ชีวิตที่พอเพียง  4385. วันเดือนเคลื่อนคล้อย


 

ตีห้าวันอังคารที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๕  อุณหภูมิ ๑๘ องศา   ผมนั่งรับลมเย็นที่ระเบียงบ้านปากเกร็ด   มองลอดต้นกล้วยไปเห็นพระจันทร์รูปเคียว   ทำให้นึกขึ้นว่า เพิ่งเห็นพระจันทร์เพ็ญงดงามสดใสเมื่อไม่นานมานี้    ใคร่ครวญแล้วก็รู้ว่ากว่าสิบวันมาแล้ว    แต่รู้สึกว่าเพิ่งผ่านไปไม่นาน

ทำให้ตระหนักว่า ชีวิตของผมในวัยครบ ๘๐ หยกๆ มีความสุขความพึงพอใจสูงมาก   แม้คู่ชีวิตจะสมองเสื่อม   ไม่สามารถควงคู่ไปเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจนอกบ้านได้อย่างสมัยก่อน   เราก็ยังมีชีวิตที่สมดุลระหว่างข้อจำกัดกับการสร้างสรรค์    และการทำให้ความสุขกับการสร้างสรรค์หลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน เหมือนขนมเปียกปูน    ไม่แยกหันเป็นขนมชั้น

สิ่งที่ช่วยผมได้มากคือการฝึกความยืดหยุ่นทางอารมณ์ และทางพฤติกรรม   แต่ยังคงดำรงความเข้มแข็งด้านการเรียนรู้    เพราะได้พบและเข้าใจการเรียนรู้จากการปฏิบัติแล้วใคร่ครวญสะท้อนคิด    ที่เรียกว่า experiential learning    แล้วฝึกทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต   และเป็นชีวิตที่สร้างสรรค์และรับใช้สังคม     ผ่านข้อเขียนที่มาจาก reflective learning ของตน   โดยมีเป้าหมายหลักคือ การ transform ส่วนเล็กๆ ของสังคม    ให้เป็นระบบที่เรียนรู้ และผู้เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจว่างานที่ตนทำหรือกำลังจะทำ    มีความซับซ้อนและไม่แน่นอน มองเห็นหรือเข้าใจได้แตกต่างกัน   ที่เรียกว่า wicked problem  

ผมอยู่ในสภาพผู้สูงอายุที่ยังมีภารกิจเต็มมือ   โดยที่มีทั้งภารกิจที่มีผู้หยิบยื่นให้หรือร้องขอ    กับภารกิจที่ผมสร้างใส่ตน    เพื่อชีวิตที่สนุกสนานและมีค่า    คนที่รู้ใจจึงรู้ว่าผมเป็นคนมีภารกิจมาก    หากจะนัดต้องรีบทำแต่เนิ่นๆ มิฉะนั้นก็อาจไม่ได้ตัว    เพราะมีคนมาจองไปแล้ว    และผมยึดหลัก first come, first serve   ไม่มีการยกเลิกนัดหนึ่ง เพื่อไปอีกนัดหนึ่ง   

เพราะยึดมั่นในหลักการ  first come, first serve    ผมจึงพลาดโอกาสดีๆ ในชีวิต    ที่จะได้แก่ตนเองโดยมีสปอนเซอร์    เช่นการได้ไปเฝ้าท่านดาไล ลามะ ที่อินเดีย    ซึ่งเข้าใจว่า มีส่วนดีคือ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องได้ตระหนักว่า ผมรับผิดชอบต่อการรับนัดสูงมาก 

ตอนนี้ ผมกำลังฝึกให้ตนเองทำการบ้านส่งผู้เชิญประชุม  และนำลง บล็อก ออกเผยแพร่วงกว้างไปพร้อมๆ กัน     ผ่านการทำ reflective learning ของการประชุมที่เพิ่งผ่านไป    เพื่อเป็น feed forward ให้แก่ทีมผู้จัดประชุมนั้น   ให้เห็นมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย   สำหรับนำไปเลือกใช้ในการดำเนินการกิจกรรมที่สร้างสรรค์นั้น   

แน่นอนว่า   การเรียนรู้และฝึกฝนความมั่นคงทางอารมณ์ ในสถานการณ์ที่ภรรยาผู้สมองเสื่อมก่อขึ้นจากโรคาพยาธิเป็นต้นเหตุ     เป็นความท้าทายสูงยิ่ง    มองเชิงบวก ช่วยเป็นแบบฝึกหัดให้แก่ผม    และเป็นคุณแก่ผมเป็นอันมาก    ผมรู้สึกขอบคุณภรรยา ว่าเธอทำประโยชน์เกื้อกูลผมในหลายบริบทเหลือเกิน    โดยในหลายมุมผ่านพฤติกรรมเชิงลบ    แต่ผมทำให้มันเกิดผลเชิงบวก    และยิ่งรักเธอมากขึ้น

ความรู้สึกเช่นนี้ของผม น่าจะมีส่วนทำให้เธอเป็นคนสมองเสื่อมที่อารมณ์ดี    หน้าตาส่อความสุขอย่างเห็นได้ชัด    ทำให้ผมได้ประจักษ์ผลดีของจิตวิทยาเชิงบวก   ของการฝึกสร้างสนามพลังบวกให้แก่ชีวิตของตนเองและแก่คนรอบข้าง   

สูงอายุขึ้น ร่างกายและสมองเสื่อมถอยไปตามธรรมชาติ    แต่หากฝึกฝนตนเองให้ดี ในหลากหลายด้าน    ผู้สูงอายุก็ยังคงมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวและสังคมได้   

วิจารณ์ พานิช

๒๐ ธ.ค. ๖๕

 

 

 

 

 

                   

 

หมายเลขบันทึก: 711390เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2023 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มกราคม 2023 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณครับ ทั้งเนื้อหา และความคิดอันเป็นแบบอย่างที่ประเสริิฐยิ่ง…..วิโรจน์ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท