เยี่ยมฝันปันยิ้ม ครั้งที่ 7 (กิจกรรมนอกหลักสูตรที่มีนัยยะมากกว่าคำว่า "เยี่ยมยามถามข่าว")


ฐานการเรียนรู้ที่จำลองขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่ดีงามอย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวโยงกับการเรียนรู้ในหลายมิติ ยกตัวอย่างเช่น การเรียนรู้โดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Center Learning & Student-centered learning) อันหมายถึงเกี่ยวพันกับช่วงวัยและสาระการเรียนรู้ของนักเรียน เน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ (Learning by doing) เพื่อก่อให้เกิดความตื่นตัว - ก่อให้เกิดความรู้และทักษะควบคู่กันไป

โครงการเยี่ยมฝันปันยิ้ม ครั้งที่ 7 ของ “ชมรมรุ่นสัมพันธ์” มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 10 กันยายน  2565 ณ โรงเรียนบ้านสว่างซำโอง  อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ 

1) เพื่อมอบอุปกรณ์การศึกษา อุปกรณ์การกีฬา ให้กับทางโรงเรียน

2) เพื่อศึกษาและนำความรู้ไปปรับใช้ต่อองค์กรและเป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรม “ค่ายความรู้นี้พี่ให้น้อง” 

3) เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนิสิตกับโรงเรียนชุมชนและวัด ตามหลัก “บวร”      




 

โดยส่วนตัวแล้ว ผมสนใจวัตถุประสงค์การเรียนรู้ข้อที่ 2 มากที่สุด เพราะมีความเชื่อมโยงกับชื่อโครงการอย่างน่าสนใจ กล่าวคือ เป็นกิจกรรมที่มุ่งนำมวลสมาชิกชาวค่ายกลับไป “เยี่ยมยามถามข่าว” ชุมชน หรือโรงเรียนที่นิสิตเคยไป “ออกค่าย”


และเมื่อพิจารณาผ่านวัตถุประสงค์ข้างต้น จะพบว่า ไม่เพียงแค่การ “กลับไปเยี่ยม” ธรรมดาๆ เท่านั้น แต่ยังมีนัยยะครอบคลุมถึงการ “ไปแบ่งปัน” ในตัวอย่างเสร็จสรรพ  หรือพูดให้ชัดขึ้นก็คือเป็นกิจกรรมที่กลับไปเยี่ยมชุมชนที่เคย “ไปออกค่าย”  แต่มิใช่กลับไปมือเปล่า  หากมีกิจกรรม “ต่อยอด-รังสรรค์”  ให้กับชุมชนด้วยเช่นกัน

 

 

กิจกรรมที่รังสรรค์-ต่อยอดขึ้นในครั้งนี้ นิสิตไม่ได้นั่งจินตนาการขึ้นเอง ทว่ามีการสอบถามคณะครูอย่างต่อเนื่องว่าต้องการกิจกรรมอะไรเพิ่มเติมบ้าง ซึ่งการสอบถามดังกล่าว เป็นเสมือนกระบวนการ “พัฒนาโจทย์บนฐานความต้องการของชุมชนหรือโรงเรียน”  ก็ว่าได้ 

 

หรือจะเรียกเป็นทางการว่าเป็นกระบวนการสำรวจปัญหาเพื่อนำมาออกแบบเป็นกิจกรรมก็ไม่ผิด  และผลของการสอบถามข้างต้นจึงนำไปสู่การออกแบบกิจกรรมที่โรงเรียนต้องการ นั่นคือ การมอบอุปกรณ์การศึกษา อุปกรณ์การกีฬา การมอบผ้าสแลนเพื่อใช้มุงกันแดดในสถานที่สำคัญๆ ของโรงเรียน  กีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ การถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์

 

รวมถึงการจัดฐานการเรียนรู้แก่นักเรียนภายใต้ชื่อ Scinece Show  เป็นต้นว่า –

 

  • ฐาน “น้ำกับน้ำมัน” เพื่อให้นักเรียนได้เห็นความหนาแน่นระหว่างน้ำกับน้ำมันที่ไม่อาจผสมเป็นเนื้อเดียวกันได้  เพราะน้ำมันมีมวลความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ เมื่อนำมาผสมกัน น้ำมันจึงลอยตัวอยู่เหนือผิวน้ำ

 

  • ฐาน “ภูเขาไฟ” (Lava Lamp) ที่มุ่งให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการการระเบิดของลาวาที่ยึดโยงกับการระเหยของน้ำที่ก่อให้เกิดก๊าชคาร์บอนไดออกไชด์  เพียงแต่ครั้งนี้เป็นการทดลองผ่านการนำเบกกิ้งโซดามาผสมกับน้ำ เพื่อทำให้เกิดฟองก๊าซและเมื่อหยดสีลงไปก็จะทำให้สีมีการเคลื่อนที่ไปมา

 

 

 

โดยส่วนตัวผมมองว่า  ฐานการเรียนรู้ที่จำลองขึ้นนั้น  เป็นเรื่องที่ดีงามอย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวโยงกับการเรียนรู้ในหลายมิติ ยกตัวอย่างเช่น การเรียนรู้โดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child Center Learning & Student-centered learning) อันหมายถึงเกี่ยวพันกับช่วงวัยและสาระการเรียนรู้ของนักเรียน เน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ  (Learning by doing) เพื่อก่อให้เกิดความตื่นตัว - ก่อให้เกิดความรู้และทักษะควบคู่กันไป 

และทั้งปวงนั้นก็คือการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) ในศตวรรษที่ 21 อย่างไม่ต้องสงสัย

 

 

ผมย้ำว่า ผมชื่นชมที่นิสิตออกแบบกิจกรรมผ่านกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก  เพราะช่วยให้นักเรียนสนุกและตื่นตัวกับการเรียนรู้ผ่านการ “ทดลอง” ร่วมกันอย่างเป็น “ทีม” ซึ่งนั่นก็เป็นการฝึกกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อนำไปสู่ทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทักษะการสังเกต การคิดวิเคราะห์  การตีความ การจินตนาการ  ฯลฯ

 

ครับ – นั่นคือกิจกรรมที่ถูกออกแบบขึ้นใหม่ เพื่อนำไปต่อยอดให้กับโรงเรียนและชุมชน 

 

 

ส่วนอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีนัยยะเป็นหนึ่งเดียวกับวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 อย่างชัดเจนก็คือการกลับไปเรียนรู้ผลงานเก่าที่ชมรมฯ ได้ก่อร่างสร้างฝันไว้ 

– เป็นการกลับไปเรียนรู้ผ่านวาทกรรมของการ “เยี่ยมฝัน” ที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งคราวก่อน (ค่ายความรู้นี้พี่ให้น้อง ครั้ง 18) 

– เป็นการกลับไปเรียนรู้ที่ซ่อนมีนัยสำคัญแห่งการประเมินผลงาน หรือการใช้ประโยชน์จริงไปในตัว

 

กรณีดังกล่าวนี้ ปรากฏชัดแจ้งผ่านกิจกรรมที่แกนนำชมรมฯ ได้นำนิสิตเข้าเยี่ยมชมกิจกรรมที่เคยขับเคลื่อนไว้  เช่น  ห้องสมุด ห้องพยาบาล  สนามฟุตซอล ลาน BBL โดยหวังว่าสิ่งที่พบเห็นจะถูกนำมาแปลงเป็นฐานข้อมูลเพื่อทบทวนและต่อยอดสู่กิจกรรมครั้งใหม่ภายในชื่อ ค่ายความรู้นี้พี่ให้น้อง ครั้งที่ 19 

 


จากภาพรวมกิจกรรมข้างต้น ทั้งที่เป็นกิจกรรมการเยี่ยมชมผลงานเก่าและกิจกรรมที่รังสรรค์ขึ้นใหม่  จึงยิ่งตอกย้ำให้รู้สึกว่า “เยี่ยมฝันปันยิ้ม ครั้งที่ 7” คือระบบ-กลไกการ “สอนงานสร้างทีม” ของชมรมรุ่นสัมพันธ์ดีๆ นั่นเอง กล่าวคือ เป็นการสอนงานผ่านการศึกษาดูงาน  (Study tour)  โดยใช้ผลงานเดิมเป็นกรณีศึกษา  (Case study) เป็นการสอนงานโดยไม่ต้องพรรณนาสาธยายสรรพคุณให้มากความ  แต่เน้นให้เรียนรู้ผ่านผลงานเชิงประจักษ์ร่วมกัน

 

ใช่ครับ – กระบวนการที่ว่านี้  จึงเป็นเสมือนการ “ปล่อยให้งาน บอกเล่าแทนคำพูด” 

                        

               

 

รวมถึงการใช้ “ผลงาน” หรือ “หน้างาน” ที่ว่านั้นเป็น “ฐาน” หรือ “โจทย์” การเรียนรู้แบบสดๆ  ซึ่งผมเชื่อว่ากระบวนการเช่นนี้ จะช่วยให้นิสิตที่เป็นสมาชิกใหม่ เกิดความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของชมรมฯ  เข้าใจทิศทาง-ปรัชญาการทำงานของชมรมฯ  เข้าใจวิธีการทำงานที่มีการปรับแต่งให้สอดรับกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) 

 

พร้อมๆ กับการเสริมหนุนให้สมาชิกใหม่เกิดแรงบันดาลใจในการที่จะเรียนรู้ชีวิตผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร (Extracurricular activity) ทั้งในนามชมรมรุ่นสัมพันธ์ และอื่นๆ 

 

 

ในทำนองเดียวกัน  เมื่อพิจารณาถึงประเด็นทักษะ (Skills) ที่ปักธงเป็นหัวใจหลักของการเรียนรู้ในโครงการนี้มี 3 ทักษะ ได้แก่ 1) ทักษะด้านภาวะผู้นำ 2) ทักษะการปรับตัว มีมนุษยสัมพันธ์ การทำงานร่วมกับผู้อื่น  3) ทักษะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ก็พอจะมองเห็นภาพในมุมกว้างได้พอสมควร

ยกตัวอย่างเช่น  กรณีทักษะความเป็นผู้นำ ที่หมายถึงการบริหารงานบริหารคน  เป็นต้นว่า การมอบหมายนิสิตชั้นปีที่ 1 รับผิดชอบเรื่อง Scinece Show ส่วนนิสิตชั้นปีอื่นๆ จะรับผิดชอบสายงานกิจกรรมกีฬา  สายงานพิธีการ ฯลฯ แต่ในสายงานที่นิสิตชั้นปีที่ 1 ดูแลนั้นก็จะมีนิสิตรุ่นพี่คอยทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” อยู่ข้างๆ 

ขณะที่แกนนำชมรมฯ และคณะกรรมการค่ายก็ดูแลภาพรวม ทั้งกำกับติดตาม -หนุนเสริม หรือแม้แต่การเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในเนื้องานของกิจกรรมต่างๆ  

 

 

การทำงานในลักษณะดังกล่าว จึงไม่เพียงสะท้อนให้เห็นภาพความเป็นผู้นำที่ว่าด้วยการแบ่งหน้าที่บนฐานคิดการการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning)  เท่านั้น  แต่ทุกๆ กิจกรรมทั้งที่เป็นฐานวิทยาศาสตร์  กิจกรรมกีฬา การศึกษาดูงานผ่านกรณีกิจกรรมที่เคยจัดขึ้น หรือแม้แต่กิจกรรมการถวายเพล และการยกเลิกบางกิจกรรมด้วยข้อจำกัดของเวลา  ต่างล้วนยึดโยงถึงประเด็นทักษะการปรับตัว-ปรับงาน -การทำงานร่วมกัน ตลอดจนการสื่อสารสร้างสรรค์ ทั้งในระดับนิสิตกับนิสิต และนิสิตกับโรงเรียน/ชุมชน

 

ซึ่งผมมองว่า ครอบองค์ทักษะของการเรียนรู้ทั้ง 3 ประเด็นอย่างไม่ต้องสงสัย   

 

ส่วนจะก่อเกิดเป็นความรู้และทักษะในเชิงลึก หรือแผ่ขยายในวงกว้างต่อมวลสมาชิกชาวค่ายหรือไม่นั้น  ต้องให้นิสิตมายืนยันด้วยตนเอง 

แต่ที่แน่ๆ ในมุมมองของผม -  “เยี่ยมฝันปันยิ้ม”  มีคุณค่าและความหมายมากกว่าการไปเยี่ยมยามถามข่าวโดยทั่วไปอย่างแน่นอน

 

 

เขียน : ศุกร์ที่  21 ตุลาคม 2565
ภาพ : ชมรมรุ่นสัมพันธ์


 



ความเห็น (1)

“ความสุข” ของการนั่งมองใครสักคนทำงาน

นั่นคือ “ความสุข”

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท