เลือกแบบการสัมภาษณ์ในการวิจัย (Choose interview types for your research)


นักวิจัยในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่า ‘การสัมภาษณ์เจาะลึก หรือ in-depth interview’ ดีกว่าการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง หรือแบบไม่มีโครงสร้าง จริงๆ แล้วการสัมภาษณ์เป็นวิธีการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง ซึ่งก็เหมือนกับวิธีการเก็บข้อมูลแบบอื่น ๆ ที่ผู้วิจัยเลือกใช้ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการเก็บข้อมูลมากว่า เพราะทุกวิธีการเก็บข้อมูลมีข้อดีและข้อจำกัดแต่กต่างกันไปครับ 

การสัมภาษณ์ที่ใช้เป็นวิธีการหนึ่งของวิธีการเก็บข้อมูลในการวิจัยนั้นเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้วิจัยและผู้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเรื่องที่จะวิจัย แบ่งเป็น 2 แบบใหญ่คือ ‘การสัมภาษาแบบมีโครงสร้าง (structured interview) กับแบบไม่มีโครงสร้าง (unstructured interview)’ ซึ่งผู้วิจัยจะเลือกออกแบบวิธีการเก็บข้อมูลการวิจัยโดยการสัมภาษณ์แบบใดแบบหนึ่งในสองขั้วความคิดนี้ในการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ (Kumar, 2005; Fraenkel & Wallen, 2006; Ary, Jacobs, Razavieh, & Sorensen, 2006; and Rosnow & Rosenthal, 2013) แนวคิดที่นำเสนอในบทเขียนนี้สรุปสาระจากการศึกษาแนวคิดจากหนังสือทั้ง 4 เล่มนี้เป็นหลัก และจากประสบการณ์ของผู้วิจัย และหวังว่าแนวคิดที่จะนำเสนอต่อไปใช้จะช่วยให้นักวิจัยและนักศึกษาที่กำลังทำวิทยานิพนธ์ได้แนวทางในการเลือกแบบการสัมภาษณ์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยมากขึ้นนะครับ 

การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured Interview)

          การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง เป็นการออกแบบการสัมภาษณ์ที่ผู้สัมภาษณ์จะกำหนดชุดคำถามที่ต้องการสัมภาษณ์ไว้ล่วงหน้า (ตามกรอบแนวคิดในการวาิจัย) มีลำดับการถามตามที่กำหนดไว้ ส่วนรูปแบบคำถามในการสัมภาษณณ์อาจจะเป็นคำถามแบบปลายเปิด (opened end) หรือ แบบปลายปิด (closed end) ก็ได้ 

          การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างจะสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญเป็นรายคน โดยการสัมภาษณ์สดตัวต่อตัว หรือใช้โทรศัพท์ หรือสื่อแบบอื่นก็ได้ และข้อมูลที่ได้จะเป็นไปตามโครงสร้างของข้อคำถามที่กำหนดไว้ ซึ่งจะสะดวก และค่อนข้างจะเป็นปรนัยในการนำไปวิเคราะห์ข้อมูล คล้ายกับการเก็บข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถาม เพียงแต่เป็นการสัมภาษณ์​แทนการส่งแบบสำรวจไปยังพลวิจัยเท่านั้น 

           โดยสรุปแล้วการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างเป็นการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ที่มีการกำหนดข้อคำถามในการวิจัยและลำดับในการถาม (สัมภาษณ์) ไว้ล่วงหน้า ข้อคำถามและลำดับคำถามในการสัมภาษณ์คือเครื่องมือในการวิจัย และการสัมภาษณ์เป็นวิธีการเก็บข้อมูล 

การสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง (Unstructured Interview)

            การสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้างเป็นแบบการสัมภาษณ์ที่ให้ความเป็นอิสระในการตั้งคำถามของผู้สัมภาษณ์ และผู้ให้ข้อมูลสำคัญ โดยมีกรอบแนวคิดในการวิจัยเป็นขอบเขตของประเด็นในการสัมภาษณ์ แต่ไม่มีการกำหนดคำถาม และลำดับในการถามไว้ล่วงหน้า มีหลายแบบ เช่น 

            1) การสัมภาษณ์เชิงลึก หรือเจาะลึก (In-depth Interviews) 

                 การสัมภาษณ์เชิงลึก หรือเจาะลึกเป็นการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกในแง่คิดมุมมอง ประสบการณ์ และความเข้าใจของผู้ให้ข้อเมูลสำคัญเกี่ยวกับเรื่องที่วิจัย ซึ่งอาจจะเป็นเหตุการที่ผู้ให้ข้อมูลสำคัญอยู่ในเหตุการณ์ หรือมีความเชี่ยวชาญ  Taylor & Bogdan (อ้างใน Kumar, 2005) ซึ่งเป็นเจ้าของทฤษฎี Interpretive Tradition ที่เป็นฐานคิดของการสัมภาษณ์เชิงลึกนี้อธิบายบ่ายการสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นกระบวนการสัมภาษณ์ซำ้แล้วซำ้อีกหว่างผู้วิจัยกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญเป็นรายคน เพื่อให้ได้มาซึ่งแง่คิดมุมมองของผู้ให้ข้อมูลสำคัญ เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ประสบการณ์ และเหตุการณ์ตามคำบอกเล่าของผู้ให้ข้อมูลเอง ครับ 

             2) การสัมภาณณ์กลุ่ม (Focus group interviews)

                  ข้อแตกต่างระหว่างการสัมภาษณ์เชิงลึกกับการสัมภาษณ์กลุ่มนี้อยู่ที่การสัมภาษณ์แบบนี้เป็นการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์จากพลวิจัยแบบกลุ่ม เพื่อค้นหาแง่คิดมุมของโดยสรุปของกลุ่มในเรื่องที่วิจัย โดยกลุ่มเป้าหมายในการสัมภาษณ์เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในเรื่องเดียวกัน ส่วนการตั้งคถาม และคำตอบเป็นไปอย่างอิสระ ไม่มีประเด็นหรือคำถามที่กำหนดไว้ล่วงหน้า 

              3) การสัมภาณเชิงสาระหรือประวัติศาสตร์ (Narratives/Oral History) 

                  เป็นการสัมภาษณ์เพื่อสืบค้น หรือรวบรวมสาระเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือประวัติศาสตร์จากเรื่องเล่า หรือคำพูดของผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ หรือประวัติศาสตร์นั้น ๆ  ผู้วิจัยควรเป็นนักสัมภารณ์ที่ไม่มีโจทย์ตั้งต้น แต่เป็นนักฟังที่ใส่ใจ และพร้อมที่จะตั้งข้อสังเกต และสอบถามต่อเนื่องเพื่อความกระจ่างชัดในเรื่องที่สนใจศึกษามากขึ้น 

               นอกจากนี้มีนักวิชาการและนักวิจัยจำนวนหนึ่งเสนอแบบการสัมภาษณ์ลูกผสมระหว่างการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง กับ แบบไม่มีโครงสร้าง เรียกว่า 'การสัมภารณ์กึ่งมีโครงสร้าง (Semi-Structured Interviews) กล่าวคือผู้วิจัยอาจจะกำหนดโครงสร้างประเด็นที่จะเก็บข้อมูล และคำถามในการสัมภาษณ์ไว้เบื้องต้น แต่มีความยึดหยุ่นทั้งประเด้นคำถาม และลำดับการถามได้ นอกจากนี้ผู้วิจัยอาจจะตั้งคำถามต่อเนื่องจากข้อมูลที่ผู้ให้ข้อมูลสำคัญได้ คล้ายกับแนวคิดในการสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้างครับ 

เมื่อทราบหลักคิดข้างต้นแล้ว ผู้วิจัยจะเลือกใช้แบบการสัมภาษณ์แบบไหน และอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการวิจัยและเก็บข้อมูลครับ 

สมาน อัศวภูมิ 

2 พฤศจิกายน 2565

แหล่งอ้างอิง

Airy, D; Jacob, L.C.; Razavieh,A. & Sorensen, C. Introduction to Research in Education, 7th ed. Australia: Thomson Wassworth. 

Fraenkel, J.R. & Wallen, N.E. How to Design and Evaluate Research in Education, 6th ed. Boston: McGraw-Hill. 

Kumar, R. Research Methodology: A Step-by-step Guide for Beginners, 2nd ed. London: Sage Publications. 

Rosnow, R.L. & Rosenthal, R. Beginning Behavioral Research: A Conceptual Primer, 7th ed. Boston: Pearson. 

หมายเลขบันทึก: 709643เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2022 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2022 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ถ้าจะกล่าวว่า การสัมภาษณ์เชิงลึก ก็คือ “การสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง” เลยจะได้ไหมครับ (ผมสรุปแบบนี้ให้นักศึกษา ป. ตรี มานาน เพราะเข้าใจแบบนั้นมา) หรือมันไม่เท่ากันทั้งหมด ไม่สามารถใช่เป็นนิยามท่ี่เท่ากันได้

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท