เจาะลึกวิธีคิดทำธุรกิจ หลังกำแพงเมืองจีน


คนจีนภาคภูมิใจมากกับสิ่งประดิษฐ์ใหม่ 4 อย่าง นั่นคือ รถไฟฟ้าความเร็วสูง ระบบจักรยานแชริ่ง อีคอมเมิร์ซ (ใหญ่กว่า e-Bay และ Amazon รวมกัน) และสังคมไร้เงินสด (Mobile Payment) ... จีนไม่ต้องการใช้คำว่า Made in China แต่ต้องการให้เรียกว่า Create in China เพราะจีนต้องการสื่อว่าได้คิดใหม่ทำใหม่ในเรื่องต่าง ๆ มากมาย

         เจาะลึกวิธีคิดทำธุรกิจ หลังกำแพงเมืองจีน

                                                                                                                                อรรถการ สัตยพาณิชย์

                ความเข้าใจผิดของคนไทยที่มีต่อการทำมาค้าขายกับคนจีนในประเทศจีนมีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน เริ่มตั้งแต่  สินค้าจีนราคาถูก แต่ไม่มีคุณภาพ  พ่อค้าแม่ค้าจีนไม่ซื่อสัตย์ หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการจีนต้องง้อผู้ประกอบการไทยให้ไปซื้อของประเทศเขา รวมไปถึงภาพของจีนที่ยังไม่พัฒนา และยังล้าหลังในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้

                ภาพที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งหากย้อนอดีตกลับไปในช่วงยุคสงครามเย็น คนไทยที่มีอายุเฉียดๆ 50 ปีในวันนี้ก็มักมีภาพจำการเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ของจีน ที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นถึงความน่ากลัว โหดร้าย ไม่น่าไว้วางใจ และประชาชนคนจีนถูกกดขี่ข่มเหงจากรัฐบาล

                ภาพบิดเบี้ยวนั้นเกิดขึ้นมาจากความไม่รู้และการเข้าไม่ถึงประเทศจีน เพราะไม่เข้าใจภาษาจีน 

                แต่หลังจากในปี ค.ศ.1978 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิงได้เริ่มดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศอย่างจริงจัง ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนดีขึ้นและมีเศรษฐีใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

                ข้อมูลการจัดอันดับมหาเศรษฐีประจำปี 2018 ของนิตยสารฟอร์บส์ น่าจะเป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดี เพราะในปีนี้จีนมีพลเมืองเป็นเศรษฐีมากเป็นอันดับ 2 จำนวน 373 คน รองจากสหรัฐฯ ที่มี 585 คน และปี 2018 เช่นกันที่มีมหาเศรษฐีชาวจีน 2 คนมีชื่อติดในโผบุคคลร่ำรวยที่สุดในโลก 20 คนแรก ได้แก่ 

  • หม่า ฮว่าเถิง CEO ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ต “เทนเซนต์”(Tencent)มีทรัพย์สินสุทธิ 45,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐและถือว่าเป็นแชมป์มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของเอเชีย และติดอันดับที่ 17 ของโลก 
  • ส่วนอีกคนคือ แจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท อาลีบาบา (Alibaba) มีทรัพย์สินประมาณ 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

                ปัญหาการรับรู้หรือ perception ของคนไทย ทั้งในเรื่องการไม่ยอมรับสินค้าจีน หรือพอเห็นอะไรที่มีภาษาจีนก็มักจะให้มูลค่าและคุณค่าที่ต่ำกว่าสินค้าของฝรั่ง ทั้งๆ ที่การพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมของจีนในปัจจุบันก้าวไปไกล และบางอย่างเชื่อกันว่าล้ำหน้าไปกว่าโลกตะวันตก

                ปัญหาการไม่เปิดใจเพื่อรับเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นจีน เมื่อประกอบเข้ากับการเผยแพร่ข่าวสารของสื่อมวลชนในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการผลิตสินค้าปลอม จึงไม่แปลกที่เวลามองจีนแบบเหมารวม ทำให้สายตาและทัศนคติของคนไทยที่มีต่อคนจีนเข้าขั้นติดลบ

                ผู้คร่ำหวอดด้านธุรกิจการค้าของจีนที่จะมาเปิดม่านไม้ไผ่และทะลายกำแพงเมืองจีน เพื่อให้รู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของผู้ประกอบการจีนในทุกระดับให้กับนิตยสาร B-Connect ฉบับนี้คือ คุณวรมน ดำรงศิลป์สกุล ที่มีผลงานการเขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับจีนออกมาให้ติดตามหนังสือ 2 เล่มที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากคือ หาวห่าว Marketing การตลาดจีนยุคใหม่ที่คุณต้องร้องโอ้โห! และ เหินห่าว Business อยากเก่งธุรกิจ ต้องคิดอย่างจีน ซึ่งความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับจีนเกิดจากการได้เดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้าน New Media ที่ฮ่องกง หลังจากนั้ นก็ใช้เวลาในการเรียนรู้อาณาจักรจีนผ่านการท่องเที่ยว ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน มาเก๊า และฮ่องกง รวมทั้งมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจกับผู้ประกอบการจีนโดยตรง  

Big Bang หลังจีนเปิดประเทศ

                แม้ว่าจีนได้เปิดประเทศเพื่อเชื่อมต่อกับระบบเศรษฐกิจโลกมาหลายสิบปี แต่หลายคนก็ยังคงรู้สึกเข้าไม่ถึงความเป็นจีน คุณวรมนยืนยันว่าจีนเปิดประตูให้ทุกคนเรียนรู้ประเทศนี้ และเปิดโอกาสให้เข้ามาทำธุรกิจอย่างจริงจัง แต่ปัญหาอุปสรรคสำคัญคือ ความไม่เข้าใจภาษาจีน ถือเป็นกำแพงที่ทำให้เรารู้เรื่องราวต่างๆ ของจีนได้น้อยกว่าประเทศที่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ

                “น่าจะมี 2 เหตุผล คือ  หนึ่ง จีนเปิดประเทศอยู่แล้ว แต่เราไม่เคยเปิดประตูหาเขาเลย เรามีกำแพงกับจีนในเรื่องภาษาและสื่อ อาจมาจากที่เราไม่เปิดรับหรือเปล่า เพราะจากที่ได้สัมผัสจีนมา 10 ปี ประเทศจีนนั้นเปิดตลอด แต่เรามีกำแพงของเราเองที่เราเข้าไม่ถึง สอง เป็นเรื่องนโยบายของเติ้งเสียวผิง ที่เข้ามาปรับเปลี่ยน และมีนโยบายเชิงธุรกิจมากมาย เช่น การประหยัดภาษี การให้พื้นที่เข้าใช้ก่อน ซึ่งเป็นนโยบายที่เอื้อกับภาคธุรกิจมากขึ้น 

                ยกตัวอย่างเช่น การมีนโยบายให้ไต้หวันกลับมาเป็นของจีน ซึ่งเป็นนโยบายในช่วงแรกๆ ของเติ้งเสี่ยวผิงเลย โดยการทำให้ไต้หวันเป็นอิสระและได้เห็นโลกภายนอกมากกว่าเข้ามาเป็นของจีน กับการใช้นโยบายทางด้านภาษีที่ต่ำมากกับบริษัทที่เป็นธุรกิจของไต้หวัน เพื่อให้เข้ามาทำธุรกิจที่เมืองจีน โดยคนจีนที่ทำธุรกิจเดียวกันต้องจ่ายภาษีแพงกว่า นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจอาหารของไต้หวัน เช่น ชาไข่มุกและเบเกอรี่ เป็นที่นิยมมาก เพราะได้นโยบายด้านภาษี และทุกวันนี้ตลาดที่ใหญ่ที่สุดไม่ได้อยู่ที่ไต้หวันแต่อยู่ที่เมืองจีน ถือว่าในเชิงของเศรษฐกิจได้ขึ้นอยู่กับจีนไปแล้ว”

คนจีนหูไวตาไวเรื่องค้าขาย

                คนจีนไม่ว่าจะยุคใดสมัยใดก็มีวิญญาณของการเป็นคนทำมาค้าขายอยู่ในสายเลือด คุณวรมนเล่าประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับคนจีนมายาวนานว่าเป็นกลุ่มคนที่มีหูไวตาไวในการทำธุรกิจ มีสปิริตในความเป็นผู้ประกอบการ มีความตรงไปตรงมาและคนจีนจะ Realistic (มองโลกบนความเป็นจริง) ในการใช้ชีวิตทุก ๆ มิติ เช่น ถ้าสินค้าราคา 50 บาท เมื่อคนรวยมาซื้อ ถ้าต้องเพิ่มราคาเป็น 200 บาท คนจีนจะไม่ทำและจะไม่ชอบ เพราะพวกเขาเข้าใจดีว่า ไม่มีใครอยากเป็นคนโง่และไม่ชอบการสวมหน้ากากเข้าหากัน 

                ที่สำคัญ คนจีนรู้จักการหาช่องทางในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทเทคโนโลยีที่มีจุดเริ่มต้นการผลิตจากฝรั่งก็ตาม แต่แรงขับที่ต้องการแสวงหาโอกาสในการขายของให้ได้มากขึ้น จึงมีการนำสินค้าที่ฝรั่งเริ่มต้นคิดมาพัฒนาต่อยอดให้มีความสามารถและตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มีเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการจีนก็รู้จักนำเทคโนโลยีมาช่วยในการแก้ไขปัญหา จนกลายเป็นสินค้าหรือบริการใหม่ และเป็น Business Model ใหม่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

                คุณวรมนเล่าให้ฟังว่า การที่จีนมีประชากรเป็นจำนวนมาก ทำให้การต่อคิวต้องใช้เวลานาน ทำให้ปัญหากระทบมาถึงการให้บริการลูกค้าที่ทำได้ไม่ทั่วถึง จีนก็มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดคิวระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้การจัดสรรคนที่เข้ามาใช้บริการมีความคล่องตัว ไม่ต้องหงุดหงิดกับการมานั่งรอ 

                สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการแก้ไขปัญหาของคนจีนได้เป็นอย่างดี ซึ่งการรู้จักนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัวเช่นนี้ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ธุรกิจ Startup ในจีนจึงเติบโตเหมือนกับดอกเห็ด และที่สำคัญ เจ้าของ Startup ส่วนใหญ่ก็มักจะมีอายุน้อย ๆ แต่ก็สามารถสร้างโอกาสในการทำเงินได้สูงมาก จนทำให้จีนเป็นประเทศทีมี Startup ในกลุ่ม Unicorn คือ มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐมากที่สุดในโลก ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ได้ก็เพราะจีนมีการส่งเสริมนักลงทุนอิสระ มีสถาบันอบรมการสร้างผู้ประกอบการในหลาย ๆ เมือง เช่น ปักกิ่ง เซียงไฮ้ เซินเจิ้น ฯลฯ  ผู้ประกอบการพวกนี้ก็รู้ว่าจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดต้นทุนให้มีประสิทธิภาพอย่างไร และจะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาอย่างไรถึงจะเป็นสินค้าหรือบริการที่จะสร้างรายได้ให้มีสูงขึ้น

                นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจีนยังมีความสามารถในการประยุกต์และดัดแปลงเทคโนโลยีที่รับมาจากฝรั่งให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนได้อย่างลงตัว ซึ่งเป็นความสามารถที่คุณวรมนรู้สึกชื่นชม เช่น โวตี๋หั่วกัว ร้านสุกี้ที่ขึ้นชื่อเรื่องความทันสมัย ให้บริการรวดเร็วและราคาถูก มีการลดต้นทุนโดยการตัดพ่อค้าคนกลาง มีการให้ผู้ผลิตส่งวัตถุดิบโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ทั้งผัก หรือเนื้อ ราคาพอๆ กับไปเดินซื้อของในตลาดสดเอง ซึ่งการบริหารต้นทุนด้วยวิธีเช่นนี้ทำให้วัตถุดิบหลายอย่างถูกกว่าร้านหม้อไฟทั่วไปเกือบครึ่ง

                นอกจากตัดพ่อค้าคนกลางแล้ว ก็ยังมีการลดการใช้พนักงานลงด้วยการให้ลูกค้าบริการตัวเอง โดยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ คือ แทนที่จะจ้างพนักงานเสิร์ฟ ลูกค้าจะต้องเดินไปเลือกผัก หรือเนื้อด้วยตัวเองและส่งให้พนักงานเก็บเงินคิดราคา ทุกถาดจะมีชิป RFID ติดอยู่ เวลาคิดเงินก็วางที่เครื่องอ่าน เครื่องก็จะแจ้งราคาอย่างรวดเร็ว

                นอกจากนี้ ร้านนี้ยังคิด “ค่าโต๊ะ” ตาม “ขนาดโต๊ะ” และ “ช่วงเวลา” กล่าวคือ 

  • โต๊ะเล็ก นั่ง 2-4 คน ในช่วงเวลาที่ไม่ใช่มื้อเที่ยงหรือมื้อเย็นจะคิดราคาอยู่ที่ 25 บาทต่อ 15 นาที หรือชั่วโมงละ 100 บาท 
  • แต่ถ้าเป็นมื้อเที่ยงหรือมื้อเย็นจะคิดราคา 15 นาที 40 บาท หรือชั่วโมงละ 150 บาท 
  • ถ้าโต๊ะใหญ่ 6-8 คน สนนราคาอยู่ที่ 15 นาทีละ 50 บาท หรือ 200 บาทต่อชั่วโมง 
  • ส่วนเวลาเร่งด่วนจะคิด 15 นาทีต่อ 75 บาท หรือ 300 บาทต่อชั่วโมง 
  • แต่ถ้ามาในช่วงเวลาที่คนไม่กินข้าว ราคาก็จะถูกลง

                การคิดเงินก็จะคิดจากสองยอด คือ 

  • ยอดแรก คือ ค่าอาหาร 
  • ยอดที่สอง คือ ค่าเวลาใช้โต๊ะ 

                เมื่อลูกค้าเข้ามาใช้บริการก็จะได้รับบัตรเงินสดในการซื้ออาหารและตอกบัตรนับเวลาการกินด้วย คุณวรมนมองว่าเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการ disrupt ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาให้กับคนชั้นกลางและคนชั้นล่างที่พบเจอกับปัญหาแบบนี้มานาน และเชื่อว่า จะเกิดธุรกิจที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันเช่นนี้มากขึ้น   

                 อย่างร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในจีน คุณวรมนเล่าว่า จะตั้งอยู่ในเมืองหลักๆ เช่น ปักกิ่ง เซียงไฮ้ กวางโจว ฯลฯ  แต่เมืองอันดับสอง อันดับสามจะไม่มีร้าน 7-11 เพราะต้นทุนการเปิด 7-11 จะสูงมากและตอนนี้ก็ได้เกิดธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่ไม่ใช้คนให้บริการ และมีการขายในรูปแบบแฟรนไชส์แล้ว ทำให้ร้านสะดวกซื้อรูปแบบนี้ไปถึงเมืองเล็ก ๆ เพราะเป็นการใช้ระบบเข้ามาควบคุม ซึ่งร้านสะดวกซื้อที่ว่าก็เป็นร้านขนาดใหญ่ แต่สามารถเข็นไปได้ทุกที่ โดยใช้เทคโนโลยีในการควบคุม ตั้งแต่เมื่อเปิดประตูเข้าไปก็ต้องสแกน QR Code

                 วิธีคิดร้านสะดวกซื้อของจีนรูปแบบนี้ถือเป็นช่องว่างทางการตลาดที่มีขนาดใหญ่ และเป็นวิธีคิดที่ต่างจากอเมริกา หรือญี่ปุ่นที่มองว่าการมีร้านสะดวกซื้อผุดขึ้นมากเท่าใดก็จะเป็นมาตรวัดความเจริญของเมืองได้อย่างหนึ่ง

adopt จากสินค้าคนอื่น แต่ adapt ให้ก้าวหน้ากว่า

                คุณวรมนมองว่า แม้ทุกวันนี้ Business Model ของจีนจะยังคงใช้วิธีการก๊อปปี้สินค้าอื่นอยู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะแม้แต่สหรัฐอเมริกาก็เคยใช้วิธีการนี้มาก่อน แต่สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงที่หลังจากที่จีนก๊อปปี้แล้วก็จะพยายามทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานดีขึ้น อย่างโปรแกรมแชท การที่จีนบล็อกโซเชียลมีเดียจากโลกภายนอก ทำให้ต้องมีการพัฒนาโปรแกรม WeChat ขึ้น เพื่อให้คนทั้งประเทศใช้ จนทำให้โปรแกรมนี้มีการพัฒนาก้าวล้ำไปกว่าโปรแกรมแชทที่มีมาก่อนหน้า

                “คนจีนจะไม่หยุดแค่นั้น ยกตัวอย่างเช่น ฝรั่งมี WhatsApp เกาหลีมี Kakaotalk และประเทศไทยนิยมใช้ Line จีนก็มี WeChat ซึ่งผู้ที่ทำแชทแบบนี้แรกๆ ที่เรารู้จักกันคือ ICQ และต่อมาเป็น QQ ของเทนเซนต์ โดยมาก่อน MSN ที่เรารู้จักกัน แต่เราไม่เคยใช้ QQ ซึ่งในปัจจุบันคือ WeChat นั่นเอง แต่ QQ ก็ยังมีอยู่ ไทยเราเหมือนถูกปิดประตู เพราะจะรับนวัตกรรมที่มาจากฝรั่ง ทำให้เราไม่รู้เลยว่าประเทศจีนมีอะไร หรือทำอะไร เราจึงคิดว่าเมืองจีนนั้นก๊อปปี้ตลอด แต่ก็ยอมรับว่าจีนยังมีการทำธุรกิจแบบ adopt and adapt อยู่ แต่สิ่งที่เขา adapt นั้นมันมีความก้าวหน้ามากกว่า 

                อย่างของที่มีใน facebook วันนี้ก็ยังล้าหลังกว่า WeChat อยู่มาก คิดเป็นประมาณ 10% ของที่ WeChat มี โดยมี WeChat โปรแกรมเดียว สามารถตอบได้ทุกโจทย์ เช่น การไปร้านอาหารแล้วไม่ต้องรอคิว เมื่อมาถึงร้านอาหารก็กดสแกน QR Code ของเบอร์นั้น ๆ มันจะแสดงตลอดว่าจะถึงคิวหรือยัง แล้วให้สั่งอาหาร จ่ายเงินและเมื่อไปถึงร้านอาหาร เราสามารถทานได้เลย ซึ่งหมายเลขบัตร คูปองส่วนลดต่าง ๆ นั้นอยู่ในโปรแกรมเดียวทั้งหมด ไปหาหมอไม่ต้องต่อคิวแล้ว ใช้วิธีจองก่อนล่วงหน้าผ่านโทรศัพท์ได้ ซึ่งในทุกธุรกิจสามารถตอบโจทย์ได้โดย WeChat เมื่อโดนใบสั่ง ไม่มีเวลาไปจ่ายก็สามารถสแกนแล้วจ่ายเงินได้เลย ซึ่งตอนนี้ WeChat ผสานระหว่างภาคธุรกิจและภาครัฐเรียบร้อยแล้ว และจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมนวัตกรรมของคนจีนไม่ต้องการให้ฝรั่งเข้ามาดู เพราะเขาต้องการคุยกับบริษัทที่สามารถคุยได้

                อย่างเช่น บริษัทเทนเซนต์ที่ปรับตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องการ โดยบริษัทฯ ก็ได้ประโยชน์ในเรื่องข้อมูลต่างๆ จากภาครัฐ เท่ากับว่าเขาได้ข้อมูลของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เพียงข้อมูลของธุรกิจเท่านั้น บอกได้ว่า WeChat เป็นกรณีศึกษาที่ดีที่สุด ที่ฝรั่งมองหาอยู่ และทำตามไม่ทัน เพราะขณะนี้  WeChat มีการพัฒนาไปไกลกว่าแล้ว” คุณวรมนยืนยัน

                ดังนั้น การที่ข้อมูลต่างๆ มีการบูรณาการกันอย่างเป็นระบบ จึงทำให้ข้อมูลที่ได้เป็น Big Data อย่างแท้จริง ในทัศนะของคุณวรมนมองว่าของไทยเราไม่มีองค์กรไหนที่จะเรียกว่าเป็น Big Data ได้ เพราะจำนวนประชากรแค่ 70 ล้านคน และไม่มีธุรกิจไหนที่มีลูกค้าทั้งประเทศ ซึ่งต่างจาก เทนเซนต์ หรือ Alibabaที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลในทุกธุรกิจ และข้อมูลที่เก็บสะสมก็มาจากการใช้ชีวิตประจำวันของคนจีนในทุกๆ ด้าน และมีการนำข้อมูลที่เป็นไลฟ์สไตล์เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ เช่น จะรู้ได้เลยว่าคนๆ นี้สั่งอาหารจะใช้จากบริการใด และทำให้รู้ได้ว่าคนๆ นี้มักจะสั่งอาหารตอนบ่ายสอง จึงทำให้การจัดสรรบริการต่างๆ ก็จะตรงกับความต้องการของลูกค้า

ภาครัฐนโยบายชัด เอกชนมุ่งมั่นขยันทำกิน

                หากมองในมุมของบริษัทจีน คุณวรมนมองว่ามีธรรมชาติของโครงสร้างในการทำธุรกิจที่เหมือนกันกับของไทย คือมีทั้ง Trader และ Agency และจำนวนของบริษัทเหล่านั้นก็ไม่ได้มีมากจนผิดปกติ เพราะเป็นไปตามระบบนิเวศทางธุรกิจ กล่าวคือ ถ้าเราผลิตไม่เก่ง ก็จะมาทำหน้าที่เป็นคนกลางในการทำธุรกิจ อย่าง Alibaba ไม่มีโรงงานเป็นของตัวเอง แต่มีสินค้าก็จะมีคนเข้ามาใช้บริการอยู่ตลอดเวลา 

“Alibaba ก็จะใช้วิธีการส่งออเดอร์ไปที่โรงงาน ซึ่งธุรกิจรูปแบบนี้ก็ยังมีไม่มากในจีน เช่น หากต้องการผลิตแอร์ เราก็ต้องหาอุปกรณ์ที่มีต้นทุนถูกที่สุด และถ้าซื้อผ่าน Trader ทำอย่างไรก็ไม่ได้ถูกที่สุด เพราะต้องไปติดต่อที่โรงงานอยู่ดี พูดง่ายๆ ว่า ทุกคนมีตลาดเป็นของตัวเอง แต่ถ้าเหนื่อย ไม่อยากทำเองก็ต้องให้คนกลางทำแทน อันนี้ก็แล้วแต่บุคคล ซึ่งคนที่ทำธุรกิจจริงๆ จะทราบดี”

                คุณวรมนยังไขข้อข้องใจในความเข้าใจผิดที่ว่า จีนผลิตสินค้าได้ถูก เพราะเกิดการประหยัดโดยขนาดหรือ Economy of Scale ว่า

                “คนที่พูดแบบนี้ไม่น่าจะใช่คนที่ทำธุรกิจกับจีน เพราะคนที่ทำธุรกิจกับจีนก็จะรู้ว่า ไม่มีอะไรง่ายและสินค้าทุกอย่างก็มีตลาดเป็นของตัวเอง ไม่เช่นนั้นทั้ง Trader และโรงงานจะอยู่ได้อย่างไร อย่างคนที่จะเริ่มทำ Gadget เป็นธรรมดาที่เจ้าของโรงงานจะต้องติดต่อบริษัทต่างชาติให้ออกแบบเพื่อผลิตออกมาจำหน่าย แน่นอนว่า ไม่มีใครมานั่งรอให้ Trader เข้ามาเป็นตัวกลาง เพราะทุกคนต้องหาวิธีการในการทำธุรกิจอยู่แล้ว”

                หากมองในเชิงมหภาค แม้วันนี้จีนยังได้ชื่อว่าปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ แต่คุณวรมนเห็นว่า นี่เป็นการปกครองที่อาจจะเหมาะสมกับการดูแลประชาชนเกือบ 1,400 ล้านคน แต่ในความเป็นจริง ระบอบคอมมิวนิสต์เป็นแค่ชื่อระบอบการปกครอง เพราะรัฐบาลจีนในทุกวันนี้ได้ทำหน้าที่กำหนดกรอบยุทธศาสตร์โดยมีการพัฒนาระบบธุรกิจการค้า และการมีนโยบายเศรษฐกิจชัดเจนเพื่อเอื้อให้ภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และในขณะที่ภาคเอกชนเองต่างก็ทำหน้าที่สนับสนุนภาครัฐกันอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว คุณวรมนได้ขยายความในส่วนนี้ให้ฟังเพิ่มเติมว่า

                “ขอกล่าวถึงบริษัทที่มีความสำคัญ 10 อันดับในประเทศจีน เช่น Huawei, Lenovo, ZTE (บริษัทที่ทำอุปกรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับการสื่อสาร เช่นเดียวกับ Huawei และ Lenovo), OPPO, Tencent และ Alibaba ทุกบริษัทปรับสิ่งต่างๆ ให้เข้ากับรัฐบาลทั้งหมด ถ้าไม่ปรับตามก็จะไปต่อไม่ได้ เพราะรัฐบาลมีอำนาจมากกว่า คนจีนนั้นจะไม่ชอบอะไรที่ยืดเยื้อ เน้นคุยให้จบ และแก้ไขตามสิ่งที่ลูกค้าและภาครัฐต้องการ ซึ่งคนจีน เรื่องการทำมาหากินเขาจะไม่ทะเลาะกัน เขาจะไม่คัดค้าน เพราะรู้ว่าไม่สามารถค้านกฎหมายได้ ดังนั้นพวกเขาก็จะปรับตาม ตรงนี้ถือเป็นสปิริตอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการจีน”

                ส่วนยุทธศาสตร์ชาติ Made in China 2025 ภาครัฐก็ได้ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง จนปัจจุบันมีผลงานที่ประสบความสำเร็จให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การสร้างเครื่องบินความเร็วสูงที่ทั้งลำสร้างสรรค์โดยคนจีน  เริ่มต้นตั้งแต่การเขียนโค้ด โดยภาษาที่ใช้ก็คิดค้นด้วยคนจีน นักวิจัยทั้งหมดก็เป็นคนจีน เหล็กทุกชิ้นก็มาจากเมืองจีน เรียกได้ว่าตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำผลิตด้วยคนจีนทั้งหมด ซึ่งสามารถประกาศศักดาได้ว่าสินค้าที่ผลิตนั้นเป็น Made in China อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ ในภาคการผลิตก็เริ่มมีการสร้างแบรนด์ให้เห็นเป็นรูปธรรม

                ขณะที่ภาคธุรกิจ รัฐบาลก็ใช้นโยบาย One Belt One Road (OBOR) ส่งออกนักธุรกิจและธุรกิจจีนให้ไปเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ตะลุยออกไปขยายสาขา ขยายแบรนด์สินค้าของจีนให้รู้จักกันทั่วโลก ซึ่งก็เหมือนกับอิตาลีหรืออเมริกาเคยทำแล้วประสบผลสำเร็จมาก่อน ความสำเร็จในเชิงนโยบายของจีน ถึงกับทำให้คุณวรมนเอ่ยปากว่าไม่น่าเชื่อที่จีนจะสามารถมาได้ถึงวันนี้ โดยเฉพาะผลงานการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ทั้ง 4 อย่างที่คนจีนภูมิใจเป็นอย่างมาก

                “คนจีนมองว่า เขามาถึงจุดที่ควรจะเป็นแล้ว เพราะเขาทำงานหนักมาตลอด ทำให้ความศิวิไลซ์ของจีนในอดีตหลายพันปีก่อนกลับมาอีกครั้ง แต่กลับมาอยู่ในรูปแบบของเทคโนโลยีที่เป็นตัวนำ คนจีนภาคภูมิใจมากกับสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของจีน 4 อย่าง นั่นคือ รถไฟฟ้าความเร็วสูง ระบบจักรยานแชริ่ง อีคอมเมิร์ซ (ใหญ่กว่า e-Bay และ Amazon รวมกัน) และสังคมไร้เงินสด (Mobile Payment) 

                ทั้ง 4 อย่างนี้เป็นสิ่งที่จีนสร้างขึ้นเป็นประเทศแรก แต่ความจริงแล้ว จีนไม่ต้องการใช้คำว่า Made in China แต่ต้องการให้เรียกว่า Create in China เพราะจีนต้องการสื่อว่าได้คิดใหม่ทำใหม่ในเรื่องต่างๆ มากมาย และหลังจากปี 2018 จะเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีและฮาร์ดแวร์ การผลิตโดรนที่มีคนนั่งได้เป็นที่แรกของโลก เพราะทุกอย่างผลิตในจีน คนเก่งอยู่ที่จีน ฮาร์ดแวร์ต่างๆ อยู่ที่จีน ซึ่งทุกอย่างจะถูกผลักดันด้วยเทคโนโลยีทั้งหมด และกว่าจะถึงปี 2025 คงจะมีโมเดลทางธุรกิจและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเกิดขึ้นอีกมากมายอย่างแน่นอน ซึ่งคนทั้งโลกจะต้องหันมาเรียนรู้จากจีนว่าทำอย่างไร”

               

สินค้า Digital Lifestyle จีนก็ทำได้น่าสนใจ

                ส่วนธุรกิจบันเทิงที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ความเป็นดิจิทัล จีนก็ทำได้อย่างเก๋ไก๋ เรียกว่าพอนำมาปรับเปลี่ยนภาษาให้เข้ากับประเทศนั้นๆ ก็แทบจะไม่รู้เลยว่าจุดเริ่มต้นการพัฒนานั้นมาจากประเทศจีน โดยเฉพาะการผลิตรายการในรูปแบบ Live สด หรือการเข้ามาตอบคำถามแล้วแจกเงิน ซึ่งเป็นธุรกิจบันเทิงรูปแบบใหม่ที่จีนก็ทำอยู่แล้ว แม้กระทั่ง Joox Music ที่มีในบ้านเราก็เป็นของจีน แต่ที่น่าสนใจมากๆ ก็คือการใช้อัลกอริทึมที่เป็น AI (Artificial Intelligence) ทั้งหมด ระบบดังกล่าวจึงสามารถทายใจได้ว่าผู้ที่เข้ามาฟังชอบอะไร หรือชอบแบบไหน และทำอย่างไรถึงทำให้ผู้ฟังติดใจในรายการ ซึ่งในเบื้องหลังของสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องใช้เงินลงทุนที่สูง แต่ก็ถือว่าจีนมีศักยภาพในเรื่องนี้ 

            หรือแม้กระทั่ง สำนักข่าวออนไลน์โถวเถียวของจีน ทุกวันนี้ก็มีการนำ AI เข้ามาใช้ จนสามารถทำให้มีคนใช้งานและติดตามเฉลี่ย 72 นาทีต่อคน ซึ่งนานกว่าการใช้ facebook คุณวรมนเล่าหลักการทำงานของสำนักข่าวออนไลน์แห่งนี้ให้ฟังว่า

                “เป็นการทำงานด้วยระบบ AI ทั้งหมด ซึ่งวัดจากมือที่ปัดขึ้นไปอยู่ที่ตำแหน่งใด หยุดนานแค่ไหน หยุดเลือกอะไร ดูคลิปวีดิโอ ดูตอนไหน ดูมากตรงไหน พักตรงไหน คอมเมนต์ตรงไหน แชร์ตรงไหน ไลค์ตรงไหน 

                ทุก Interactive ที่เราทำจะถูกคำนวณโดย AI แล้วประมวลผลออกมา แล้วนำเสนอสิ่งที่คนนั้นอาจจะชอบ ซึ่งแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด เนื่องจากไม่ใช่ User Generate Content แต่เป็นการเอา Content จากสำนักข่าวที่เป็นสำนักข่าวทั้งเล็กและใหญ่ มารายงาน  เช่น เราชอบนักแสดงคนหนึ่ง เราสามารถรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับเขาได้หมด เพราะทุกคนจะรายงานข่าวของนักแสดงคนนั้นไม่เหมือนกัน พูดได้ว่าเป็นสำนักข่าวแรกของโลกที่ผลักดันด้วย AI ทั้งหมด ตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2012” 

คิดจะทำธุรกิจกับคนจีนต้องเปิดใจ

                จากประสบการณ์การทำธุรกิจกับผู้ประกอบการจีน คุณวรมนให้ข้อมูลว่า

                “คนจีนให้โอกาสกับผู้ประกอบการไทยมาก แม้ธุรกิจของไทยที่เข้าไปจะเป็นธุรกิจเล็กๆ แต่ผู้ประกอบการจีนก็จะให้ลองนำเสนอและให้ความสนใจ เพราะคนไทยยังเข้าไปทำธุรกิจในจีนไม่มาก นักธุรกิจจีนมองผู้ประกอบการไทยในภาพลักษณ์ที่ดี ไม่ได้มองในฐานะคู่แข่งขัน เพราะโดยปกติแล้วการคุยธุรกิจของคนจีนจะไม่ใช่มีมูลค่าแค่หลักล้าน แต่เป็นระดับร้อยล้านหรือพันล้าน นอกจากนี้ความหวาดระแวงของผู้ประกอบการไทยว่าคนจีนจะเอาเปรียบ หรือไม่ตรงไปตรงมา ถ้าเป็นการเจรจากับบริษัทที่ทำธุรกิจมูลค่าสูงหรือเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนถูกต้อง มั่นใจได้ว่าทุกอย่างจะอยู่บนพื้นฐานความไว้ใจได้ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาหลอกลวงผู้ประกอบการไทย”

                 การที่บริษัทจีนเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการของไทยได้เข้าไปพูดคุยก็ถือว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือคนไทยในการทำธุรกิจ ในส่วนนี้คุณวรมนเล่าให้ฟังจากประสบการณ์ว่า ผู้ประกอบการคนไทยพอกลัวถูกหลอกหรือถูกเอาเปรียบ ก็จะเกิดอาการเกร็ง และในที่สุดก็จะแสดงออกทางสีหน้าจนทำให้คู่เจรจาทางฝั่งจีนจับความรู้สึกได้ถึงความไม่ไว้ใจ จนทำให้หลายธุรกิจของไทยเสียโอกาสในการทำธุรกิจกับจีน

                คุณวรมนบอกว่าเป็นธรรมดาที่คนจำนวนมากไม่ค่อยเชื่อถือผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจจีน แต่ธรรมชาติของความเป็นคนจีนก็ไม่ได้สนใจว่า ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะพวกเขามุ่งมั่นที่จะเดินหน้าและคิดอย่างเดียวว่า จะทำให้ดีกว่าที่ผ่านมาได้อย่างไร และเชื่อว่า วันหนึ่งคนก็จะเห็นถึงผลลัพธ์จนต้องประหลาดใจในสิ่งที่จีนคิดหรือกำลังทำ

                แม้การเดินทางของจีนยังอีกยาวไกล แต่แค่มองในวันนี้ คุณวรมนก็ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่คนไม่เคยเชื่อถือหรือไม่ให้ราคาจีน แต่สิ่งประดิษฐ์คิดค้นของจีนก็เริ่มทยอยปรากฏให้เห็นความยิ่งใหญ่ออกมาเป็นระยะ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะทุกอย่างเกิดจากการที่จีนวางแผนมาเป็นเวลานาน

                นอกจากนี้ คุณวรมนยังได้ชี้ช่องในการทำธุรกิจกับบริษัทจีนให้แก่ผู้ประกอบการไทย ทั้งการนำสินค้าแบรนด์คุณภาพของจีนมาจำหน่ายว่า

               “การเข้าไปเป็นพันธมิตรเพื่อเกื้อกูลกันในการทำธุรกิจและยังบอกถึงความต้องการสินค้าทำมือของไทยที่ตลาดจีนมีความชื่นชอบ ซึ่งเป็นสินค้าที่ยังสามารถรุกเข้าไปทำตลาดในจีนได้ ทั้งนี้ สิ่งที่เราทำได้ในเบื้องต้น คือ 

               หนึ่ง เรื่องการนำเข้าแบรนด์ เราเป็นตัวแทนนำเข้าของแบรนด์ต่างๆ ที่ยังไม่มีในเมืองไทย แต่เป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี ไม่ต้องเอาผู้นำ 10 อันดับแรกของจีน เพราะเขามีศักยภาพในการส่งออก และขายในเมืองไทยอยู่แล้ว แต่ให้เลือกแบรนด์อื่นๆ ที่มีอีกมากมาย ซึ่งในจีนมีกว่า 100 level เช่น สินค้าใน level ที่ 80 ดังเฉพาะที่กวางโจว แต่มีคุณภาพดีและยังไม่มีขายในไทย นำเข้ามาขายก่อน เพราะอย่างน้อยเราก็ได้สินค้าที่มีคุณภาพ จากนั้นก็สามารถติดต่อสื่อสารกับเจ้าของแบรนด์นั้นๆ ได้ คุยเรื่องการค้าได้ จากนั้นค่อยคุย OEM ก็ได้ โดยเรื่องของการนำเข้าแบรนด์นั้น เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ เพราะการจะสร้างแบรนด์เป็นของตนเองนั้นมันไม่ง่าย 

                สอง การไปขอเป็นพันธมิตร คือการที่เรามีธุรกิจใกล้เคียงกันก็เป็นพันธมิตรได้ เช่น เราถนัดด้านหนังสือ เราอาจจะมี section หนึ่งที่แนะนำสินค้าของเขา และ 3) สินค้าทำมือ หรือสินค้าที่ไม่สามารถผลิตได้ที่เมืองจีน ดังนั้น เราต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้สินค้าพวกนี้มีคุณภาพ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าได้อย่างไร เราต้องทำให้ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ แล้วเขาจะมาหาเราเอง 

                สำหรับสินค้าที่น่าสนใจของจีนคือ สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์หรือ Consumer Electronic ซึ่งเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการอยู่แล้ว และคอนเซ็ปต์ในการพัฒนาสินค้าประเภทนี้ของจีนจะชัดเจนคือ สเปกต้องสูง แต่ราคาขายต้องต่ำ ส่วนสินค้าอื่นๆ เช่น ยางรถยนต์จีน ตอนนี้ก็เข้ามาผลิตในบ้านเราแล้ว

                คุณวรมนให้ข้อมูลว่า การจะเข้าไปค้าขายกับคนจีนในระดับอาณาจักรจีน ที่ครอบคลุมตั้งแต่จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ไต้หวัน หรือมาเก๊าก็ต้องเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่าอัตลักษณ์หรือ identity ของคนจีน แม้จะมีเชื้อชาติจีนเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงก็มีนิสัยใจคอและวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน

                คุณวรมนเล่าเรื่องที่คนไทยอาจจะไม่เคยรู้ก็คือ คนไต้หวันถ้าไม่นับคนทำธุรกิจแล้ว มีไม่ถึง 1% ที่เคยไปและรู้จักกับจีน คนทั่วไปคิดว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับจีน แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันอยู่มาก ดังนั้นการทำธุรกิจและการตลาดในระดับอาณาจักรจีนจึงควรเลือกทำทีละจุดและทีละกลุ่มเป้าหมาย

                ส่วนการที่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs จะเข้าไปขายใน  Alibaba คุณวรมนให้ข้อมูลว่า ถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็กของไทยจะเข้าไปขายผ่านช่องทางนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ต้นทุนสูง 

                “ธุรกิจ SMEs ของไทยที่ทำได้ควรเป็นแบรนด์ที่มียอดขายในไทยอยู่ที่ 100 ล้านบาท ซึ่งจีนถือว่าอยู่ในระดับ S หรือเล็กกว่านั้น ไม่ใช่ M เหมือนของประเทศไทย แต่สิ่งที่เป็นไปได้ คือ การเข้าร่วมกับสถาบันส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีการรวบรวมคนที่ทำธุรกิจเพื่อไปเปิดร้านกลาง เช่น ตลาดไทยในโลกออนไลน์และมีร้านค้าต่างๆ ของไทย ซึ่งเราไม่สามารถไปเปิดเองได้ เพราะราคาสูงมาก ดังนั้น ธุรกิจเล็กๆ จึงควรเข้าหาภาครัฐ ซึ่งมีการดำเนินการอยู่แล้ว คือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)  โดย สสว. จะเป็นคนกลางในการรวมคนเข้าไป อาจมีค่าจัดการที่เขาจะได้บางส่วน เพราะรัฐสนับสนุนอยู่แล้ว แต่ต้องมีเรื่องของภาษาที่ต้องแปลและการถ่ายภาพให้สวยงาม เหมาะสม”

                คุณวรมนสรุปสั้น ๆ ว่า ผู้ประกอบการไทยคบกับผู้ประกอบการจีนไว้ไม่เสียหลาย เพราะจีนมีนวัตกรรมในเรื่องดิจิทัลที่ทันสมัยมากกว่าประเทศอื่น และที่สำคัญจีนมองไทยว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้อง ซึ่งนับว่าเป็นต้นทุนที่ดีของนักธุรกิจหรือนักลงทุนไทย

                เป็นที่น่าจับตากันต่อไปว่า ยักษ์ใหญ่อย่างจีนจะมีการพัฒนาทั้งในระดับนโยบายประเศ และในเชิงธุรกิจว่า จะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะถ้าดูภาพลาง ๆ ที่เริ่มจะกฎภาพให้เห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ คนจีนที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจจีนเริ่มมีอายุน้อยลง

                คุณวรมนยืนยันว่าจี นเป็นประเทศแรกของโลกที่ผู้ประกอบการสามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ภายในเวลา 20 ปี 

                ตัวอย่างที่เห็นได้คือ หม่า หยุน หรือแจ๊ค หม่า ที่ใช้เวลาแค่ 15 ปีในการสร้างบริษัทของตนเองให้ประสบความสำเร็จ ขณะที่ในต่างประเทศต้องใช้เวลาถึง 70 - 80 ปี จึงจะสร้างอาณาจักรจนประสบความสำเร็จได้  

                ความสำเร็จที่เกิดขึ้นของผู้ประกอบการจีนมาจากการสร้างเม็ดเงินโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้และสามารถนำมาประยุกต์การใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือ การเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคและเมื่อประกอบเข้ากับการที่คนจีนรู้จักทำมาค้าขาย ทุกอย่างจึงเป็นสปริงบอร์ดที่ทำให้จีนไปไกลกว่าที่ใครๆ คิด….

 

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร B-Connect

 

                                                     ----------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 706425เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2022 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2022 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท