จับชีพจรสิงคโปร์2565 (2) (Singapore 2022 (2)


จริงๆ ผมมีเรื่องจะเล่าเกี่ยวกับสิงคโปร์ต่อจากเมื่อวาน (25 ตุลาคม 2565) อีก แต่พอดีวันนี้พานักศึกษาปริญญาเอกสาขาวิชาการบริหารการศึกษารุ่น 5 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษไปดูงานที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ (National University of Singapore:NUS) และได้บทเรียนจากอาจารย์วิทยากรที่มาต้อนรับ พานำเที่ยว และบรรยายพิเศษในการเยี่ยมชมครั้งนี้หลายประเด็น ดังตัวอย่างบางตอนที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อไป

เรื่องแรกคือวิทยากรแนะนำตนเองว่าท่านเป็นนักปฏิบัติมากกว่าเป็นนักทฤษฎี ซึ่งท่านบอกว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประสบการณ์มี่ค่ามากกว่าทฤษฎี เพราะโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ความรู้เดิมหรือที่เคยเรียนรู้มาก่อนนำมาใช้ได้น้อยมาก เราต้องใช้การเรียนรู้จากประสบการณ์ให้เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหา และนักปฏิบัติจะมีความสามารถในการเรียนรู้จากประสบการณ์ใด้ดีกว่านักทฤษฎี ท่านซึ่งเป็นนักประสบการณ์นิยมจึงเป็นบุคคลที่สิงคโปรต้องการมากในยุคปัจจุบัน ท่านจึงเป็นทั้งคณะทำงานในการปฏิรูปการศึกษาของสิงคโปร์ และเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยด้วย 

ท่านเล่าว่าท่านจบมาทางวิศวะ ซึ่งเป็นนักปฏิบัติมากกว่าเป็นนักทฤษฎี โดยหน้าที่ของนักวิศวกรคือการแก้ปัญหา เมื่อคุณหรือสังคมมีปัญหา ก็โยนปัญหาให้วิศวกร และวิศวกรก็จะคิดและหาแก้ปัญหา แต่นักการศึกษาหรือนักทฤษฎีได้รับโจทย์หรือปัญหาให้แก้ไข นักทฤษฎี หรือนักการศึกษาก็จะแก้ปัญหาโดยทฤษฎี ซึ่งอาจจะแก้ปัญหานั้นได้บางส่วน หรือได้ระยะหนึ่ง แต่จะสร้างปัญหาใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ แต่การแก้ปัญหายุคใหม่ต้องมองปัญหาเป็นองค์รวม แก้ปัญหาไป เรียนรู้ไป ดังนี้การเรียนรู้จึงต้องเป็นการเรียนรู้โดยใช้ประสบการเป็นฐาน ไม่ใช่การเรียนรู้แบบตามลำดับชั้นดังที่ Bloom  เสนอคือ คือเริ่มจากความรู้ความจำ (remember) ไปสู่การเข้าใจ (understand) การนำไปใช้ (apply) การคิดวิเคราะห์ (analyze) การประเมินผล (evaluate) แล้วค่อยสร้างสรรค์ (create) แต่การศึกษายุคใหม่ต้องเป็นการเรียนรู้เชิงสมรรถนะ (competency-based learning) คือรู้ก่อนว่าตนต้องการเป็นอะไรและทำอะไรเป็น จึงเลือกสมรรถนะในการเรียนรู้ และเรียนสมรรถนะไหนก่อนก็ได้ ไม่ต้องเรียงลำดับ การเรียนรู้ฐานสมรรถนะไม่มีการ ผ่านหรือไม่ผ่าน (pass or fail) มีต่อมีสมรรถนะ หรือยังไม่มีสมรรถนะ ถ้ายังไม่มีจะทำอย่างไรจึงจะมี 

หลักสูตรของประเทศสิงคโปร์ยุคใหม่จึงมุ่งพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนตามอาชีพและความจำเป็นในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิต ไม่แยกงานออกจากการเรียนรู้ ไม่เรียนเพื่อออกไปทำงาน แต่นำสถานประกอบการ หรืออาชีพใหม่มาเป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมกันกับการทำหน้าที่ของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์ประสานการเรียนรู้ในชีวิตจริงและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (facilitate learning) ช่วยเปลี่ยนสิ่งที่เคยเรียน (unlearning) และเรียนรู้ใหม่ (relearning)  ช่วยคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ช่วยคนที่เคยเรียนเรื่องหนึ่งมาแล้วแต่ไม่ตอบโจทย์ปัจจุบัน (คือจบเอกที่ไม่งางานให้ทำ) เรียนรู้งานใหม่ และช่วยคนที่เคยประสบผลสำเร็จในเรื่องหนึ่งมาแล้วให้เรียนรู้ในการทำสิ่งใหม่ที่ตนชอบ หรือสนใจ

การเรียนรู้ต้องรักที่จะเรียน (passion to learn) อดทนที่จะเรียน (patient to learn) และเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (lifelong continuous learning)

นี่คือสาระสรุปสำคัญที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากวิทยากรจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติของประเทศสิงคโปร์  Mr. Nicholas Tan

และถามตอบช่วงท้ายการแลดูงานมรหลายคำถามครับ แต่ที่ประธานรุ่นฯ ผอ. ทวีศักดิ์ สังวัง ถามวิทยกรว่า ’วิสัยทัศน์การศึกษา’ คืออะไร วิทยากรตอบว่า Being the leading university of the world and reshaping the future ครับ

เพื่อการเรียนรู้ของลูกศิษย์ที่ร่วมดูงาน และผู้สนใจทุกคนครับ

รักนะประเทศไทย

สมาน อัศวภูมิ

26 ตุลาคม 2565

 

 

หมายเลขบันทึก: 709152เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2022 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2022 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท