การความดีแบบสมมุติสัจจะและปรมัตถสัจจะ


การทำความดีแบบสมมุติสัจจะ คือทำความดีตามที่ชาวโลกเขากำหนดว่าดี เป็นโลกิยธรรม และทำความดีแบบปรมัตถสัจจะ คือการทำความดีสูงสุด หรืออย่างยิ่ง ซี่งเป็นโลกุตตรธรรม หรือเหนือโลก เช่น การทำพระนิพพานให้แจ้ง อุปมาได้ว่า เสียใจ จะพาไปนรก ดีใจ จะพาไปสวรรค์ สุขใจ เย็นใจ จะพาไปนิพพาน..

ความดีแบบสมมุติสัจจะและปรมัตถสัจจะ

 

ความดีแบบสมมุติสัจจะและปรมัตถสัจจะ

ดร.ถวิล  อรัญเวศ
        ความจริง หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา เป็น“อกาลิโก” คือทำความดีไม่จำเป็นต้องเลือกกาลเวลา เพราะถ้าเราตั้งใจทำความดีแล้ว ก็จะได้รับผลแห่งความดีที่เราตั้งใจทำแน่นอน  เพราะธรรมย่อมคุ้มครองปกปักรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปสู่ทางที่ชั่ว และไม่มีฤกษ์ยาม ทำความดีตอนไหน ก็เป็นความดีตอนนั้น

     อย่างไรก็ตาม นั้น คือเป็นความดี ระดับปรมัตถ์สัจ แต่สำหรับพวกเรา ยังมีจิตใจที่มีอุปนิสัยบุญบารมี ยังไม่ถึง ขนาดนั้น เรายังต้องการกำลังใจในการทำความดี ยังต้องการอาศัยพิธีกรรมหรือกุศโลบายในการทำความดีอยู่ หรือทำกุศลกรรม คือทำด้วยความเฉลียวฉลาดเนื่องจากสภาพสังคม ปัจจุบัน เป็นสภาวการณ์ที่คนไทยเรายังมีปัญหาในหลายด้านโดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-2019 ผู้คนต้องเป็นอยู่อย่างยากลำบาก และขาดสภาพคล่องในการทำมาหากิน ดังนั้น การทำความดีในช่วงนี้ และช่วงเข้าพรรษานี้ หรือช่วงออกพรรษาก็ตาม น่าจะเหมาะกับสถานการณ์ คือ ทำดีเพื่อความดีตั้งใจทำให้ดีที่สุด อยากได้ดีต้องทำดี

 ความจริง 2 อย่าง

1. ความจริงโดยสมมุติ หรือสมมุติสัจจะ

สมมุติสัจจะ คือสิ่งที่เราตกลงยินยอมกัน

และกำหนด หรือบัญญัติขึ้น แยกได้เป็น ๒ ประเภท ดังนี้

๑. นามบัญญัติ

๒. อัตถบัญญัติ

******************

นามบัญญัติ

      คือ การตั้งชื่อเรียกเป็นภาษาต่างๆ เช่น ชื่อของตัวเราว่านายดำ นายแดง นายเขียว นายขาว นายมี นายมานายสี นายสา เป็นต้น และสิ่งของ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ (แต่ละภาษาก็เรียกไปแต่ละชื่อ แต่หมายเอาถึงสิ่งเดียวกัน) ไม่มีความแน่นอนในการเรียก ไม่มีหลักเกณฑ์แต่อย่างใด เพราะว่าเป็นเรื่องสมมุติกันเพื่อเรียกชื่อเท่านั้น เป็นการสมมุติเอาไว้สำหรับกล่าวขานพูดจากันให้รู้เรื่องสื่อความหมายกันเข้าใจ ถ้าหากว่าใครไปเรียกอย่างอื่นก็ถือว่าพูดไม่ตรงไม่ถูก พูดไม่ตรงความจริงท่านจึงว่า

"สมมุตินี้ เป็นเรื่องการป้องกันการก้าวล่วงมุสาวาท" หรือพูดโกหก

 อัตถบัญญัติ

         คำว่า อัตถบัญญัติ หมายถึง ความหมาย รูปร่างสัณฐานความหมายก็อย่าง รูปร่างสัณฐานก็อย่าง อย่างเช่นว่าสัณฐานคือ กลม แบน เหลี่ยม สัญลักษณ์ต่างๆ ที่เขาทำไว้ ก็มีความหมายบ่งบอกให้เข้าใจ อย่างเช่น กฎจราจรที่มีเครื่องหมายป้ายบอกว่าห้ามเลี้ยวบ้าง หรือว่า ห้ามจอดบ้าง เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เพื่อรับรู้กัน

 ความจริงโดยปรมัตถ์

      ปรมัตถ์ ตามความหมายก็คือ ธรรมชาติที่เป็นธรรมอันประเสริฐไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใดและเป็นธรรมที่เป็นประธานของอัตถบัญญัติและนามบัญญัติทั้งปวง

     ที่ว่าเป็นธรรมอันประเสริฐนั้น ก็เพราะคือไม่มีผันแปรแต่อย่างใดแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิ่งที่เที่ยงตรงเที่ยงแท้ ไม่มีความสลายตัว ก็ไม่ใช่ ยังคงเกิด ดับ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ว่าคนละแง่มุม คือ ปรมัตถ์นี้ เขามีลักษณะอย่างไรก็จะคงลักษณะของตนไว้อย่างนั้น ไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด

        เช่น ตา ตาของเราหรือตาของใคร ชาติใด เรียก ตา หรือ อังกฤษ eyes หรือจีน 眼睛 (Yǎnjīng) อะไรก็ตาม ก็ยังคงลักษณะตามธรรมชาติที่แท้จริงของเขาไว้เสมอ คือ เป็นธรรมชาติในการรับแสงรับรังสี เห็นภาพ

         หรือธาตุไฟ มีลักษณะร้อน ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ประเทศใด เวลาใด เมื่อใครไปสัมผัสไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด เด็กหรือผู้ใหญ่หรืออาจแมวหรือสุนัขไปถูกกับไฟเข้าก็จะต้องรู้สึกเหมือนกันหมดคือ ร้อน ไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ จะมีความรู้สึกเหมือนกันโดยไม่ต้องพูดอะไร

          นี่เองคือตัว ปรมัตถธรรม ที่เป็นธรรมอันประเสริฐไม่มีการผิดแปลกผันแปรแต่อย่างใด

 ปรมัตถธรรม

      ปรมัตถธรรมจะมีอยู่ ๔ อย่าง คือ

๑. จิต หรือ จิตปรมัตถ์

๒. เจตสิก หรือ เจตสิกปรมัตถ์

๓. รูป หรือ รูปปรมัตถ์

๔. นิพพาน หรือ นิพพานปรมัตถ์

 

ปรมัตถสัจจะ

        จริงโดยปรมัตถ์ คือ ความจริงโดยความหมายสูงสุด เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตรงข้ามกับสมมติสัจจะ จริงโดยสมมติ เช่น สัตว์ บุคคล ฉัน เธอ ม้า รถ นาย แดง ดำ ขาว เหม็น หอม สวย ดี เลว ฯลฯ

 

ปรมัตถ์

 (๑) ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน

(๒) ความหมายสูงสุด ความหมายที่แท้จริง เช่น ในคำว่า ปรมัตถธรรม

        สภาวะที่มีอยู่โดยปรมัตถ์ สิ่งที่เป็นจริงโดยความหมายสูงสุด 

ตามหลักอภิธรรมว่ามี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า

       สมมติสัจจะ

      เป็นสัจจะหรือความจริงแบบโลกๆ ความจริงแบบสมมุติ ความจริงที่มนุษย์ 

คิดขึ้นเอาแล้วตั้งชื่อเรียกขึ้นมา ให้ความหมายตามความสามารถที่มนุษย์ 

จะรู้จักสิ่งเหล่านั้นได้ อาทิเช่น ตั้งชื่อสัตว์และสิ่งต่างๆ เช่น ช้าง ม้า วัว 

นก ปลา ไก่ สีดำ สีขาว หอม เหม็น รวย จน เก่ง ดี

เอาไว้เรียกเพื่อตะได้ไม่สับสน

 

           ปรมัตถสัจจะ

         เป็นสัจจะหรือความจริงที่เป็นความเป็นจริงจริงๆ ในธรรมชาติ เป็นความจริง อันเป็นของแท้ในธรรมชาติความจริงเหล่านี้เองที่พระสัพพัญญุตญาณของ พระพุทธเจ้าสามารถเข้าไปค้นพบและเข้าใจได้ถ่องแท้และได้นำมาเปิดแสดง ให้ผู้คนได้มีโอกาสสัมผัสธรรมของแท้อันไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือสิ่งของสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งปวง จะมีก็แต่ จิต เจตสิก รูป และ นิพพาน เพียงสี่อย่างเท่านั้น

        ชื่อทั้งหมดเป็นบัญญัติ แต่สภาพธรรมแม้ไม่มีชื่อก็มีลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แต่จำเป็นต้องใช้ชื่อ เพื่อที่จะได้ให้เข้าใจว่า หมายความถึงสภาพธรรมอะไร ทุกคนมีชื่อหมดเลย ความจริงก็คือขันธ์ ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ หากไม่บัญญัติชื่อก็ไม่รู้ว่าจะเรียกกันยังไง หรือจะชี้มือเอา

        ดังนั้น ความจริงจึงมี ๒ อย่าง คือจริงโดยสมมุติ หรือสมมุติสัจจะ กับ ปรมัตถสัจจะ หรือจริงยิ่งกว่าจริง

        สมมุติสัจจะเป็นบัญญัติ ปรมัตถสัจจะก็เป็น

ปรมัตถ์สัจ พอจะเข้าใจความต่างของสัจธรรมที่เป็นปรมัตถสัจจะกับสมมุติสัจจะว่า เพราะถ้าเป็นปรมัตถสัจจะหมายความถึงเป็นปรมัตถธรรม มีจริงๆ เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถ์ แต่ถ้าเป็นสมมุติสัจจะก็คือเป็นสิ่งที่มีจริง โดยคำที่ใช้ให้เข้าใจความหมายนั้นเท่านั้น เช่น ถ้วยแก้วเป็นสัจจะไหนคะ ปรมัตถสัจจะหรือสมมุติสัจจะ ถ้วยแก้ว สมมุติสัจจะ จาน ช้อน ซ้อมพวกนี้ก็สมมุติสัจจะ แต่ลักษณะที่แข็ง เป็นปรมัตถสัจจะ

        เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีลักษณะจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม จริงโดยความที่เป็นลักษณะนั้น ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นปรมัตถสัจจะ

 

การทำความดีแบบสมมุติสัจจะและปรมัตถสัจจะ

       เนื่องจากความจริง มี 2 ระดับ คือ

1.   สมมติสัจจะ

คือความจริงโดยสมมติ ไม่ใช่จริงแท้ (สม+มติ) คือจริงตามมติร่วมกัน โดยสำนวนพูด หมายรู้ร่วมกัน เป็นเครื่องมือสื่อสารพอให้สำเร็จประโยชน์ในชีวิตประจำวัน บัญญัติไว้สำหรับเรียกเท่านั้น เช่น ตน เขา เรา คน สัตว์ โต๊ะ เก้าอี้ ตลอดทั้งการทำความดีตามหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นมา ถ้าผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด ก็จะถือว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด เป็นต้น

      ส่วนพุทธพจน์ที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งของตน” นั้นเป็นการใช้ภาษาสมมติ ตามสภาวะ ตัวตนนั้นไม่มีจริง มีแต่สภาวะธรรมที่มีจริง

       อีกนัยหนึ่ง การทำความดีแบบสมมุติ อาจจะมีพิธีกรรมที่เห็นว่าดีงวาม อาจจะมีฤกษ์ มียาม เช่น ฤกษ์ดี ยามดี หรือฤกษ์สะดวก ยามสะดวก สุดแท้แต่จะถือ ก็ไม่เสียหายขึ้นอยู่กับความพร้อมในการจัดงาน การหาจุดเริ่มต้นของงาน

2.   ปรมัตถสัจจะ

ความจริงตามความหมายสูงสุด ตามความหมายแท้ขั้นสุดท้ายที่ตรงตามสภาวะและเท่าที่พอจะกล่าวถึงได้ เพื่อสำหรับให้เกิดความรู้ความเข้าใจเท่าทันความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือ การจะเข้าถึงปรมัตถสัจจะ หรือนิพพาน ต้องทำการการหยั่งรู้สัจธรรม เช่น รูปธรรม นามธรรม ขันธ์ 5  รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ทำนิพพานให้แจ้ง      การจะเข้าถึงนิพพาน ต้องมีการดำเนินการตามอริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค 8 หรือ หนทางสู่การดับทุกข์ ประกอบด้วย

     1.   สัมมาทิฏฐิ

ความเห็นที่ถูกต้อง หมายถึง ความรู้ในอริยสัจ 4

     2.   สัมมาสังกัปปะ

ดำริชอบ หรือความคิดที่ถูกต้อง หมายถึง

ความคิดในการออกจากกาม ความไม่พยาบาท และการไม่เบียดเบียน

      3.สัมมาวาจา

       วาจาชอบ หมายถึง การเว้นจากการพูดเท็จ

พูดคำหยาบคาย พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้ พูดเหลวไหล

     4.สัมมากัมมันตะ

การงานขอบ การปฏิบัติที่ถูกต้อง หมายถึง เจตนา

ละเว้นจากการฆ่า การเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ และ

การประพฤติผิดในกาม เป็นต้น

       5.สัมมาอาชีวะ

        การหาเลี้ยงชีพชอบ หรือถูกต้อง หมายถึง การเว้นจากมิจฉาชีพ

      6. สัมมาวายามะ

         ความเพียรที่ถูกต้อง หมายถึง สัมมัปปธาน 4 คือ ความพยายามป้องกัน

อกุศลที่ยังไม่เกิด ละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ทำกุศลที่ยังไม่เกิด และดำรงรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

      7.สัมมาสติ

        การระลึกชอบ การมีสติที่ถูกต้อง หมายถึง

สติปัฏฐาน 4 กาย เวทนา จิต และธรรม

     8.สัมมาสมาธิ

       การมีสมาธิชอบ จิตตั้งมั่นชอบหรือถูกต้อง หมายถึง ฌาน 8 รูปฌาน 4 

ฌานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์ ฌานที่เป็น

รูปาวจร ได้แก่

       ปฐมฌาน ( ฌานที่ 1 ) ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา

       ทุติยฌาน ( ฌานที่ 2 ) ประกอบด้วย ปิติ สุข เอกัคคตา

       ตติยฌาน ( ฌานที่ 3 ) ประกอบด้วย สุข เอกัคคตา

  จตุตถฌาน ( ฌานที่ 4) ประกอบด้วย อุเบกขา เอกัคคตา

      อรูปฌาน 4 ฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ฌานที่เป็น

อรูปาวจร ได้แก่

      อากาสานัญจายตนะ มีความว่างเปล่าคืออากาสไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์

      วิญญาณัญจายตนะ มีความว่างระดับนามธาตุคือความว่างในแบบที่

อายตนะภายนอกและภายในไม่กระทบกันจนเกิดวิญญาณธาตุการรับรู้ขึ้นเป็นอารมณ์

      อากิญจัญญายตนะ การไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์

      เนวสัญญานาสัญญายตนะ จะว่ามีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ 

คือแม้แต่อารมณ์ว่าไม่มีอะไรเลยก็ไม่มี)

เมื่อกล่าวสั้นๆ ว่า " ฌาน 4" จะหมายถึง แค่รูปฌาน 4 และเมื่อกล่าวสั้นๆ ว่า 

"ฌาน 8" จะหมายถึง รูปฌาน 4 กับ อรูปฌาน 4 แต่ตามหลักอภิธรรมโดยสภาวะ 

อรูปฌานทั้ง 4 ท่านจัดว่าเป็นเพียงจตุตถฌาน เพราะประกอบด้วย อุเบกขา เอกกัคคตา 

เช่นเดียวกับจตุตถฌานของรูปฌาน เพียงแต่มีอารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้งกว่า 

จึงแยกเรียกโดยบัญญัติว่าฌาน 8 เพื่อความเข้าใจ

      ในจูฬเวทัลลสูตร พระพุทธเจ้าทรงจัดสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ 

เข้าในสีลขันธ์ ทรงจัดสัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เข้าในสมาธิขันธ์ 

และทรงจัดสัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ เข้าในเป็นปัญญาขันธ์

 

สรุป

        การทำความดีแบบสมมุติสัจจะ คือการทำความดีตามที่ชาวโลกเขากำหนดว่าดี เป็นโลกิยธรรม และ
การทำความดีแบบปรมัตถสัจจะ คือการทำความดีสูงสุด หรืออย่างยิ่ง ซี่งเป็นโลกุตตรธรรม หรือเหนือโลก 
เช่น การทำพระนิพพานให้แจ้ง อุปมาได้ว่า เสียใจ จะพาไปนรก ดีใจ จะพาไปสวรรค์ สุขใจ เย็นใจ 
จะพาไปนิพพาน...

 

-----------

 

 


 

หมายเลขบันทึก: 709156เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2022 01:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2022 22:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท