ความเป็นสถาบันของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล


 

จิตของผมยังประหวัดอยู่กับการประชุมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้  “เพื่อเด็กทุกคน บทเรียนจากโรงเรียนพัฒนาตนเอง รุ่น ๑”   ระหว่างวันที่ ๓ - ๔ กันยายน ๒๕๖๕ ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ    ที่ผมไปร่วมในวันที่ ๓   และมีข้อสรุปว่า โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ไม่เป็นสถาบัน    ไม่เป็นตัวของตัวเอง    ไม่เป็นหลักของชุมชน    เพราะทั้งผู้อำนวยการและครูส่วนใหญ่ ต่างก็ไปทำงานเพียงชั่วคราว เพื่อรอโอกาสย้าย   

ยิ่งกว่านั้น ผู้บริหารที่ส่วนกลาง ก็สั่งการเพื่อให้โรงเรียนทำงานเพื่อสร้างผลงานให้แก่หน่วยงานของตนที่ส่วนกลาง     ขโมยผลประโยชน์จากนักเรียนในโรงเรียนเหล่านั้น   มีผลให้นักเรียนเหล่านั้นได้รับการศึกษาคุณภาพต่ำ   

นี่คือสาเหตุเชิงระบบ ของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา     ที่ควรมีการวิจัยเชิงระบบ เพื่อสร้างข้อมูลหลักฐานพิสูจน์ว่าข้อสรุปนี้ของผม เป็นความจริง หรือเป็นความหลงผิดของคนแก่อย่างผม     

โรงเรียนเหล่านี้ไม่เป็นสถาบัน   ไม่มีอัตลักษณ์ของตนเอง   ไม่มีความต่อเนื่องยั่งยืน   เพราะถูกใช้เป็นบันไดทางผ่านของบุคลากรทางการศึกษาในระบบการศึกษา     ไม่มีใครอยากอยู่ทำงานนานๆ เพื่อสร้างผลงาน   เพราะระบบไม่เอื้อหรือชักจูงให้บุคลากรทางการศึกษาสร้างผลงานผ่านข้อพิสูจน์ว่าได้ transform โรงเรียน ให้เป็นแหล่งสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้คุณภาพสูงให้แก่นักเรียน  ผลงานของบุคลากรเป็นผลงานทางวิชาการที่ไม่ผูกพันกับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน   

นี่คือระบบการศึกษาที่ถูกออกแบบให้มีความเหลื่อมล้ำอยู่ในระบบ    โดยไม่รู้ตัว  ไม่ตั้งใจ   เพราะเป็นระบบที่ขาดการวิจัยระบบ   สำหรับเป็นปัญญา และเป็นสติ ของระบบ   ว่าระบบการศึกษาไทยกำลังส่งมอบผลลัพธ์อะไรให้แก่สังคมหรือประเทศไทย

กำลังส่งมอบความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา   สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยไม่ตั้งใจ   

นี่คือระบบการศึกษาที่มืดบอด   หรือหากไม่มืดบอดทางปัญญา ก็จงใจปล้นผลประโยชน์จากเด็กในพื้นที่ห่างไกล   และจากผลประโยชน์ของสังคมไทยในระยะยาว   แย่งชิงผลประโยชน์สู่ผู้มีอำนาจและผู้รับใช้

นักวิชาการศึกษาไทย ไม่คิดตั้งโจทย์วิจัยเชิงระบบเพื่อพิสูจน์ว่าข้อกล่าวหานี้ไม่เป็นจริง หรือพิสูจน์ว่าเป็นจริง     ที่จะนำสู่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดจากระบบที่ผิดเพี้ยนบิดเบี้ยว   

กสศ. ที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตระหนักในความจริงนี้หรือไม่    และจะดำเนินการแก้ไข เพื่อสร้างความเข้มแข็งระยะยาวให้แก่การศึกษาไทย    และแก่สังคมไทยอย่างไร    

ผู้ใหญ่ ในกระทรวงศึกษาธิการ ตระหนักในความจริงนี้หรือไม่   และตระหนักในความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ของตนเองหรือไม่   

ผมเขียนบันทึกนี้ด้วยสภาพจิตใน creative mode    ข้อความในบันทึกนี้จึงอาจไม่เป็นจริงทั้งหมดก็ได้    และต้องกราบขออภัย หากไปกระทบกระเทือนต่อท่านผู้ใด    เจตนาของผมคือ ชี้ให้เห็นความผิดพลาดเชิงระบบ    เพื่อช่วยกันหาทางแก้     เพื่ออนาคตของสังคมไทย   

โรงเรียนไทยไม่มีวันพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืนได้    หากระบบการศึกษายังเป็นเช่นนี้ 

ข่าว (๑) สะท้อนความซับซ้อน ของระบบการศึกษา ความเชื่อมโยงกับระบบการเมืองเรื่องผลประโยชน์    โปรดอ่านข่าว แล้วค้นหาว่า ผลประโยชน์ของเด็กอยู่ตรงไหน   

วิจารณ์ พานิช

๔ ก.ย. ๖๕

             

หมายเลขบันทึก: 708557เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2022 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2022 18:02 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท