ชีวิตที่พอเพียง 4425. PMAC 2023 – Global Health in the Nexus of Climate Change, Biodiversity Loss and Pollution 8. Day 3


 

๒๙ มกราคม ๒๕๖๖   

การประชุมเริ่ม ๘.๓๐ น.  จบ ๑๖ น. เศษๆ ด้วยพิธีปิดที่ใช้พลังของศิลปะการแสดง และการมีส่วนร่วมของผู้เข้าประชุม   ขอย้ำว่า บันทึกนี้ สะท้อนคิดจากประสบการณ์ตรงของผม ที่ได้เข้าฟังเรื่องนั้นๆ       

การเคลื่อนไหวทางการเมืองและทางสังคม    วิทยากรจากแคนาดา  สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร  โคโลมเบีย  และโบลิเวีย เล่าเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองและทางสังคมหลากหลายแบบ    ทั้งจากมุมมองของนักวิชาการ  นักบริหาร  และนักเคลื่อนไหวทางสังคม  ด้วยวิธีการที่แตกต่างหลากหลาย   ทั้งด้วยข้อมูลหลักฐาน และด้วยอารมณ์หรือเครื่องมือกระตุ้นอารมณ์  เพื่อกระตุกความคิดคนออกจากความเคยชินเดิมๆ    เพื่อให้ตระหนักในภัยร้ายแรงที่กำลังเผชิญโดยไม่รู้ตัว     

การเคลื่อนไหวทางการเมือง    มักเป็นการเรียกร้อง แกมต่อต้าน ผู้ปกครองประเทศ    มีภาพของการต่อต้านอำนาจรัฐ    

ทาง PHM (People Health Movement) ระดมนักเคลื่อนไหวสังคมมาร่วมประชุม   ก่อสีสันและความร้อนในที่ประชุมตั้งแต่วันแรก    ในห้อง PS 1.3 Transformation of Fossil Fuel and Health (Energy and Health) ที่มีผู้บริหารระดับกลางจาก ปตท. มาเป็นวิทยากร   นักเคลื่อนไหวลุกขึ้นกล่าวประณามอุตสาหกรรมพลังงานที่ใช้พลังงานฟอสซิล    และเสนอให้โหวดว่าการประชุม PMAC ควรเชิญคนจากอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลเข้าร่วมหรือไม่     เท่ากับเขามาใช้เวที PMAC เป็นที่เคลื่อนไหว     และได้ข่าวว่าจะเคลื่อนไหวอีกตอนพิธีปิด    ทีมผู้ใหญ่ของ PMAC ต้องออกแรงเจรจา     จนการประชุมผ่านไปด้วยดี

เป็นข้อเรียนรู้ที่ดีมาก สำหรับเตรียมการประชุมปีหน้า เรื่อง Geopolitics and Health    ที่เป็นประเด็นซับซ้อนและอ่อนไหวยิ่งกว่าเรื่อง Climate Change   ที่ต้องหาทางนำการดำเนินการเชิงสร้างสรรค์ หรือเชิงบวกมานำเสนอให้มาก   

หาก PMAC จะคบนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและทางสังคม ก็ต้องทำความรู้จักและเข้าใจแก่นแท้ของเขา   และทำความเข้าใจว่า PMAC ไม่ใช่เวทีแสดงความเกลียดชังหรือต่อต้านฝ่ายใด   แต่เป็นเวทีรับฟังและทำความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียม และใช้ข้อมูลหลักฐาน       

สิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพ   การบรรยายของ David Boyd, UN Special rapporteur on human rights and the environment, Canada  ให้มุมมองและหลักการดีมาก    เป็นการมองว่า การมีสุขภาพดี (health) เป็นสิทธิของมนุษย์   และการที่จะมีชีวิตอย่างมีความหวัง (hope) ก็เป็นสิทธิของมนุษย์    ที่ผมอดเถียงไม่ได้ว่า เมื่อไรก็ตามที่พูดเรื่องสิทธิ ต้องนำเรื่องความรับผิดชอบ ขึ้นมาคู่ทันที    มนุษย์เราต้องไม่เพียงเรียกร้องสิทธิ (เอา)    ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (ให้ หรือเสียสละ) ควบคู่ไปด้วย     

ตอนเรียกร้องสิทธิ เป็นการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ   ตอนแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมของตนเองเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับบุคคล   การเปลี่ยนแปลงทั้งสองระดับต้องเสริมพลังซึ่งกันและกัน         

ลดมลภาวะที่เกิดจากบริการสุขภาพ     ทุกระบบ ทุกพฤติกรรมมนุษย์ มีผลบวกหรือผลลบต่อ planetary health ทั้งสิ้น   การนำเอามาตรการต่างๆ ที่ช่วยลดมลภาวะ และลดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก จากอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ จึงมีประโยชน์มาก 

เริ่มจาก Side Meeting ไปเยี่ยมชม Chula Zero Waste Project ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    ที่เป็นตัวอย่างเล็กๆ ในระดับองค์กร    และใน PS 3.5 How Do We Reduce the Impact of Healthcare on the Environment?   เขาบอกว่า อุตสาหกรรมบริการสุขภาพก่อก๊าซเรือนกระจกร้อยละ ๕    จึงถือได้ว่า เป็นกิจกรรมที่สร้างมลภาวะสูงสุดอย่างหนึ่ง    ใน PS 3.5 มีการนำเสนอตัวอย่างกิจกรรมที่โรงพยาบาลดำเนินการเพื่อลด waste   ลดมลภาวะ หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก   

สังเคราะห์สาระของการประชุม    มี นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ทำหน้าที่ Lead Rapporteur    บอกภาพรวมของการประชุม ดังต่อไปนี้

Graphical user interface, tableDescription automatically generated

มีการนำเสนอข้อมูลหลักฐานชัดเจนว่า กิจกรรมของมนุษย์ในปัจจุบัน ก่อความไม่สมดุลทางธรรมชาติต่อโลก    เลยจากขีดจำกัดที่โลกจะฟื้นตัวได้    หากปล่อยให้ดำเนินการต่ออย่างเดิม   นอกจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะสูญพันธุ์ไปเรื่อยๆ มนุษย์ก็จะสูญพันธุ์ด้วย   เรามีความรู้เรื่องนี้ดีในระดับหนึ่ง   แต่ก็มีกระแสต้านว่าไม่จริง    แม้ที่ยอมรับก็ไม่ดำเนินการอย่างจริงจังพียงพอ   

แนวทางแก้ปัญหาได้แก่  (๑) ใช้กลไกการเงินสนับสนุน  (๒) ส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืน  (๓) ใช้ Nature-based solution  (๔) ใช้หลักการสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ในมิติที่กว้าง   (๕) ภาคสุขภาพ แสดงบทบาทรับผิดชอบ  (๖) บทบาทของภาคประชาชน    

เมื่อใช้โปรแกรม Menti ให้ผู้เข้าร่วมระบุคำ ๓ คำ ที่ตนจะกลับไปทำ  ได้ word cloud ดังนี้