ทำไมปัญหาจึงเป็นปัญหา? (Why problems become problems?)


เชื่อว่าผู้อ่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ‘ปัญหาใหญ่ของคน หรือองค์การที่มีปัญหาคือ คนหรือองค์การเหล่านั้นไม่รู้ว่าตนเองมีปัญหา’ คล้ายกับอุปมาอุปมัยของ ‘ทฤษฎีต้มกบ’ ที่ว่า ‘กบที่ถูกต้มโดยการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำที่ละนิด ๆ จนถึงจุดเดือดเป็นกบต้มนั้น กบที่อยู่ในหม้อต้มดังกล่าวจะไม่รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงอุณภูมิของนำ้เป็นปัญหา จนกระทั่งนำ้เดือดจะรู้ว่าเป็นปัญหา แต่ก็สายเกินไปแล้ว’ 

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกบไม่เห็นความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นช่องว่างระหว่างสภาพที่เป็นอยู่และกับสภาพที่พึงประสงค์ หรือรต้องการ 

นี่คือนิยามปัญหาที่ทรงคุณค่ามาก ‘ปัญหาคือช่องว่างระหว่างสภาพที่เป็นอยู่กับสภาพที่พึงประสงค์’ ห่างกันมาก ปัญหามาก และห่างกันน้อย ปัญหาน้อย ครับ 

การที่คน หรือองค์การไม่รู้ว่าตนเองมีปัญหานั้นอาจจะเกิดจาก (1) ไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร (นิยามของปัญหา)   (2) ไม่รู้ความต้องการของตนเอง และ (3) ไม่ใส่ใจและไม่มีข้อมูลสภาวะปัจจุบันของตน 

ไม่รู้ว่าปัญหาคืออะไร 

บ่อยครั้งเราจะนิยามปัญหาโดยการชี้ไปที่สาเหตุหรืออาการของปัญหาว่าเป็น   ‘ปัญหา’  เช่น อุปสรรค์ที่ทำให้เราไม่สามารถทำงานได้สำเร็จ หรือความไม่พึงพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ หรือการไม่มีงบประมาณในการดำเนินงาน เป็นต้น

ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุ หรืออาการที่บ่งชี้ของปัญหาที่เรา หรือองค์การเผชิญอยู่เท่านั้น แต่

สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ‘ช่องว่างระหว่างสิ่งที่เราหรือองค์การต้องการ กับสภาพที่เป็นอยู่’ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เช่น ถ้าเราต้องการใช้เงินแต่ละเดือน ๆ  100,000 บาท แต่มีรายได้ เดือนละ  10,000 บาท นี่แหละคือปัญหา ส่วนอุปสรรคอาจจะเป็นเพราะเกิดจากสุขภาพเราไม่ดี หรือไม่ก็ไม่มีวุฒิการศึกษาที่ตลาดต้องการ ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหา ก็ต้องฟื้นฟูสุขภาพ หรือศึกษาในสาขาที่ตลาดต้องการ หรือไม่ก็ลดจำนวนเงินที่จต้องใช้ในแต่ละเดือนลง เป็นต้น 

ไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร 

ผู้อ่านคงเถียงผมในใจว่า ใคร หรือองค์การใดจะไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร จริงของท่านครับ คือใคร ๆ ก็บอกได้ว่าตนเองต้องการอะไร แต่ประเด็นคือ ส่งที่บอกว่าอยากได้นั้น ‘เป็นความต้องการที่แท้จริงหรือไม่ หรือเป็นแค่สิ่งที่คิดว่าอยากได้’  ยิ่งถ้าเป็นความต้องการขององค์การแล้วยังต้องถามต่อว่าสิ่งที่องค์การกำหนดไว้เป็นเป้าประสงค์ขององค์การ หรือสิ่งที่องค์การมุ่งจะทำนั้น เป็นสิ่งที่ต้องการของลูกค้าหรือไม่ด้วยครับ ดังนั้นเพื่อหลีกเหลี่ยงการเพิ่มปัญหาให้กับตนเอง เราควรต้องไตร่ตรองกันอย่างจริงจังว่า ‘ชีวิตนี้ต้องการอะไรกันแน่’ สำหรับการกำหนดความต้องการขององค์การนั้น นอกจากจะพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องการทำ เราควรพิจารณาว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นประโยชน์หรือเป็นที่ต้องการของลูกค้าหรือไม่ด้วยครับ 

ไม่ใส่ใจหรือไม่มีข้อมูลสภาพปัจจุบัน

ข้อมูลสภาพปัจจุบันและข้อมูลป้อนกลับเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต หรือการดำเนินงานในองค์การ เพราะข้อมูลสภาพปัจจุบันเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพในการดำเนินชีวิต หรือคุณภาพในการดำเนินงานขององค์การ เป็นจุดเทียบสภาพของบุคคล หรือองค์การกับเป้าหมาย หรือจุดเหมายของชีวิต หรือองค์การ ซึ่งเป็นสิ่งที่บุคคล หรือองค์การต้องการ ดังนั้นหากบุคคลหรือองค์การไม่ใส่ใจ หรือมีข้อมูลสภาพปัจจุบัน หรือข้อมูลป้อนกลับที่บ่งชี้คุณภาพของชีวิต หรือองค์การแล้ว ก็จะเป็นการดำรงชีวิต หรือบริหารองค์การตามยถากรรม ตามมีตามเกิด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

ฝากพิจารณานะครับ 

สมาน อัศวภูมิ 

7   พฤศจิกายน  2565

 

หมายเลขบันทึก: 710187เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2022 17:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2022 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท