ปัญหาของพราหมณ์ ๑๖ คน ตอนที่ ๑๔ อุทยปัญหา


ปัญหาเรื่อง ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์

ปัญหาของพราหมณ์ ๑๖ คน ตอนที่ ๑๔   

อุทยปัญหา

พลตรี มารวย  ส่งทานินทร์

 ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖

(๑๓) อุทยปัญหา

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

๑๓. อุทยมาณวกปัญหา

ว่าด้วยปัญหาของอุทัยมาณพ

 

             [๑๑๑๒] (อุทัยมาณพทูลถามดังนี้) ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงมีฌาน ปราศจากธุลี ประทับนั่งอยู่ ผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์ (อัญญาวิโมกข์ หมายถึงความหลุดพ้นด้วยอรหัตตผล) อันเป็นเครื่องทำลายอวิชชาด้วยเถิด

             [๑๑๑๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุทัย) เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ อันเป็นเครื่องละความพอใจในกาม และโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง

             [๑๑๑๔]เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ที่บริสุทธิ์ เพราะมีอุเบกขาและสติ ที่มีธรรมตรรกะเป็นเบื้องต้น เป็นเครื่องทำลายอวิชชา

             [๑๑๑๕] (อุทัยมาณพทูลถามอีกดังนี้) สัตว์โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้ อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน

             [๑๑๑๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) สัตว์โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้ ความตรึก (ความตรึก (วิตก) มี ๙ อย่าง (๑) กามวิตก (ความตรึกในกาม) (๒) พยาบาทวิตก (ความตรึกในพยาบาท) (๓) วิหิงสาวิตก (ความตรึกในความเบียดเบียน) (๔) ญาติวิตก (ความตรึกถึงญาติ) (๕) ชนปทวิตก (ความตรึกถึงชนบท) (๖) อมราวิตก (ความตรึกถึงเทพเจ้า) (๗) ปรานุทยตาปฏิสังยุตตวิตก (ความตรึกที่ประกอบด้วยความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น) (๘) ลาภสักการสิโลกปฏิสังยุตตวิตก (ความตรึกที่ประกอบด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญ) (๙) อนวัญญัตติปฏิสังยุตตวิตก (ความตรึกที่ประกอบด้วยความไม่ถูกดูหมิ่น)) เป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น เพราะละตัณหาได้ เราจึงเรียกว่า นิพพาน

            [๑๑๑๗] (อุทัยมาณพทูลถามอีกดังนี้) ข้าพระองค์มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า สัตว์โลกมีสติเที่ยวไปอยู่อย่างไร วิญญาณจึงดับสนิท ขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์

             [๑๑๑๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้) สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ วิญญาณ (วิญญาณ หมายถึงอภิสังขารวิญญาณ (วิญญาณที่เกิดพร้อมกับอภิสังขาร)) จึงดับสนิท

อุทยมาณวกปัญหาที่ ๑๓ จบ

-------------------------------------------------

 

คำอธิบายเพิ่มเติมนี้ นำมาจากบางส่วนของ อุทยมาณวปัญหานิทเทส

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ]

ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

๑๓. อุทยมาณวปัญหานิทเทส

ว่าด้วยปัญหาของอุทัยมาณพ

 

             [๗๔] (ท่านอุทัยทูลถาม ดังนี้)

                          ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม

                          จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงมีฌาน ปราศจากธุลี

                          ประทับนั่งอยู่ ผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว

                          ไม่มีอาสวะ ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง

                          ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์

                          อันเป็นเครื่องทำลายอวิชชาด้วยเถิด

(๑) ผู้ทรงมีฌาน ในคำว่า ผู้ทรงมีฌาน ปราศจากธุลี ประทับนั่งอยู่ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีฌาน ชื่อว่าทรงมีฌาน ด้วยปฐมฌานบ้าง ด้วยทุติยฌานบ้าง ด้วยตติยฌานบ้าง ด้วยจตุตถฌานบ้าง ด้วยฌานที่มีวิตกและวิจารเป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจารเป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่ไม่มีวิตกและวิจารเป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่มีปีติเป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่ไม่มีปีติเป็นอารมณ์บ้าง ด้วยฌานที่สหรคตด้วยความแช่มชื่นบ้าง ด้วยฌานที่สหรคตด้วยอุเบกขาบ้าง ด้วยฌานที่เป็นสุญญตะบ้าง (ฌานที่เป็นสุญญตะ คือฌานที่ประกอบด้วยสุญญตวิโมกข์) ด้วยฌานที่เป็นอนิมิตตะบ้าง (ฌานที่เป็นอนิมิตตะ คือฌานที่ถอนนิมิตว่าเที่ยง ยั่งยืน ตัวตนได้) ด้วย ฌานที่เป็นอัปปณิหิตะบ้าง (ฌานที่เป็นอัปปณิหิตะ คือฌานอันไม่มีที่ตั้งเพราะผลสมาบัติ เพราะชำระถือเอาความปรารถนาด้วยการถึงมรรค) ด้วยฌานที่เป็นโลกิยะบ้าง ด้วยฌานที่เป็นโลกุตตระบ้าง คือ ทรงเป็นผู้ยินดีในฌาน ทรงขวนขวายในความเป็นผู้มีจิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว ทรงหนักในประโยชน์ของพระองค์ รวมความว่า ผู้ทรงมีฌาน

 

ว่าด้วยธุลี

             ปราศจากธุลี อธิบายว่า ราคะ ชื่อว่าธุลี โทสะ ชื่อว่าธุลี โมหะ ชื่อว่าธุลี โกธะ ชื่อว่าธุลี อุปนาหะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขารทุกประเภท ชื่อว่าธุลี

            กิเลสที่เรียกว่าธุลีเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มีธุลี ปราศจากธุลี คือ ไร้ธุลี บำราศธุลี ละธุลีได้ หลุดพ้นธุลีได้ ก้าวล่วงธุลีทั้งปวงเสียแล้ว

              ราคะ เราเรียกว่าธุลี เราหาเรียกละอองว่าเป็นธุลีไม่ คำว่า ธุลีนี้เป็นชื่อของราคะ ฉะนั้น พระชินเจ้าผู้มีพระจักษุ ทรงละธุลีนั้นแล้ว จึงเรียกได้ว่า ผู้ปราศจากธุลี

               โทสะ เราเรียกว่าธุลี เราหาเรียกละอองว่าเป็นธุลีไม่ คำว่า ธุลีนี้เป็นชื่อของโทสะ ฉะนั้น พระชินเจ้าผู้มีพระจักษุ ทรงละธุลีนั้นแล้ว จึงเรียกได้ว่า ผู้ปราศจากธุลี

               โมหะ เราเรียกว่าธุลี เราหาเรียกละอองว่าเป็นธุลีไม่ คำว่า ธุลีนี้ เป็นชื่อของโมหะ ฉะนั้น พระชินเจ้าผู้มีพระจักษุ ทรงละธุลีนั้นได้แล้ว จึงเรียกได้ว่า ผู้ปราศจากธุลี

             รวมความว่า ปราศจากธุลี

             ประทับนั่งอยู่ อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปาสาณกเจดีย์ รวมความว่า ประทับนั่งอยู่

             อีกนัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าประทับนั่งอยู่ เพราะทรงเป็นผู้สงัดจากความขวนขวายทั้งปวงแล้ว ทรงอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ฯลฯ พระองค์ไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนตาย (และ)ภพใหม่ก็ไม่มีอีก พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าประทับนั่งอยู่ อย่างนี้บ้าง รวมความว่า ผู้ทรงมีฌาน ปราศจากธุลี ประทับนั่งอยู่

             ผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ อธิบายว่า กิจน้อยใหญ่ คือ กิจที่ควรทำและไม่ควรทำ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว

             ภิกษุผู้ไม่มีทิฏฐิที่ทำให้ตกไป ตัดกระแสขาดแล้ว ละกิจน้อยใหญ่ได้แล้ว ย่อมไม่มีความเร่าร้อน

 

ว่าด้วยอาสวะ ๔

             ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ อธิบายว่า

             อาสวะ ได้แก่ อาสวะ ๔ อย่าง คือ

                          ๑. กามาสวะ

                          ๒. ภวาสวะ

                          ๓. ทิฏฐาสวะ

                          ๔. อวิชชาสวะ

            อาสวะเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงละได้เด็ดขาดแล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่าไม่มีอาสวะ รวมความว่า ผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว ไม่มีอาสวะ

             ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคทรงถึงฝั่งได้ด้วยความรู้ยิ่ง ถึงฝั่งได้ด้วยการกำหนดรู้ ถึงฝั่งได้ด้วยการละ ถึงฝั่งได้ด้วยการเจริญภาวนา ถึงฝั่งได้ด้วยการทำให้แจ้ง ถึงฝั่งได้ด้วยการเข้าสมาบัติ ถึงฝั่งได้ด้วยความรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ถึงฝั่งได้ด้วยการกำหนดรู้ทุกข์ทั้งปวง ถึงฝั่งได้ด้วยการละกิเลสทั้งปวง ถึงฝั่งได้ด้วยการเจริญอริยมรรค ๔ ถึงฝั่งได้ด้วยการทำให้แจ้งนิโรธ ถึงฝั่งได้ด้วยการเข้าถึงสมาบัติ ๘

             พระองค์ทรงถึงความชำนาญ บรรลุบารมีในอริยศีล ทรงถึงความชำนาญบรรลุบารมีในอริยสมาธิ ทรงถึงความชำนาญ บรรลุบารมีในอริยปัญญา ทรงถึงความชำนาญ บรรลุบารมีในอริยวิมุตติ

             พระองค์ทรงถึงฝั่ง บรรลุฝั่ง ถึงส่วนสุด บรรลุส่วนสุด ถึงปลายสุด บรรลุปลายสุด ถึงท้ายสุด บรรลุท้ายสุด ถึงความสำเร็จ บรรลุความสำเร็จ ถึงที่ปกป้อง บรรลุที่ปกป้อง ถึงที่หลีกเร้น บรรลุที่หลีกเร้น ถึงที่พึ่ง บรรลุที่พึ่ง ถึงที่ไม่มีภัย บรรลุที่ไม่มีภัย ถึงที่ไม่จุติ บรรลุที่ไม่จุติ ถึงที่ไม่ตาย บรรลุที่ไม่ตาย ถึงที่ดับ บรรลุที่ดับ พระผู้มีพระภาคนั้นทรงอยู่ใน(อริยวาสธรรม)แล้ว ประพฤติจรณธรรมแล้ว ฯลฯ พระองค์ไม่มีการเวียนเกิด เวียนแก่ เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก รวมความว่า ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง

             ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้า อธิบายว่า ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญหาจึงมาเฝ้าแล้ว คือ ปรารถนาจะทูลถามปัญหาจึงมาเฝ้าแล้ว มีความปรารถนาจะฟังปัญหาจึงมาเฝ้าแล้ว รวมความว่า ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง

             อีกนัยหนึ่ง การมาเฝ้า การก้าวเดินเข้าเฝ้า การเข้าไปเฝ้า การเข้าไปนั่งใกล้ พึงมีแก่ผู้ต้องการปัญหา คือ ผู้ปรารถนาจะถามปัญหา ผู้ปรารถนาจะฟังปัญหา รวมความว่า ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้า อย่างนี้บ้าง

             อีกนัยหนึ่ง พระองค์ทรงมีอาคม(แหล่งความรู้)แห่งปัญหา ทั้งพระองค์ทรงองอาจ ทรงสามารถที่จะตรัสบอก คือ วิสัชนาปัญหา ที่ข้าพระองค์ทูลถาม ข้อนี้เป็นภาระของพระองค์ รวมความว่า ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถามจึงมาเฝ้าอย่างนี้บ้าง

             ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์ อธิบายว่า ความหลุดพ้นด้วยอรหัตตผล ตรัสเรียกว่า อัญญาวิโมกข์ ขอพระองค์โปรดตรัส คือ โปรดบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศความหลุดพ้นด้วยอรหัตตผลด้วยเถิด รวมความว่า ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์

             อันเป็นเครื่องทำลายอวิชชาด้วยเถิด อธิบายว่า อันเป็นเครื่องสลาย เป็นเครื่องทำลาย คือ เป็นการละ การเข้าไปสงบ การสลัดทิ้ง การระงับอวิชชาได้ เป็นอมตนิพพาน รวมความว่า อันเป็นเครื่องทำลายอวิชชาด้วยเถิด เหตุนั้นพราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า (ท่านอุทัยทูลถาม ดังนี้)

                          ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม

                          จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ทรงมีฌาน ปราศจากธุลี

                          ประทับนั่งอยู่ ผู้ทรงทำกิจสำเร็จแล้ว

                          ไม่มีอาสวะ ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง

                          ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์

                          อันเป็นเครื่องทำลายอวิชชาด้วยเถิด

 

             [๗๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุทัย)

                          เราจะบอกอัญญาวิโมกข์

                          อันเป็นเครื่องละความพอใจ

                          ในกามและโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง

                          เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ

                          และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง

(๒) อันเป็นเครื่องละความพอใจในกาม อธิบายว่า

             ความพอใจ ได้แก่ ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ ความกำหนัดด้วยอำนาจความใคร่ ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจความใคร่ ความทะยานอยากด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่ ความกระหายด้วยอำนาจความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่ ความติดใจด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย ห้วงน้ำคือความใคร่ กิเลสเป็นเครื่องประกอบคือความใคร่ กิเลสเครื่องยึดมั่นคือความใคร่ กิเลสเครื่องกั้นจิตคือความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลาย

             อันเป็นเครื่องละความพอใจในกาม อธิบายว่า อันเป็นเครื่องละ คือ เป็นเครื่องเข้าไปสงบ สลัดทิ้ง ระงับความพอใจในกามได้ เป็นอมตนิพพาน รวมความว่า อันเป็นเครื่องละความพอใจในกาม

             โทมนัส ในคำว่า และโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง อธิบายว่า ความไม่แช่มชื่นทางใจ ความทุกข์ทางใจ ความเสวยอารมณ์เป็นทุกข์อันไม่แช่มชื่นเกิดจากสัมผัสทางใจ ทุกขเวทนาอันไม่แช่มชื่นเกิดจากสัมผัสทางใจ

             และโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง อธิบายว่า การละ การเข้าไปสงบ การสลัดทิ้ง การระงับความพอใจในกามและโทมนัสทั้ง ๒ อย่างได้ เป็นอมตนิพพาน รวมความว่า และโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง

             ความย่อท้อ ในคำว่า เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ อธิบายว่า ความที่จิตไม่คล่องแคล่ว ความที่จิตไม่ควรแก่การงาน ความหดหู่ กิริยาที่หดหู่ ความท้อถอย กิริยาที่ท้อถอย ภาวะที่ท้อถอย ความย่อท้อ กิริยาที่ย่อท้อ ความเป็นผู้มีจิตย่อท้อ

            เป็นเครื่องบรรเทา ได้แก่ เป็นเครื่องบรรเทา คือ เป็นเครื่องละ เป็นเครื่องเข้าไปสงบ สลัดทิ้ง ระงับความย่อท้อได้ เป็นอมตนิพพาน รวมความว่า เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ

 

ว่าด้วยความคะนอง

             ความคะนอง ในคำว่า และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง อธิบายว่า ความคะนองมือ ชื่อว่าความคะนอง ความคะนองเท้า ชื่อว่าความคะนอง ความคะนองมือและเท้า ก็ชื่อว่าความคะนอง ความสำคัญในสิ่งที่ไม่ควรว่าควร ความสำคัญในสิ่งที่ควรว่าไม่ควร ฯลฯ ความสำคัญในสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ ความสำคัญในสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ ความคะนอง กิริยาที่คะนอง ภาวะที่คะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่านเห็นปานนี้ นี้ตรัสเรียกว่า ความคะนอง

             อีกนัยหนึ่ง ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นเพราะเหตุ ๒ อย่าง คือ (๑) เพราะทำ (๒) เพราะไม่ทำ

             ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นเพราะทำและเพราะไม่ทำ เป็นอย่างไร

             คือ ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า “เราทำแต่กายทุจริต ไม่ทำกายสุจริต” ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า “เราทำแต่วจีทุจริต ไม่ทำวจีสุจริต เราทำแต่มโนทุจริต ไม่ทำมโนสุจริต เราทำแต่ปาณาติปาต ไม่ทำความงดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ เราทำแต่อทินนาทาน ไม่ทำความงดเว้นจากอทินนาทาน ฯลฯ เราทำแต่กาเมสุมิจฉาจาร ไม่ทำความงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ฯลฯ เราทำแต่มุสาวาท ไม่ทำความงดเว้นจากมุสาวาท ฯลฯ เราทำแต่ปิสุณาวาจา ไม่ทำความงดเว้นจากปิสุณาวาจา ฯลฯ เราทำแต่ผรุสวาจาไม่ทำความงดเว้นจากผรุสวาจา ฯลฯ เราทำแต่สัมผัปปลาปะ ไม่ทำความงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ ฯลฯ เราทำแต่อภิชฌา ไม่ทำอนภิชฌา ฯลฯ เราทำแต่พยาบาท ไม่ทำอัพยาบาท ฯลฯ เราทำแต่มิจฉาทิฏฐิ ไม่ทำสัมมาทิฏฐิ” ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นเพราะทำและเพราะไม่ทำ เป็นอย่างนี้

             อีกนัยหนึ่ง ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า “เรามิได้รักษาศีลให้บริบูรณ์” ความคะนอง ความเดือดร้อนจิต ใจฟุ้งซ่าน เกิดขึ้นว่า “เราไม่สำรวมในอินทรีย์ทั้ง ๖ ฯลฯ ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ฯลฯ ไม่ประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่เสมอ ฯลฯ ไม่หมั่นประกอบสติสัมปชัญญะ ฯลฯ ไม่เจริญสติปัฏฐาน ๔ ฯลฯ ไม่เจริญสัมมัปปธาน ๔ ฯลฯ ไม่เจริญอิทธิบาท ๔ ฯลฯ ไม่เจริญอินทรีย์ ๕ ฯลฯ ไม่เจริญพละ ๕ ฯลฯ ไม่เจริญโพชฌงค์ ๗ ฯลฯ ไม่เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ฯลฯ ไม่กำหนดรู้ทุกข์ ไม่ละสมุทัย ไม่เจริญมรรค เราไม่ทำนิโรธให้ประจักษ์แจ้ง”

             และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง อธิบายว่า เครื่องปิด เครื่องกั้น คือ การละ การเข้าไปสงบ การสลัดทิ้ง การระงับความคะนองได้ เป็นอมตนิพพาน รวมความว่า และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุทัย)

                          เราจะบอกอัญญาวิโมกข์

                          อันเป็นเครื่องละความพอใจ

                          ในกามและโทมนัสทั้ง ๒ อย่าง

                          เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ

                          และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง

 

             [๗๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)

                          เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ที่บริสุทธิ์

                          เพราะมีอุเบกขาและสติ ที่มีธรรมตรรกเป็นเบื้องต้น

                          เป็นเครื่องทำลายอวิชชา

(๓) อุเบกขา ในคำว่า ที่บริสุทธิ์เพราะมีอุเบกขาและสติ ได้แก่ อุเบกขา คือ ความเพิกเฉย ความเพิกเฉยอย่างยิ่ง ความที่จิตสงบ ความที่จิตสงัด ความที่จิตเป็นกลางในจตุตถฌาน

             สติ ได้แก่ สติ คือ ความระลึกถึง ฯลฯ สัมมาสติ ปรารภอุเบกขา ในจตุตถฌาน

             ที่บริสุทธิ์เพราะมีอุเบกขาและสติ อธิบายว่า อุเบกขาและสติในจตุตถฌาน สะอาด คือ หมดจด บริสุทธิ์ สะอาดพร้อม ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ปราศจากอุปกิเลส อ่อนโยน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหว รวมความว่า ที่บริสุทธิ์เพราะมีอุเบกขาและสติ

             ที่มีธรรมตรรกเป็นเบื้องต้น อธิบายว่า สัมมาสังกัปปะ ตรัสเรียกว่า ธรรมตรรก สัมมาสังกัปปะนั้น เป็นเบื้องต้น คือ เป็นเบื้องหน้า เป็นหัวหน้าแห่งอัญญาวิโมกข์ รวมความว่า ที่มีธรรมตรรกเป็นเบื้องต้น อย่างนี้บ้าง

             อีกนัยหนึ่ง สัมมาทิฏฐิตรัสเรียกว่า ธรรมตรรก สัมมาทิฏฐินั้น เป็นเบื้องต้น คือ เป็นเบื้องหน้า เป็นหัวหน้าแห่งอัญญาวิโมกข์ รวมความว่า ที่มีธรรมตรรก เป็นเบื้องต้น อย่างนี้บ้าง

             เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ อธิบายว่า ความหลุดพ้นด้วยอรหัตตผล ตรัสเรียกว่า อัญญาวิโมกข์ เราจะบอก คือ บอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่าย ประกาศความหลุดพ้นด้วยอรหัตตผล รวมความว่า เราจะบอกอัญญาวิโมกข์

             อวิชชา ในคำว่า เป็นเครื่องลำลายอวิชชา อธิบายว่า ความไม่รู้ในทุกข์ ฯลฯ อวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ

             เป็นเครื่องทำลาย อธิบายว่า เป็นเครื่องสลาย เป็นเครื่องทำลาย คือ การละ การเข้าไปสงบ การสลัดทิ้ง การระงับอวิชชาได้ เป็นอมตนิพพาน รวมความว่า เป็นเครื่องทำลายอวิชชา ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า

                          เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ที่บริสุทธิ์

                          เพราะมีอุเบกขาและสติ ที่มีธรรมตรรกเป็นเบื้องต้น

                          เป็นเครื่องทำลายอวิชชา

 

             [๗๗] (ท่านอุทัยทูลถามว่า)

                          สัตว์โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้

                          อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น

                          เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน 

(๔) สัตว์โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้ อธิบายว่า อะไรเป็นเครื่องประกอบ คือ เครื่องเกี่ยวข้อง เครื่องผูกพัน เครื่องเศร้าหมองของสัตว์โลก โลกถูกอะไร ประกอบ ประกอบทั่ว ประกอบทั่วถึง ประกอบพร้อม เกาะติด เกี่ยวข้อง พัวพันไว้ รวมความว่า สัตว์โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้

             อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น อธิบายว่า อะไรเล่าเป็นเครื่องสัญจร เที่ยวไป คือ ท่องเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น คือ โลกสัญจรไป เที่ยวไป ท่องเที่ยวไปด้วยอะไร รวมความว่า อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น

             เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน อธิบายว่า เพราะละ คือ เพราะเข้าไปสงบ เพราะสลัดทิ้ง เพราะระงับอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสเรียก คือ กล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจงว่านิพพาน รวมความว่า เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า

                          สัตว์โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้

                          อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น

                          เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน

 

             [๗๘] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)

                          สัตว์โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้

                          ความตรึกเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น

                          เพราะละตัณหาได้ เราจึงเรียกว่า นิพพาน 

(๕) สัตว์โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้ อธิบายว่า ตัณหา ตรัสเรียกว่า ความเพลิดเพลิน ได้แก่ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา อกุศลมูลคือโลภะ นี้ตรัสเรียกว่า ความเพลิดเพลิน ได้แก่ ความเพลิดเพลินที่เป็นเครื่องประกอบ เป็นเครื่องเกี่ยวข้อง เป็นเครื่องผูกพัน เป็นเครื่องเศร้าหมองของสัตว์โลก สัตว์โลกถูกความเพลิดเพลินนี้ประกอบ ประกอบทั่ว ประกอบทั่วถึง ประกอบพร้อม เกาะติด เกี่ยวข้อง พัวพันไว้ รวมความว่า สัตว์โลกมีความ เพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้

 

ว่าด้วยความตรึก ๙ อย่าง

             ความตรึก ในคำว่า ความตรึกเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น ได้แก่ ความตรึก ๙ อย่าง คือ

                          ๑. ความตรึกในกาม

                          ๒. ความตรึกในความพยาบาท

                          ๓. ความตรึกในความเบียดเบียน

                          ๔. ความตรึกถึงญาติ

                          ๕. ความตรึกถึงชนบท

                          ๖. ความตรึกถึงเทพเจ้า

                          ๗. ความตรึกเกี่ยวเนื่องด้วยความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น

                          ๘. ความตรึกเกี่ยวเนื่องด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญ

                          ๙. ความตรึกเกี่ยวเนื่องด้วยความไม่ถูกดูหมิ่น

             เหล่านี้เรียกว่า ความตรึก ๙ อย่าง ความตรึก ๙ อย่างเหล่านี้ เป็นเหตุสัญจรเที่ยวไป คือ ท่องเที่ยวไปของสัตว์โลก คือ สัตว์โลกสัญจรไป เที่ยวไป ท่องเที่ยวไปด้วยความตรึก ๙ อย่างเหล่านี้ รวมความว่า ความตรึกเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น

             ตัณหา ในคำว่า เพราะละตัณหาได้เราจึงเรียกว่านิพพาน ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธัมมตัณหา

             เพราะละตัณหาได้เราจึงเรียกว่า นิพพาน อธิบายว่า เพราะละ คือ เพราะเข้าไปสงบ เพราะสลัดทิ้ง เพราะระงับตัณหาได้ เราจึงเรียก คือ กล่าว พูด บอก แสดง ชี้แจงว่า นิพพาน รวมความว่า เพราะละตัณหาได้เราจึงเรียกว่า นิพพาน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า

                          สัตว์โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้

                          ความตรึกเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น

                          เพราะละตัณหาได้เราจึงเรียกว่า นิพพาน

 

             [๗๙] (ท่านอุทัยทูลถามว่า)

                          ข้าพระองค์มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

                          สัตว์โลกมีสติเที่ยวไปอยู่อย่างไร วิญญาณจึงดับสนิท

                          ขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์

(๖) สัตว์โลกมีสติเที่ยวไปอยู่อย่างไร อธิบายว่า สัตว์โลกมีสติสัมปชัญญะเที่ยวไป คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปอย่างไร รวมความว่า สัตว์โลกมีสติเที่ยวไปอยู่อย่างไร

             วิญญาณจึงดับสนิท อธิบายว่า วิญญาณจึงดับ คือ เข้าไปสงบถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป รวมความว่า วิญญาณจึงดับสนิท

             ข้าพระองค์มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค อธิบายว่า พวกข้าพระองค์มาเฝ้า คือ เป็นผู้มาเฝ้าแล้ว มาเข้าเฝ้าแล้ว มาถึง ถึงพร้อมแล้ว เป็นผู้มาถึงพร้อมกับพระองค์แล้ว เพื่อทูลถาม คือ ทูลปุจฉา ทูลขอ ทูลอัญเชิญ ทูลให้พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประกาศ รวมความว่า ข้าพระองค์มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค

             นั้น ในคำว่า ขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์ อธิบายว่า พวกข้าพระองค์ขอฟัง คือ เรียน ทรงจำ เข้าไปกำหนดพระดำรัส คือ คำที่เป็นแนวทางเทศนา คำสั่งสอน คำที่พร่ำสอน รวมความว่า ขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์ ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้นจึงกราบทูลว่า

                          ข้าพระองค์มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

                          สัตว์โลกมีสติเที่ยวไปอยู่อย่างไร วิญญาณจึงดับสนิท

                          ขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์

 

             [๘๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า)

                          สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก

                          มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ วิญญาณจึงดับสนิท 

(๗) ว่าด้วยเวทนา

             สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก อธิบายว่า สัตว์โลกพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในอยู่ ไม่ยินดี คือ ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนา ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี คือ การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น

             สัตว์โลกพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกอยู่ ไม่ยินดี คือ ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนา ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี คือ การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น

             สัตว์โลกพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในและภายนอกอยู่ ไม่ยินดี คือ ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนา ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น

             สัตว์โลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นภายใน พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ สัตว์โลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมไปภายใน พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ สัตว์โลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปภายใน พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ สัตว์โลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นภายนอก พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ สัตว์โลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมไปภายนอก พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ สัตว์โลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปภายนอก พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ สัตว์โลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ สัตว์โลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมไปทั้งภายในและภายนอก พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ฯลฯ สัตว์โลกพิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปทั้งภายในและภายนอก สัตว์โลกพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ไม่ยินดี คือ ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนา ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี คือ การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น

             สัตว์โลกพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาด้วยอาการ ๔๒ อย่าง เหล่านี้อยู่ ไม่ยินดี คือ ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนา ได้แก่ ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี คือ การบ่นถึง ความติดใจ ฯลฯ

             อีกนัยหนึ่ง สัตว์โลกเห็นเวทนา โดยความเป็นของไม่เที่ยง ก็ไม่ยินดี คือ ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนา ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี คือ การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น

             สัตว์โลกเห็นเวทนาโดยความเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี เป็นดุจลูกศร เป็นของลำบาก เป็นอาพาธ ฯลฯ เป็นของที่ต้องสลัดออกไป ก็ไม่ยินดี คือ ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนา ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี คือ การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น

             สัตว์โลกพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาด้วยอาการ ๔๒ อย่างเหล่านี้ อยู่ ไม่ยินดี คือ ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนา ได้แก่ ละ บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกซึ่งความยินดี คือ การบ่นถึง ความติดใจ ความถือ ความยึดมั่น ความถือมั่น รวมความว่า สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก

             มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ อธิบายว่า มีสติสัมปชัญญะ เที่ยวไป คือ อยู่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไปอย่างนี้ รวมความว่า มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้

             วิญญาณจึงดับสนิท อธิบายว่า วิญญาณที่สหรคตด้วยปุญญาภิสังขาร วิญญาณที่สหรคตด้วยอปุญญาภิสังขาร วิญญาณที่สหรคตด้วยอาเนญชาภิสังขารจึงดับไป คือ เข้าไปสงบ ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ระงับไป รวมความว่า วิญญาณจึงดับสนิท ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบว่า

                          สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก

                          มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ วิญญาณจึงดับสนิท

             พร้อมกับการจบคาถา ฯลฯ อุทัยมาณพ... โดยประกาศว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก”

อุทยมาณวปัญหานิทเทสที่ ๑๓ จบ

--------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 711984เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2023 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2023 19:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท