7 ตุลาคม 2565
: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]
ปัญหาอุปสรรค และความคาดหวังของการปลดล็อกกัญชาเป็นกระแสที่ยังไม่นิ่ง จากข่าวข้อมูลย้อนหลังไปไม่นานในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการกล่าวถึง “นโยบายกัญชาเสรี” ที่นักการเมืองมีความพยายามมานานกว่าสิบปี ไม่ว่าจะมีความหมายใดก็ตาม แต่ในต่างประเทศ มีคำว่า Cannabis Liberation มีการรณรงค์เดินขบวน “Global Marijuana March (GMM)” [2] ให้มีกัญชาเสรีโดยกำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือน พฤษภาคม ของทุกปีมาตั้งแต่ปี 1999 ข่าวการปลดล็อกกัญชาแต่ยังไม่ปลดล็อก[3] เป็นที่น่าสนใจเพื่อการวิเคราะห์หาจุดร่วมที่ดีในการตรากฎหมายกัญชาต่อไป
จุดเริ่มต้นการปลดล็อกกัญชา
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แก้ไข (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ประกาศ ราชกิจจานุเบกษาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562[4] ถือเป็นการเริ่มเปิดประตูในการใช้ประโยชน์จากกัญชา ทั้งมิติด้านการวิจัยสารสกัดและการอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคและในทางการแพทย์ได้ สำนักงาน ป.ป.ส. ระบุเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ว่า การขออนุญาตปลูกกัญชาสามารถกระทำได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขการปลูกคือ ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ สถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มกันจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม หรือสหกรณ์การเกษตร และร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อขออนุญาต ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ หรือ อย. และต้องดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น การปลูกกัญชาที่บ้าน หากไม่ขออนุญาตตามขั้นตอน จะถูกจับกุม มีผู้ลงทะเบียนจดแจ้งปลูกผ่านแอพฯ 5.8 แสนคน (20 มิ.ย.65) [5] ตามร่างกำหนดปลูกบ้านละไม่เกิน 10 ต้น[6] แต่เดิม (2564) โครงการกัญชาครัวเรือนโดยสถาบันกัญชาทางการแพทย์ ปลูกบ้านละ 6 ต้น[7] แต่ห้ามใช้เสพ ผิดกฎหมาย
คำว่า “กัญชาเสรี” มีขอบเขตความหมายเพียงใด
ในนิยามความหมายขอบเขตจึงเข้าใจแตกต่างๆ กัน เพราะมิได้หมายความถึง Cannabis Free หรือ Free Smokers หรือ การปลูกโดยเสรี (Free Cannabis Plants) หรือการทำให้กัญชาเป็นพืชเสพติดที่ถูกกฎหมาย (Legalize Cannabis) [8] ไม่ว่าจะทางการค้า หรือการใช้ส่วนบุคคลแต่อย่างใด เพราะยังมีกฎหมายและหน่วยงานควบคุมอยู่ อาทิ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา[9] กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขต้องออกประกาศเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2565[10] นอกจากนี้เพื่อการใช้ทางการแพทย์ (Medical Marijuana/Cannabis, Medical Plant) โรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งได้เปิดคลินิกกัญชา[11] เพื่อการรักษาโรคขึ้น และมีข้อแนะนำว่า ควรจำกัดเฉพาะกัญชาเพื่อการแพทย์
แต่น่าแปลกใจว่า นโยบายกัญชาเสรี ตามความเข้าใจของคนทั่วไป จะเข้าใจว่าคือ การที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย จะสามารถนำช่อดอกมาสูบได้โดยไม่ผิดกฎหมายยาเสพติดใดๆ เนื่องจากการปลดสารสกัดและส่วนประกอบของกัญชาและกัญชงออกจากบัญชียาเสพติด ทุกส่วนของพืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติด ถ้าไม่นำมาสกัดเอาสาร THC และ CBD ปลดล็อกให้บางส่วนของกัญชาสามารถใช้อย่างถูกกฎหมาย เป็นความสับสนในนิยามขอบเขตความหมายของ “กัญชาเสรี” เพราะต่อมาได้มีการปลดล็อกกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5 แล้วตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 ฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565[12] ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 โดยให้มีผลเมื่อพ้น 120 วัน
การปลดล็อกกัญชาที่ยังไม่เบ็ดเสร็จ
นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ทำให้กัญชาไม่ใช่พืชหรือทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดตามกฎหมายอีกต่อไป ยกเว้นตัวสารสกัดจากกัญชา แต่ปรากฏว่ากฎหมายที่จะมาควบคุมบังคับใช้พืชกัญชากลับยังไม่เรียบร้อย ไร้การกำกับดูแล ไร้การควบคุม เสมือนว่าเป็นช่วง “ภาวะสุญญากาศทางนโยบาย” [13] ที่ไม่สามารถดำเนินการทั้งในเชิงป้องกัน ควบคุม แก้ไขปัญหาต่างๆ ผลกระทบในหลายด้านที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากวันที่กฎหมายได้ปลดล็อกแล้ว
ข่าวความเสียหายและผลร้ายที่เกิดจากการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการมีมากมาย ซึ่งสร้างความกังวลแก่ประชาชนทั่วไป ที่มีต่อเด็กและเยาวชน รวมทั้งความกังวลของบุคคลการทางการแพทย์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และฝ่ายนักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมีข้อกังวลในความไม่พร้อมของการปลดล็อก และเสนอให้หยุดภาวะสุญญากาศเสรีกัญชาทันที[14] ด้วยเห็นว่า เป็นนโยบายที่ไม่รอบคอบรัดกุม ไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา แต่มุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่า ที่ตามเจตนารมณ์เดิมมุ่งเน้นใช้ทางการแพทย์ เป็นพืชยา พืชทางการแพทย์ (Medical Plant, Medicinal Use) เพื่อนำกัญชา และสารสกัดจากกัญชาเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตยารักษาโรค หรือไปใช้ทางการแพทย์เพื่อรักษาโรค และบรรเทาอาการต่างๆ ทางการแพทย์ อันจะก่อให้เกิดรายได้แก่เกษตรกร ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เป็นพืชเศรษฐกิจทางการค้า เป็นจุดเชื่อมต่อ[15] ระหว่างระบบการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยมากขึ้น
แต่ไปๆ มาๆ เสมือนว่าจะทำให้กัญชาเป็น “Soft Power” ทางด้านลบ[16] ที่นายทุนต่างจ้องแสวงประโยชน์[17] หรือกัญชาเป็น “สินค้าบาป” [18] ที่มิใช่ “สินค้าบุญ” (Merit Good) ที่มีประโยชน์ต่อประชาชนนัก ดังสินค้าอบายมุขต่างๆ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ เป็นต้น ซึ่งในการเทียบเคียงกับสินค้าอบายมุขดังกล่าว ในความรุนแรงเสียหายมิอาจเทียบกันได้ไม่ว่าในเชิงปริมาณ หรือเชิงคุณภาพ จึงมีการทวงถามหาแนวทางที่ถูกต้อง และความรับผิดชอบโดยเฉพาะในช่วงสุญญากาศดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น ไม่สามารถควบคุมตรวจสอบกิจการอาหารและเครื่องดื่มว่ามีสาร THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 หรือมีสาร THC เกินกำหนดหรือไม่ เพราะสาร THC มีฤทธิ์ทำให้มึนเมา หากรับสารมากไป[19] เป็นต้น
ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง(เดิม 2565) กับมาตรการกลไกตาข่ายล็อก 3 ชั้น
เท้าความในประเด็นว่าเหตุใดร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง จึงถอนร่างออกจากวาระประชุมไปเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565[20] เดิมมี 45 มาตรา แต่คณะกรรมาธิการได้พิจารณาเพิ่มเป็น 95 มาตรา บทบัญญัติตามร่างเดิม ร้อยละ 90 กล่าวถึงการควบคุมการผลิต ส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคมีเพียงมาตราเดียว ใช้ “มาตรการกลไกตาข่ายมาตรการล็อก 3 ชั้น” [21] เพื่อการควบคุมทางการค้าที่มีมูลค่ามาก คือ
(1) ใครจะปลูกได้ต้องขออนุญาต ขึ้นอยู่กับ รมต.สาธารณสุขออกประกาศ หากใครมีคุณสมบัติตามประกาศ จะต้องมีใบอนุญาตใบละ 50,000 บาท หากแปรรูปด้วยต้องขออีกใบราคาใบละ 50,000 บาท หากจะนำเข้าต้องจ่ายใบละ 100,000 บาท จะส่งออกใบละ 10,000 บาท หากจะขายภายในประเทศใบละ 50,000 บาท ค่าคำขอครั้งละ 7,000 บาท ค่าตรวจอาคารครั้งละ 50,000 บาท
(2) มีกลไกของผู้เชี่ยวชาญที่ตั้งขึ้นมา ให้สามารถมีข้อวินิจฉัย เป็น กลไกแห่งผลประโยชน์ทับซ้อนหากเทียบเคียงกับกฎหมายฉบับอื่น เพราะผู้เชี่ยวชาญย่อมใช้ดุลพินิจ ที่จะให้ใครได้รับอนุญาต หรือ วินิจฉัยว่าใครจะมีความผิด ซึ่งผู้ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้เชี่ยวชาญคือ รมต.สาธารณสุข นอกจากนี้ยังมีกลไกจัดการควบคุม คือ ให้อำนาจ เจ้าหน้าที่เข้า ตรวจค้น ยึด อายัด กัญชา กัญชง ยึดเครื่องมือ อุปกรณ์ ฉลาก บรรจุภัณฑ์ ทุกชนิด และหากว่า เจ้าหน้าที่สงสัยว่า ใครจะยักย้าย ถ่ายเท สามารถเข้าตรวจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น โดยให้ถือว่าการกระทำของ เจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็น เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
(3) ตาข่ายล็อกชั้นที่ 3 การสั่งพักใบอนุญาต คราวละหกเดือนยกเว้นเป็นคดีในศาลต้องรอจนกว่าศาลจะพิพากษา เท่านี้ยังไม่พอยังสามารถสั่งยกเลิกใบอนุญาตได้อีก และใครถูกยกเลิกต้องรอสามปีจึงจะขอใหม่ได้
ข้อสรุปกัญชานับแต่วันที่ปลดล็อกกัญญามีผลเป็นต้นไป[22]
(1) การปลูกกัญชา การมีกัญชาไว้ในครอบครอง หรือการเสพกัญชา (ที่ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชา) ไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายยาเสพติด อีกต่อไป ตำรวจ ไม่อาจจับกุมดำเนินคดีผู้ที่ปลูก ผู้ที่มีกัญชา หรือผู้เสพกัญชา ได้ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง
(2) คดีเกี่ยวกับกัญชา เช่น การปลูก ผลิต ครอบครอง จำหน่าย หรือเสพ กัญชา (ที่ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชา) และอยู่ “ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน” พนักงานสอบสวนจะต้อง “ปล่อยผู้ต้องหาไปทุกกรณี” เช่น หากอยู่ระหว่างควบคุมตัวของพนักงานสอบสวนก็ต้องปล่อยผู้ต้องหา หากอยู่ระหว่างประกันตัวก็ต้องแจ้งคืนหลักประกัน หากอยู่ระหว่างฝากขังต่อศาลก็ต้องยื่นคำร้องขอยุติการฝากขังผู้ต้องหาต่อศาล แล้วทำสำนวนการสอบสวนต่อไปแต่ให้ทำความเห็นทางคดีเห็น “ควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา” ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 และ ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 93 และ มาตรา 148 และ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2563 และ ทำเรื่องถอนประวัติอาชญากรของผู้ต้องหาออกจากสารบบการดำเนินคดีอาญาและกองทะเบียนประวัติอาชญากร ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง
(3) คดีเกี่ยวกับกัญชา เช่น การปลูก ผลิต ครอบครอง จำหน่าย หรือเสพ กัญชา (ที่ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชา) และอยู่ “ระหว่างการพิจารณาสั่งคดีของพนักงานอัยการ” พนักงานอัยการจะต้อง”ปล่อยผู้ต้องหาไปทุกกรณี” เช่น หากอยู่ระหว่างการประกันตัวชั้นอัยการก็ต้องแจ้งคืนหลักประกันหากอยู่ระหว่างฝากขังต่อศาลก็ต้องยื่นคำร้องขอยุติการฝากขังผู้ต้องหาต่อศาล แล้วทำออกคำสั่ง “ไม่ฟ้องผู้ต้องหา” ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 และ ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 93 และ มาตรา 148 และ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2563 และแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องให้ผู้ต้องหา และพนักงานสอบสวนทราบเพื่อทำเรื่องถอนประวัติอาชญากรของผู้ต้องหาออกจากสารบบ การดำเนินคดีอาญาและกองทะเบียนประวัติอาชญากร ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง
(4) คดีเกี่ยวกับกัญชา เช่น การปลูก ผลิต ครอบครอง จำหน่าย หรือเสพ กัญชา (ที่ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชา) และอยู่ “ระหว่างการพิจารณาของศาล” ศาลต้อง “ปล่อยจำเลยไปทุกกรณี” เช่น หากอยู่ระหว่างการประกันตัวชั้นศาลก็ต้องแจ้งคืนหลักประกัน หากอยู่ระหว่างการควบคุมขังระหว่างพิจารณา ศาลก็ต้องออกหมายปล่อยตัวจำเลยไปแล้ว “พิพากษายกฟ้องจำเลย” ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 และ ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 93 และ มาตรา 148 และ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2563 พนักงานสอบสวนต้องติดตามผลคดีจากศาลแล้วทำเรื่องถอนประวัติอาชญากรของผู้ต้องหาออกจากสารบบ การดำเนินคดีอาญาและกองทะเบียนประวัติอาชญากร ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง
(5) คดีเกี่ยวกับกัญชา เช่น การปลูก ผลิต ครอบครอง จำหน่าย หรือเสพ กัญชา (ที่ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชา) และคดีถึงที่สุดแล้วโดยจำเลยถูก “ควบคุมขัง+บังคับโทษของกรมราชทัณฑ์หรือการบังคับโทษอื่นใด เช่น การควบคุมเยาวชน ของสถานพินิจในคดีความผิดเกี่ยวกับกัญชา” กรมราชทัณฑ์ หรือ สถานพินิจ หรือตัวผู้ต้องขัง ต้องทำร้องขอต่อศาลให้สั่งและ “ออกหมายปล่อยตัวผู้ต้องขังไปทุกกรณี” ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) และ ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 93 และ มาตรา 148 และ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2563 พนักงานสอบสวนต้องติดตามผลคดีจากศาลแล้วทำเรื่องถอนประวัติอาชญากรของผู้ต้องหาออกจากสารบบ การดำเนินคดีอาญาและกองทะเบียนประวัติอาชญากร ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง
(6) เห็นว่าแม้ กัญชา จะถูกปลดล็อกมิใช่ยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายอีกต่อไป และการมีไว้ในครอบครองหรือผลิตและจำหน่ายจะไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายยาเสพติด ก็ตาม แต่กัญชายังถือเป็นพืชชนิดหนึ่ง ดังนั้น การนำพืชกัญชาไป แปรรูป แปรสภาพ เพื่อขาย เพื่อจำหน่าย เช่น นำพืชกัญชาไปต้มผสมรวมกับน้ำหวาน หรือ เครื่องผสมอื่น แล้ว นำไปจำหน่าย ไปขายเชิงพาณิชย์ ต้องอยู่ภายในบังคับแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับพืชสมุนไพร และ กฎหมายเกี่ยวกับอาหาร ตลอดจนกฎหมายเกี่ยวกับยา เช่น พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง และมาตรา 91 และ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 12 และมาตรา 101 หรือ มาตรา 46 และมาตรา 111 ได้ เป็นต้น
กัญชาเป็นยาเสพติดเพียงใด
กัญชาแม้จะถูกปลดออกจากยาเสพติดประเภท 5 แล้ว ในการตีความ “ยาเสพติด” แยกพิจารณา 2 ส่วน ไม่ถือเป็นยาเสพติดอีกต่อไป[23] คือ (1) ต้น ใบ ดอก ฯลฯ เป็นชิ้นส่วนที่เป็นทั้งต้น ตั้งแต่ราก ลำต้น ถึงใบ ดอก ทุกปริมาณน้ำหนักหรือทุกจำนวนต้น และ (2) สารสกัดฯ คือไม่ใช่ตัวดังเดิม ไม่ใช่ตัวเริ่มแรก แต่เป็นตัวต่อมาที่สกัดแยกสารได้แล้ว สารสกัดไม่เกิน 0.2%
ผู้โต้แย้งว่า ชิ้นส่วนกัญชา ถ้าเอาไปสกัดสารได้เกิน 0.2% ก็ถือว่าครอบครองยาเสพติด กล่าวคือ เมื่อแยกสารสกัด รวมความถึงที่เอาต้นไปสกัดภายหลังฯแล้วเกิน 0.2% ด้วย เห็นว่า เป็นการตีความที่ใช้เหตุผลประกอบไม่ถูกต้อง เพราะตามประกาศได้แยกชัดเจนแล้วว่า ส่วนที่เป็น “ต้น ใบ ดอก” กับ ส่วนที่เป็น “สารสกัด” ออกจากกัน
การตีความว่า ต้นใบดอกถ้าเอาไปสกัดได้ สารสกัดเกิน 0.2% ถือเป็นยาเสพติดนั้น จึงเป็นการตีความที่ผิดเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ได้แยกส่วน “ต้นใบดอกออกจากสารสกัด” ไว้แล้ว มิเช่นนั้นประกาศจะระบุแยกออกเป็นสองส่วนไปด้วยเหตุผลใด
ในการพิจารณาตีความดูจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข ข้อ 1[24] ต้องเป็น “สารสกัด” เสียก่อน แล้วจึงมาดู (ก) หรือ (ข) ดังนั้นหากไม่ใช่ “สารสกัด” เสียแล้วก็ไม่ต้องดูไปอย่างอื่นต่อ เพราะ ยาเสพติด คือ ข้อ 1 (1), (2), (3) ส่วนสารสกัด… (1), (2) ไม่เกี่ยวกับกัญชา จึงตัดไปก่อน ดังนั้น การปลูกต้นกัญชาที่บ้าน จึงไม่เข้า (3) สารสกัด
มีผู้ฝากข้อคิดไว้น่าสนใจว่า[25] “เป็นเวลากว่าหลายสิบปีที่กัญชาถูกทำให้กลายเป็นสมุนไพรซึ่งผิดกฎหมาย ด้วยอำนาจและผลประโยชน์ จากมือที่มองไม่เห็น ประชาชนที่เจ็บป่วยมากมายขาดโอกาสในการใช้ยาสมุนไพรราคาถูกในการรักษาโรค ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะตั้งคำถามกันในเรื่องนี้อย่างจริงจัง”
[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 7 ตุลาคม 2565, https://siamrath.co.th/n/388912
[2]Global Marijuana March (เดินขบวนเสรีกัญชาโลก), Facebook กัญชาชน, 28 เมษายน 2557, https://bg-bg.facebook.com/legalizethailand/posts/325219164292143
[3]“กัญชาเสรี” ที่ยังไม่เสรีจริงในมุมมองของเกษตรกร-ผู้ประกอบการสายเขียว, bbc thai, 4 พฤศจิกายน 2564, https://www.bbc.com/thai/thailand-59160053 & นโยบาย “เสรีกัญชา” คืบหน้าไปแค่ไหน, iLaw, 20 เมษายน 2565, http://ilaw.or.th/node/6125 & ไขข้อสงสัย “เทรนด์กัญชาเสรี” เสรีแค่ไหน?, POCKET MONEY EP40, FINNOMENA CHANNEL, 6 พฤษภาคม 2565, https://www.finnomena.com/channel/pocketmoney-ep40-cannabis/ & เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทยยื่นร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉ.ภาคปชช. ปลดล็อกอย่างเสรีกับ 'ก้าวไกล', ประชาไท, 1 มิถุนายน 2565, https://prachatai.com/journal/2022/06/98875
[4]พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 19 ก วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 หน้า 1-16, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/019/T_0001.PDF
อ้างเหตุผล ผลการวิจัยว่าสารสกัดจากกัญชาและพืชกระท่อมมีประโยชน์ทางการแพทย์เป็นอย่างมาก ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เพื่อเปิดโอกาสให้มีการอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาและพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคและประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522
[5]ไม่ต้องขออนุญาต หลัง 9มิ.ย.นี้ ปลูกกัญชา-กัญชงได้ แค่จดแจ้งผ่านแอพฯ โดย เด่นออนไลน์, ข่าวสด, 20 พฤษภาคม 2565, 09:06 น., https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7059569 & “อย.” เปิดตัวแอปฯ ปลูกกัญ จดแจ้ง “ปลูกกัญชา” ง่ายเพียงปลายนิ้ว, กรุงเทพธุรกิจ, 1 มิถุนายน 2565 เวลา 15:45 น., https://www.bangkokbiznews.com/social/1007670 & เปิดสถิติยอดลงทะเบียนจดแจ้งปลูก “กัญชา-กัญชง” ทะลุ 5.8 แสนคน, เนชั่นทีวี, 11 มิถุนายน 2565, https://www.nationtv.tv/news/378876139 & กมธ.เคาะแล้ว! กำหนดปลูกกัญชาได้บ้านละไม่เกิน 10 ต้น, TNN, 20 มิถุนายน 2565, 16:33 น., https://www.tnnthailand.com/news/social/117179/
[6]กมธ.เคาะแล้ว! กำหนดปลูกกัญชาได้บ้านละไม่เกิน 10 ต้น, TNN, 20 มิถุนายน 2565, อ้างแล้ว & เดิมร่างฉบับ กมธ.คือ ปลูกกัญชา /กัญชง ในครัวเรือนได้ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ต้น (มาตรา 18) ต้องจดแจ้งจากผู้รับจดแจ้ง ใบรับจดแจ้งมีอายุ 1 ปี (มาตรา 20)
[7]กัญชาบ้านละ 6 ต้น ได้รับอนุญาตแล้ว 95 ครัวเรือน พื้นที่ บุรีรัมย์ บึงกาฬ นครพนม, 18 พฤศจิกายน 2564, https://www.medcannabis.go.th/activity/กัญชา%20บ้านละ%206%20ต้น%20ได้รับอนุญาตแล้ว%2095%20ครัวเรือน
[8]สถานะทางกฎหมาย (Legal status)ของกัญชาทางการแพทย์ทั่วโลก (1) ชอบด้วยกฎหมายภายใต้การดูแลของแพทย์ (2) ชอบด้วยกฎหมายทุกกรณี (ไม่ต้องได้รับอนุญาตจากแพทย์) จาก วิกิพีเดีย ดู เข้าใจกฎหมาย Legalized Weed จาก USA ให้มากขึ้นใน 1 บทความ, โดย Chaipohn,4 กรกฎาคม 2558, https://www.unlockmen.com/legalized-weed-oregon-law/
[9]ดู กัญชาทางการแพทย์, ระบบสารสนเทศและสถานการณ์ กัญชา กัญชง ข้อมูล ณ วันที่ 24 กันยายน 2564 โดย กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, https://www.medcannabis.go.th/
[10]ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2565, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 137 ง วันที่ 16 มิถุนายน 2565 หน้า 9, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/137/T_0009.PDF
[11]ดู คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย คู่มือมาตรฐานการจัดบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย, สำนักงานจัดการกัญชาและกระท่อมทางการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, 18 มิถุนายน 2564, https://ockt.dtam.moph.go.th/index.php/clinic
[12]ประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 ฉบับลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ระบุรายชื่อยาเสพติดประเภท 5 พ.ศ.2565 โดยมี 1) พืชฝิ่น 2) เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย และ 3) สารสกัดจากทุกส่วนของกัญชากัญชงที่มีค่า thc เกิน 0.2% โดยไม่ได้ระบุชื่อพืชกัญชา
ดู ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 35 ง วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 หน้า 8, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/035/T_0008.PDF
[13]ปลดล็อกกัญชา ความโกลาหลอันแสนวายป่วงในช่วง 'สุญญากาศ', โดย อภิรดา มีเดช, ไทยรัฐ, 5 กรกฎาคม 2565, https://plus.thairath.co.th/topic/speak/101760 & “อนุทิน” โพสต์เปิดใจ”กัญชา” ในมุมมองพรรค ไม่ใช่กัญชาเสรีไร้ควบคุม ย้ำเป็นเสรีทางการแพทย์, สยามรัฐออนไลน์, 15 กันยายน 2565, https://siamrath.co.th/n/382675 & อันตรายของการ 'ปลดล็อกกัญชา’ ในภาวะสุญญากาศที่ไร้การควบคุม, ฉลาดซื้อนิตยสารออนไลน์, ฉบับที่ 258, https://chaladsue.com/article/4096
[14]แพทย์ 1,363 คนทั่วประเทศ ร่วมลงชื่อออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปิดกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 19 กันยายน 2565, https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/121651
[15]นโยบายปลดล็อคกัญชาการแพทย์ จุดเชื่อมต่อระหว่างแพทย์แผนปัจจุบัน-แพทย์แผนไทย โดย อนันต์ชัย อัศวเมฆิน, Hfocus, 28 มกราคม 2563, https://www.hfocus.org/content/2020/01/18396
[16]“ศุภชัย” ชี้ “กัญชา” คือโอกาสของประเทศไทย เชื่อไม่ใช่ Soft Power ด้านลบ, สยามรัฐออนไลน์, 14 กรกฎาคม 2565, https://siamrath.co.th/n/365249
[17]กัญชาเสรี: โอกาสหรือผูกขาด, the Active, AGRICULTUREFEATURE & INTERVIEW, สำรวจธุรกิจกัญชา จากต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ใครได้ประโยชน์ ?, 9 มิถุนายน 2565, https://theactive.net/read/free-cannabis-local-chain/
[18]“Demerit Goods” หรือ “สินค้าบาป” เป็นการแบ่งประเภทสินค้าในทางเศรษฐศาสตร์ คือ เป็นสินค้าที่มีผลด้านลบกับตัวผู้บริโภคเองและสังคม ตัวอย่างเช่น บุหรี่ สุรา และยาสูบ ทำให้ในทุกประเทศมีการควบคุมสินค้าเหล่านี้ด้วยภาษี ที่เรียกว่า ภาษีบาป (Sin Tax) เพื่อลดปริมาณการบริโภคสินค้าเหล่านี้ลง ด้วยการทำราคาให้สูงขึ้นด้วยภาษี
“Merit Goods” หรือ "สินค้าคุณธรรม" หรือ "สินค้าบุญ" คือ สินค้าทางเศรษฐศาสตร์ ที่เป็นสินค้าหรือบริการที่เมื่อเกิดการบริโภค (โดยใครก็ตาม) จะทำให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภค (หรือผู้ที่เกี่ยวข้องคนอื่นๆ) อย่างเช่น สินค้าเกี่ยวกับการศึกษา สาธารณูปโภค สาธารณสุข และสินค้าเกี่ยวกับการดับเพลิง
[19]ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ชี้ ปลดล็อก "กัญชา" การใช้ยังต้องระวังเหมือนเดิม ย้ำใช้ให้ถูกตามกฎหมาย ศึกษาวิธีใช้ให้ถูกต้อง, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 10 มิถุนายน 2565 , https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220610105755272 & "ปลดล็อกกัญชา" ไม่เท่ากับ "กัญชาเสรี" เน้นใช้ทางการแพทย์ - ต่อยอดเศรษฐกิจ, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 13 กรกฎาคม 2565, https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220713131026126
[20]สภาฯ มีมติถอนร่าง พรบ.กัญชา กัญชาออกจากวาระการประชุม, INN News, 14 กันยายน 2565, https://www.innnews.co.th/news/politics/news_410124/
[21]เวทีในภาคใต้ ประชาชนมีความเห็นอย่างไรเรื่อง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับ อนุทิน, รับฟังความเห็นต่อ ภาคกลาง ตะวันออก อีสาน เหนือ และ รวมตัวกันทุกภาควันที่ 20 เมษายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดย ประสิทธิชัย หนูนวล ใน แถลง 'ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับปชช.' ลั่นเสรีในหลักการ แต่กลไกกีดกัน โดย ประสิทธิชัย หนูนวล เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ภาคใต้)
ดู 'รฎาวัญ' หวั่นกฎหมายกัญชา ปชช.จะเป็นขี้ข้าสร้างรายได้ให้นายทุน แค่ปลูกในบ้านต้องจ่าย5หมื่น, ไทยโพสต์, 7 มิถุนายน 2565, 15:37 น., https://www.thaipost.net/general-news/156657/ & แถลง ‘ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับปชช.’ ลั่นเสรีในหลักการ แต่กลไกกีดกัน, มติชน, 14 พฤษภาคม 2565, 18:25 น., https://www.matichon.co.th/local/news_3344179 & เจาะ ร่างพ.ร.บ.กัญชา ฉบับใหม่ ผลิตต้องขออนุญาต ใช้ใส่แกงต้องจดแจ้ง, ฐานเศรษฐกิจ, 5 พฤษภาคม 2565, https://www.thansettakij.com/business/523819 & เครือข่ายกัญชาไทย โต้เดือด 'ศุภชัย' สร้างพ.ร.บ.ตัวใหม่เอา 'กัญชา' ไปกักขังเช่นเดิม คิดบนฐานธุรกิจผูกขาด, ไทยโพสต์, 20 เมษายน 2565 เวลา 13:08 น., https://www.thaipost.net/x-cite-news/126644/
[22]ดู ปลดล็อกกัญชา เช็ก ตร. แล้ว สรุปง่ายๆ 11 ข้อ ครอบครอง-สูบ-คดี-ของกลาง, กรุงเทพธุรกิจ, 8 มิถุนายน 2565, 14:15 น., https://www.bangkokbiznews.com/business/1008837
[23]การยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ของกัญชา กัญชง ดังนี้
(1) สาร CBD (cannabidiol) (pure 99%) จากกัญชา และกัญชง ถูกยกเว้นไม่เป็นยาเสพติด สามารถนำไปผสมในอาหาร เครื่องสำอาง ได้ (2) สารสกัด (crude extract) ที่มี THC ปน ไม่เกิน 0.2% สามารถเป็นยา และผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้ (3) และข้อยกเว้นอื่นๆ รายละเอียดตามประกาศฯ ทั้งนี้ จำหน่ายได้ภายในประเทศเท่านั้น มีระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2562 ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 218 ง วันที่ 30 สิงหาคม 2562 หน้า 1-3, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 429) พ.ศ.2564 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2564, ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 198 ง วันที่ 27 สิงหาคม 2564 หน้า 9-11, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/218/T_0001.PDF
ดู ตั้งแต่9มิ.ย.ปลูกกัญชาได้ถูกกฎหมาย-ไม่ใช่ยาเสพติดแล้วจร้า, เดลินิวส์, 13 พฤษภาคม 2565, https://www.dailynews.co.th/news/1044259/
[24]ข้อ 1 ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด (3) สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้นสารสกัดดังต่อไปนี้
(ก) สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ
(ข) สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญชาหรือกัญชง ที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ
[25]อ้างจาก khaoganja.com
ไม่มีความเห็น