ชีวิตที่พอเพียง  4304. วิธีเสนอความเห็นเชิงสร้างสรรค์สุดๆ


 

ผมค้นพบวิธีการนี้ตอนเช้าวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ ในวงประชุมระดมความคิดเรื่องการวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาซ้ำซ้อน   ที่เสนอโดยมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ   นำโดย ศ. ดร. นพ. ศุภสิทธิ์ พรรณนารุโณทัย    ต่อ กสศ. เพื่อขอการสนับสนุนต่อ 

เรื่องที่สนุกต่อการคิดสร้างสรรค์คือเรื่องที่มีความซับซ้อนสูง   และเรื่องเยาวชนที่มีปัญหาถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นเรื่องที่ซับซ้อนสุดๆ   ทั้งซับซ้อนที่สาเหตุและซับซ้อนที่มาตรการแก้ไข    

สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเรื่องภายในครอบครัว    แต่ผมก็ยังมองว่า น่าจะมีบางรายที่เด็กหรือเยาวชนเองเป็นผู้ก่อพฤติกรรมยุ่งยากซ้ำซาก    จึงต้องพิจารณาแต่ละรายเป็นกรณีๆ ไป ไม่เหมารวม    และที่นักวิจัยนำมาเสนอนั้น ผู้มาร่วมให้ข้อคิดเห็นมองว่าเป็นการพัฒนาวิธีการแก้ไข    โดยไม่ได้มองลึกไปถึงตัวรากเหง้าของสาเหตุ (root cause) 

ที่สำคัญคือ ทีมนักวิจัยเสนอมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ตามความถนัดของตน   มาตรการทางการเงินมีประโยชน์แน่นอน แต่ไม่น่าจะใช่การแก้ปัญหาที่ root cause    ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นเรื่อง socio-emotional   เรื่องของปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัว   

เมื่อใช้มาตรการทางการเงิน ก็จะมีคำถามต่อมาว่า   เงินช่วยเหลือนั้น ไปถึงเป้าหมายเต็มเม็ดเต็มหน่วยแค่ไหน   และเมื่อเป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับระบบงานประจำของกระทรวง พม.   ที่ว่าที่ปลัดกระทรวงและ รมต. ว่าการกระทรวง พม. ต่างก็เห็นด้วยต่อระบบข้อมูล และระบบการช่วยเหลือทางการเงิน ที่ทีมวิจัยเสนอ    ก็จะเกิดประเด็นคำถามเพิ่มขึ้นว่า    มาตรการที่ดำเนินการนั้น ไปถึงเด็กและเยาวชนเป้าหมายแค่ไหน   

ถ้าไม่ระวังให้ดี   เราจะหลงหมกมุ่นอยู่กับวิธีการ (means) คือการดำเนินการทางการเมืองและราชการ   แต่ไปไม่ถึงเป้าหมาย (end) คือตัวเด็กหรือเยาวชนและครอบครัว   

ในฐานะคนแก่ และโดนขอให้เป็นประธานการประชุม ผมชี้ให้เห็นความเสี่ยงของการดำเนินการวิจัยและพัฒนาระบบช่วยเหลือผิดเป้า  หรือหลงเป้า   ทั้งหลงเอา means เป็น end    และหลงสนองนโยบายการเมืองและราชการเป็นหลัก  แทนที่จะเอาเด็กและเยาวชนที่ถูกกระทำเป็นหลัก    ในฐานะนักวิจัย ความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งคือ หลงเอาวิธีวิทยาการวิจัยที่น่าเลื่อมใสเป็นหลัก   แต่เกิดผลต่อเป้าหมายที่แท้จริงน้อย   ผมชี้ให้เห็นความเสี่ยงต่อการตกเข้าไปในสภาพ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” คือทำมากมาย เพื่อผลนิดเดียว     

ที่ประชุมให้ข้อสังเกตว่า ทีมวิจัยเน้นจับที่คำถาม how   ในขณะที่เรื่องซับซ้อนแบบนี้ต้องเริ่มจาก what  และ why   คือจับโจทย์ให้ถูกจุดก่อน    ก่อนกระโดดไปหาวิธีการแก้ปัญหา            

อย่างไรก็ตาม ผมเริ่มด้วยการบอกที่ประชุมว่า งานนี้หากทำได้สำเร็จ ทุกคนที่เกี่ยวข้องจะได้บุญสูงมาก   เพราะเป็นการช่วยเหลือคนอื่นที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยไม่หวังผลตอบแทน     เป็นการกระทำด้วยใจบริสุทธิ์     

แต่เมื่อลงสาระ   ผมก็ชี้ให้เห็นความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น   และตั้งคำถามที่ใช้กระบวนทัศน์ตรงกันข้ามกับทีมวิจัย    ลงท้ายว่า ข้อสังเกตของผมผิดหรือเปล่า    เพื่อให้ที่ประชุม โดยเฉพาะทีมวิจัย และทีมจากกระทรวง พม. มองเห็นมุมอื่นที่เขาไม่ได้มอง หรือมองไม่เห็น   

ผมจึงค้นพบวิธีเสนอความเห็นที่สร้างสรรค์สุดๆ    ว่าต้องเสนอเป็นคำถาม ด้วยท่าทีเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งต่อสิ่งที่ตนเสนอ   ตั้งคำถามให้ผู้ร่วมประชุมช่วยกันบอกว่าผมเองเข้าใจผิด   

เป้าหมายคือ เตือนสติให้ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นความซับซ้อนของเรื่อง   และความเสี่ยงต่อการกระโจนสรุปประเด็นเร็วเกินไป จนจับโจทย์ผิด   

วิจารณ์ พานิช

๕ ส.ค. ๖๕

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 707422เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2022 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กันยายน 2022 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

This post remind me of a time when I was working for a government department and there was a campaign to promote ‘clear and pleasant communication’. The major tool used was ‘drama workshop’. Why? Because films and plays achieve their ‘goals’ (audience get the points) through a series of dramatized ‘acts’ and studies had found that ‘impressions’ can be long lasting (in people’s mind). So, we did learn some ‘acting’ (speak slow and clear and with dramatic accents and gestures/body language). I later found that ‘pleasant memories’ (impressions) work best in communication and control. But how one can rehearse and act 8x5 (8 hours 5 days at work) needs more that just dresses, settings, timing, acting and promotion. ‘sati’ and ‘smiles’ are also importantly needed. in short one cannot live in drama. Letting go to enjoy our own whim and folly in life may help us live. ;-)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท