ปลูกป่า สร้างไม้ สร้างใจชุมชน : กิจกรรมง่ายงามบนฐานคิด "การมีส่วนร่วม" และ "บวร"


ทุกประเด็นที่ผมฝากให้นิสิตได้ขบคิดนั้น  คือการ “ฝากให้คิด”  ไม่ใช่ “ฝากให้ทำ” นิสิตจะนำแนวคิดเหล่านั้นไปต่อยอด หรือปรับใช้หรือไม่  -  ผมไม่ได้กังวล เพราะยึดหลัก “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” เน้นให้นิสิตได้คิด-ได้ตัดสินใจและได้ลงมือทำร่วมกันเป็นหัวใจหลัก

โครงการ “ปลูกป่า สร้างไม้ สร้างใจชุมชน” ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มนิสิตชาวดิน (พรรคชาวดิน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)  ในวงรอบปีงบประมาณ 2565 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปได้ไม่นาน มีบางประเด็นที่ผมอดที่จะเขียนถึงไมได้

 

โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 ณ โรงเรียนป่างิ้ววิจิตรวิทยา และ วัดโนนทองฉายยาราม ตำบลโนนน้ำเกลี้ยง อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ ได้แก่

 

  • เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตได้เรียนรู้กระบวนการจัดกิจกรรมจิตอาสา หรือจิตสาธารณะเพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม
  • เพื่อส่งเสริมและสนับให้นิสิตได้เรียนรู้วิถีชีวิตของโรงเรียนและชุมชนผ่านกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา
  • เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตได้เรียนรู้กระบวนการทำงานเพื่อก่อให้เกิดทักษะทางสังคมร่วมกัน
     

 

 

ประเด็นแรกเลยที่อยากพูดถึงก็คือเป็นกิจกรรมเพียงไม่กี่กิจกรรมของกลุ่มนิสิตที่ขยับออกไปจัดกิจกรรมรับใช้สังคมในรอบ 4 เดือน (มิถุนายน-กันยายน)  ซึ่งความจริงมีอยู่ว่า เพิ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณในช่วงปลายกรกฎาคม หรือต้นสิงหาคม จึงย่อมมีเวลาเตรียมตัวอันแสนสั้น 

 

และแทนที่จะเปลี่ยนแปลงมาเป็นกิจกรรมภายในรั้วมหาวิทยาลัยเหมือนองค์กรอื่นๆ  ที่เน้นจัดเวทีพบปะ “เพื่อน-พี่-น้อง” หรือแม้แต่ “ศิษย์เก่า” ควบคู่ไปกับกิจกรรม  “เปิดบ้าน” ประชาสัมพันธ์ให้คนไหลหลากเข้ามาร่วมอุดมการณ์  แต่สำหรับพรรคชาวดินไม่เป็นเช่นนั้น  ตรงกันข้ามกลับมุ่งมั่นที่จะออกไปสู่การเรียนรู้คู่บริการกับชุมชน  โดยใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน  

 

ประเด็นดังกล่าวนี้ ต้องยอมรับว่า  “พวกเขากล้าหาญมาก”  ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งทำหากแต่คิดและทำกิจกรรมทำนองนี้มาหลายครั้งแล้ว

 



ค้นพื้นที่ผ่านอินเทอร์เน็ต : มองไกล-ปลูกไม้เศรษฐกิจ

 

แกนนำที่รับผิดชอบกิจกรรมบอกเล่าอย่างใสซื่อและหนักแน่นว่า อยากทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการ “ปลูกต้นไม้” เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไว้ในชุมชนตามหลัก “บวร” อันหมายถึงการมีส่วนร่วมของ “บ้าน-วัด-โรงเรียน” และที่สำคัญคือ เน้นการปลูกในพื้นที่ที่สามารถดูแลได้อย่างง่ายๆ และต่อเนื่อง เพื่อความยั่งยืน หรือแม้แต่แปลงเป็นการเรียนรู้อื่นๆ ได้เรื่อยๆ 

 

ด้วยหลักคิดเช่นนั้น ทีมงานจึงโฟกัสการปลูกในพื้นที่ของโรงเรียนเป็นหลัก เพราะจะได้ผูกโยงเป็นโจทย์ หรือฐานการเรียนรู้ในมิติต่างๆ และมองการสร้างมูลค่าในอนาคตผ่านการปลูกไม้เศรษฐกิจ เพื่อให้ชุมชนสามารถนำมาสร้างเป็นต้นทุนในการพัฒนาชุมชนได้

 



ทีมงานมองพื้นที่ไปยังจังหวัดกาฬสินธุ์ เพราะจังหวัดนี้มีต้นทุนที่เกี่ยวพันกับเรื่องนี้อย่างชัดเจน นั่นคือ “ดินดำน้ำชุม” อันหมายถึงเป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำ ภูเขา ต้นไม้ กอปรกับการสร้างโจทย์เพิ่มเติมขึ้นมา คือ เรื่องชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี โดยหมายใจว่า ถ้ามีเวลาก็จะบูรณาการโดยนำนิสิตเข้าศึกษาเรียนรู้สถานที่สำคัญๆ เหลานั้นด้วย

 

เรียกได้ว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายๆ ตัว – 

 

ทั้งปวงนั้นจึงปักหมุดพื้นที่มายังอำเภอสหัสขันธ์ ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีทำเลที่ครบถ้วนทั้งภูเขา สายน้ำ (เขื่อนลำปาว) โบราณคดี (ไดโนเสาร์) วิถีวัฒนธรรมชีวิตที่ผูกพันร้อยรัดอยู่กับวัดวาอาราม (ศาสนา) เกษตรกรรม ประมง หรือแม้แต่ปศุสัตว์ รวมถึงพลังชีวิตของผู้คนหลากวัยที่ผนึกกำลังสร้างเรื่องราวชวนทึ่งในนาม “ไดโนโรด” (ท่องเที่ยวชุมชน : ถนนวัฒนธรรม)

 

 

 

ลงพื้นที่จริง : สำรวจความต้องการจริงของชุมชน

 

โรงเรียนป่างิ้ววิจิตรวิทยา คือ สถานที่หลักของการเรียนรู้คู่บริการ 

 

ทีมงานเดินทางลงพื้นที่ด้วยตนเอง เป็นการลงพื้นที่เพื่อพบปะพูดคุยกับชุมชนเกี่ยวกับแนวโน้มของกิจกรรมว่าสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่ – หรือถ้าจะจัดกิจกรรม ควรต้องเป็นไปในทิศทางใดบ้าง

 

การพบปะครั้งนั้น ถือว่าเป็นการ “พัฒนาโจทย์” โดยใช้ “ชุมชนเป็นศูนย์กลาง” อย่างไม่ผิดเพี้ยน เพราะนิสิตยึดหลักว่ากิจกรรมที่จะมีขึ้นนั้นต้องสัมพันธ์กับบริบทของชุมชนและเป็นกิจกรรมที่ชุมชนต้องการ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ในเวทีดังกล่าว นิสิตได้พบปะกับทั้งผู้บริหารและคณะครูด้วยตนเอง

 

 

ด้วยเหตุที่เดินทางไปแบบไม่นัดหมาย ทางโรงเรียนจึงไม่สามารถเรียนเชิญชุมชน หรือคณะกรรมการการศึกษาของโรงเรียนมาร่วมหารือด้วยได้ กระนั้นการหารือระหว่างนิสิตกับโรงเรียนก็เป็นไปด้วยดี เป็นการพูดคุยด้วยพลังบวก และพูดคุยบนกรอบแนวคิดของการ “ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ” 

 

ผลการหารือครั้งนั้น มีข้อสรุปโดยสังเขปว่า ทางโรงเรียนยังไม่มีความจำเป็นที่จะปลุกต้นไม้เพิ่มขึ้นอีก เพราะพื้นที่ค่อนข้างจำกัดและเท่าที่มี ต้นไม้ก็มีจำนวนมากอยู่แล้ว  ซึ่งโรงเรียนสะท้อนถึงความต้องการหลักๆ ว่ากำลังขาดแคลนเรื่องหนังสืออ่านนอกเวลา หรือแม้แต่อุปกรณ์กีฬา และอื่นๆ 

 

รวมถึงการเสนอแนะต่อนิสิตว่าควรปลูกต้นไม้ในบริเวณ “วัดโนนทองฉายยาราม” เพราะมีพื้นที่จำนวนมากที่สามารถปลูกได้ ปลูกแล้วทั้งชาวบ้านและนักเรียนก็สามารถเข้าไปร่วมดูแลต้นไม้ได้โดยง่าย ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกบุกรุก และที่สำคัญคือ เป็นช่วงที่ชุมชนกำลังวางแผนที่จะปลูกป่าในวัดร่วมกับโรงเรียนพอดี -

 

 



ถัดจากนั้นทั้งนิสิตและคณะครูก็เดินทางไปกราบสักการะเจ้าอาวาส พร้อมๆ กับการสำรวจพื้นที่และหารือเกี่ยวกับชนิด หรือพันธุ์ไม้ที่ควรนำมาปลูก  ซึ่งทางวัดแจ้งเป็นหลักการเบื้องต้นว่า “ไม้ที่ควรนำมาปลูก อยากได้เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่และให้ร่มเงา เพื่อให้วัดดูร่มรื่น เย็บสบาย ผ่อนคลาย-สุขสงบ”

 

นั่นคือโจทย์ หรือ ความต้องการของชุมชนที่ครอบคลุมทั้ง บ้าน-วัด-โรงเรียน

 

 





กลับมหาวิทยาลัย :  โสเหล่เรื่องกล้าไม้และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง


 

เย็นวันเดียวกัน ภายหลังกลับจากพื้นที่ นิสิตติดต่อเข้าหารือกับผมเป็นการเร่งด่วน หลักๆ คือมาเล่าสู่กันฟังว่า “ไปลงพื้นที่แล้ว ได้ผลอย่างไรบ้าง”

 

นิสิต ยืนยันว่าจะจัดกิจกรรมขึ้น ณ ที่ดังกล่าว  เพราะได้รับการตอบสนองที่ดีจากโรงเรียนและวัด รวมถึงการยืนยันจากวัดและโรงเรียนว่า แม้นชุมชนจะไม่ได้ร่วมหารือในวันนี้แต่ไม่มีปัญหาอะไรแน่นอน  เพราะมีแผนงานที่จะปลูกต้นไม้ในวัดอยู่แล้ว โดยวัดและโรงเรียนยินดีประสานชุมชนให้อีกรอบ 

 

เช่นเดียวกับการรันตีว่าจะช่วยเตรียมพื้นที่ จัดเตรียมอุปกรณ์ หรือแม้แต่การเตรียมชาวบ้านเข้ามาร่วมปลูกต้นไม้

 



ผมตอบกลับไปยังนิสิตอย่างตรงไปตรงมาว่า “ดีแล้ว – นั่นคือหลักคิดของการมีส่วนร่วม นั่นคือหลักคิดการทำงานบนความต้องการของชุมชน และเป็นมิติ บวร ตามที่นิสิตตั้งเป้าไว้”

 

ถัดจากนั้น ผมจึงแกล้งสอบถามนิสิตว่า “จะเอากล้าไม้มาจากที่ไหน รู้แหล่งพันธุ์ไม้ในจังหวัดกาฬสินธุ์บ้าง หรือไม่”

 

เท่าที่สังเกต ดูเหมือนนิสิตจะยังไม่มีข้อมูลเท่าใดนัก 

 

ดังนั้น ผมจึงเริ่มให้ข้อมูลเบื้องต้นและบอกข้อจำกัดของแหล่งพันธุ์ไม้ในจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมๆ กับเชื่อมโยงแหล่งกล้าไม้ในมหาสารคามให้เป็นตัวเลือกเพิ่มเติม แต่ย้ำว่าให้นิสิตลองติดต่อสื่อสารด้วยตนเองก่อน  ส่วนจะให้ผมช่วยอะไรค่อยว่ากันอีกที –

 

 



ที่ผมพูดเช่นนั้น  หลักๆ  คือการต้องการสร้างกระบวนการให้นิสิตได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ด้วยตนเอง ทั้งการสืบเสาะหาแหล่งกล้าไม้ ทั้งฝึกการสื่อสาร-ติดต่องาน  ฝึการวิเคราะห์เกี่ยวกับคุณลักษณะของไม้ที่จะนำไปปลูก

 

แต่เชื่อไหม ผมมีแผนรองรับไว้หมดแล้ว  กล่าวคือ ถ้านิสิตจัดหากล้าไม้ไม่ได้ ผมก็มีแหล่งที่จะหนุนเสริมได้ไม้น้อยกว่า 50-100  ต้นเลยทีเดียว เพียงแต่ระยะแรกๆ นี้ ผมปรารถนาให้ให้นิสิตได้คิดและทำอะไรๆ ด้วยตนเองเสียมากกว่า  โดยผมจะคอยทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” หนุนเสริมในระยะที่เหมาะสม

 

นอกจากนั้น ผมยังเน้นย้ำกับนิสิตว่า ควรมีกระบวนการเตรียมพื้นที่ล่วงหน้าร่วมกับชุมขน เป็นต้นว่า 

 

  • การเตรียมพื้นที่แบบมีส่วนร่วม เป็นต้นว่า ไปเตรียมหลุม โดยนำนิสิตและชาวบ้าน รวมถึงนักเรียนมาทำงานแบบร่วมด้วยช่วยกัน 
  • ขอความร่วมมือให้ชุมชนบริจาคปุ๋ยคอกมาโปรยไว้ในหลุม เป็นการโปรยล่วงหน้าหลายๆ วัน จะได้เป็นการปรับสภาพของดินและปุ๋ยเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน 




     
  • หารือกับโรงเรียนในประเด็นการกำหนดให้ต้นไม้ที่ปลูกเป็นฐานการเรียนรู้ของนักเรียน  เช่น มอบหมายให้นักเรียนเข้าไปดูแล หรือจัดกิจกรรมหนุนเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีต่อต้นไม้เหล่านั้น  เพราะถ้าทำได้ ไม่ใช่แค่เพิ่มพื้นที่ป่าในชุมชนเท่านั้น  แต่เป็นการนำพาเด็กๆ เข้าสู่ “วัด”  ไปในตัว
     
  • เปิดรับสมัครนิสิตให้ชัดเจน จำกัดจำนวนคน เพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณงาน 
  • จัดปฐมนิเทศต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม เน้นให้รู้ข้อมูลชุมชนล่วงหน้า รู้วัตถุประสงค์กิจกรรม รู้กิจกรรมที่จะทำ รู้บทบาทของแต่ละคน 
  • ฯลฯ




ท้ายที่สุดผมให้ข้อมูลประวัติศาสตร์ของชุมชนละแวกนั้นแก่นำนิสิตรับรู้พอสังเขป  เช่น  วิถีการตั้งชุมชนที่มาจากการสร้างเขื่อนลำปาว  การประมงในวิถีเขื่อนลำปาว วัดสำคัญๆ ในตัวอำเภอ  เรื่องพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ เรื่องสวนเกษตรผสมผสาน  เรื่องสะพานเทพสุดาาฯ ที่เชื่อมระหว่างอำเภอสหัสขันธ์กับอำเภอหนองกุงศรี วิถีวัฒนธรรมและพลังของกลุ่มผู้สูงอายุที่นำไปสู่นวัตกรรมชุมชนในชื่อ “ถนนไดโนโรด”

 

รวมถึงโรงเรียนที่ “มมส.” เคยพาเครือข่าย 5 มหาวิทยาลัยไปจัดค่ายเมื่อ 4 ปีที่แล้วในชื่อ “เทา-งามสัมพันธ์ ครั้งที่ 20”

 

 



ท้ายที่สุด

 

ขอยืนยันว่าทุกประเด็นที่ผมฝากให้นิสิตได้ขบคิดนั้น  คือการ “ฝากให้คิด”  ไม่ใช่ “ฝากให้ทำ” นิสิตจะนำแนวคิดเหล่านั้นไปต่อยอด หรือปรับใช้หรือไม่  -  ผมไม่ได้กังวล เพราะยึดหลัก “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” เน้นให้นิสิตได้คิด-ได้ตัดสินใจและได้ลงมือทำร่วมกันเป็นหัวใจหลัก

 

ส่วนกรณีเรื่องกล้าไม้ - เป็นไปตามที่ผมคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า  นิสิตไม่สามารถจัดหากล้าไม้จากจังหวัดกาฬสินธุ์ ครั้นพอมาติดต่อที่จังหวัดมหาสารคาม ก็ไม่ได้เช่นกัน  ทั้งปวงนั้นเป็นเพราะก่อนหน้านี้ส่วนราชการที่ว่าได้แจกจ่ายไปยังชุมชนต่างๆ เป็นจำนวนมาก จึงแทบไม่เหลือ เท่าที่มีก็ยังไม่พร้อมที่จะนำไปปลูกได้

 

 



ด้วยเหตุนี้ ผมจึงพานิสิตไปติดต่อขอรับกล้าไม้จากส่วนงานที่ผมตระเตรียมไว้อย่างเงียบๆ

ในส่วนที่เหลือนิสิตก็จัดซื้อเพิ่มเติม เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและสัมพันธ์กับจำนวนนิสิตที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งโดยรวมแล้วในโครงการนี้ฯ ก็ได้ต้นไม้ไปปลูกไม่น้อยกว่า 100 ต้น เช่น ประดู่  พยุง  ยางนา   



 

ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ที่ถูกออกแบบล่วงหน้าและปรับกันหน้างานตามแนวคิด “ยืดหยุ่น” และ “แก้ปัญหาเฉพาะหน้า”  ก็มิได้ขี้ริ้วขี้เหร่อะไร  ได้หนังสืออ่านนอกเวลาไปบริจาค  ได้รับฟังบริบทอันเป็นสภาพทั่วไปของชุมชน  ได้มอบสื่ออุปกรณ์และกล้าไม้ให้กับโรงเรียน  ได้เล่นกีฬาร่วมกับนักเรียน  ได้สัมผัสกิจกรรมละเล่นแบบไทยๆ  ร่วมกับเด็กๆ -

 



และที่สำคัญ คือ ได้ทำกิจกรรมร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชน เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการตามกรอบแนวคิด “การมีส่วนร่วม” ในมิติ “บวร” อย่างน่าชื่นชม

 

เหนือสิ่งอื่นใด  ผมยังอยากจะยืนยันว่า ภายใต้เวลาอันจำกัดเพียง 1 วัน  พวกเขากล้าหาญและหนักแน่นมากกับการบากบั่นออกไปจัดกิจกรรมนอกสถานที่ เพื่อให้นิสิตทำกิจกรรมสร้างสรรค์ตามหลัก “เรียนรู้คู่บริการ”   โดยหยิบจับเอาเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์ของการเรียนรู้

 

ส่วนจากนี้ไปต้นไม้จะเติบโตและนำไปสู่ปลายทางที่วางไว้ได้หรือไม่  (ปลูกป่า สร้างไม้ สร้างใจชุมชน)  ทุกอย่างยังยาวไกล  หรือแม้แต่นิสิตจะขับเคลื่อนต่อเนื่อง ด้วยการกลับไปสู่ชุมชนนี้อีกครั้งหรือไม่ – ผมก็ตอบแทนไม่ได้
 

 


 

 

และอีกอย่างที่่น่าเสียดายมากๆ ก็คือ ไม่มีเวลาเหลือพอที่จะพานิสิตออกไปทัศนศึกษาสถานที่สำคัญๆ ในชุมชน  เนื่องจากมีฝนตกในช่วงเช้านั่นเอง


“”"""""""""""""""""""""""""""""""""""


เรื่อง  : พนัส ปรีวาสนา
ภาพ  :  กลุ่มนิสิตชาวดิน (พรรคชาวดิน)

 

หมายเลขบันทึก: 709302เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2022 18:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2022 18:08 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การปลูกป่า เป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าค่ะ ถึงจะยังไม่เห็นผลเร็ว แต่ในอนาคต หากเขากลับมาชมผลงานตนเอง คงมีความสุขมากค่ะ

พี่ปลูกป่าไว้ 6 ไร่ ประมาณ 15 ปี ต้นโตแล้ว ร่มรื่นมาก ป่าทำให้มีเห็ด ชาวบ้านเข้าไปเก็บเห็ดกัน เราถือว่าเกิดประโยชน์ต่อชุมชน

ตอนนี้มาเริ่มปลูกใหม่ที่บ้านสวน ทำให้ชีวิตหลังเกษียณมีเรื่องให้คิดและทำ ได้เรียนรู้การดูแลต้นไม้ ถึงรู้ว่าอีกนานกว่าจะเห็นผล แต่ถือเป็นมรดกไว้ให้ลูกหลานค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท