แนวคิด "จิตมาตร์" ในสำนักพุทธปรัชญาโยคาจาร


            

          ปกติที่ผ่านมาจะมีโอกาสบรรยายแก่นิสิตหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์  ในรายวิชาพระพุทธศาสนามหายาน ซึ่งเนื้อหาของวิชานี้จะมีการกล่าวถึงพุทธปรัชญามหายานทั้งสองสำนัก คือ ปรัชญาสำนักมัธยามิกะ และปรัชญาสำนักโยคาจารหรือวิชญาณวาท ผมสนใจปรัชญาทั้งสองสำนักนี้มากเพราะเป็นปรัชญาในยุคที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุดในประเทศอินเดียหลังการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนามหายาน ในที่นี้จะยกปรัชญาศูนยวาทของท่านนาคารชุนเอาไว้ก่อน แต่ที่อยากจะกล่าวถึงคือ ปรัชญาโยคาจารหรือวิชญาณวาทของท่านอสังคะและวสุพันธุ 

           หลักการสำคัญของปรัชญาสำนักนี้คือแนวคิดที่ว่า จิตเท่านั้นที่มีอยู่จริง สรรพสิ่งต่าง ๆ ในจักรวาลไม่มีความเป็นจริงอยู่ในตัวของมันเอง ทุกอย่างเป็นความว่างเปล่าไม่มีอยู่จริง แต่สิ่งที่มีอยู่อย่างแท้จริงคือจิตหรือวิญญาณ เพราะฉะนั้นปรัชญาสำนักนี้จึงได้ชื่อว่า วิชญาณวาท ที่แปลว่า ปรัชญาที่ถือว่าวิญญาณเท่านั้นที่มีอยู่จริง (แนวคิดตรงนี้จะตรงกันข้ามกับพุทธปรัญาเถรวาทที่เชื่อว่า สรรพสิ่งมีอยู่จริง นิกายเถรวาทจึงมีชื่อทางปรัชญาว่า สัพพัตถิกวาทในภาษาบาลี หรือ สรวาสติวาทินในภาษาสันสกฤต ซึ่งมีแนวคิดว่า สรรพสิ่งมีอยู่อย่างแท้จริง เพียงแต่นิกายเถรวาทลดทอนสรรพสิ่งลงสู่ปรมัตถธรรม ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง) นิกายโยคาจารหรือปรัชญาสำนักวิชญาณวาทถือว่า จิตเท่านั้นที่มีอยู่จริง ทฤษฎีหรือแนวคิดนี้ถูกเรียกว่า "จิตตมาตร์" (Mind Only) เพราะฉะนั้นเวลาผมบรรยายแนวคิดนี้ผมจึงไม่ค่อยจะเห็นด้วย (จากจุดยืนของเถรวาท) 

            แต่เมื่อได้ศึกษาปฏิบัติการเจริญสติภาวนาตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน  จิตตสุโภ และได้รับฟังธรรมบรรยายของหลวงพ่อคำเขียน  สุวัณโณ ระหว่างการเข้าร่วมปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสุคะโต ระหว่างวันที่ 14-20 เมษายน 2562  ผมจึงเข้าใจว่า การตีความแนวคิดของโยคาจารในแง่ของอภิปรัชญานั้นอาจจะไม่เพียงพอหรืออาจจะผิดพลาดก็ได้ ควรที่จะตีความในแง่จริยศาสตร์ด้วย การตีความเชิงอภิปรัชญาคือที่ผมอธิบายมาแล้ว ทีนี้การตีความในแง่จริยศาสตร์คือในแง่ของการปฏิบัติ โดยให้ถือว่าทุกสิ่งที่เข้ามากระทบประสาทสัมผัสเป็นเพียงการรับรู้หรือวิญญาณ การที่แสงเข้ามากระทบตาก็คือจักขุวิญญาณ การที่คลื่นเสียงเข้ามากระทบหูคือโสตวิญญาณ เป็นต้น เพราะฉะนั้นในแง่ของจริยศาสตร์สรรพสิ่งในจักรวาลที่เข้ามากระทบกับตัวเราจึงเป็นเพียงแค่วิญญาณทั้ง ๖ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณเท่านั้น โลกและจักรวาลนี้จึงมิใช่อะไรอื่น เป็นเพียงปรากฎการณ์ของวิญญาณ หรือจิตเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น จิตตมาตร์ ในแง่่อภิปรัชญา คือ จิตเท่านั้น(ที่มีอยู่จริง) แต่่ในแง่จริยศาสตร์น่าจะหมายถึงวิญญาณหรือการรับรู้เท่านั้น (ที่เป็นจริง) ซึ่งเมื่อแปรไปสู่การปฏิบัติ ก็คือ รู้สึกตัว การมีสติรับรู้ทุกขณะที่สรรพสิ่งเข้ามากระทบประสาทสัมผัส 

              พระพุทธศาสนานิกายเซนในประเทศจีนก็ยึดหลักปรัชญาโยคาจารหรือวิชญาณวาทด้วยเช่นกัน  ดังจะเห็นได้จากกรณีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติของท่านปรมาจารย์ตั๊กม้อหรือพระโพธิธรรม  เรื่องเล่าว่าพระเจ้าจักรพรรดิเหลียงบู๋ตี้ได้อาราธนาพระโพธิธรรมเข้าไปแสดงธรรมในพระราชวัง  หลังจากเสร็จสิ้นพิธีการปฏิสันถารต้อนรับแล้วพระเจ้าจักรพรรดิจึงสอบถามพระโพธิธรรมว่า "ที่ผ่านมาโยมได้สร้างกุศลไว้มากมายในพระพุทธศาสนา  ไม่ว่าจะเป็นการสร้างวัดวาอาราม สถูปเจดีย์  การทำบุญให้ทานสร้างสาธารณะประโยชน์  ให้การอุปสมบทพระภิกษุในพระพุทธศาสนา  อยากทราบว่าโยมจะได้รับกุศลมากน้อยเพียงใด"  พระโพธิธรรมตอบว่า "ไม่มีอะไรเลย"  พระเจ้าจักรพรรดิงุนงงกับคำตอบจึงสอบถามอีกว่า "เพราะเหตุใดพระคุณเจ้าจึงตอบว่าไม่มีอะไรเลย"  พระโพธิธรรมจึงตอบว่า "ไม่มีอะไรเลย เพราะสรรพสิ่งล้วนเป็นเพียงความว่างเปล่า" พระเจ้าจักรพรรดิจึงสอบถามอีกว่า "ถ้าสรรพสิ่งล้วนเป็นเพียงความว่างเปล่า แล้วใครกัน (หมายถึงพระโพธิธรรม)ที่ยืนอยู่ต่อหน้าข้าพเจ้า"  พระโพธิธรรมตอบว่า  "อาตมาก็ไม่ทราบเหมือนกัน"  บทสนทนาก็สิ้นสุดลงเพียงแค่นี้

            จากบทสนทนานี้แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนานิกายเซนยึดหลักปรัชญาโยคาจารหรือวิชญาณวาท (บางท่านอาจคิดว่าเป็นหลักศูนยวาทของท่านนาคารชุน) เพราะวิชญาณวาทถือว่าวิญญาณหรือจิตเท่านั้นที่มีอยู่จริง สรรพสิ่งในโลกภายนอกเป็นเพียงความว่างเปล่า  เพราะสรรพสิ่งในโลกภายนอกนั้น ถ้าจิตไม่เข้าไปรับรู้มันก็ไม่มีอยู่อย่างแท้จริง  ปรากฎการณ์ในโลกภายนอกเป็นเพียงสิ่งสะท้อนของจิต หรือเป็นเพียงมายาภาพของจิต  เพราะฉะนั้นในแง่ของการปฏิบัติสำนักโยคาจารหรือพระพุทธศาสนานิกายเซนจึงสอนให้เราอยู่กับความรู้สึกตัว  การมีสติรับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบทางประสาทสัมผัสในทุกขณะแห่งการรับรู้  ความมีสติรู้สึกตัวจึงเป็นวิธีการที่เป็นสะพานเชื่อมโยงตัวเราไปสู่การรู้แจ้งในสัจธรรม  ดังที่หลวงพ่อคำเขียน  สุวัณโณ สอนว่าให้ "รู้ซื่อ ๆ" นั่นเอง 

 

หมายเลขบันทึก: 707287เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2022 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2022 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท