ผู้นำและภาวะผู้นำกับการบริหารงาน (leaders & leadership and management)


วันก่อนระหว่างการสอบเค้าโครงการวิจัยระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งงานวิจัยของของศึกษาทำเกี่ยวกับภาวะผู้นำวิถีใหม่ อะไรประมาณนี้ 

ระหว่างการสอบก็มีผู้ถามผมในฐานะประธานการสอบครั้งนั้นว่า ‘ผู้นำกับภาวะผู้นำต่างกันอย่างไร’ ซึ่งผมเห็นว่าภถ้าได้นำคำตอบของผมวันนั้นมาบันทึกไว้ใน GotoKnow ก็น่าจะเป็นประโยชน์ และเพื่อมีการถามเรื่องนี้อีกในอนาคต ผมก็จะได้ส่งบทเขียนของผมวันนี้ให้แทนการตอบครับ 

คำตอบแรกก็คือ ผู้นำ เป็นบุคคลที่เป็นผู้นำ ซึ่งอาจจะมีภาวะผู้นำและใช้ภาวะผู้นำในการทำหน้าที่ของตนเอง แต่ภาวะผู้นำเป็นคุณลักษณะและวิธีการนำของบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการดำเนินการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของการนำ 

ผู้นำแบ่งออกเป็นสองแบบคือ ผู้นำโดยตำแหน่ง และผู้นำโดยธรรมชาติ กล่าวคือ ผู้นำโดยตำแหน่งเป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้ง หรือได้รับมอบหมายให้นำหน้าที่เป็นผู้บริหารองค์การ หรือกลุ่มการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น นายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ผู้บริหารสถานศึกษา หรือหัวหน้ากลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนการที่ผู้นำโดยตำแหน่งดังกล่าวจะมีและใช้ภาวะผู้นำใหนการทำหน้าที่ของตนหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของการมีและใช้ภาวะผู้นำครับ 

ส่วนภาวะผู้นำนั้นเป็นสิ่งที่แสดงให้เป็นถึงความสามารถและวิธีการนำของผู้นำ ซึ่งมีความเข้าใจและการอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้หลายแนวคิด เช่น ภาวะผู้นำเชิงคุณลักษณะ​(trait leadership) ภาวะผู้นำเชิงพฤติกรรม (behavioral leadershp) ภาวะผู้นำตามสถานการณ์ (contingency or situational leadership) และภาวะผู้นำแนวใหม่ (new era leadership) เป็นต้น แต่ละแนวคิดก็อธิบายเกี่ยวกันภาวะผู้นำแตกต่างกันไป ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากหนังสือ หรือบทเขียนในเวปต่างๆ ได้

ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายเกี่ยวกับภาวะผู้ตามแนวคิดใด องค์ประกอบที่ทำให้เกิดภาวะผู้นำนั้นมี 4 ตัวคือ ผู้นำ ผู้ตาม เหตุการณ์ และวิธีการนำ 

ผู้นำหมายถึงบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่ในการนำ ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะเป็นผู้นำโดยตำแหน่ง หรือเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ บุคคลเหล่านี้ก็เป็นผู้นทำหน้าที่ในการนำในเหตุการณ์นั้น เช่น เป็นผู้นำประเทศ เป็นผู้นำสถานศึกษา หรือเป็นผู้นำในการเอาตัวรอดในเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นต้น 

ผู้ตาม หมายถึงบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีส่วนร่วมในเหตุกาณ์นั้น เช่น บุคลากรและผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของสถานศึกษา หรือประชาชนของประเทศต่าง ๆ เป็นต้น บุคคล หรือกลุ่มบุคคลเหล่านั้นอาจจะมาอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ ด้วยความบังเอิญ หรือความจำเป็น เช่น กรณีทีมฟุตบอลล์ติดถำนางนอน  หรือมาอยู่ในเหตุการณ์ในฐานะสมาชิกองค์การ เช่น ครู บุคลากร นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนในสถานศึกษา หรือ ประชาชนของประเทศใดประเทศหนึ่ง เป็นต้น ผู้ตามมีส่วนสำคัญของภาวะผู้นำ เพราะการนำจะเกิดขึ้นได้ต้องมีผู้ตาม และการนำจะเป็นแบบไหนอย่างไรขึ้นอยู่กับผู้ตามไม่น้อย เพราะผู้ตามแต่ละคนมีความรู้ มีประสบการณ์ มีทัษะ มีความรู้สึกนึกคิด มีแรงจูงใจ  มีความคาดหวัง ฯลฯ แตกต่างกัน เป็นหน้าที่ของผู้นำที่ต้องเข้าใจและสามารถนำความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ให้สำเร็จครับ 

เหตุการณ์ หมายถึงภาวะการณ์ที่ทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการนำนั้นๆ ต้องมีมาอยู่ในสถานณ์เดียวกัน เช่น ประชาชนของประเทศต่าง ๆ ซึ่งมารวมกันเพราะเกิดในดินแดนแห่งนั้น หรือย้ายมาอยู่ในดินแดนแห่งนั้น หรือบคลากรในองค์การใดองค์การหนึ่งที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง หรือเป็นคนที่สมัครเข้ามาร่วมงาน หรือคนที่องค์การจ้างมาทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งในองค์การนั้น และในสภาวะการณ์นั้นมีสิ่งที่ต้องทำมากมายตามวัตถุประสงค์ของการอยู่ร่วมกัน และการทำหน้าที่ร่วมกันของบุคคลเหล่านั้น ตามความจำเป็นและวัตถุประสงค์ขององค์การ 

วิธีการนำ หมายถึงระบบ กระบวนการ กิจกรรม และแนวทางในการนำที่ผู้นำใช้ในการนำและผู้ตามมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มในแต่ละเหตุการณ์  ส่วนทฤษฎี หรือความพยายามในการทำความเข้าใจ และการนำใช้แนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำทั้ง 4 แบบ คือ  ภาวะผู้นำเชิงคุณลักษณะ​(trait leadership) ภาวะผู้นำเชิงพฤติกรรม (behavioral leadershp) ภาวะผู้นำตามสถานการณ์ (contingency or situational leadership) และภาวะผู้นำแนวใหม่ (new era leadership) นั้นเป็นความพยามของนักวิชาการที่จะอธิบายเกี่ยวกับภาวะผู้นำ และข้อเสนอในการนำแนวทางเหล่านั้นไปใช้ในการนำ และการพัฒนาภวะผู้นำ ซึ่งผู้สนใจสามารถศึกษาและนำใช้ในการนำของตนได้ครับ โดยเฉพาะแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำแนวใหม่นั้นได้เปิดช่องทางในการนำไว้มากมาย และล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ที่ผู้นำพึงศึกษา และนำมาใช้ในการนำของตนได้ครับ 

โชคดีครับ 

สมาน อัศวภูมิ

22 กุภาพันธ์ 2666

หมายเลขบันทึก: 711748เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2023 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2023 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท