ชีวิตที่พอเพียง  4331. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ๑๖๙. โรงเรียนพัฒนาตนเองเปลี่ยนจากโครงการ เป็นขบวนการ


 

วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๕ มีการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง    ผมปรารภต่อที่ประชุมว่า    บัดนี้ได้เริ่มศักราชใหม่ของโรงเรียนพัฒนาตนเองแล้ว     คือโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองกำลังจะจบ    และขบวนการโรงเรียนพัฒนาตนเองกำลังจะเริ่มต้นก่อตัว และขยายตัว    

โรงเรียนพัฒนาตนเองกำลังแปรรูปตนเอง จากเป็น “โครงการ” (project) ไปสู่สภาพ “ขบวนการ” (movement) 

“โครงการ” (project) มีลักษณะรวมศูนย์ มีเจ้าของหรือหน่วยงานรับผิดชอบ  ซึ่งในที่นี้คือ กสศ. (สำนักครูฯ)   และมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดชัดเจน   โครงการ TSQP จะจบในปี ๒๕๖๖

แต่  “ขบวนการ” (movement) มีลักษณะกระจายบทบาทความรับผิดชอบ (distributed)    เน้นความร่วมใจร่วมแรงร่วมกระทำ ภายใต้เป้าหมายและปณิธานความมุ่งมั่นร่วม   และมีการดำเนินการระยะยาว    และดำเนินการเป็น open network

การกอบกู้คุณภาพการศึกษาไทยต้องดำเนินการเป็น “ขบวนการ” ภายใต้หลักการ All for Education   ร่วมใจร่วมแรงจากหลากหลายฝ่าย หลากหลายบทบาท    อย่างที่ผมทำอยู่นี้คือบทบาทกองเชียร์ ในฐานะคนแก่ที่อยากเห็นอนาคตของบ้านเมืองดี   พลเมืองไทยมีคุณภาพสูง   

กสศ. จึงควรภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ในความสำเร็จระดับหนึ่งของโครงการ TSQP หรือโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง    ที่ได้ร่วมหนุนให้โรงเรียนจำนวนหนึ่งพัฒนาตนเองขึ้นเป็น “โรงเรียนพัฒนาตนเอง”    คือมีวัฒนธรรมเรียนรู้  กลายเป็น “องค์กรเรียนรู้” (Learning Organization)   ซึ่งหมายความว่า โรงเรียนเหล่านี้มีพฤติกรรมของความเป็น “องค์กร” (organization)    มีตัวตนของตนเอง    เป็นตัวตนที่เรียนรู้   ในท่ามกลางโรงเรียนส่วนใหญ่ที่ไม่มีตัวตนของตนเอง    เป็นเพียงหุ่นเชิดของส่วนกลาง    เป็นโรงเรียนที่ไร้จิตวิญญาณ

แต่  “โรงเรียนพัฒนาตนเอง” มีจิตวิญญาณ และอุดมการณ์   ที่มุ่งทำเพื่อศิษย์เป็นเป้าหมายอันดับ ๑     “โรงเรียนพัฒนาตนเอง” จึงเป็น “โรงเรียนเพื่อศิษย์”    ครูในโรงเรียนเหล่านี้ เป็น “ครูเพื่อศิษย์”    การเรียนรู้และพัฒนาที่โรงเรียนเหล่านี้ดำเนินการ ก็มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการเรียนรู้ของศิษย์   ที่มีวิธีการที่ไม่ตายตัว ไม่มีสูตรสำเร็จ    แต่โรงเรียนต้องเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง   

เพื่อยกระดับคุณภาพ และความเสมอภาคทางการศึกษา    กสศ. และภาคี รวมทั้งต้นสังกัดของโรงเรียนที่เข้าร่วมขบวนการนี้    จึงต้องเปลี่ยนบทบาท จากบทบาทอำนวยการ หรือดำเนินการ โครงการ   มาเป็นบทบาทเกื้อหนุน (empower) ส่งเสริม เชียร์    เปลี่ยนจากเป็นเจ้าของหรือผู้รับผิดชอบโครงการ    มาเป็นภาคีหุ้นส่วนของขบวนการ    แสดงบทบาท หรือความสัมพันธ์ในแนวราบ กับภาคีหุ้นส่วนอื่นๆ   ทั้งที่เป็นแกนนำหรือผู้กระทำหลัก คือโรงเรียน    และที่เป็นภาคีหุ้นส่วน ได้แก่ บิดามารดาผู้ปกครอง  ผู้นำชุมชน  กรรมการโรงเรียน  ศน. เขตพื้นที่การศึกษา   ศธจ.  และต้นสังกัดในส่วนกลาง   

เมื่อจบโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองแล้ว    หากคณะอนุกรรมการชุดนี้ยังคงอยู่    ก็จะต้องพัฒนาและเรียนรู้วิธี empower ขบวนการนี้    ให้เกิดการรวมพลังความมุ่งมั่นของภาคี (partners)    ขับเคลื่อนกระบวนการคุณภาพ  กระบวนการเรียนรู้ ของโรงเรียนและภาคี    ด้วยพลังบวก พลังความสำเร็จเล็กๆ   ให้ขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่   ทั้งในระดับ micro, meso, และ macro   ทั้งที่เป็นความสำเร็จเชิงคุณภาพของผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ในระดับตื้น สู่ระดับลึก และระดับเชื่อมโยง                

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ย. ๖๕

  

หมายเลขบันทึก: 710215เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2022 17:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2022 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท