ชีวิตที่พอเพียง  4405. สอนหลานให้เป็นคนดี


 

หนังสือ สอนเด็กให้เป็นคนดี ที่ออกเผยแพร่ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๗  น่าจะได้ทำประโยชน์แก่ เด็ก พ่อแม่ และสังคมไทย พอสมควร 

ค่ำวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๕   ระหว่างนั่งรับประทานอาหารที่ร้านเจ๊ไข่ กัน ๔ คน    คือคุณย่าอมรา  ลูกชายวิจักขณ์   หลานสาวเยเช จินญาณา    ผมก็ได้โอกาสสอนหลานให้เป็นคนดี   คือให้รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนอื่น   

การสอนเด็กหรือวัยรุ่นสมัยนี้ต้องหาจังหวะที่เหมาะสม    คือช่วงอารมณ์ที่เขาสนใจ อยากรู้   

หลังกินอาหารที่แต่ละคนชอบ (เน้นความชอบของหลานสาวและลูกชาย   เพราะผมกินง่าย และภรรยาบอกไม่ได้แล้ว)   ที่ช่วยให้สารสุข (endorphin) หลั่ง   เราก็คุยกันเรื่องอนาคตของหลานสาวอายุย่าง ๑๕    ที่มีแผนจะไปเรียนภาคฤดูร้อนที่นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา    โดยไปอยู่กับคุณยายเล็ก (น้องสาวของคุณยายผู้ล่วงลับ)   เตรียมหาลู่ทางไปเรียน High School ในปี 2024   

เราคุยกันว่า เยเช อยากทำอะไรในชีวิต    เป็นครั้งแรกที่ผมพบว่าเธอแสดงความเป็นผู้ใหญ่ มีความ (อยาก) เป็นตัวตนของตนเอง     เราคุยกันเรื่องลูกสาวคนเล็ก (มุขยา  - ใต้) ที่ขณะนี้เป็น CEO ของ SCB 10X  ที่ลูกชายบอกลูกสาวของเขาว่าความมุมานะในการเรียนของใต้นำสู่ความสำเร็จในชีวิตอย่างไร    เห็นได้ชัดเจนว่า ตาของเยเชเป็นประกาย    นำสู่การพูดคุยของลูกชาย เรื่องการเรียนของคนในครอบครัวผมที่จบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสองคน (แม่ของเยเชก็จบจากฮาร์วาร์ด)   ที่น่าจะช่วยกระตุ้นให้เยเชเห็นคุณค่าของการตั้งใจเรียน   

สอนหลานให้เป็นคนดีแบบไม่สอน

คือให้เขาได้คิดเอง    ว่าตนเองอยากทำอะไรในชีวิต    จะมีชีวิตที่ดี มีความสุขและความสำเร็จได้อย่างไร   ให้เห็นว่าไม่มีใครบันดาลอนาคตของเราได้   เราต้องสร้างอนาคตของตนเอง                

ระหว่างนั้นมีคนเดินมาขายถั่วลิสงต้ม    ผมซักถามแล้วซื้อ ๓ ถุง เป็นเงิน ๕๐ บาท    ลูกชายถามว่าซื้อทำไมมากมาย    ผมตอบว่าเพื่อให้เยเชเห็นว่าคนเราต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนอื่น   

ผมบอกเยเชว่า ครอบครัวเรามีฐานะดีกว่าคนทั่วไปมาก    เราเกิดมาโชคดี   คนที่เกิดมาโชคดีต้องรู้จักเอื้อเฟื้อแบ่งปันแก่ผู้ที่อ่อนแอกว่า  แก่ผู้ที่เกิดมาไม่โชคดีเท่าเรา    สังคมจึงจะอยู่กันอย่างมีความสงบสุข   

นอกจากนั้น เราต้องสร้างความเชื่อถือของคนอื่น ว่าตัวเราเป็นคนที่เชื่อถือได้   โดยใช้เรื่องเล่า (narrative / storytelling) เรื่องคุณทวดของเขา นายดำริ พานิช    ที่เมื่อเริ่มทำโรงสี (ข้าว) พรทิพย์ ที่ตำบลท่ายาง อ. เมือง จ. ชุมพร  ต้องยืมเงินจากพี่ภรรยามาลงทุน   แล้วทุน (ที่เป็นเงิน) ก็ยังไม่พอ   จึงต้องใช้ทุนความเชื่อถือในสังคม (social capital) หาวิธีทำธุรกิจจากความน่าเชื่อถือของตน    โดยพัฒนาระบบฝากข้าว   ให้ชาวนานำข้าวมาฝากที่โรงสีในต้นฤดูเก็บเกี่ยว ที่ราคาข้าวต่ำ   รอให้ราคาขึ้นเป็นที่พอใจจึงมาบอกขายและได้รับเงินตามราคาตอนที่ขาย    ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย    คือชาวนาผู้ผลิตข้าว ขายได้ราคาดี    นายดำริ เจ้าของโรงสีมีข้าวมาสีขายโดยยังไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ     

เราคุยกันเรื่องคุณค่าของการสร้างตัวให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ตามตัวอย่างคุณทวดดำริ    และคุณปู่วิจารณ์ ที่ได้รับการสรรหามาทำหน้าที่ ผอ. สกว. คนแรก เพราะความน่าเชื่อถือในความซื่อสัตย์สุจริต และความเป็นคนทำงานเพื่อส่วนรวมไม่ทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง    ไม่ใช่เพราะความเก่ง   ช่วยให้คุณปู่วิจารณ์และครอบครัวมีฐานะทางการเงินดีขึ้น   

ทุนความน่าเชื่อถือ นำสู่ทุนที่เป็นเงินได้    เป็นเส้นทางทางอ้อม ที่มีความยั่งยืนต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ที่ชีวิตของปู่อยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต    

เหตุการณ์เพื่อการเรียนรู้ของหลานเยเชที่ร้านเจ๊ไข่ เกิดขึ้นแบบอัตโนมัติ   ไม่มีการวางแผนมาก่อน    ผมเชื่อว่า เธอจะนำข้อมูลที่ได้รับ ไปใคร่ครวญสะท้อนคิดต่อเนื่องไปอีกนาน    และน่าจะเป็นทุนทางปัญญา ที่เธอจะได้ใช้ในการพัฒนาตนเอง สู่ชีวิตที่ดีและมีความสุข    และที่ผมปรารถนาคือ    เป็นชีวิตที่ทำประโยชน์แก่สังคม มากกว่าที่ตนเอาจากส่วนรวม  ตามปณิธานชีวิตของปู่        

วิจารณ์ พานิช

๕ ม. ค. ๖๖

 

                   

 

หมายเลขบันทึก: 711753เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2023 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2023 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หลานโชคดี ที่มีครอบครัวเป็นคนดีค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท