ชีวิตที่พอเพียง  4286. รายงานความสุขโลก (๒) ชีววิทยาของความสุข 


 

ตอนที่ ๑ 

รายงานความสุขโลก ๒๕๖๕ (๑)     บทที่ ๕ (๒) เรื่องรากฐานทางชีววิทยาของความสุข     บอกว่ามีหลักฐานจากงานวิจัยในคู่แฝด บอกว่าคนบางคนมีรากฐานทางพันธุกรรมให้เป็นคนสุขง่าย    และพื้นฐานทางพันธุกรรมจะมีผลให้ผู้นั้นเลือกอยู่ในระบบนิเวศ (สภาพแวดล้อม) ที่เอื้อให้มีความสุข    รวมทั้งพฤติกรรมของบุคคลมีผลเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ที่เอื้อหรือปิดกั้น การมีความสุข   

ผลการวิจัยบอกว่า ปัจจัยที่ทำให้คนเรามีความสุขต่างกันเป็นปัจจัยด้านพันธุกรรมประมาณร้อยละ ๓๐ - ๔๐    อีกร้อยละ ๖๐ - ๗๐ เป็นปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม    และที่สำคัญ อิทธิพลของพันธุกรรมต่อการมีความสุขในชีวิตเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของชีวิต   ไม่ใช่เป็นปัจจัยที่คงที่อย่างพันธุกรรมที่กำหนดสีผิว   

การแต่งงาน มีผลต่ออิทธิพลของพันธุกรรมเกี่ยวกับความสุข   คนที่ยังไม่แต่งงานพันธุกรรมมีผลต่อความสุขร้อยละ ๕๑ ในชาย   ร้อยละ ๕๔ ในหญิง    ตัวเลขนี้ในคนแต่งงานแล้วคือ ๔๑ และ ๓๙    แสดงว่า การแต่งงานมีผลลดความสำคัญของอิทธิพลของพันธุกรรมในการกำหนดความสุข    แหม เรื่องนี้ไม่ต้องวิจัยเราก็รู้อยู่แล้วว่า การแต่งงานสร้างสภาพแวดล้อม หรือปฏิสัมพันธ์ที่ให้ความสุข 

การศึกษาทางพันธุศาสตร์โมเลกุล และจีโนมที่ซับซ้อน เท่าที่มีในปัจจุบัน ให้ข้อสรุปว่า     ไม่มี ยีนแห่งความสุข ไม่ว่าจะเป็นยีนหนึ่งยีน หรือหลายๆ ยีนประกอบกัน    กล่าวใหม่ได้ว่า พันธุกรรมที่ส่งผลต่อการเป็นคนสุขง่ายนั้น เป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างยีนจำนวนมาก        

การศึกษาขนาดของส่วนต่างๆ ของสมอง    เท่าที่ทำได้ในปัจจุบัน   ไม่พบความสัมพันธ์กับความเป็นคนสุขง่าย   

สรีรวิทยาในร่างกาย อันได้แก่ระดับสารสื่อประสาท ระดับฮอร์โมน และการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน มีส่วนสัมพันธ์กับสุขภาวะ   แต่การศึกษาลงรายละเอียดแม้จะมีบางรายงานระบุว่าระดับของสารบางอย่างเกี่ยวข้องกับการมีความสุข หรือขาดความสุข   แต่ยังขาดผลการวิจัยที่ยืนยันความน่าเชื่อถือ

 เอกสาร (๒) เขียนแบบวิชาการ มีรายละเอียดผลงานวิจัยมากมาย   แต่ผมสรุปมาให้คนที่ไม่ใช่นักวิชาการอ่าน   ท่านที่สนใจจริงๆ โปรดอ่านจากต้นฉบับ   

แม้ว่าผลการศึกษาทางพันธุกรรมหลากหลายแนวทางเท่าที่มีในปัจจุบัน ยังไม่พบปัจจัยทางพันธุกรรมสำคัญที่จะนำมาใช้บอกวิธีการสร้างสภาพระบบนิเวศที่ชักนำความสุขแก่คนส่วนใหญ่ หรือแก่คนที่มีพันธุกรรมบางแบบได้   ผู้เขียนบทความก็ยังบอกว่า เขาเชื่อว่า ความรู้ด้านปัจจัยทางพันธุกรรม จะช่วยเป็น game changer ในการดำเนินการเพื่อความสุขของผู้คน    ช่างเป็นวิธีคิดเชิงวิทยาศาสตร์เสียจริง

พวกเราชาวพุทธ เชื่อในอริยสัจ ๔   และความเข้าใจที่เกิดแห่งทุกข์

ความทุกข์เกิดที่จิต    เพราะทำผิดเรื่องผัสสะ

ความทุกข์จะไม่โผล่     ถ้าไม่โง่เรื่องผัสสะ

ความทุกข์เกิดไม่ได้      ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ   พุทธทาสภิกขุ (๓)

 

ผมเองเชื่อเรื่องชีววิทยาของความสุข ในส่วนที่เชื่อมโยงกับการออกกำลังแบบ แอโรบิก   ที่ผมวิ่งออกกำลังทุกเช้า ตั้งแต่อายุ ๔๐ ถึง ๗๕   ต่อด้วยการเดินออกกำลังทุกเช้าตั้งแต่อายุ ๗๕ (เพราะเข่าเสื่อม) มาจนปัจจุบัน   ว่าช่วยสร้างชีววิทยาหรือสรีรวิทยาแห่งความสุขขึ้นภายในร่างกายของผม    ช่วยให้ผมมีสุขภาวะที่ดียิ่งอยู่ในปัจจุบัน   

รายงานความสุขโลก บทที่ ๕ (๒)  ทบทวนความรู้เรื่องชีววิทยาของความสุข   โดยไม่ได้ทบทวนเรื่องชีววิทยาของการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ที่ส่งผลต่อสุขภาวะ   ผมจึงขอนำมาเพิ่มเติม ว่ามีงานวิจัยจำนวนมาก พิสูจน์ว่าการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ส่งผลต่อความสุข หรือสุขภาวะ (๔) 

วิจารณ์ พานิช

๖ ส.ค. ๖๕

     

หมายเลขบันทึก: 705725เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2022 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2022 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท