ชีวิตที่พอเพียง  4301. คุณค่าของการบอกตนเองว่าไม่รู้


  

นี่คือปิ๊งแว้บ หรือการผุดบังเกิด (emergence) ที่ผุดขึ้นมาในระหว่างการบรรยาย บนเวทีห้องประชุมทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   เวลา ๙.๐๐ - ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๕   

 เป็นการกล่าวปาฐกถาศาสตราจารย์ นายแพทย์ธาดา ยิบอินซอย  เรื่อง ครึ่งศตวรรษแพทยศาสตร์ มอ. : มองวันวาน กาลปัจจุบัน ก้าวไปด้วยกันในยุค new normal    ที่ผมชี้โอกาสทำหน้าที่ โรงเรียนแพทย์ยุคใหม่ โรงเรียนแพทย์แห่งศตวรรษที่ ๒๑   ว่าคณะแพทยศาสตร์ต้องเคลื่อนตัวออกจากสภาพเดิม ความเคยชินเดิมๆ กระบวนทัศน์เดิม   ออกสู่กระบวนทัศน์ใหม่

เปลี่ยนจากการเป็น classical medical school   สู่สภาพ Health Systems Science Center   และสู่สถาบันด้านสุขภาพที่ทำงานแนวกว้างครอบคลุมศาสตร์ด้าน SPSPS (Science, Practice, Systems, Population, และ Society    คือต้องทำงานวิชาการทั้งแนวลึกและแนวกว้าง    นี่คืออนาคตในระดับกระบวนทัศน์    ที่ต้องคิดให้ชัด   

แต่อนาคตในภาคปฏิบัติ ผมเสนอให้บอก (สารภาพ) กับตัวเอง ว่า “ไม่รู้”    หรืออย่างมากก็ “รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง”    ต้องทำไปเรียนรู้ไป 

คนส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะคนเก่ง) จะทำตรงกันข้าม   คือศึกษาหาความรู้และคิดใคร่ครวญจนชัด และบอกตัวเองว่า “รู้แล้ว” ต้องทำอย่างนี้ๆ ๆๆๆ     ในหลายกรณี มี “roadmap” อย่างชัดเจน    ผมมีความเห็นว่า นั่นคือเส้นทางที่ดำเนินตามอดีต   เพราะสิ่งที่ช่วยให้เรารู้มาจากอดีต    มันจึงเป็นกับดักแห่งอดีต   

ภาคปฏิบัติในอนาคต ที่เหมาะสมต่อสภาพในอนาคตจึงต้องมาจากอนาคต ซึ่งเราไม่รู้    แต่เราค่อยๆ ทำให้รู้ได้ โดยการเรียนรู้จากการปฏิบัติ (experiential learning)    ซึ่งเป็นการทำไปเรียนรู้ไป   โดยที่ต้องไม่แค่เรียนรู้ในระดับวิธีการเท่านั้น     ต้องเรียนรู้ในระดับหลักการ(conceptualization) ได้ด้วย   

เท่ากับเรามีท่าทีเตรียมพร้อมที่จะ unlearn (เลิกเชื่อ) หลักการเดิม วิธีการเดิม     และ relearn หลักการใหม่  วิธีการใหม่ ที่ค้นพบจากการ ทำแล้วสังเกตและคิด ตามหลักการของ Kolb’s Experiential Learning Cycle    ซึ่งหมายความว่า กว่าจะค้นพบหลักการใหม่ที่หนักแน่นชัดเจน ก็ต้อง ทำแล้วสังเกตและคิดสร้างหลักการใหม่และนำหลักการใหม่ไปลองใช้และปรับหลักการอีกหลายรอบ    จึงจะค้นพบหลักการใหม่ ที่เราพอจะบอกตนเองว่า “เรื่องนี้พอจะรู้แล้ว” 

จะเห็นว่า คนเราต้องมีท่าที พร้อม “เลิกเชื่อ” (unlearn) ความรู้ที่ตนเองมี    และพร้อม “เรียนรู้ใหม่” (relearn) อยู่ตลอดเวลา   จึงจะเป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรมได้   

และต้องมี “กระบวนทัศน์ที่ถูกต้อง” ในเรื่องการเรียนรู้     กระบวนทัศน์ที่ผิดคือ มุ่งเรียนรู้จากตำราหรือจากผู้อื่นเป็นหลัก      กระบวนทัศน์ที่ถูกคือ มุ่งเรียนรู้จากการปฏิบัติ หรือประสบการณ์ ของตนเอง (ร่วมกับผู้อื่น) เป็นหลัก     กล่าวใหม่ว่า ต้องเรียนรู้ทั้งสองแบบ    แต่ต้องให้น้ำหนักแบบหลังมากกว่า     โดยเน้นเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น  เรียนรู้เป็นทีม ที่เรียกว่า collective learning through action 

การเรียนรู้แบบหลัง อยู่บนฐานกระบวนทัศน์ของตนเองว่า  ว่า “ไม่รู้”     

วิจารณ์ พานิช

๔ ส.ค. ๖๕

ล็อบบี้ โรงแรมสุโกศล 

 

หมายเลขบันทึก: 707153เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2022 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2022 18:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

I think ‘we’ are passing through ‘classical’ thinking (where there are formulas or theories for predicting ‘certain’ events at times) and into ‘quantum’ thinking (where there are only fuzzy probabilities of ‘possible’ events at times available).

A game like ‘Master Mind’ or ‘Wordle’ can serve as an simplistic example of the (logical) processes used in working quantum things out.

ขออนุญาตนำไปเผยแพร่ต่อครับ เพราะถึงผมยังไม่ได้มีหน้าที่ care giver แต่ก็อยากส่งต่อให้คนอื่นที่มีโอกาสเป็นเช่นนั้นก่อน…
ขอบคุณอาจารย์วิจารณ์ฯ เป็นอย่างสูงครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท