"นายคำหมา แสงงาม"... ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การปั้นแกะสลัก) ปี. พ.ศ. 2529


นายคำหมา แสงงาม

นายคำหมา แสงงาม - IsanGate : ประตูสู่อีสานบ้านเฮา
นายคำหมา แสงงาม - IsanGate : ประตูสู่อีสานบ้านเฮา

 

  “นายคำหมา แสงงาม” หรือ “ครูคำหมา” หรือ “จารย์ครูหมา” 

   -เป็นปรมาจารย์ทางช่างศิลป์ผู้มีฝีมือยอด เยี่ยม เป็นช่างคนเดียวของภาคอีสานที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่มีความสามารถในการทำนกหัสดีลิงค์ได้อย่างสวยงาม 

   -เป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านช่างศิลป์หลายสาขา

  - มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถนำเอาแม่แบบของลายไทย มาใช้กับการแกะสลักลายเทียนให้ดูสวยงาม กลมกลืนไปกับศิลปะแบบพื้นบ้าน จนได้รับรางวัลหลายครั้ง 

  -มีความสามารถในการออกแบบและก่อสร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และอื่นๆ สามารถปั้นและ หล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ได้ ผลงานทุกชิ้นจะมีความวิจิตรบรรจง ประณีตสวยงามและคงไว้ซึ่งศิลปะแบบพื้นบ้าน จนเป็นที่กล่าวขวัญและยอมรับและยกย่องกันอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ยังมีความเชี่ยวชาญในเรื่องวรรณกรรม และประเพณีพื้นบ้านอีสานเป็นอย่างดี ได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์เป็นจำนวนมาก  

  -เป็นอาจารย์พิเศษ ของสถาบันการศึกษาหลายแห่ง 
  -เป็นผู้มีความสนใจในงานด้านอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมพื้นบ้าน ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบและสมถะ เป็นปูชนียบุคคลที่ชาวบ้านและลูกศิษย์ให้การยกย่องนับถือตลอดมา 

  *ประวัติและผลงาน นายคำหมา แสงงาม

    -พ่อครูคำหมา แสงงาม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์​ เป็นบุคคลผู้นับได้ว่ามีศิลปะตามในพระพุทธศาสนา​ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ความเป็นผู้มีศิลปะ เป็นมงคลอย่ายิ่ง ในพระพุทธศาสนา​กล่าวศิลปะมี ๒ อย่างคือศิลปะของบรรพชิต​เเลคฤหัสถ์​ผู้ประสงค์​จะทราบความพิศดาร​พึงตรวดูในมงฺคลตฺถทีปนีในกถาว่าด้วยศิลปะ

    พ่อครูคำหมา แสงงาม เกิดเมื่อ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๓๔ ในสมัยรัขกาลที่ ๕ บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายเคน และนางค้ำ แสงงาม มีพี่น้องทั้งหมด ๓ คน นายคำหมา แสงงาม เป็นบุตรคนสุดท้องของครอบครัว และได้แต่งงานกับนางลำดวน แสงงาม มีบุตรธิดา ๔ คน

   - ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๓ บ้านขมิ้น หมู่ที่ ๕ ตำบลเทอดไทย อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด

   -นายคำหมา เรียนหนังสือตัวธรรมและมูลกระจายจากพระสงฆ์ เมื่ออายุ ๖ ขวบ พ่อแม่นำไปฝากเป็นศิษย์วัดศรีนวล บ้านชีทวน ศึกษาวิชาหนังสือและวิชาช่างกับพระอาจารย์วง และ พระอาจารย์สี จนกระทั่งอายุ ๑๐ ขวบ จึงบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ขณะนั้นได้ศึกษาพระธรรมวินัยและศิลปะการช่างไปพร้อมกันด้วย

   -ต่อมาได้ศึกษาวิชาศิลปะการช่างเพิ่มเติมกับพระครูวิโรจน์ รัตโนบล จนสำเร็จที่ วัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัด อุบลราชธานี ท่านไม่ทิ้งวิชาช่าง ยังศึกษาฝึกฝนตนเองเรื่อยมา ถือเป็นช่วงเวลาที่มีค่าในการสั่งสมความรู้ โดยในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ท่านได้เป็นหนึ่งในช่างที่เดินทางไปทำการบูรณะองศ์พระธาตุพนม ตามดำริของพระอาจารย์มั่น ซึ่งขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก นับเป็นประสบการณ์เชิงช่างที่มีคุณค่ายิ่ง

  -และในช่วงเวลาดังกล่าว ท่านได้ติดตามพระอาจารย์ของท่านไปทำงานช่างตามวัดต่างๆ ทั่วภาคอีสาน จนกระทั่งอายุ ๒๖ ปี ได้ลาจากเพศบรรพชิต และหันมาทำงานเป็นช่างเต็มตัว โดยศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองเพิ่มเติม จากหนังสือ ตำรา ใบลาน ทำให้มีความรู้แตกฉานในวิชาช่างแบบโบราณ รวมทั้งคติความเชื่อของชาวอีสานที่แฝงอยู่ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้อย่างถ่องแทํในงานช่าง รู้มาก รู้ลึกและรู้กว้าง ยากที่จะหาผู้ใดเทียบได้ สามารถปั้นและหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ได้ ผลงานทุกชิ้นจะมีความวิจิตรบรรจง ประณีตสวยงาม และคงไว้ซึ่งศิลปะแบบพื้นบ้าน จนเป็นที่กล่าวขวัญยอมรับและยกย่องกันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งมีผู้ยกย่องว่าเป็น "ช่างเทวดา"

  -ทำให้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย กระจายกันไปประกอบวิชาชีพทั่วภาคอีสานนับพันคน ท่านฝึกหัดอบรมโดยใช้วิธีทำให้ดูเป็นตัวอย่าง แล้วจึงมอบหมายงานให้ทำจากง่ายไปสู่งานที่มีความซับซ้อนขึ้นเป็นลำดับ และด้วยนิสัยส่วนตัวที่เป็นผู้ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม และเป็นคนสมถะ ท่านจึงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์

   -พ่อครูคำหมา แสงงาม เป็นผู้อุทิศตนเพื่อสังคมอย่างแท้จริง โดยนอกจากท่านจะทำงานด้านศิลปะแล้ว ยังอุทิศตนให้กับการให้ความรู้แก่ลูกศิษย์จำนวนมาก โดยไม่เรียกร้องค่าตอบแทน และด้วยเป็นปราชญ์ในงานด้านทัศนศิลป็ ทั้งงานปั้นและงานแกะสลัก ทำให้สถาบันการศึกษาต่างๆ เชิญท่านเป็นวิทยากรอยู่บ่อยครั้ง

*ผลงานที่สำคัญ

-การบูรณะองค์พระธาตุพนม ขณะนายคำหมาบรรพชาเป็นสามเณร ได้ร่วมเดินทาง ไปกับคณะพระครูวิโรจน์ รัตโนบล ช่างไทยรุ่นแรกที่ไปบูรณะพระธาตุพนมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔

-งานปั้นและหล่อพระพุทธรูปที่สำคัญ คือ พระประธานองค์ใหญ่ วัดสุปัฏนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี บูรณะพระเหลา วัดพระเหลา บ้านพนา อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบัน จังหวัดอำนาจเจริญ) พระสังข์กัจจายน์ วัดสระทอง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด พระประธานวัดบ้านขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ฯลฯ

-การบูรณะโบสถ์ ซุ้มประตู วัดเอี่ยมวรนุช กรุงเทพมหานคร

-การบูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี แนะนำออกแบบและดูแลลูกศิษย์บูรณะหัวเสากำแพงรอบวัด

-สร้างเมรุเผาศพแบบชั่วคราวเป็นประจำทุกปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ ๗ ครั้ง

-สร้างนกหัสดีลิงค์ สำหรับเผาศพเจ้านายหรือพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ประมาณ ๒๐ครั้ง

-ออกแบบและก่อสร้างโบสถ์ไม่น้อยกว่า ๘๐ แห่ง ศาลาการเปรียญ ๑๐แห่ง หอระฆัง ๑๐ แห่ง หอไตร วิหาร มณฑป ๙ แห่ง

-ออกแบบและก่อสร้างซุ้มประตูวัด กำแพงแก้ว ๔๕ แห่ง

-ออกแบบและแกะสลักลวดลายเทียนพรรษา ได้รับรางวัลชนะเลิศ ที่ จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียงเป็นประจำทุกปี

-จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปัจจุบัน) ได้มอบปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศิลปะ ให้แก่ท่าน และในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ท่านได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขา ทัศนศิลป์ (การปั้นแกะสลัก) อันเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิต

   -พ่อครูคำหมา แสงงาม ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๓ ขณะอายุได้ ๙๙ ปี

คำสำคัญ (Tags): #"ครูคำหมา"
หมายเลขบันทึก: 708021เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2022 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2022 05:16 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท