บริหารเวลาอย่างไงดี (How to manage time)


 ทุกคนได้เวลาเท่ากัน แต่บางคนบ่นว่าไม่ค่อยมีเวลาทำอะไรที่ตนเองอยากทำ ขณะที่บางคนได้ทำทุกอย่าง หรือเกือบทุกอย่างที่ตนเองอยากทำ บางคนยุ่งทั้งวัน แต่ไม่มีงานเป็นชิ้นเป็นอัน แล้วก็บ่นว่างานเยอะ  ขณะที่บางคนงานเยอะ แต่ยังจัดเวลาไปทำอะไรที่ตนเองชอบ และมีผลงาานมากด้วย เพราะอะไร

นี่เป็นข้อสงสัยและคำถามที่ลูกศิษย์คนหนึ่งถามผมขณะที่สอนปริญญาโทห้องหนึ่งอยู่วันเสาร์ที่ผ่านมา ว่าดูเหมือนว่าผมมีสิ่งต้องทำเยอะ คือสอนหลายมหาวิทยาลัย ทำสวนหลายแห่ง เขียนงานส่งตีพิมพ์ เขียนบล๊อก เขียนหนังสือ อ่านงานลูกศิษย์ ให้คำปรึกษาวิทยานิพนธ์ ฯลฯ แล้วยังมีเวลาดูกีฬาโปรด รายการชอบ หนังออกใหม่ 

เขาสงสัยว่าผมบริหารเวลาอย่างไร 

จริง ๆ ผมก็ไม่ค่อยมีแผนและใส่ใจกับการบริหารเวลาเท่าไหร่นัก เพียงแต่อยากทำอะไรก็ทำ และไม่มีอะไรที่อยากทำก็หาสิ่งที่ควรทำมาทำ ทำได้แค่ไหนก็ทำไป เหนื่อยก็พัก มีแรงก็ทำต่อ แล้วก็ได้ทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ และได้งานเองครับ 

แต่มีสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตและการใช้เวลาของผมจากเคยทำงานมาก แต่ได้งานน้อย และไม่ค่อยมีเวลาทำในสิ่งที่ตนเองชอบ มากเป็นอย่างที่เป็นอยู่ ก็เลยแชร์กับลูกศิษย์ในชั้น และขอนำมาแชร์ในบทเขียนนี้ด้วยดังนี้

สิ่งแรกที่ทำคือต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเวลาและสิ่งที่จะทำ คือ ‘เวลามีจำกัด (วันละ 24 ชั่วโมง) และมีสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันและตลอดชีวิค’ 

เวลา 24 ชั่วโมงลบด้วยเวลานอนไป  6-8 ชั่วโมง เหลือ 16-18 ชั่วโมง ลบด้วยเวลากิน ซึ่งแต่ละคนใช้แตกต่างกัน ถ้าคุณใช้เวลากับการกินมาก คุณก็เหลือเวลาน้อยลง ถ้าคุณใช้เวลากับการกินน้อยคุณก็จะมีเวลาแต่ละวันมากขึ้นกว่าคนอื่น เช่น ถ้ากินข้าว 3 มื้อ ๆ  1 ชั่วโมง คุณก็จะเสียเวลากับการกินไป  3 ชั่วโมง ก็จะเหลือเวลาอีก 13-15 ชั่วโมง แต่ถ้าเปลี่ยนให้เหลือกินข้าวมื้อเดียว (ผมเขียนเรื่องกินอาหารมื้อเดียวไว้แล้วก่อนหน้านี้) คุณก็จะได้เวลาเพิ่มอีก  2 ชั่วโมง และประหยัดเงินไปถึง  66 % สำหรับค่าอาหาร และหมายความว่ามีรายได้เพิ่มโดยทำงานเท่าเดิมอีก  66 % ที่จะเป็นค่าอาหาร หรือลดเวลาที่ต้องหาเงินส่วนนี้ลง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ก็แปลาว่าการที่เรากินอาหารมื้อเดียวทำให้เราได้เวลาเพิ่มมากกว่า  2 ชั่วโมงต่อวัน เป็นต้น 

สรุปว่าตอนนี้คุณเหลือเวลาแต่ละวัน 15-16+ ชั่วโมง ก็จะเป็นเวลาสำหรับการประกอบอาชีพ ซึ่งโดยทั่วไปก็จะใช้เวลา 7-8  ชั่วโมงต่อวัน แปลว่าคุณเหลือเวลาแต่ละวันเป็นของตนเองประมาณ ​ 8-10 ชั่วโมง ซึ่งเวลาในส่วนนี้ เป็นส่วนที่คุณต้องเลือกที่จะใช้เพื่อทำสิ่งที่คุณอยากทำ 

บางคนก็อาจะต้องใช้เวลาส่วนนี้ในการหอบงานจากที่ทำงานมาทำที่บ้าน เพราะทำที่ทำงานไม่เสร็จ หรือเจ้านายให้งานเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้คุณต้องเสียเวลาที่จะเป็นเวลาส่วนตัวของคุณนี้เสียไป ก็ต้องทำงานให้เสร็จที่สำนักงาน และไม่รับงานอื่นที่ไม่ใช่งานของคุณมาทำ ต้องปฏิเสธเจ้านายไม่รับงานที่ไม่ใช่หน้าที่ของคุณมาทำที่บ้าน ถ้าคุณไม่ปฏิเสธ คุณก็จะได้รับงานแบบนี้เรื่อยไป ถ้าคุณปฏิเสธ อย่างมากนายก็ไม่พอใจครั้งเดียว ถ้าคุณรับมาทำระยะหนึ่ง แล้วปฏิเสธไม่รับงานอีก งานที่ทำมาทั้งหมดก็เป็นศูนย์ (เจ้านายโกรธอยู่ดี สู้ให้เข้าโกรธครั้งเดียวดีกว่า แต่ถ้าการปฏิเสธงานอาจจะต้องให้คุณเสียงาน ก็ต้องพร้อมจะหางานใหม่ หรือสร้างงานของตนเอง ดีกว่าจะทำงานให้กับหัวหน้าที่ให้คุณเอางานนอกหน้าที่ไปทำที่บ้านครับ)  แต่ถ้างานไม่เสร็จที่สำนักงาน ก็ต้องฝึกตนเองใหม่ ทำงานที่ควรทำที่สำนักงานให้เสร็จในเวลางาน ลดเวลาเสวนา นินทา และทำเรื่องไม่เป็นเรื่องลง คุณจะได้เวลาเพิ่มขึ้นแน่นอน 

เวลาที่เหลือสิบกว่าชั่วโมงต่อวันนี้อาจะต้องหักเวลาเดินทางไปกลับระหว่างบ้านและที่ทำงานออกด้วย ซึ่งก็แล้วแต่ว่าคุณอยู่ห่างจากที่ทำงานเท่าไหร่ และต้องใช้เวลาเท่าใด ที่เหลือก็เป็นเรื่องของคุณ กับครอบครัว และสังคม คุณก็ต้องจัดสรรให้ลงตัว แต่ผมเชื่อว่าปัจจัยที่ทำให้คุณเสียเวลามากที่สุดอันหนึ่งคือ ‘กิจกรรมสังคม’ ซึ่งถ้าเราจัดการเรื่องนี้ได้ดี เรามีเวลาเป็นของตนเองแน่ ๆ วันหนึ่งไม่น้อยกว่า  4-5  ชั่วโมง ซึ่งทำอะไรได้มากมายครับ (จริง ๆ แล้วถ้าคุณมีเวลาของตนเองเพียง 1 ชั่วโมงในแต่ละวัน คุณจะมีเวลา 365 ชั่วโมงต่อปีเชียวนะ ทำอะไร ๆ  ได้เยอะเลยนะครับ)

ประเด็นที่ผมแชร์กับลูกศิษย์อยู่ตรงว่า ‘ผมจัดการกับเวลาที่เป็นกิจกรรมส้งคมนี้​’ อย่างไร 

ประการแรก ผมเปลี่ยนฐานคติ (mindset) เรื่องงานสังคมจากไปทุกงานหรือเกือบทุกงาน เป็นไปเท่าที่จำเป็น และมีวิธีจัดการกับงานที่ไม่ไปที่เหมาะสม เช่น บางงานก็ฝากซองเพื่อนที่ไป หรือโอนเงินช่วยเหลือผ่านทางธนาคาร โดยเพิ่มเงินในส่วนที่ต้องเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์กว่าที่ผมจะเดินทางไปร่วมกิจกรรมนั้น ๆ เพียงเพื่อไม่ให้สังคมพิพากษาว่าเป็นคนไม่เอาสังคมครับ แต่ถ้าจำเป็นต้องไปจริง ๆ (ซึ่งแต่ละคนจะรู้ว่างานไหนจำเป็น งานไหนไม่จำเป็น แต่ไปเพราะกลัวว่าชาวบ้านจะนินทาเท่านั้น) ถ้าคุณจัดการในส่วนนี้ลงตัว จะลดกิจกรรมสังคมลงได้เยอะเลยครับ 

ประการที่สอง เลิกกิจกรรมที่ไม่ใช่เพื่อสังคมจริงลง เช่น ตั้งวงก้งเหล้า แล้วบอกว่าเพื่อสังคม ซึ่งไม่จริงหรอกครับ เผลอ ๆ อาจจะเสียครอบครัวไปด้วย แต่ที่แม่บ้านส่วนใหญ่ไม่ว่าอะไรถ้าสามีจะมีกิจกรรมเช่นนี้ แต่นั่นเพราะเขารักสามีนะครับ และเชื่อเถอะครับว่าวงเหล้า และการสนทนาในวงเหล้าไม่าได้ไม่สร้างความพันธ์ที่ลึกซึ้งอะไรหรอกครับ ไม่เชื่อคุณลองไปยืมเงินเพื่อนในวงเหล้าดูครับ และบอกว่าคุณจำเป็นต้องใช้ คุณจะได้รับความช่วยเหลือมากน้อยเพียงใดครับ (ผมอาจจะเข้าใจผิดก็ได้ เพราะผมไม่มีเพื่อนก้ง คือถ้าอยากคุณกันก็แวะไปคุย เราจะได้คุยกันแบบมีสติเต็มร้อย ไม่ใช่คุยกันเพราะเมา) 

ประการที่สาม ผมบอกลูกศิษย์ว่าผมมักจะเขียนสิ่งที่ผมอยากเขียนในสมองก่อน ตกผลึกแล้วค่อยเขียน ซึ่งจะทำให้เราเสียเวลาไม่มากนักกับเรื่องที่จะเขียน (ผมเคยบอกลูกศิษย์ว่าการเขียนหนังสือไม่ยาก ถ้าคุณมีเรื่องจะเขียน) การเขียนหนังสือในสมอง หมายความว่า ถ้าเราจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องอะไร เราก็จะตั้งโจทย์ไว้ในใจ แล้วก็เรียบเรียงและถกเถียงตนเองเกี่ยวกับเรื่องนั้น ซำ้แล้วซำ้อีกจนขึ้นใจว่า ‘ตกผลึกใน concept’  ที่จะเขียนแล้ว ก็ลงมือเขียน  ขณะที่เขียนก็ทบทวนสิ่งที่คิด และถ้ามีแนวคิดใหม่ขณะที่เขียนก็ปร้บใหม่ได้

ผมทำแบบนี้กับงานเขียนผมทุกเรื่อง และหนังสือทุกเล่ม จะกี่ร้อยหน้าก็ตาม ก็เป็นการเขียนที่ละคำ และครั้งละหน้าสองหน้า ไปเรื่อย ๆ และผมบอกลูกศิษย์ของผมว่างานทุกชิ้น หนังสือทุกเล่มของผม 'คิด และเขียน (พิมพ์) ด้วยตัวเองทุกตัวอกษร ครับ 

ทุกอย่างทำไปเรื่อย ๆ เด็ยวก็เสร็จเอง เหมือนเดินทาง หากคุณก้าวไม่หยุด คุณก็จะได้ระยะทางเพิ่มขึ้นทุกวัน สนุกกับทุกเรื่องที่ทำ และภูมิกับผลงานที่เกิดขณะนั้น ไม่ต้องรอความสำเร็จที่ปลายทางอย่างเดียว

คุณอาจจะตั้งเป้าไว้ระยะยาว แต่ความสำเร็จคือ ทุกก้าวที่เดินแต่ละวินาทีครับ 

ททท : ทำทันทีในส่ิงที่ควรทำครับ 

สมาน อัศวภูมิ 

  26 กันยายน 2565

ปล. เรื่องนี้ผมตั้งใจจะเขียนทันทีหลังจากลูกศิษย์ถาม  และผมใช้เวลา  2 วันในการเขียนเรื่องนี้ในสมอง ว่างก็คิด มีงานก็ทำ ว่างปรับคิดต่อ และเร่ิมเขียนตอน 7 โมง  ใช้เวลา  50 นาทีโดยประมาณในการเขียนครับ (ที่ช้าเพราะผมพิมพ์ไม่เก่งครับ)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 707829เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2022 07:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2022 07:52 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท