๑๔. บูรณาการกับการเรียนรู้..


  บรรยากาศวันนี้ ช่างเป็นใจให้ทำงานเหลือเกิน อากาศครึ้มๆดูมัวซัวและเยียบเย็นลง เหมือนว่าฤดูหนาวคืบคลานเข้ามา หรือไม่ก็มีฝนตกยังที่ไกลๆ ให้อุณหภูมิลดต่ำลงเรื่อยๆ

          การทำสองอย่างควบคู่กันและเอื้อไปด้วยกัน ประหยัดเวลา แรงกาย และงบประมาณ เป็นการบริหารจัดการชีวิต เพื่อผลสัมฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

         ตราบใดที่ยังอยู่ในวงการศึกษา คงจะต้องทูอินวันในกระบวนการทำงานอยู่เสมอ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยสมองและสองมือ ยึดถือไว้ซึ่งบูรณาการ ร้อยรัดงานกับชีวิตเข้าด้วยกัน

          อย่างเช่นวันนี้ มีการเพาะเมล็ดถั่วฝักยาวไว้นานแล้ว เมื่อปลูกที่โคกหนองนาจนเสร็จสิ้น ยังคงเหลืออีกหลายต้น ที่มีรูปทรงสวยงาม น่าปลูกให้หมดมากกว่าที่จะนำไปทิ้งขว้าง

          เมื่อนำมาปลูกลงในแปลงของโรงเรียน จึงต้องทำค้างให้เสร็จไปในคราวเดียว โดยใช้ไม้ไผ่ด้านหลังโรงเรียน มาปักยึดโยงให้แน่น ไม่มีโยกซ้ายเอียงขวา เพื่อจะใช้ได้นานหลายเดือน

          ค้างถั่วฝักยาวต้องปักไม้ให้ถี่เพราะต้นถั่วมีหลายต้น เมื่อต้นถั่วยังเหลือจึงนำไปปลูกในรอง แต่ไม่ไผ่หมดแล้ว ต้องตัดต้นกระถินตรงบ่อปลามาใช้แทน ปักรวมกันเป็นซุ้ม ก็รู้สึกว่าดีเหมือนกัน

          บรรยากาศวันนี้ ช่างเป็นใจให้ทำงานเหลือเกิน อากาศครึ้มๆดูมัวซัวและเยียบเย็นลง เหมือนว่าฤดูหนาวคืบคลานเข้ามา หรือไม่ก็มีฝนตกยังที่ไกลๆ ให้อุณหภูมิลดต่ำลงเรื่อยๆ

          ช่วงบ่ายจึงไปต่อที่โคกหนองนา ภารกิจสำคัญคือเตรียมวัสดุอุปกรณ์อีกครั้ง เพื่อต้อนรับแหนแดงพันธุ๋ใหม่ ส่วนแหนแดงพันธุ์พื้นบ้านที่เลี้ยงผ่านมา ๒๐ วันประสบความล้มเหลวทั้งหมด

          การเรียนรู้แหนแดงรุ่นแรก จึงได้ทั้งความรู้และประสบการณ์ มิใช่การสร้างงานแต่อย่างใด แต่ให้ความเบิกบานแก่ชีวิต ยังไงก็ต้องการจะพิชิตเรื่องแหนแดงให้สำเร็จต่อไป

          ทำไมจึงเลี้ยงแหนแดงไม่สำเร็จ..จากข้อมูลที่จำได้ ไม่ได้นำแหนแดงมาอยู่ในร่ม หรือไม่ก็ใส่มูลวัวมากเกินไป แต่ที่มั่นใจคงเป็นเพราะใส่ยูเรียมากเกินพอดี อีกทั้งพ่นน้ำส้มควันไม้ลงไปด้วย

          หลายคนบอกว่า...โดนน้ำฝนไม่ค่อยจะได้ จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ของเราเจอน้ำฝนตลอด ต่อไปนี้ ตั้งใจว่าจะดูแลให้ดีที่สุดไม่ให้ตากอะไรทั้งนั้น ทั้งแดด ลมและฝน

          ขอบคุณสำนักงานเกษตรอำเภอเลาขวัญ ที่แนะนำให้ไปขอแหนแดงพันธุ์ดีที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรฯ อยู่ที่ อ.อู่ทอง สุพรรณบุรี เขาให้ฟรีเพียงแค่ยื่นบัตรประชาชนให้เขาเท่านั้น

          เจ้าหน้าที่ใจดี หยิบยื่นให้มา ๒ ถุง ถุงละ ๑ กิโลกรัม เพียงพอที่นำมาขยับขยายในกาละมังที่เตรียมไว้ แหนแดงงวดนี้งดงามเหลือเกิน ใบใหญ่เขียวสดใสมากกว่าพันธุ์พื้นเมือง

          พอเสร็จสิ้นขั้นตอนการเพาะเลี้ยง จึงหยิบแผ่นพับขึ้นมาศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมในรายละเอียด เพื่อจะได้เข้าใจธรรมชาติของแหนแดง และนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น 

          วันนี้จึงเป็นครั้งแรก ที่เห็นแหนแดงพันธุ์ที่ต้องการ ซึ่งเป็นพันธุ์เดียวกับกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้แก่เกษตรกรเพาะเลี้ยง คือพันธุ์ อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า ซึ่งให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองถึง ๑๐ เท่า แบบนี้คงต้องหาอุปกรณ์เพาะเลี้ยงเพิ่มเสียแล้วกระมัง....

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๒๑  ตุลาคม  ๒๕๖๕ (ปิดเทอม ๑/๒๕๖๕ วันที่สิบสี่)

          

หมายเลขบันทึก: 708959เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2022 19:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2022 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท