วัฒนธรรมโบราณขอม เขมร สยาม ไทย อ้างเคลมกันไปมา


วัฒนธรรมโบราณขอม เขมร สยาม ไทย อ้างเคลมกันไปมา

17 มีนาคม 2566

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

มิติของวัฒนธรรมกับอารยะธรรมโบราณที่สืบต้นตอกำพืดไม่ง่าย

วัฒนธรรม (Culture) คือสิ่งที่ดีงามของมนุษยชาติ (Mankind, Human being) ที่เป็นคุณลักษณะที่สำคัญของคนที่แตกต่างจากสัตว์ เป็นความเจริญงอกงามของสังคม ซึ่งแสดงออกได้ทั้งทางจิตใจและวัตถุ ฉะนั้น ทุกสังคมจึงมีเอกลักษณ์เป็นไปตามกลุ่มชน กลุ่มสังคม ที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม อารยธรรม (Civilization) หมายถึงความเจริญทางวัฒนธรรมของสังคมในทุกด้านที่ได้สั่งสมมา เป็นความเจริญขั้นสูงของมนุษย์ อารยธรรม (Civilization) จะเกิดขึ้นได้ต้องมีวัฒนธรรมก่อน ซึ่งเป็นคำเรียกขานได้แก่ อารยธรรมจีน อารยธรรมอินเดีย อารยธรรมอิสลาม อารยธรรมเมโสโปเตเมีย อารยธรรมกรีก อารยธรรมโรมัน 

วัฒนธรรมไทยได้รับอิทธิพลมาจากอารยธรรมอินเดียในด้านศาสนา อารยธรรมจีนไม่สามารถเจาะเข้ามาเต็มในวัฒนธรรมไทยได้ วัฒนธรรมจีนจึงเป็นเพียงวัฒนธรรมที่ต้องผสมกลมกลืนเข้ากันให้ได้กับสังคมไทย วัฒนธรรมเป็นกระแสที่ไหลเลื่อนไปสู่ชุมชนอื่นข้างเคียงได้ แต่อาจไม่มีพลังจนเป็นอารยธรรมก็ได้ ไม่ว่าจะจงใจ หรือการได้รู้เห็น แอบเห็น การเลียนแบบ ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม เพราะคำว่าวัฒนธรรมนั้นมีทั้งมิติที่ไม่มีตัวตนเพราะเป็นความคิดปรัชญา หรือ เป็นในมิติของวัตถุสิ่งของที่มีตัวตนก็ได้ เช่น หลักฐานการสลักหินบนกำแพง เทวาลัย กู่ ปราสาทขอม ถือเป็นวัฒนธรรมวัตถุรูปแบบหนึ่ง ที่เป็นเทวาลัยประกอบพิธีกรรม ที่ประชุมราชการ ที่รักษาพยาบาล (อโรคยาศาล) ที่ต่อมาปราสาทขอมก็แปลงกลายเป็นวัดในพระพุทธศาสนาเถรวาท[2] สมัยโบราณมีการก่อสร้างเทวาลัยสืบต่อกันมาด้วยวิธี (1) การบังคับเกณฑ์แรงงาน ทาส ไพร่ โดยมูลนาย ผู้ปกครอง หรือ (2) การรวมตัวกันสร้างด้วยศรัทธาของชาวบ้านเองเหมือนการสร้างวัด สร้างศาลา 

การก่อเกิดการเกิดวัฒนธรรม คงไม่จำกัดแต่เฉพาะที่ปรากฏรูปแกะสลัก ตามกำแพงปราสาทหรืออื่นใดเท่านั้น 

ฉะนั้น ในสังคมโลกบริเวณหนึ่งๆ จึงมีขอบข่ายทางวัฒนธรรมที่กว้างขวาง หรือแคบ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ บางวัฒนธรรมได้หยุดหรือตายไปแล้วก็มี โลกปัจจุบันเป็นโลกแห่งการ disrupt ยุคข่าวสารโซเชียลไร้พรมแดน (Borderless) การไหลบ่าของวัฒนธรรม จึงง่ายกว่า เช่น กระแสเพลง “Mineral Water” (มิเนอรัล วาตารา) ของคอนเสิร์ตอินเดียในเนปาล[3] ที่แสดงให้ความคลั่งไคล้ของวัยรุ่นหญิงชาวเนปาล ได้แพร่หลายมาประเทศไทยได้เห็นรับรู้กันอย่างง่ายดาย คลิปนี้กลายเป็นไวรัลที่มีคนดูคลิปจาก 12 ล้าน เป็น 34.7 ล้านวิวในเวลารวดเร็วเพียงไม่ถึงเดือน

หากจะไปสืบหาว่าต้นตอของวัฒนธรรมเดิมๆ ที่มีมานานแล้วนับพันปี ว่าใครเป็นต้นคิด เป็นของชนเชื้อชาติใดชาติพันธุ์ใด (Indigenous) อาจยุ่งยาก หรือสรุปสืบค้นหายาก โดยเฉพาะในกลุ่มชนที่มีรากเหง้าเดียวกัน มีการผสมกลมกลืนกันทางวัฒนธรรมและทางเชื้อชาติ (Assimilation) มาอย่างยาวนาน ย่อมเกิดการผสมผสานกันง่ายมากขึ้น เพราะมีการแลกเปลี่ยนเผยแพร่การรับรู้ การเลียนแบบกันได้ง่ายขึ้น 

 

กีฬาใหม่ตะกร้อ ผสมเทเบิลเทนนิส ไทยได้แชมป์

ยกตัวอย่างการผสมกันปนเปในกีฬา “เซปัคตะกร้อ” [4] ที่ถือเป็นกีฬาพื้นเมืองพื้นบ้านที่ทำจากหวายนำมาถักเป็นลูกกลมๆ ใช้เตะเล่นกันของคนเอเชียในย่านสุวรณภูมิ หรืออาเซียน มีการอ้างความเป็นเจ้าของต้นตำรับกีฬาประเภทนี้กันจากหลายชาติทั้งไทย พม่า (เมียนมา) และ มาเลเซีย ซึ่งในที่สุดกลายเป็น “Sepak Takraw” ที่การเป็นกีฬาสากลในที่สุด แต่กีฬาใหม่ชื่อ “เทคบอล” (Teqball) [5]เป็นกีฬาลูกผสมระหว่างเซปักตะกร้อ เทเบิลเทนนิส (ปิงปอง) และฟุตบอล เข้าด้วยกัน เทคบอลใช้ลูกบอลเล่นบนโต๊ะทรงโค้งพิเศษ ผู้เล่นใช้ร่างกายได้ทุกส่วน ยกเว้นแขนและมือ ส่งลูกฟุตบอลข้ามโต๊ะกันไปมาไม่ว่าจะด้วยวิธีใด อาจเล่นสองคนในการแข่งขันเดี่ยว หรือเล่นสี่คนในการแข่งขันคู่ โดยสหพันธ์เทคบอลนานาชาติ (International Federation of Teqball : FITEQ) นำกีฬานี้เข้าสู่ระดับนานาชาติ มีนักฟุตบอลระดับโลกหลายคนให้ความสนใจ กีฬานี้ได้รับการบรรจุแข่งขันในเอเชียนบีชเกมส์ 2023 และยูโรเปียนเกมส์ 2023 และจะให้กีฬานี้เป็นส่วนหนึ่งของกีฬาโอลิมปิก ด้วยทักษะแชมป์เซปัคตะกร้อของนักกีฬาไทย ทำให้ไทยได้แชมป์เทคบอลด้วยท่าไม้ตายตีลังกาฟาดทำแต้มชนะทีมบราซิลที่เก่งฟุตบอลได้ไม่ยาก เป็นผลจาก Soft Power ของคนไทยที่ซึมซาบกีฬาตะกร้อเฉพาะตัวมายาวนาน

 

กุนขแมร์เคลมเกทับมวยไทยหรือไม่

เอาเข้าแล้ว “กุนขแมร์” (มวยเขมร) จากเพื่อนบ้านที่วิพากษ์กันอย่างกว้างขวาง เพราะ “กัมพูชา” ได้บรรจุกีฬามวยนี้ในการแข่งขันซีเกมส์ 2023 ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566 เคลมว่า กุนขแมร์เป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีตัวตนจริง เป็น “โบ๊ะกะโต” (โบกาตอร์) สมบัติประจำชาติของกัมพูชา เป็นรากฐานเป็นต้นตำรับต้นกำเนิดผู้ริเริ่มศิลปะป้องกันตัวของ “มวยไทย” [6] โดยอ้างหลักภาพจารึกจากปราสาทนครวัด[7] ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 12 หรืออายุราว 1,400 ปี สมัยพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2[8] กษัตริย์จากลัทธิฮินดูไศเลนทร์ จากเกาะชวาแผ่มายังกัมพูชา เป็นทั้งบูชาเทพเจ้า ราหู ยมทูต ฯลฯ ผี ไสยศาสตร์ เป็นลัทธิที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ เป็นเทวราชหรือเป็นเทพเจ้า ว่ากันว่า “มวยไทยและมวยพม่า” ก็แบบเดียวกัน มีการอ้างว่าลอกเลียนแบบกันหรือไม่ จากประวัติศาสตร์คราวเสียกรุงครั้งที่ 2 พ.ศ.2310 ที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์การชกมวยของเชลยไทยกับนักมวยพม่า[9] ซึ่งมวยพม่าก็ได้อ้างเท้าความประวัติศาสตร์ไปถึงกว่า 1,000 ปีเช่นกัน ฉะนั้น “มวย” จึงถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ต่างมีร่วมกันของเหล่าชาติในภูมิภาคนี้ คงมิได้มีการลอกเลียนแบบกัน เป็นกระแสชาตินิยม ในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสร้างความรักชาติ รักเผ่าพันธุ์ นายกฮุนเซนจึงปลุกระดม ความเป็นรัฐชาติเขมรอย่างเข้มข้น เพื่อให้ชาติเขมรเป็นหนึ่งเดียว เป็นลักษณะของสังคมแบบที่ไม่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ มีลักษณะคล้ายคลึงกัน มีชีวิตความเป็นอยู่คล้ายกันใกล้เคียงกัน (Homogeneous) เช่นไทย ที่มีแต่การประสานประโยชน์ การประนีประนอมกันในทุกกลุ่ม มีการผสมกลมกลืนกันด้วยดี ไม่ได้เป็นสังคมแบบพหุ (Multiculturalism or Cultural diversity) ที่มีแต่ความแตกต่างในวัฒนธรรม ในด้านเชื้อชาติ หรือชาติพันธุ์ต่างๆ

ในบรรดาศิลปะการต่อสู้พื้นบ้านถือเป็น soft power ประการหนึ่ง กีฬาการต่อสู้บุคคล หรือศิลปะการต่อสู้มือเปล่า[10] เช่น “กีฬามวย” หรือ “ชกมวย” หรือ มาร์เชียลอาร์ท หรือ มวยปล้ำ หรือยูโด รวมทั้ง คาราเต้ ยิวยิตสู เทควันโด กังฟู ไท่เก๊ก (Tai chi) ล้วนมีลีลา ทักษะ กติกาที่แตกต่างกันไปในแต่ละชาติ ยกเว้นที่มีการบรรจุรับไว้เป็นกีฬาสากลในกีฬานานาชาติ หรือ กีฬาโอลิมปิค โดยใช้ “กติกาสากล” ร่วมกันทุกชาติ

เป็นศิลปะการต่อสู้ที่คนในพื้นถิ่นภูมิใจเช่น “แม่ไม้มวยไทย” ที่โด่งดังไปไกลถึงระดับโลก บรรดานักชกฝรั่งต่างชาติต่างมาท่องเที่ยวและมาฝึกฝนมวยไทยกันเป็นจำนวนมาก “มวย” ก็ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกันของเหล่าชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ต่างจาก “เซปัคตะกร้อ” แม้ในย่านภูมิภาคสุวรรณภูมิจะมีทักษะมวยที่หลากหลายตำรา ทั้งมวยไทย มวยพม่า[11] (Lethwei : เล็ทเหว่ย, และเหว่) ซึ่งเมียนมาอ้างประวัติศาสตร์ย้อนไปได้ไกลถึงราวพันปี ระยะหลังมวยพม่าพยายามปรับตัวเองเพื่อเข้าสู่กีฬาสากล หรือ มวยเขมร (กุนขแมร์) รวมไปถึงทักษะมวยที่ออกแนวศิลปะท่ารำศิลปะการต่อสู้ คือ ปัญจักสีลัต[12] (Pencak silat) ตบมะผาบฟ้อนเจิง[13] (ท่ารำมวยของคนล้านนา) หรือแม้แต่มวยไทยเองก็มีตำรามวยไชยา มวยโคราช เป็นต้น 

แม้ว่าแต่ก่อนมวยไทยจะถูกสบปรามาสว่า ไม่เป็นศิลปะ มีแต่ความหนักหน่วงโหดร้ายเท่านั้น ผลการจากเป็น Soft Power นี้ของมวยไทย ทำให้มีค่ายมวย อาจารย์ครูมวยไทยแพร่ไปยังยุโรปและอเมริกาจำนวนมาก เป็นที่ยอมรับของต่างชาติว่าเป็นศิลปะการต่อสู้สากล เพราะมิใช่เพียงการฝึกฝนกันเฉยๆ หากแต่มีการอ้างอิงตำราโบราณที่มีการบันทึกไว้ในสมุดข่อย หรือตำราปั๊ปสา[14] (สมุดกระดาษสาของชาวล้านนา) หรือได้มีการฝึกฝนถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นที่สามารถสืบสายเรื่องราวจากประวัติศาสตร์ จากเอกสารโบราณได้ 

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติชอบมาไทย เพราะไทยมีศิลปวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่หลากหลาย อาหารมากมายก็อร่อย “สายมู” ก็มีที่ให้เลือกมากมาย ทั้งที่ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมโบราณที่หลากหลายเต็มไปหมดทุกพื้นที่ ไทยจึงมีธรรมชาติที่แสนดี ศิลปวัฒนธรรมที่แสนงาม มีวิถีชีวิตที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย เป็นประเทศน่าเที่ยวที่สุดของคนทั้งโลก

 

วัฒนธรรม Soft Power เคลมกันได้ด้วยหรือ

ข่าวการวิพากษ์กรณี “กุนขแมร์” (มวยเขมร) เคลมตีครอบวัฒนธรรมไทย อ้างเป็นต้นกำเนิด เป็นต้นตำหรับ[15] ใน Soft Power มวยไทยว่าเป็นต้นแบบเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่ใครจะลอกเอาไปใช้ไม่ได้ เป็นสมบัติเฉพาะชาติตนเองไม่ได้ ถือว่าเป็นการแอบอ้าง, ตีขลุม, ครอบงำ, เทคโอเวอร์ ว่าเป็นเจ้าของ ได้หรือไม่

ลองมาย้อนศึกษาจากประวัติศาสตร์ปากที่เล่าต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น ที่จดจำสืบต่อกันมา จากปากต่อปาก ผ่านคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ผ่านยุคหนึ่งสู่อีกยุคหนึ่งต่อๆ กันมาจากประสบการณ์ส่วนตัวและความเห็นของผู้เล่าเหตุการณ์ ที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” (Oral History) เช่น หมอลำ(อีสาน) ค่าวซอ (ล้านนา) รำตัด (ภาคกลาง) เพลงบอก (ภาคใต้) มาดูคำเรียกชื่อกลุ่มคน แต่เดิมคนไทยไม่ได้เรียกชื่อตนเองว่าคน “สยาม” แต่มักเรียกตนเองว่า “ไต” หรือ “ไท” ทั้งในกลุ่มคนเชื้อสาย “ไทน้อย” และ “ไทใหญ่” และอาจมีชื่อเมือง หรือชื่อเฉพาะตามท้าย เช่น ไตลื้อ ไตเขิน (ไตขึน) ผู้ไท ไทดำ ไทขาว ไทแดง คนล้านนา (คนเหนือ) เรียกตนเองว่า “คนเมือง” ในจารึกเขียนว่า “ไทเมือง” [16] เพื่อแยกให้ออกว่าเป็นคนเมืองหรือ “คนดอย” เพราะพื้นที่ภาคเหนือจะมีกลุ่มชนที่อยู่คนภูเขาเรียกคนดอย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ชาวเขาเผ่าต่างๆ (9 เผ่า) ส่วนคนลาว และคนอีสาน ก็ไม่เรียกตัวเองว่าลาว สมัยโบราณคนลาวก็เรียกตัวเองว่า “ไท” (อ้างจากจิตร ภูมิศักดิ์) [17] คนลาวมีเชื้อสาย สายสัมพันธ์กันคนล้านนามาแต่โบราณ และคนลาวมีสายสัมพันธ์กับคนอีสานที่แยกกันไม่ออก คำว่า “เลา” (ออกเสียงคล้ายลาว) ที่เรียกกันนั้น จะใช้แทนสรรพนามบุคคลที่สามหมายถึง “ท่าน” ว่าเป็นพวกเดียวกัน จากการตรวจสอบคำเรียกชื่อที่คนต่างชาติเรียกคนไทยนั้น ทำให้ทราบว่า คนเขมรเรียกคนไทยว่า “เซียม” หรือ “ซีม” ปัจจุบันก็ยังเรียกคำนี้อยู่ ซึ่งก็คือคำว่า “เสียม” ในจารึก ส่วนคำว่า “ขอม” ใช้เรียกอักขระโบราณ “เขมร” เรียกชาวกัมพูชา “กัมพูชา” เรียกชื่อประเทศ ปัจจุบันก็ยังใช้คำเรียกนี้อยู่ ยังเป็นถ้อยคำศัพท์ที่จำกัดความหมายเป็นที่เข้าใจกันดีในหมู่วงชาวบ้านคนไทย ที่นักวิชาการบางท่านเชื่อว่า[18] ขอมกับสยามคือคนเดียวกัน

คำว่า พระนคร, นครวัด, เสียมราฐ (เสียมเรียบ), เสียมล้อ เป็นคำเรียกชื่อเมืองเสียมราฐในประเทศกัมพูชา ที่ยังอยู่ในปัจจุบัน ย้อนอดีตเดิมนั้นประเทศกัมพูชาเป็นประเทศราชของไทยมานานตั้งแต่สมัยอยุธยา นานร่วมกว่า 600 ปี และในสมัยรัชกาลที่ 5 ไทยเพิ่งเสียดินแดนมณฑลบูรพา[19] (พระตะบอง,เสียมราฐ,ศรีโสภณ) ในส่วนของนครวัด (คือเมืองเสียมราฐ หรือ เสียมเรียบ : Siem Reap) ให้แก่ฝรั่งเศสเมื่อปี 2449 นี่เอง

คำว่า ชนชาติ, ชนเผ่า, เชื้อชาติ, ชาติพันธุ์, อาณาจักร, ประเทศ, ราชอาณาจักร, สัญชาติ, เขตแดน, เขตพื้นที่ปกครอง, เมือง เป็นกลุ่มคำที่นำมาใช้จำแนกแยกแยะกลุ่มคนในแต่ละพื้นที่ให้ละเอียดเฉพาะยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยได้ผ่านความเห็นชอบจากเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง 38 กลุ่ม และเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วในปี 2557[20] ตาม “ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง” (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples) [21] รับรอง “ชาติพันธุ์” (Indigenous) ยอมรับในศักดิ์ศรี ความหลากหลายทางเชื้อชาติที่จะไม่ถูกด้อยค่า เอาเปรียบ เลือกปฏิบัติ (Discrimination) ยึดความเท่าเทียมกันของมนุษยชาติ ต่อต้านการค้ามนุษย์ (Human Trafficking) “มรดกทางวัฒนธรรม” (Cultural Heritage) เป็นวัฒนธรรมที่เป็นมรดกตกทอด ทั้งที่จับต้องไม่ได้ และที่จับต้องได้ (Intangible& Tangible) จะได้รับการบรรจุ “ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก” (World Heritage List) [22] ทั้งแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ เหมือนการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรเพื่อแสดงเอกลักษณ์ตัวตนและเจ้าของ

นอกจากนี้ ในทางการเมืองที่มีการแบ่งเป็นรัฐแบบ “รัฐชาติ” (Nation State) ที่หมายถึงการก่อกำเนิดเป็นรัฐสมัยใหม่หลังจากยุคล่าอาณานิยม ทำให้ประเทศ (รัฐชาติ) ต่างๆ ต่างมีอำนาจเป็นรัฐอิสระกันทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกันการเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมถึงการท่องเที่ยวก็ยังมีอยู่ทั่วโลก คนต่างชาติต่างด้าวจึงเคลื่อนย้ายอพยพถิ่น โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายแรงงาน (Migrant) [23] หรือการอพยพหนีภัยต่างๆ เป็นผู้ลี้ภัย (Refugee) [24] มีอยู่ทั่วโลก ความแตกต่างทางสังคมระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงาน ทำให้คนต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านไปขายแรงงานในประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมที่ดีกว่า เป็น “แรงงานต่างด้าว” เช่น แรงงานต่างด้าวสี่สัญชาติในไทย (CLMV) [25]ผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่หนีความยากจน ผู้อพยพชาวอุยกูร์ที่หนีภัยการเมือง หรือ คนไทย (ผีน้อย)ไปขายแรงงานที่เกาหลี ซึ่งเป็นปัญหาเรื่อง “การจดทะเบียนรับรองคนในชาติ” ( Registration) และหรือการให้สัญชาติ (Nationality or Citizenship) ที่มีข้อจำกัดในแต่ละชาติที่ต่างกัน เช่น มีการถอนข้อสงวน (Reservations)[26]ข้อ 7 ของอนุสัญญาสิทธิเด็ก[27] เป็นต้น

มีข้อสังเกตว่า การดำเนินวิถีชีวิตประจำวัน ในเรื่องอาหาร การกิน การแต่งกาย ศิลปิน มวย ประเพณี จำเป็นต้องมีต้นกำเนิดด้วยหรือ เพราะสิ่งเหล่านี้หากเจริญงอกงามก็เป็นวัฒนธรรม แต่อาจไม่มีพลังสูงจนเป็นอารยธรรมเท่านั้น เพราะมันเกิดเอง หรือแลกเปลี่ยน ประยุกต์ ผสมผเสกันไปมาได้ ยกตัวอย่างเรื่องอาวุธ ในสมัยก่อนอาวุธคือ ดาบ หอก แต่เมื่อมีการคิดค้นปืนไฟได้ อาวุธของทหารจึงเปลี่ยนเป็น “ปืน” ทั้งหมดทั่วโลกเหมือนกันหมด ยกเว้นคนป่าที่ยังเป็นชนเผ่าด้อยเจริญ ถือเป็นอารยธรรมของอาวุธปืน เป็นต้น แต่มวยเป็นศิลปะในแต่ละย่าน มีลักษณะเฉพาะไปในแต่ละพื้นที่ ถึงแม้จะอ้างต้นตอแหล่งกำเนิด อ้างรูปแกะสลักโบราณ เป็นตำราบทเรียน ว่าได้พัฒนาสืบทอดต่อๆ กันมา ก็ต้องมีการพัฒนาลักษณะเฉพาะของตนเอง ไม่มีสูตรลับพิเศษ หรือสูตรเฉพาะที่เหมือนกัน กีฬามวยอาศัยทักษะการฝึกฝนเฉพาะตัว ในความได้เปรียบเชิงพละกำลังกายภาพประกอบ อาจจดจำกันมา แล้วมาฝึกฝน หรือคิดสูตรขึ้นมาเองเป็น “นวัตกรรม” (Innovation) ของตนเองก็ได้ 

วัฒนธรรมการสลักหินทับหลังปราสาทขอม ในประเทศไทยถูกขโมยโจรกรรมจากปราสาทไปปรากฏในสหรัฐอเมริกา เมื่อมีการสืบสาวโบราณวัตถุดังกล่าวพบ ก็มีการทวงคืนเพราะเป็นสมบัติของชาติ มิอาจคืนให้แก่เจ้าของอารยธรรมที่ได้ตายหรือสูญพันธุ์ไม่ปรากฏแล้วไม่ เช่นชนชาติขอม (ที่อ้างเป็นเขมรโบราณ) ทับหลังที่ถูกขโมยไป ทับหลังปราสาทกู่สวนแตง[28] (อ.บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์) คืนปี 2513 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ปราสาทพนมรุ้ง[29] (อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์) คืนปี 2531 ทับหลังพระยมทรงกระบือปราสาทหนองหงส์[30] (อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์) ทับหลังพระอินทร์ประทับเหนือหน้ากาลปราสาทเขาโล้น[31] (อ.ตาพะยา จ.สระแก้ว) 2 รายหลังนี้เพิ่งทวงคืนสำเร็จเมื่อปี 2564[32] ซึ่งต่างจากกรณีที่ศาลโลกตัดสินปี 2505 ยึดชาติพันธุ์ให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นสมบัติของกัมพูชา[33] ด้วยคะแนนเสียงเฉียดฉิว 7 ต่อ 5 

 

ว่าเรื่องโบราณวกมาหา “สิทธิ” (Rights) ยาวๆ เขียนให้อ่านกันเล่นๆ เผื่อจะซึมซาบเรื่องวัฒนธรรมโบราณขอม เขมร กับไทยกันบ้าง


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 17 มีนาคม 2566, https://siamrath.co.th/n/431457

[2]ดู อาณาจักรขอม พุทธศตวรรษที่ 11-19, http://www.digitalschool.club/digitalschool/social1_1_1/social1_2/more/page28.php

[3]คลิปนี้กลายเป็นไวรัลที่มีคนดูคลิปจาก 12 ล้าน เป็น 34.7 ล้านวิวในเวลาเพียงไม่นาน

ดู คลิปมิเนอรัล วาตารา , 6 กุมภาพันธ์ 2566, https://youtu.be/kZIalLPEftY & เปิดเนื้อเพลง “Mineral Water” เพลงไวรัล น้องเสื้อชมพูเต้นจนจะขิต, tnnthai, 8 กุมภาพันธ์ 2566, 13:40 น., https://www.tnnthailand.com/news/socialtalk/138159/ & คาดดา มีโทตาเรโค ปาป๊าดา เพลงอินเดีย Mineral Water กำลังฮิต Tiktok, nowadays girl, 20 กุมภาพันธ์ 2565, https://intrend.trueid.net/article/คาดดา-มีโทตาเรโค-ปาป๊าดา-เพลงอินเดีย-mineral-water-กำลังฮิต-tiktok-trueidintrend_348319 

[4]เซปักตะกร้อ (sepak takraw) เป็นกีฬาพื้นเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เซปักตะกร้อแตกต่างจากกีฬาที่คล้ายกันของฟุตวอลเลย์ โดยใช้ลูกที่ทำจากหวายและอนุญาตให้ผู้เล่นใช้เท้า, เข่า, หน้าอก และศีรษะเพื่อสัมผัสลูก, วิกิพีเดีย

[5]Teqball (เทคบอล) คิดค้นขึ้นในฮังการีในปี 2014 โดย Gábor Borsányi และ Viktor Huszár นักกีฬาไทย ผลงาน 2 แชมป์ 2 รองแชมป์เอเชี่ยนเทคบอลทัวร์ 2023 ที่ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ระหว่างวันที่ 2-5 มีนาคม 2566

ดู รู้จัก 'เทคบอล' กีฬาความหวังใหม่ของไทย งัดท่าไม้ตายตีลังกาฟาดกระหึ่มเวทีโลก, เดลินิวส์, 13 ธันวาคม 2565, https://www.dailynews.co.th/news/1787519/ & ทำความรู้จักกีฬา เทคบอล Teqball ทีมชาติไทยเก่งแค่ไหน, โดยเทพ สุวรรณ, ทรูไอดี, 7 มกราคม 2566, https://sport.trueid.net/detail/DYpEpwlVwwgB & ช็อค เทคบอลไทยฟาดบราซิลจน หลงมุม บ้าคลั่ง ไทยชนะบราซิล2-1เซต เข้ารอบ4คู่ เต็งแชมป์ อันดับโลกพุ่ง, 3 มีนาคม 2566, https://www.youtube.com/watch?v=Um_iyHppQpA & กระหึ่ม คู่ผสมไทย คว้าแชมป์ สุดจัด เทคบอลไทย ชนะแชมป์โลก ฮังการีขยี้ตา ไม่ถึงปีแซงเรา เข้าชิงทุกคู่, 6 มีนาคม 2566, https://www.youtube.com/watch?v=Zw9iCtYqSW8 & เทคบอลไทยผงาดคว้าแชมป์ ชาวโลกอึ้ง ถือกำเนิดดาวดวงใหม่ พระเจ้าส่งเทคบอลมาให้พวกเขา คอมเมนต์ชาวโลก, 6 มีนาคม 2566, https://www.youtube.com/watch?v=wi1-mzvIe5A & ทีมนักกีฬาเทคบอลหลังเสร็จสิ้นการแข่งขันดูไบเอเชี่ยนเทคบอลทัวร์ 2023, 15 มีนาคม 2566, https://www.facebook.com/TeqballAssociationofthailand/posts/pfbid02BZTZZZKTs9mNNUkJC51sGpscVUaR2cZpFPx459mh6qHbcFAbQMQdENVDszqujWf3l 

[6]สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) ยังยืนยันว่า 6 ชาติสมาชิกอิฟมาคือ สิงคโปร์, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และไทย จะไม่ร่วมแข่งขันกุน ขแมร์ ในครั้งนี้ ทำให้เหลือเพียง ลาว, เมียนมา, บรูไน และติมอร์ เลสเต ที่ต้องรอท่าทีต่อไป และถ้ามีนักกีฬาลงแข่งขันไม่ถึง 4 ชาติ ก็จะไม่สามารถจัดการแข่งขันได้

ดู เอ๊ะยังไง “ส.กุน ขแมร์” แถลงโต้ “ส.มวยไทยโลก” ยันมี 6 ชาติคอนเฟิร์มบู๊ “กุน ขแมร์”, ไทยรัฐ, 14 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.thairath.co.th/sport/fightsport/muaythai/2629280 & "กุน ขแมร์" ก็เอาไปแล้ว "กัมพูชา" เคลมอีกหนึ่งกีฬาเป็นต้นตำรับนอกจาก "มวยไทย", ไทยรัฐ, 31 มกราคม 2566, https://www.thairath.co.th/sport/others/2616765 & จาก “กุน ขแมร์” ถึง “เคลมโบเดีย” กัมพูชาด้อยค่าดูถูกชาติตัวเอง, ผู้จัดการออนไลน์, 28 มกราคม 2566, https://mgronline.com/daily/detail/9660000008672 & ชมคลิป “โบกาตอร์” มวยเขมร ที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นรากฐานของ “มวยไทย”, ไทยรัฐ, 25 มกราคม 2566, https://www.msn.com/th-th/sports/other/ชมคลิป-โบกาตอร์-มวยเขมร-ที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นรากฐานของ-มวยไทย/ar-AA16HKe4

[7]นครวัดและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงในจังหวัดเสียมราฐ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกในนาม "เมืองพระนคร (อังกอร์)" ใน ค.ศ1992 (พ.ศ.2535) ปราสาทนครวัดรูปแบบศิลปะในสมัยคลาสสิคเรียกว่า “ศิลปะนครวัด” นครวัดสร้างโดยพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 แห่งเมืองยโสธรปุระ (ในปัจจุบันคือเมืองพระนคร) ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 (พุทธศตวรรษที่ 17) นครวัดเป็นหมู่ปราสาทในประเทศกัมพูชาและเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก พื้นที่รวมกว่า 162.6 เฮกเตอร์ (1.6 ล้านตารางเมตรหรือ 402 เอเคอร์) แรกเริ่มสร้างขึ้นเป็นเทวลัยในศาสนาฮินดูเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุ ก่อนจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงกลายเป็นวัดในศาสนาพุทธในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12, อ้างจากวิกิพีเดีย 

[8]รัชกาลสูรยวรรมันที่ 2 (แต่เอกสารไทยมักเรียก "สุริยวรมันที่ 2" ครองราชย์ ค.ศ.1113–1145/50 หรือ พ.ศ.1656-1688/1693) บังเกิดความก้าวหน้าทางศิลปะและสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง สูรยวรรมันทรงถือฮินดูนิกายไวษณพ (ถือพระวิษณุเป็นใหญ่) ต่างจากพระมหากษัตริย์เขมรพระองค์อื่นๆ ที่ถือไศวนิกาย (ถือพระศิวะเป็นใหญ่) พระองค์จึงสร้างนครวัดถวายพระวิษณุในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 แต่นครวัดมาสำเร็จเอาเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว (ค.ศ.1145/1150 หรือ พ.ศ.1688/1693), อ้างจากวิกิพีเดีย

& เรื่องนี้ต้องย้อนประวัติศาสตร์ไปในสมัยอาญาจักรขอมโบราณ ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ดู จนล่วงพุทธที่ 13 อาณาจักรเจนละได้ถูกกษัตริย์ชวาจากราชวงศ์ไศเลนทร์แห่งอาณาจักรชวาภาคกลางรุกราน สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 นั้นอาณาจักรเจนละนั้นได้แตกแยกเป็นพวกเจนละบกคืออยู่ลุ่มน้ำศตวรรษโขงตอนใต้ และ พวกเจนละน้ำ อยู่ในดินแดนลาวตอนกลาง ส่วนของเจนละน้ำนั้นถูกชวายึดครองได้ นอกจากนี้อาณาจักรชวายังได้นำตัวรัชทายาทคือ เจ้าชายวรมันที่ 2 ไปเป็นตัวประกันที่อาณาจักรชวาอีกด้วย ซึ่งเป็นระบบที่เรียกว่าตัวจำนำเพื่อรับรองความจงรักภักดีของอาณาจักรขอม พ.ศ.1250-1350 ยุคนี้ได้มีการสร้างศิลปขอมแบบกำพงพระขึ้น อาณาจักรขอมนั้นล่มสลายมาจนถึงรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 หรือพระเจ้าปรเมศวร พ.ศ.1345-1393 (หรือพระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 แต่เอกสารไทยมักเรียก "สุริยวรมันที่ 2") พระองค์ได้รวบรวมพวกเจนละบกและพวกเจนละน้ำเป็นอาณาจักรใหม่รวมเป็นปึกแผ่น และขนานนามใหม่ว่า เมืองกัมโพชน์ตะวันออก โดยแยกตัวมาจากอาณาจักรลโวทย หรือละโว้ หรือปัจจุบันเรียกว่า ลพบุรี ซึ่งมีกัมโพชน์อยู่แล้ว โดยรับเอาลัทธิไศเลนทร์หรือ เทวราชาเข้ามาทำการสถาปนาอาณาจักรใหม่ขึ้น โดยทำการสร้างราชธานีขึ้นใหม่หลายแห่งและสร้างปราสาทหินหรือเทวาลัย เป็นการใหญ่ ซึ่งมีเหตุการณ์ย้ายราชธานีขึ้นหลายครั้ง จนกว่าจะลงตัวเป็นนครวัตนครธมในที่สุด พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงเลือกตั้งราชธานีของเมืองกัมโพชน์ในบริเวณทางเหนือของทะเลสาบเขมร พระองค์ทรงขยายพระราชอำนาจขยายเข้าไปถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำ บริเวณอีสานใต้ของประเทศไทยด้วย

อ้างจาก อาณาจักรขอม พุทธศตวรรษที่ 11-19, อ้างแล้ว 

[9]เหตุเกิดต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้ามังระเมื่อคราวพิธียกฉัตรใหญ่ปฏิสังขรณ์และก่อเสริมพระเจดีย์ชเวดากองในเมืองย่างกุ้งปี 2317 โดยขนมต้ม นักมวยดีมีฝีมือตั้งแต่ครั้งกรุงเก่าชนะนักมวยพม่าถึง 10 คน ดู มวยไทยสร้างประวัติศาสตร์ ชกหน้าพระที่นั่งกษัตริย์พม่า 9 คน 10 คนสู้ไม่ได้ โดยโรม บุนนาค, ผู้จัดการออนไลน์, 17 มีนาคม 2564, 09:41 น., https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000025573 

[10]ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวมือเปล่าปัจจุบันที่สำคัญ คือ 1. มวยไทย 2. คาราเต้ 3. ยูโด 4. Mixed Martial Arts (MMA) 5. คราฟ มากา (Krav Maga) 6. บราซิลเลี่ยน ยูยิสสู (Brazilian Jiu-Jitsu) 7. เทควันโด้ 8. หวิงชุน (wing chun)

ดู รวมศิลปะการต่อสู้ เทคนิคป้องกันตัวด้วยมือเปล่า By Tonkit, 9 มิถุนายน 2561, https://tonkit360.com/25334

[11]มวยคาดเชือกพม่า และเหว่ หรือ เลทเหว่ย หรือ มวยพม่า เป็นกีฬาต่อสู้แบบปะทะเต็มรูปแบบจากพม่าที่ใช้การโจมตีแบบยืนร่วมกับเทคนิคการกอดปล้ำที่หลากหลาย มวยพม่าแตกต่างจากมวยไทย คือ การออกอาวุธ มวยไทยใช้ศาสตร์แห่งอาวุธ 8 หมัด เท้า เข่า และศอก แต่มวยพม่ามี 9 ศาสตราวุธ เพิ่มการใช้ศีรษะ 

ดู มวยพม่าหรือ เลทเหว่ย เป็นศิลปะการต่อสู้โบราณของเมียนมา, รอบโลก by กรุณา บัวคำศรี, PPTV HD ช่อง 36, 13 พฤษภาคม 2563, https://www.facebook.com/1605539766331421/posts/2636740693211318/

& “เลทเหว่ย” มวยพม่าสู่สากล ร้อยเรื่องรอบโลก, YouTube by กรุณา บัวคำศรี, 12 พฤษภาคม 2563, https://www.youtube.com/watch?v=sydhmU-O9Ak 

[12]ศิลปะการต่อสู้ “ปันจักสีลัต” (Pencak silat) เป็นคำที่มีความหมายกว้าง ใช้เรียกศิลปะการต่อสู้ของอินโดนีเซียจำพวกหนึ่ง และประเทศเพื่อนบ้านของอินโดนีเซียมักใช้คำนี้เรียกการแข่งขันสีลัตแบบมืออาชีพ ปันจักสีลัตนี้เป็นการต่อสู้แบบเต็มตัวรูปแบบหนึ่งซึ่งประกอบด้วยการฟาดฟัน การยื้อยุด และการจับโยน นอกเหนือไปจากการใช้อาวุธ, วิกิพีเดีย

[13]การตบมะผาบคือการใช้มือทั้งซ้าย-ขวาตบไปตามร่างกายทุกส่วนที่สามารถทำได้และเกิดมีเสียงดังเพียะพะคล้ายกับเสียงมะผาบหรือประทัดเล็กแตกเป็นชุดๆนั่นเอง แต่ต้องมีลีลาท่าทางให้เป็นเจิง(ชั้นเชิง)ที่งดงามหรือพร้อมที่จะเข้าต่อสู้กัน ลีลาท่าทางของการตบมะผาบดังกล่าวเป็นลีลาท่าทางที่พ่อครูแต่ละคน แต่ละสำนักจะคิดค้นขึ้นจนเป็นที่นิยมของผู้คนทั่วไป แต่ที่แน่ๆคือพ่อครูสมัยก่อนท่านได้คิดท่าทางต่อสู้ไว้แล้วในการออกรบ การป้องกันตัวของลูกผู้ชาย

ดู ตบมะผาบฟ้อนเจิง โดย Nikhom Phrommathep, 10 ตุลาคม 2550, 20:14 น., https://www.gotoknow.org/posts/137169 

[14]การบันทึกของคนโบราณในสมุด แต่เดิมมีการบันทึกในใบลานของพระสงฆ์ หรือ สมุดข่อย หรือวัสดุอื่นที่มิใช่แผนหินตามผนังกำแพง เช่น ไม้ไผ่ แผ่นทองคำ เพราะมนุษย์จะมีการบันทึกเมื่อมีตัวอักษรใช้ เป็นความเจริญทางด้านภาษาเขียน 

พับสา หรือ ปั๊บสา เป็นสมุดที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อบันทึกเรื่องราวจนกลายเป็นเอกสารของชาวล้านนา ที่มีความสำคัญรองจากคัมภีร์ใบลาน พับสา ทำขึ้นจากต้นปอสา หากทำจากต้นข่อย จะเรียกชื่อว่า สมุดข่อย ในการทำสมุดมักทำความหนาและความกว้างให้เพียงพอต่อการบันทึกข้อความ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ 1. พับสาลั่น 2. พับสาก้อม 3. พับหัว 

ดู เครื่องมือเครื่องใช้ในพิธีกรรม ตอน พับสา, หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ เชียงใหม่ กรมศิลปากร, https://www.finearts.go.th/chiangmaiarchives/view/34609-เครื่องมือเครื่องใช้ในพิธีกรรม-ตอน-พับสา#:~:text=พับสา%20หรือ%20ปั๊บสา,เพียงพอต่อการบันทึกข้อความ

สมุดข่อย คือ หนังสือโบราณที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ด้วยภูมิปัญญาและความสามารถของบรรพบุรุษไทย โดยการนำเอาวัสดุที่มีอยู่ในธรรมชาติ คือเปลือกของต้นข่อยมาทำเป็นแผ่นกระดาษตามกรรมวิธี แล้วนำเอาด้านกับด้านมาต่อกันด้วยกาวติดกันเป็นพืด สำเร็จรูปเป็นผืนยาวเท่าที่ผู้ใช้ต้องการจะใช้ในการบันทึกข้อมูล แล้วพับทบกลับมาเป็นเล่มสมุด ลักษณะของเล่มสมุดข่อยมีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว ไม่เย็บเป็นเล่มมีสันปกดังเช่นหนังสือที่เห็นกันทั่วไปในปัจจุบัน แต่เป็นเล่มสมุดประกอบด้วยรูปทรงเป็นปึกหนา มีด้านกว้างและด้านยาวเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ดู สมุดข่อย : ทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย, โดยสอนสุพรรณ, ในโอเคเนชั่น, 16 สิงหาคม 2550, https://www.oknation.net/post/detail/634d2cfa7a407f6da93a4b4e 

[15]จากการสำรวจโลกโซเซียลพบความเห็นต่างๆ ที่เป็นความเห็นต่างและการด้อยค่ามากมาย โดยเฉพาะจากโลกโซเซียลของชาวกัมพูชา

[16]คำว่า “ลาว” มาจากไหน “คนเมือง” ภาคเหนือ-ล้านนา ถูกเรียกว่าลาวก่อนคนอีสาน-สปป.ลาว, โดยเอื้อ มณีรัตน์, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2541(เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2562), silpa-mag, เผยแพร่ วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2565, https://www.silpa-mag.com/history/article_41815#:~:text=คนไทยภาคกลางใน,เข้า%20ทักแทน%20ก่อนนา

[17]จิตร ภูมิศักดิ์ : ลาวก็เรียกตัวเองว่า ไท ในเมื่อก่อน, The Isaander, 27 มกราคม 2565, https://www.theisaander.com/post/220127laoandthai#:~:text=โดย%20จิตร%20อธิบายว่า%20ใน,มือขึ้นทะเบียนเป็นแรงงาน” 

[18]แต่มีนักวิชาการประวัติศาสตร์หลายคน เช่น ชาญวิทย์ เกษตรสิริ, ประเสริฐ ณ นคร, ไมเคิล ไรท์ และ สุจิตต์ วงษ์เทศ เห็นว่าขอมกับเขมรคือคนกลุ่มเดียวกัน (อ้างจากวิกิพีเดีย) แต่มีผู้เขียนบางท่านให้ความเห็นว่า ขอมคือไทย ดู 

ขอม คือไทย ไม่ใช่เขมร: ข้อคิดเห็นกรณีปราสาทนครวัด พระวิหาร และพิมาย โดย ทวิช จิตรสมบูรณ์, ผู้จัดการออนไลน์, 13 กรกฎาคม 2552, 09:31 น., https://mgronline.com/daily/detail/9520000078678 

[19]วันที่ 23 มีนาคม 2449 (นับอย่างตะวันตก คือปี ค.ศ.1906) สยามและฝรั่งเศสตกลงทำสัญญาฉบับหนึ่งร่วมกัน ใจความสำคัญในสัญญามีผลให้สยามได้จังหวัดตราดคืน แต่ต้องสูญเสียเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศส ต่อมาในวันที่ 21 มิถุนายน 2449 สัญญาฉบับนี้ได้รับการอนุมัติ (หรือที่เรียกให้สัตยาบัน-ผู้เขียน) โดยรัฐสภาฝรั่งเศส ครั้นต่อมาในวันที่ 6 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ทางการของทั้งสองฝ่ายจึงรับและส่งคืนดินแดนให้แก่กันอย่างเป็นทางการ อันเป็นสาเหตุให้ “นครวัด” ซึ่งอยู่ ณ เมืองเสียมราฐต้องหลุดลอยไปด้วย ดู วารสาร “นักล่าอาณานิคม” ตีแผ่สัญญารัชกาลที่ 5 ทำไมสยามสละ “นครวัด”, โดยไกรฤกษ์ นานา, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2549, เผยแพร่วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.silpa-mag.com/history/article_31756

[20]ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples) โดย มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม, เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย, สิงหาคม 2559, https://www.iwgia.org/images/publications/new-publications/UN_Declaration_on_the_RIghts_of_Indigenous_Peoples_Thai.pdf

[21]ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (United Nations Declaration on the Rights of Indigenous Peoples) โดย มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม, เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย, สิงหาคม 2559, อ้างแล้ว

[22]ขั้นตอนและวิธีการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติเพื่อให้บรรจุไว้ใน "บัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลก" (World Heritage List) จะกระทำได้โดยรัฐบาลแห่งประเทศภาคี สมาชิกผู้มีอำนาจอธิปไตยเหนือแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาตินั้นๆ เท่านั้น

ดู อนุสัญญามรดกโลก, http://164.115.22.96/convention.aspx#:~:text=ด้านบนสุด-,ขั้นตอนและวิธีการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดก,ทางธรรมชาตินั้นๆ%20เท่านั้น

[23]Migration หรือการอพยพย้ายถิ่น ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการย้ายแรงงาน (Migrant Workers, Migrant Labour) หรือที่เรียกว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ (Trans Border Labor) แบ่งการอพยพย้ายถิ่นได้เป็น 3 กรณี คือ (1) การย้ายถิ่นเร่ร่อนเพื่อยังชีพ หมายถึงการย้ายถิ่นชั่วคราวในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับถิ่นอาศัยเพื่อออกไปหาแหล่งอาหารสำหรับเลี้ยงสมาชิกในครัวเรือน การย้ายถิ่นแบบนี้สามารถพบได้ในสังคมชนเผ่า หรือรัฐ หรือการย้ายถิ่นของแรงงานเพื่อไปหางานทำในเขตอุตสาหกรรม (2) การอพยพเป็นวงจร หมายถึงการย้ายถิ่นของประชากรที่มีความสัมพันธ์กับสังคมสองแบบ เช่น สังคมเมืองกับสังคมชนบท เช่นการย้ายถิ่นของชาวแอฟริกันเขตกึ่งทะเลทราย (3) การย้ายถิ่นที่อยู่ใหม่อย่างถาวร หมายถึงการย้ายถิ่นจากที่เดิมไปอยู่ที่ใหม่ เช่น การย้ายถิ่นไปอยู่ในอเมริกาของคนกลุ่มต่างๆ

ดู คำศัพท์ทางมานุษยวิทยา, โดยดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ, https://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/glossary/88 & กระแสการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ: เข้าใจ เข้าถึง และเป็นธรรม โดย ดร.เสาวณี จันทะพงษ์, เพรงเพรา สิงหพงษ์, กานต์ชนิต เลิศเพียรธรรม ใน MPG Economic Review, 7 สิงหาคม 2561, 

https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_7Aug2018.pdf 

[24]ผู้ลี้ภัย (Refugee) หมายถึงบุคคลที่อยู่นอกประเทศต้นกำเนิดหรือประเทศที่มีถิ่นฐานประจำ เพราะเขาผู้นั้นประสบกับภัยอันเกิดแต่การตามล่า การกดขี่ด้วยเหตุทาง เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ ความเห็นทางการเมือง หรือ การเป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมที่ถูกตามล่า บางครั้งอาจเรียกผู้ลี้ภัยว่า ผู้ขอที่ลี้ภัย จนกว่าจะได้รับการยอมรับสถานภาพของผู้ลี้ภัย, วิกิพีเดีย

[25]แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายต้องขึ้นทะเบียนเข้าระบบจ้างงานถูกต้อง ตามมติ ครม. 5 กรกฎาคม 2565 เห็นชอบให้คนต่างด้าว 4 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ยื่นขออนุญาตทำงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่วันที่ 1-15 สิงหาคม 2565 

[26]ข้อสงวน (reservations)หมายถึง การที่รัฐทำข้อความฝ่ายเดียว (a unilateral statement) ขณะที่ลงนาม ให้สัตยาบัน การยอมรับ หรือการภาคยานุวัตรในสนธิสัญญาเพื่อกันตนเอง (exclude) ออกจากผลทางกฎหมายของข้อกำหนดบางข้อ หรือปรับ (modify) ผลทางกฎหมายของข้อกำหนดบางข้อ ของสนธิสัญญาที่ได้แสดงความยินยอมผูกพัน ในกรณีสนธิสัญญาทวิภาคี (a bilateral treaty) หรือสนธิสัญญาที่กระทำโดยรัฐเพียงสองรัฐ การทำข้อสงวนถือเป็นข้อเสนอเพื่อแก้ไขสนธิสัญญา

ดู เอกสารประกอบคำบรรยายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองและคดีอาญา, บทที่ 3 กฎหมายว่าด้วยสนธิสัญญา, 1/2555, อ. กัญญา หิรัณย์วัฒนพงศ์, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554, https://www.law.cmu.ac.th/law2011/journal/e1475222602.doc#:~:text=ข้อสงวน%20หมายถึง%20การ,กรณีสนธิสัญญาทวิภาคี%20(a%20bilateral

[27]ประเทศไทยได้ถอนข้อสงวนข้อ 7 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child-CRC) ซึ่งเป็นข้อบทเกี่ยวกับสิทธิของเด็กที่จะได้รับการจดทะเบียนทันทีภายหลังแรกเกิด สิทธิที่จะมีชื่อนับตั้งแต่แรกเกิด สิทธิที่จะได้รับสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง ตลอดจนสิทธิที่จะได้รู้จักและได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน โดยการ ถอนข้อสงวนดังกล่าวของประเทศไทยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2553 ซึ่งเป็นวันที่สำนักเลขาธิการสหประชาชาติได้รับตราสารถอนข้อสงวนจากประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการถอนข้อสงวนดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยมีกรอบกฎหมาย นโยบาย และความก้าวหน้าในการดำเนินการตามข้อ 7 ของอนุสัญญาฯ เหมาะสมเพียงพอที่จะถอนข้อสงวนได้แล้ว ที่สำคัญได้แก่ (1) พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2551 โดยเฉพาะมาตรา 23 ที่ได้คืนสัญชาติไทยให้แก่บุคคลที่ถูกกระทบจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าว (2) พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร ฉบับที่ 2 พ.ศ.2551 ที่กำหนดให้จดทะเบียนเกิดให้แก่เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งเป็นการบันทึกความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับบิดามารดา ซึ่งจะเป็นหลักฐานสำคัญที่ประเทศที่บิดาและ/หรือมารดาถือสัญชาติอยู่ จะยอมรับให้เด็กได้รับสัญชาติตามบิดาหรือมารดาโดยหลักสืบสายโลหิต (3) ยุทธศาสตร์จัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล พ.ศ.2548 ซึ่งกำหนดให้กลุ่มที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานตามข้อมูลที่ได้ทำการสำรวจ ให้ได้รับสถานะบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีผลให้บุตรที่เกิดในประเทศไทยได้รับสัญชาติไทย และ (4) นโยบายพิสูจน์สัญชาติของแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้บุตรของแรงงานต่างด้าว ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติได้สัญชาติตามบิดามารดาต่อไป

การถอนข้อสงวนข้อ 7 ของอนุสัญญาสิทธิเด็ก ถือเป็นการดำเนินการตามคำมั่นด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยได้ให้ไว้กับประชาคมระหว่างประเทศเมื่อได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วาระปี 2553-2556 ทั้งนี้ อนุสัญญาฯ มิได้กำหนดให้เด็กทุกคนต้องได้รับสัญชาติของประเทศที่เด็กเหล่านี้เกิดหรืออาศัยอยู่ ดังนั้น การถอนข้อสงวนข้อ 7 ของอนุสัญญาฯ จึงมิได้มีผลผูกพันให้ประเทศไทยต้องให้สัญชาติไทยแก่เด็กทุกคนที่เกิดหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทย อย่างไรก็ดี อนุสัญญาฯ กำหนดให้รัฐภาคีควรพยายามดำเนินการเพื่อให้เด็กได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามข้อ 7 ของอนุสัญญาฯ รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง ซึ่งประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาฯ ภายใต้กรอบกฎหมายและนโยบายที่ประเทศไทยมีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการประกันสิทธิของเด็กภายใต้ข้อบทดังกล่าวของอนุสัญญาฯ

NB : ผู้เขียนเห็นว่า ประเด็นปัญหาปัจจุบันคือ ตาม มาตรา 7 ทวิวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติที่แก้ไขใหม่ล่าสุด ทำให้มีผลว่าเด็กที่เป็นบุตรของบิดามารดาต่างด้าวที่เกิดไทย และได้รับสูติบัตร (ทร.3, ทร.03 และ ทร.031) จะไม่ได้รับสัญชาติไทย แต่จะได้รับสัญชาติต่อเมื่อมีคุณสมบัติครบ มิได้ให้สัญชาติเป็นกรณีทั่วไป

ดู ประเทศไทยถอนข้อสงวนข้อ 7 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก, RYT9, กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ ข่าวกระทรวงการต่างประเทศ, 17 มกราคม 2554, 07:50 น., https://www.ryt9.com/s/mfa/1068162 

[28]ทับหลังปรางค์กู่สวนแตง จ.บุรีรัมย์ เป็นทับหลังหินทรายแกะสลักรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ อายุ กลาง-ปลายคริสต์ศตวรรษที่12 อยู่เขตอ.พุทไธสง (สมัยนั้น) จ.บุรีรัมย์ ถูกคนร้ายขโมยไปในวันที่ 15 เมษายน 2507 และไปอยู่ใน collection ของนาย Avery Brundage ท่านอาจารย์ ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล พบภาพทับหลังนี้ใน cataloque ที่ตีพิมพ์โดย เอเซียโซไซตี้ ที่รวมศิลปวัตถุของนาย Brundage ที่มอบให้ De Young Museumที่ San Francisco เท่าที่ทราบอ.หม่อมเจ้าฯได้มอบ cataloque นี้ แก่ท่านอธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น นาย ธนิต อยู่โพธิ์ เพื่อการติดตามทวงคืน ซึ่งท่านอธิบดีธนิต ก็ได้ส่งจดหมายทวงคืนอย่างเป็นทางการ และมีการเจรจากันอยู่อย่างยาวนาน สุดท้าย นาย Brundage ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานกรรมการโอลิมปิกโลก ได้คืนทับหลังปราสาทกู่สวนแตงนี้ คืนรัฐบาลไทย ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2513 ในขณะที่ นาย Brundage ได้มาร่วมในพิธีเปิดการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งแรก ที่จัดที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันทับหลังปราสาทกู่สวนแตงนี้ ได้ถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร

ดู เรื่องที่ คนไทยไม่ค่อยรู้, ในเฟซบุ๊ก, สำนึก 300 องค์, 10 พฤษภาคม 2563, https://www.facebook.com/459284497610438/photos/เรื่องที่คนไทยไม่ค่อยรู้เกือบ-50-ปีที่แล้วไทยเคยได้รับคืน-ทับหลังนารายณ์ฯ-ของปรา/1415791868626358/ 

& ทับหลังปราสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้นกลับคืนสู่ประเทศไทย (The Return of the Lintels from Prasat Nong Hong and Prasat Khao Lon in Thailand), โดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2564, https://www.finearts.go.th/thailandmuseum/view/26412-ทับหลังปราสาทหนองหงส์-และปราสาทเขาโล้นกลับคืนสู่ประเทศไทย

[29]ย้อนรอยไทม์ไลน์ ทวงคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ หลังถูกโจรกรรมร่วม 30 ปี, นิตยสารสารคดี ธันวาคม 2531 และ มีนาคม 2531, https://www.sarakadeelite.com/arts_and_culture/narai-bantomsin-lintel/

[30]ย้อนรอยทวงคืน 3 ทับหลัง “พระนารายณ์-พระอินทร์-พระยม”, thestorythailand, โดยสมชัย อักษรารักษ์, 29 พฤษภาคม 2564, https://www.thestorythailand.com/29/05/2021/27719/ 

[31]ย้อนรอยทวงคืน 3 ทับหลัง “พระนารายณ์-พระอินทร์-พระยม”, thestorythailand, โดยสมชัย อักษรารักษ์, 29 พฤษภาคม 2564, อ้างแล้ว 

[32]แกะรอยจดหมายลับ กุญแจสำคัญ ทวงคืนทับหลัง จากอเมริกาสู่ไทย โดยนายแว่นสีชา, ใน Sarakadee Lite หน้าที่ 2, https://www.sarakadeelite.com/arts_and_culture/ancient-lintels-returned-to-thailand/ 

[33]วันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกตัดสินด้วยคะแนนเสียง 9 ต่อ 3 ให้ตัวปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา และคะแนนเสียง 7 ต่อ 5 ตัดสินว่า ไทยต้องคืนวัตถุสิ่งประติมากรรม แผ่นศิลาส่วนปรักหักพังของอนุสาวรีย์รูปหินทราย เครื่องปั้นดินเผาโบราณ และปราสาทหรือบริเวณเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชา ดู 15 มิถุนายน 2505-ศาลโลกตัดสินให้ ‘ตัวปราสาทพระวิหาร’ เป็นของกัมพูชา โดย THE STANDARD TEAM, 15 มิถุนายน 2564, https://thestandard.co/onthisday15062505-2/ 

หมายเลขบันทึก: 711982เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2023 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2023 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท