กราดยิงและสังหารหมู่ กับความรู้ทฤษฎีพันธะทางสังคม “Social Bond Theory”


ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ

นักอาชญาวิทยา

 

ข้อสังเกตประเทศไทยเกิดเหตุกราดยิงหรือสังหารหมู่ 4 ครั้งในรอบ 2 ปี และ 3 ครั้งเกิดจากทหารและตำรวจชั้นประทวน จากเหตุกราดยิงที่โคราช กราดยิงโรงพยาบาลสนามที่ปทุมธานี และที่อุทัยสวรรค์ครั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่รับความกดดันรอบด้านจากการใช้ชีวิตในสังคม ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ หน้าที่การงาน และผู้บังคับบัญชา ล้วนเป็นปัจจัยที่ควรพิจารณา โดยเฉพาะเป็นกลุ่มที่มีความคุ้นเคยการใช้อาวุธ กลไกทางจิตวิทยาอาชญากรที่ผมสังเกตได้คือ เมื่ออาชญากรรู้สึกว่าตนถูกตัดสินว่าผิดไปแล้ว เกิดความเคียดแค้น จึงเลือกใช้วิธีการสร้างความเสียหายต่อชีวิตคนให้มากที่สุด

เมื่อพิจารณาลงมา 2 คดี คือ จ่าคลั่งโคราชกับสิบตำรวจเอกปัญญา เข้าใจไปว่าถูกผู้บังคับบัญชาตัดสินว่าผิด ไม่ว่าจะทำผิดจริงหรือไม่จริง ซึ่งผมไม่ได้มีข้อมูลอะไรมาก ปะติดปะต่อจากการอ่านข่าวเท่านั้น ล้วนมีความรู้สึกว่ามีปัญหากับผู้บังคับบัญชาเป็นปรปักษ์ต่อกัน และแน่นอนว่า สำหรับทหารหรือตำรวจชั้นประทวน ผู้บังคับบัญชาสำคัญยิ่งกว่าพ่อ เพราะหมายถึงอนาคตราชการทั้งชีวิต หากรู้สึกว่าตนหมดอนาคตราชการ จึงเป็นชะนวนระเบิดใหญ่ปะทุเกินความยับยั้งชั่งใจแยกแยะผิดถูก อยากให้ทุกคนรู้สึกถึงความสิ้นหวังหรือรังแกคนอ่อนแอกว่าเช่นตนรู้สึก

 

 เป็นอาชญากรที่เรียกว่า Sociopath มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) เกิดจากสังคมแวดล้อม พวกเขาจะแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ชอบเข้าสังคม อยู่ร่วมกับผู้อื่นยาก คนทั่วไปจะรู้สึกว่าวิกลจริต และเมื่อเชื้อเพลิงนั้นเต็มถัง จะแสดงออกด้วยความก้าวร้าวรุนแรงไม่มีความเป็นมนุษย์ไร้ความเมตตาปราณีแม้แต่เด็กหรือผู้หญิง 

ผมอยากให้ข้อคิดเห็นส่วนตัวสัก 3 ข้อครับ

ข้อแรก มนุษย์คือการปรับตัว อยากให้ความเห็นกับผู้บังคับบัญชาทหารหรือตำรวจ ยุคสมัยนี้แตกต่างจากอดีตแม้กำลังพลกระทำความผิดจริง คำสั่งประกาศิตอาจจะไม่มีอิทธิฤทธิ์เหมือนก่อน เพราะปัจจัยแวดล้อมสังคมเปลี่ยนไป แม้กำลังพลที่กระทำความผิดจริงถูกตัดสินลงโทษ ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการก่อเหตุรุนแรง ในกรณีสิบตำรวจเอกปัญญา จากข่าวทราบว่าผู้บังคับบัญชาได้มีคำสั่งยึดอาวุธประจำกายไว้ก่อนหน้านี้ แสดงว่าท่านก็สังเกตเห็นแนวโน้มการก่อความรุนแรง เกณฑ์ที่ใช้ประเมินอาจจะพัฒนาต่อยอดจากทฤษฎีอาชญาวิทยา Social bond theory ของทราวิส เฮอร์ชี่ ที่นักอาชญาวิทยาใช้อธิบายอาชญากรสังหารหมู่ ดังนี้ครับ

เฮอร์ชี่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่งที่มีสัญชาตญาณนักล่าเป็นอาชญากรอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่ความผูกพันกับสังคมหรือองค์กรทำให้มนุษย์ไม่ก่ออาชญากรรม เป็นพันธะทางสังคมที่ยึดกับมนุษย์และเมื่อหลุดจากพันธะทางสังคมนั้น มนุษย์จะก่ออาชญากรรมทำลายสังคมนั้น” โดยมีปัจจัย 4 ด้านในการพิจารณาคือ

1. ความผูกพัน (Attachment) หมายความถึง มนุษย์มีความผูกพันหรือความรักกับบุคคลอื่น เพื่อนหรือครอบครัว จะสนใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น และจะปรับปรุงควบคุมตนเองให้ผู้อื่นยอมรับหรือรักเกิดเป็นพันธะผูกพันตนกับผู้อื่น

2. สัญญา (Commitment) หมายความถึง พันธสัญญาทางสังคมที่เป็นข้อผูกมัดการดำเนินชีวิตตามครรลองคลองธรรมของสังคมแล้วจะประสบความสำเร็จ เช่น เรียนเพื่อให้งานที่ดี ตั้งใจทำงานแล้วจะเลื่อนขั้น ประสบความสำเร็จในชีวิต

3. การเข้าร่วมกิจกรรมสังคม (Involvement) หมายความถึง การที่มนุษย์เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของสังคม นอกจากแสดงถึงการยอมรับให้ร่วมงานเลี้ยงหรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ถูกจำกัดเวลาที่จะไปประกอบอาชญากรรม ตราบใดที่มนุษย์ยังเข้าร่วมกิจกรรมสังสรรค์หรือเป็นประโยชน์กับสังคม แนวโน้มการก่ออาชญากรรมทำลายสังคมนั้นจะน้อยลง

4. ความเชื่อ (Belief) หมายความถึง ระดับของความเชื่อของมนุษย์ที่มีต่อบรรทัดฐานของสังคมนั้น หากมีระดับความเชื่อต่อศีลธรรม ความดีงาม เชื่อว่าซื่อสัตย์สุจริตแล้วจะได้ดี ทำดีแล้วจะได้ดี มนุษย์ไม่กระทำผิดกฎระเบียบของสังคมนั้น

คำแนะนำ ผู้บังคับบัญชาควรประเมินความเสี่ยงจากปัจจัยทั้ง 4 ข้อว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ถูกตัดสินลงโทษห่างไกลจากพันธะทางสังคมมากน้อยเพียงใด แม้กระทำตามหน้าที่ แต่ถ้านอกเวลางานเป็นพี่เป็นน้องมานั่งจับเข่าคุย ยังให้โอกาสกลับตัวหรือชี้ทางออกอื่นในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ผู้บังคับบัญชาเป็นกุญแจสำคัญที่ควรโน้มตัวลงมาเจรจา แนวโน้มความรุนแรงจะลดลง อย่าปล่อยให้ฟางเส้นสุดท้ายของเขาขาดจากพันธะทางสังคม

ข้อที่สอง อาชญากรมีวิธีคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล (Rational choice) จะชั่งน้ำหนักเหตุผลในการเลือกก่ออาชญากรรม ในกรณีสิบตำรวจเอกปัญญา พื้นที่ที่ทำให้เขาบาดเจ็บหัวใจแท้จริงน่าจะเป็นสถานีตำรวจ แต่ด้วยความคิดเป็นเหตุเป็นผลเขาไม่เลือกลงมือก่ออาชญากรรมที่สถานีตำรวจ เพราะโอกาสจะสร้างความเสียหายมีน้อยกว่า แต่เลือกมาที่ศูนย์เด็กเล็ก อาจจะมีเหตุอะไรสักอย่างที่ทำให้เขาเคียดแค้นหรือเข้าใจผิดไปเองในพื้นที่นั้น เพราะทราบว่าลูกไม่มาเรียนเดือนหนึ่งแล้ว และที่สำคัญเหยื่ออ่อนแอ มาตรการรักษาความปลอดภัยอ่อนแอ อาชญากรจึงเลือกตัดสินใจลงมือก่ออาชญากรรมที่นี่ อีกข้อสังเกตคือที่ศูนย์เด็กเล็กนี้ไม่มีกล้องวงจรปิด จากความเชื่อส่วนตัวของผม กล้องวงจรปิดช่วยลดการชั่งน้ำหนักตัดสินใจก่ออาชญากรรมของอาชญากรลงได้ และเหตุความรุนแรงในโรงเรียนผมเชื่อว่าถ้ามีกฎหมายสั่งให้ทุกโรงเรียนมีกล้องวงจรปิดจะลดความรุนแรงกับเด็กลงได้มาก

 

จากการค้นคว้าพบสื่อให้ข้อมูลว่า “ลูกถูกล้อว่าแม่ทำงานกลางคืนและพ่อติดยาจึงไม่ไปโรงเรียน” นี่คือชนวนเหตุสำคัญถูกทำลายพันธะทางสังคมอย่างสิ้นเชิง

 

:ที่มา 9 MCOT

https://fb.watch/g1VMNWPyCY/

 

วันเวียนกลับมาที่ปัญหาใหญ่ของสังคมไทย และส่งผลกระทบกับชีวิตเด็กและเยาวชนมากมาย คือ การไม่เข้าใจเรื่อง “หมิ่นประมาท” โลกเราไม่เคยให้เสรีภาพใครหมิ่นประมาทผู้อื่น เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นอาชญากรรม โรงเรียนควรสอนเรื่องแรกสุดคือ Defamation & Insult เราไม่มีสิทธิดูหมิ่นเหยียดหนามผู้อื่นหรือหมิ่นประมาทผู้ใด ผิดกฎหมายด้วย และไร้ซึ่งมารยาทในการสร้างสังคมที่ดี ส่วนวิพากษ์และวิจารณ์กระทำได้ไม่ผิดกฎหมาย ในระดับชาติรัฐก็ยังคงปล่อยให้เยาวชนถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความเกลียดชัง ตกเป็นผู้ต้องหาหมิ่นประมาท ด้วยเข้าใจว่าตนวิพากษ์วิจารณ์ ไม่รู้กฎหมายไม่รู้ขอบเขต โดยรัฐไม่แก้ปัญหาอะไรแม้แต่อธิบาย

 

ข้อที่สาม อยากฝากถึงพี่น้องทหารหรือตำรวจชั้นประทวนหรือระดับชั้นอื่น ที่กำลังอยู่ในสภาวะกดดันหรือรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมใดๆ ก็แล้วแต่ พวกท่านคือ “สุภาพบุรุษที่ประชาชนยอมให้ถืออาวุธปืน เพื่อมาปกป้องพวกเรา” อยากเน้นย้ำประโยคนี้ให้ฝังลึกลงไปในจิตวิญาณทหารและตำรวจทุกนายครับ ไม่ว่าชีวิตส่วนตัวของพวกท่านจะเกิดอะไรขึ้นขอให้อดทนครับ

หมายเลขบันทึก: 708401เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2022 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2022 09:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท