพระโอษฐ์ของท้าวมหาพรหมละซิ.
               ตอบว่า ก็ข้อนั้นไม่พึงเห็นอย่างนั้น.
               ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระดำรัส ดังนี้.


จตุวณฺณสุทฺธิวณฺณนา               

               พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมุขเฉทกวาทะนี้ด้วยประสงค์ว่า ขอพราหมณ์ทั้งหลายอย่าได้เพื่อกล่าวว่า พวกเราอยู่ในพระอุระออกมาจากพระโอษฐ์ของท้าวมหาพรหมดังนี้ ด้วยพระดำรัสเพียงเท่านี้ เพื่อจะทรงแสดงว่า วรรณะแม้ทั้งสี่ สมาทานประพฤติกุศลธรรมแท้ จึงบริสุทธิ์ได้ดังนี้อีก เพราะบรรดาวรรณะทั้ง ๔ เหล่านี้ วรรณะใดเป็นภิกษุผู้อรหันต์ ฯลฯ พ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ วรรณะนั้นย่อมปรากฏว่าเป็นเลิศกว่าวรรณะทั้งหลาย พราหมณ์เหล่านั้นหาเป็นเช่นนั้นไม่เลย ฉะนั้น บัณฑิตผู้รู้ทั้งหลายจึงไม่รับรองคำพูดของพราหมณ์เหล่านั้น.
               ที่ชื่อว่าอรหันต์ เพราะเหตุมีความที่กิเลสทั้งหลายอยู่ห่างไกล.
               ที่ชื่อว่าขีณาสพ เพราะความที่อาสวะทั้งหลายสิ้นไป.
               พระเสขะ ๗ จำพวกและกัลยาณปุถุชน ชื่อว่าย่อมอยู่ประพฤติพรหมจรรย์.
               ก็ภิกษุนี้ผู้มีธรรมเครื่องอยู่อันอยู่จบแล้ว ฉะนั้น จึงชื่อว่าผู้อยู่แล้ว.
               กิจที่จะพึงกระทำมีการกำหนดรู้ในสัจจะทั้ง ๔ เป็นต้นด้วยมรรค ๔ อันภิกษุนั้นทำแล้ว ฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงชื่อว่ามีกิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว. กิเลสภาระและขันธภาระอันภิกษุนั้นปลงลงแล้ว ฉะนั้น เธอจึงชื่อว่าปลงภาระได้แล้ว.
               ประโยชน์อันดี หรือประโยชน์อันเป็นของตน ฉะนั้น จึงชื่อว่าประโยชน์ตน. ประโยชน์ของตนอันภิกษุนั้นตามบรรลุได้แล้ว ฉะนั้น เธอจึงชื่อว่าตามบรรลุประโยชน์ตนแล้ว. ตัณหา ท่านเรียกว่าสังโยชน์เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพ. ตัณหานั้นของภิกษุนั้นสิ้นแล้ว ฉะนั้น เธอจึงชื่อว่ามีสังโยชน์เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพสิ้นแล้ว.
               ก็พระโสดาบันนั้นมีศรัทธาตั้งมั่น แม้เมื่อจะถูกเขาเอาดาบตัดศีรษะ ก็ยังไม่กล่าวว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้าดังนี้บ้าง พระธรรมไม่ใช่พระธรรมดังนี้บ้าง พระสงฆ์ไม่เป็นพระสงฆ์ดังนี้บ้าง. พระโสดาบันย่อมเป็นผู้มีศรัทธาดำรงมั่นแท้ เปรียบเสมือนสูรอัมพัฏฐอุบาสกฉะนั้น.
               นัยว่า อุบาสกนั้นฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว เป็นพระโสดาบันได้กลับไปเรือน. ทีนั้น มารเนรมิตพระพุทธรูปอันประดับด้วยลักษณะอันประเสริฐ ๓๒ ประการ ยืนอยู่ที่ประตูเรือนของอุบาสกนั้น แล้วส่งสาส์นไปว่า พระศาสดาเสด็จมาดังนี้.
               สูรอุบาสกคิดว่า เราฟังธรรมในสำนักของพระศาสดามาเดี๋ยวนี้เอง อะไรจักมีอีกหนอดังนี้แล้ว เข้าไปหาไหว้ด้วยสำคัญว่าเป็นพระศาสดา แล้วจึงได้ยืนอยู่.
               มารกล่าวว่า อัมพัฏฐะ คำใดที่เรากล่าวแก่ท่านว่า รูปไม่เที่ยง ฯลฯ วิญญาณไม่เที่ยงดังนี้ คำนั้นเรากล่าวผิดไป เพราะเรายังไม่พิจารณาจึงกล่าวคำนั้นไป ฉะนั้นเธอจงถือเอาว่า รูปเที่ยง ฯลฯ วิญญาณเที่ยงดังนี้เถิด.
               สูรอุบาสกคิดว่า ข้อที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่พิจารณา ไม่ทำการตรวจตราอย่างประจักษ์แล้ว พึงตรัสอะไรไป นั้นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ มารนี้มาเพื่อมุ่งทำลายเราอย่างแน่นอน.
               ลำดับนั้น สูรอุบาสกจึงกล่าวกะมารนั้นว่า ท่านเป็นมารใช่ไหม ดังนี้. มารนั้นไม่อาจที่จะกล่าวมุสาวาทได้ จึงรับว่า ใช่เราเป็นมาร ดังนี้. อุบาสกถามว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงมา. มารตอบว่า เรามาเพื่อทำศรัทธาของท่านให้หวั่นไหว.
               อุบาสกกล่าวว่า ดูก่อนมารผู้ใจบาปอำมหิต ท่านผู้เดียวนั้นจงหยุดอยู่ก่อน พวกมารเช่นท่าน ร้อยก็ดี พันก็ดี แสนก็ดี ไม่สามารถจะทำศรัทธาของเราให้หวั่นไหวได้ ชื่อว่าศรัทธาอันมาแล้วด้วยมรรค เป็นของมั่นคงไม่หวั่นไหวเหมือนภูเขาสิเนรุซึ่งตั้งอยู่บนแผ่นดินอันล้วนแล้วด้วยศิลา ท่านจะทำอะไรในการมานี้ ดังนี้แล้วปรบมือขึ้น.
               มารนั้น เมื่อไม่สามารถจะดำรงอยู่ได้ จึงหายไปในที่นั้นนั่นเอง.
               ความจริง พระอริยสาวกนั้นอาศัยพระผู้มีพระภาคจึงเกิดขึ้นในภูมิของพระอริยะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นบุตรของพระผู้มีพระภาค และชื่อว่าเป็นโอรสเกิดแต่พระโอษฐ์ เพราะอยู่ในอกแล้วดำรงอยู่ในมรรคและผลด้วยอำนาจการกล่าวธรรมอันออกมาจากพระโอษฐ์ ชื่อว่าเกิดแต่ธรรม เพราะเกิดจากอริยธรรม และชื่อว่าอันธรรมเนรมิตขึ้น เพราะถูกอริยนิรมิตขึ้น. ชื่อว่าธรรมทายาท เพราะควรรับมรดก คือนวโลกุตตรธรรม.
               ในบาลีประเทศนั้น คำว่า ธมฺมกาโย อิติปิ ความว่า เพราะเหตุไร พระตถาคตจึงได้รับขนานนามว่า ธรรมกาย. เพราะพระตถาคตทรงคิดพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎกด้วยพระหทัยแล้ว ทรงนำออกแสดงด้วยพระวาจา. ด้วยเหตุนั้น พระวรกายของพระผู้มีพระภาคจึงจัดเป็นธรรมแท้เพราะสำเร็จด้วยธรรม. พระธรรมเป็นกายของพระผู้มีพระภาคนั้นดังพรรณนามานี้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่าธรรมกาย. ชื่อว่าพรหมกาย เพราะมีธรรมเป็นกายนั่นเอง แท้จริง พระธรรมท่านเรียกว่าพรหม เพราะเป็นของประเสริฐ.
               บทว่า ธมฺมภูโต ได้แก่ สภาวธรรม. ชื่อว่า พรหมภูต เพราะเป็นผู้เกิดจากพระธรรมนั่นเอง.
               
รสปฐวิปาตุภาววณฺณนา               

               ความว่า จักรวาฬทั้งหมดเป็นที่ที่มีน้ำเหมือนกัน. 
               คือมีความมืดมิดด้วยการห้ามการบังเกิดขึ้นแห่งจักษุวิญญาณ.
               ก็สีของง้วนดินนั้นได้เป็นเหมือนดอกกรรณิการ์.
               ถึงพร้อมด้วยกลิ่น คือกลิ่นอันเป็นทิพย์ย่อมฟุ้งไป.
               ถึงพร้อมด้วยรส เหมือนใส่โอชาทิพย์ลงไปฉะนั้น.
               สีก็ดี กลิ่นก็ดี ของง้วนดินนั้นน่าชอบใจ แต่รสของง้วนดินนั้นจักเป็นอย่างไรหนอ. ผู้ที่เกิดความโลภในง้วนดินนั้นก็เอานิ้วมือจับง้วนดินนั้นมาชิมดู ครั้นเอามือจับแล้วก็เอามาไว้ที่ลิ้น.
               ง้วนดินนั้นพอเขาเอามาวางไว้ที่ปลายลิ้นก็แผ่ซ่านไปทั่ว เส้นเอ็นรับรสอาหาร ๗,๐๐๐ เส้นเป็นของน่าชอบใจตั้งอยู่.
               ก็ความอยากในรสในง้วนดินนั้นก็เกิดขึ้นแก่สัตว์ผู้มีความโลภนั้น.
               เขาปั้นเป็นคำ คือแบ่งออกเป็นก้อนแล้วเริ่มที่จะบริโภค.


จนฺทิมสุริยาทิปาตุภาววณฺณนา               

               พระจันทร์และพระอาทิตย์ ปรากฏขึ้น.
               ก็บรรดาพระจันทร์และพระอาทิตย์นั้นอย่างไหนปรากฏก่อน ใครอยู่ในที่ไหน ประมาณของใครเป็นอย่างไร ใครอยู่สูง ใครหมุนเร็ว วิถีทางของพระจันทร์และพระอาทิตย์นั้นเป็นอย่างไร เที่ยวไปได้อย่างไร ทำแสงสว่างในที่มีประมาณเท่าใด.
               พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสองไม่ปรากฏพร้อมกัน. พระอาทิตย์ปรากฏขึ้นก่อน.
               ก็เมื่อรัศมีเฉพาะตัวของสัตว์เหล่านั้นได้หายไป ความมืดมนจึงได้มีขึ้น. สัตว์เหล่านั้นทั้งกลัวทั้งสะดุ้งคิดกันว่าคงจะดีหนอ ถ้าแสงสว่างปรากฏขึ้นมาดังนี้ ต่อแต่นั้นดวงอาทิตย์อันให้ความกล้าเกิดขึ้นแก่มหาชนก็ได้ตั้งขึ้น. ด้วยเหตุนั้น ดวงอาทิตย์นั้นจึงได้นามว่า สุริโย ดังนี้.
               เมื่อดวงอาทิตย์นั้นทำแสงสว่างตลอดวันแล้วอัสดงคตไป ความมืดมนก็กลับมีขึ้นอีก. สัตว์เหล่านั้นพากันคิดว่า คงจะเป็นการดีหนอ ถ้าหากว่าพึงมีแสงสว่างอย่างอื่นเกิดขึ้นดังนี้. ทีนั้นดวงจันทร์รู้ความพอใจของสัตว์เหล่านั้นจึงเกิดขึ้นมา. ด้วยเหตุนั้นนั่นแล ดวงจันทร์จึงได้นามว่า จนฺโท ดังนี้.
               บรรดาดวงจันทร์และดวงอาทิตย์นั้น ดวงจันทร์อยู่ในวิมานภายในล้วน แล้วด้วยแก้วมณี วิมานภายนอกล้วนแล้วด้วยเงินทั้งภายในและภายนอกนั้นเย็นแท้. ดวงอาทิตย์อยู่ในวิมาน ภายในล้วนแล้วด้วยทอง วิมานภายนอกล้วนแล้วด้วยแก้วผลึก. ทั้งภายในและภายนอกร้อนจัด.
               ว่าโดยประมาณ ดวงจันทร์มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔๙ โยชน์ เส้นรอบวงยาว ๒๕๐ โยชน์. ดวงอาทิตย์มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๐ โยชน์ เส้นรอบวงยาว ๒๕๐ โยชน์.
               ดวงจันทร์อยู่ข้างล่าง พระอาทิตย์อยู่ข้างบน. ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์นั้นอยู่ห่างกันโยชน์หนึ่ง. จากส่วนล่างของพระจันทร์ถึงส่วนบนของดวงอาทิตย์ มีระยะ ๑๐๐ โยชน์.
               ดวงจันทร์หมุนไปทางด้านตรงช้า แต่หมุนไปทางด้านขวางเร็วหมู่ ดาวนักษัตรก็หมุนไปในสองด้าน ดวงจันทร์หมุนไปใกล้หมู่ดาวนั้นๆ เหมือนแม่โคเข้าไปหาลูกโคฉะนั้น. ส่วนหมู่ดาวไม่ทิ้งที่อยู่ของตนเลย. การหมุนไปของดวงอาทิตย์ทางตรงเร็ว ไปทางขวางช้า. ดวงอาทิตย์นี้โคจรห่างดวงจันทร์แสนโยชน์ ในวันปาฏิบทจากวันอุโบสถกาฬปักษ์. เวลานั้นดวงจันทร์ปรากฏเหมือนรอยเขียนฉะนั้น. ดวงอาทิตย์โคจรห่างไปเป็นระยะแสนโยชน์ในปักษ์ที่ ๒ ดวงอาทิตย์ได้โคจรห่างไป ดังที่กล่าวแล้วนี้ เป็นระยะแสนๆ โยชน์จนถึงวันอุโบสถ. ลำดับนั้นดวงจันทร์ก็ใหญ่ขึ้นโดยลำดับ ไปเต็มดวงในวันอุโบสถ. โคจรห่างออกไปแสนโยชน์ในวันปาฏิบทอีก. โคจรห่างออกไปเป็นระยะแสนโยชน์ ในปักษ์ที่ ๒ ดวงอาทิตย์โคจรห่างไปดังกล่าวแล้วนี้เป็นระยะแสนๆ โยชน์จนถึงวันอุโบสถ. ทีนั้นดวงจันทร์อับแสงลงโดยลำดับแล้วไม่ปรากฏทั้งดวงในวันอุโบสถ. ดวงอาทิตย์ลอยอยู่เบื้องบนให้ดวงจันทร์อยู่เบื้องล่างย่อมปกปิดดวงจันทร์ไว้ได้เหมือนภาชนะเล็กถูกถาดใหญ่ปิดไว้ฉะนั้น. เงาของดวงจันทร์ไม่ปรากฏเหมือนเงาเรือนไม่ปรากฏในเวลาเที่ยง. ดวงอาทิตย์นั้นเมื่อเงาไม่ปรากฏ แม้ตัวเองก็ไม่ปรากฏ เหมือนประทีปในกลางวันไม่ปรากฏแก่หมู่ชนผู้ยืนอยู่ไกลฉะนั้น.
               ก็พึงทราบวินิจฉัยใน คำว่าวิถีของดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์เป็นอย่างไร
               ต่อไปนี้วิถีมีดังนี้คือวิถีแพะ วิถีช้าง วิถีของโค.
               บรรดาวิถีเหล่านั้น น้ำเป็นของปฏิกูลสำหรับแพะทั้งหลาย แต่น้ำนั้นเป็นที่ชอบใจของช้างทั้งหลาย เป็นที่ผาสุกของฝูงโค เพราะมีความเย็นและความร้อนเสมอกัน. ฉะนั้น ในเวลาใด ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นสู่วิถีของแพะ เวลานั้น ฝนไม่ตกเลยแม้สักเม็ดเดียว เมื่อใดดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นสู่วิถีของช้าง เมื่อนั้นฝนจะตกแรงเหมือนท้องฟ้ารั่ว. เมื่อใดดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นสู่วิถีของโค เมื่อนั้นความสม่ำเสมอของฤดูก็ย่อมถึงพร้อม.
               ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ย่อมเคลื่อนอยู่ภายนอกภูเขาสิเนรุเป็นเวลา ๖ เดือน และโคจรอยู่ภายในอีก ๖ เดือน. ความจริง ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์นั้นย่อมโคจรไปใกล้ภูเขาสิเนรุในเดือน ๘. แต่นั้นเคลื่อนออกไปโคจรอยู่ในภายนอก ๒ เดือนแล้ว เคลื่อนไปอยู่โดยท่ามกลางในต้นเดือน ๑๒. แต่นั้นเคลื่อนมุ่งหน้าต่อจักรวาฬแล้วโคจรอยู่ใกล้ๆ จักรวาฬเป็นเวลา ๓ เดือน แล้วเคลื่อนออกห่างมาอีก ไปอยู่ตรงกลางจักรวาฬในเดือน ๕ ต่อแต่นั้นในเดือนอื่นก็เคลื่อนมุ่งหน้าต่อภูเขาสิเนรุ แล้วไปโคจรอยู่ใกล้ๆ ภูเขาสิเนรุในเดือน ๘ อีก.
               พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ทำแสงสว่างในที่นี้ประมาณเท่าใด ดังนี้ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ย่อมทำแสงสว่างในทวีปทั้ง ๓ โดยพร้อมกัน.
               กระทำได้อย่างไร.
               ก็เวลาพระอาทิตย์ขึ้นในทวีปนี้ เป็นเวลาเที่ยงในปุพพวิเทหทวีป เวลาที่พระอาทิตย์ตกในอุตตรกุรุทวีป เป็นมัชฌิมยามในอมรโคยานทวีป.
               เวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นในปุพพวิเทหทวีป เป็นเวลาเที่ยงในอุตตรกุรุทวีป เวลาที่พระอาทิตย์ตกในอมรโคยานทวีป เป็นมัชฌิมยามในทวีปนี้. เวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นในอุตตรกุรุทวีป เป็นเวลาเที่ยงในอมรโคยานทวีป เวลาที่พระอาทิตย์ตกในทวีปนี้ เป็นเวลามัชฌิมยามในปุพพวิเทหทวีป. เวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นในอมรโคยานทวีป เป็นเวลาเที่ยงในทวีปนี้ เวลาที่พระอาทิตย์ตกในบุพพวิเทหทวีปเป็นเวลามัชฌิมยามในอุตตรกุรุทวีป ฉะนี้แล.
               ดาวนักษัตรมีดาวฤกษ์เป็นต้น และหมู่ดาวทั้งหลายที่เหลือ ย่อมปรากฏพร้อมกับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์.
               ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงอรุณขึ้น เป็นเวลากลางคืน ตั้งแต่เวลาอรุณขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตกจัดเป็นเวลากลางวัน กลางคืนและกลางวันย่อมปรากฏอย่างว่ามานี้. ต่อแต่นั้น ๑๕ ราตรี จัดเป็นกึ่งเดือน ๒ กึ่งเดือนเป็นเดือน กึ่งเดือนและเดือนหนึ่งปรากฏอย่างว่ามานี้. ทีนั้น ๔ เดือนจัดเป็น ๑ ฤดู ๓ ฤดูเป็น ๑ ปี ทั้งฤดูและปีจึงปรากฏอย่างว่ามานี้.
               เพราะการถือตัวจัดซึ่งเกิดขึ้นเพราะปรารภวรรณะของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นเป็นปัจจัย. ผู้มีมานะและอติมานะเกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นสภาพ.
               แผ่นดินอันได้นามว่า รส เพราะสมบูรณ์ด้วยรส. 


ภูมิปปฺปฏกปาตุภาวาทิวณฺณนา               

               ได้เป็นเช่นนี้ตั้งขึ้น และได้ตั้งขึ้นเหมือนพื้นเปือกตมอันแห้งเกิดขึ้น ในเมื่อน้ำภายในสระแห้งไปฉะนั้น. เครืออันเจริญมีรสหวานอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเครือดิน.
               เครือดินมีรสหวานได้มีแก่เราทั้งหลายแล้วหนอ.
               เครือดินนั้นของพวกเราได้หายไปแล้วในบัดนี้.


อกฏฺฐปากสาลิปาตุภาววณฺณนา               

               ข้าวสาลีเกิดขึ้นในภูมิภาคซึ่งไม่ได้ไถเลย.ไม่มีรำเจือปน. ไม่มีแกลบ.
               กลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งขจายไป.
               ย่อมเมล็ดผลเป็นเมล็ดข้าวสารขาวบริสุทธิ์.
               ที่ที่เขาเก็บในเวลาเย็นก็ได้สุกแทนในตอนเช้า งอกงามขึ้นตามปกติอีก ที่ที่เขาเก็บไปหาปรากฏไม่.
               ย่อมปรากฏเป็นพืชที่ไม่ถูกเก็บเกี่ยวไม่มีบกพร่องเลย.


ยุตฺถีปุริสลิงฺคปาตุภาววณฺณนา                

               เพศหญิงของหญิงในเวลาเป็นมนุษย์ในชาติก่อนๆ ก็ปรากฏ เพศชายของชายในกาลก่อนๆ นั้นก็ปรากฏ. ความจริง มาตุคามเมื่อต้องการได้ความเป็นบุรุษก็พยายามบำเพ็ญธรรมอันเป็นปัจจัยแห่งความเป็นบุรุษโดยลำดับก็ย่อมสำเร็จได้. บุรุษเมื่อต้องการเป็นหญิงก็ประพฤติการเมสุมิจฉาจาร ย่อมสำเร็จได้. ก็ในเวลานั้น ตามปกติเพศหญิงย่อมปรากฏขึ้นแก่มาตุคาม เพศชายก็ปรากฏขึ้นแก่บุรุษ.
               เพ่งอยู่คือแลดูอยู่. ความเร่าร้อนด้วยอำนาจราคะ. นำออกไป.
               การโปรยฝุ่นเป็นต้นนั้นสมมุติกันว่าไม่เป็นธรรม.
               แต่ในบัดนี้ การโปรยฝุ่นเป็นต้นนี้สมมุติกันว่าเป็นธรรม. พวกพราหมณ์ทั้งหลายพากันถือเอาการโปรยฝุ่นเป็นต้นนั้นว่าเป็นธรรม เที่ยวไป.
               จริงอย่างนั้น ในชนบทบางแห่ง พวกหญิงทั้งหลายทะเลาะกันย่อมกล่าวว่า เพราะเหตุไร เธอจึงกล่าว ท่านจักไม่ได้อะไรแม้เพียงก่อนโคมัยสด.
               พวกเราจะตั้งเขตแบ่งกัน.               


มหาสมฺมตราชวณฺณนา               

               พึงประกาศบอกบุคคลผู้ควรประกาศ คือติเตียนบุคคลที่ควรติเตียน ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่.
               ถามว่า ก็สัตว์นั้นเป็นใคร.
               ตอบว่า คือพระโพธิสัตว์ของเราทั้งหลาย.
               เราจักนำข้าวสาลีมาจากไร่ของแต่ละคนๆ ละทะนาน แล้วจะให้ส่วนข้าวสาลีแก่ท่าน ท่านไม่ต้องทำงานอะไร ขอท่านจงตั้งอยู่ในฐานะเป็นหัวหน้าของเราทั้งหลายเถิด.
               แต่พวกสัตว์เหล่านั้นยังได้ทำการอภิเษกบุคคลนั้น ด้วยการยกย่องถึง ๓ ครั้ง แปลว่า ย่อมยังผู้อื่นให้มีความสุขเอิบอิ่ม.               


พฺราหฺมณมณฺฑลาทิวณฺณนา               

               แสวงหายาคูและภัตด้วยอำนาจภิกขาจาร.

               ดูก่อนวาเสฏฐะ โดยสมัยนั้น คำว่าหมู่พราหมณ์ย่อมทรงจำมนต์ย่อมบอกมนต์ดังนี้ เป็นคำสมมติว่าต่ำช้า
               บัดนี้คำว่า พราหมณ์ทั้งหลายย่อมทรงจำมนต์มีประมาณเท่านี้ ย่อมบอกกล่าวมนต์มีประมาณเท่านี้ เป็นคำสมมติว่าประเสริฐ.
               หมู่สัตว์ต่างพากันประกอบการงานที่มีชื่อเสียง คือได้รับยกย่องมีการเลี้ยงโคและการค้าขายเป็นต้น.
               พวกศูทรไปอย่างน่ารังเกียจ คือเสื่อมเร็วๆ เพราะการงานที่ประพฤติต่ำ และการงานที่ประพฤติเล็กน้อยนั้น.

     พระผู้มีพระภาคย่อมทรงแสดงคำนี้ว่า เหล่าสมณะย่อมไม่มีการแบ่งแยก. แต่เพราะใครๆ ไม่อาจจะบริสุทธิ์ด้วยชาติได้ ความบริสุทธิ์จะมีได้ก็ด้วยการปฏิบัติชอบของตนเอง ฉะนั้น การบังเกิดของพระสมณะจึงเกิดมีขึ้นได้ด้วยหมู่ทั้ง ๔ เหล่านี้
               หมู่ทั้งหลายเหล่านี้ย่อมอนุวัตตามหมู่สมณะ และหมู่ที่อนุวัตตามเหล่านั้นก็ย่อมอนุวัตตามธรรมเท่านั้น หาอนุวัตตามอธรรมไม่ ความจริง เหล่าสัตว์ทั้งหลายอาศัยหมู่สมณะบำเพ็ญสัมมาปฏิบัติ ย่อมถึงความบริสุทธิ์ได้ดังนี้.


ทุจฺจริตาทิกถาวณฺณนา               

               บัดนี้ พระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงทำข้อความนั้นว่า ใครๆ ไม่อาจที่จะบริสุทธิ์ตามชาติได้ แต่เหล่าสัตว์จะบริสุทธิ์ได้ก็ด้วยการประพฤติชอบเท่านั้นดังนี้อย่างชัดเจน

               ธรรมดาว่าสถานที่ที่ให้ผลพร้อมกันทั้งสองฝ่ายในเวลาพร้อมกัน หามีไม่. ก็ผู้ใดได้ทำอกุศลกรรมไว้มาก ทำกุศลกรรมไว้น้อย เขาอาศัยกุศลกรรมนั้นไปบังเกิดในตระกูลกษัตริย์หรือตระกูลพราหมณ์. ทีนั้น อกุศลกรรมนั้นย่อมทำเขาให้เป็นผู้บอดบ้าง ผู้ง่อยบ้าง ผู้เปลี้ยบ้าง เขาย่อมไม่ควรแก่ราชสมบัติ หรือเขาเป็นอย่างนี้แล้วในเวลาที่ได้รับการอภิเษกแล้วก็ไม่อาจที่จะใช้สอยโภคทรัพย์สมบัติได้.
               ต่อมาในเวลาตายของเขาทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งสองนั้น ก็ปรากฏเหมือนนักมวยปล้ำที่มีกำลังมาก ๒ คน.
               บรรดากรรมทั้งสองนั้นอกุศลกรรมมีกำลังมากกว่าจึงห้ามกุศลกรรมไว้เสียแล้วให้สัตว์นั้นบังเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน. ฝ่ายกุศลกรรมเป็นกรรมที่สัตว์จะต้องเสวยในปวัตติกาล. กุศลกรรมนั้นย่อมสร้างช้างมงคลบ้าง ม้ามงคลบ้าง โคมงคลบ้าง เขาย่อมได้เสวยสมบัตินั้น.

โพธิปกฺขิยธมฺมภาวนาวณฺณนา               

               โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการซึ่งแบ่งเป็น ๗ หมวดตามลำดับด้วยอำนาจส่วนธรรมข้อต้นว่า สติปัฏฐาน ๔.
               พระผู้มีพระภาคทรงแสดงวรรณะ ๔ ดังพรรณนามาฉะนี้แล้ว กลับมาแสดงยกเอาพระขีณาสพผู้บรรลุสัจจะทั้ง ๔ ได้แล้วว่า เป็นผู้ประเสริฐในหมู่เทวดาและมนุษย์.
               บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนั้นทำให้มั่น ตามทำนองการแสดงถ้อยคำแม้ของพรหมซึ่งโลกยกย่อง

               พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงวาทะอันเป็นเครื่องทำลายความเป็นผู้ประเสริฐด้วยกถามรรคนี้เพียงเท่านี้ ด้วยประการฉะนี้ แล้วทรงหันกลับมาทรงแสดงเทศนาให้จบลงด้วยธรรมอันเป็นยอดคือพระอรหัตต์.
               ก็วาเสฏฐะและภารทวาชะสามเณรพากันชื่นชมยินดี ได้ชมเชยภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า สาธุ สาธุ ดังนี้.
               สามเณรทั้งสองนั้นกำลังน้อมระลึกถึงรู้ตามพระสูตรนี้นั่นเอง ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทาทั้งหลายฉะนี้แล.


               จบอรรถกถาอัคคัญญสูตรที่ ๔               
               -----------------------------------------------------            

 

หมายเลขบันทึก: 712083เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2023 09:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2023 11:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท