วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙)  ๑๓๔. ข้อสะท้อนคิดจากการไปร่วมงานฉลอง ๓๐ ปี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)


 

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดงานฉลองอายุครบ ๓๐ ปี ในหัวข้อ  การประชุมวิชาการ ๓๐ ปี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)  “ก้าวสู่ทศวรรษที่ ๔: ร่วมกันวิจัย ยกระดับคุณภาพชีวิต”   “To the next decade enhance research for life”   วันที่ ๗ - ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕    ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

    ผมโชคดี ได้รับเชิญไปร่วมงาน และร่วม “อภิปรายแบบ Ted Talk” เรื่อง  “งานวิจัยด้านสุขภาพ เปลี่ยนชีวิตคนไทยยุค Post Covid-19”   ที่เป็นรายการ ๑ ชั่วโมง และผมเป็น ๑ ในวิทยากร ๗ คน   โดยที่ผมอายุมากที่สุด และในรายการเขากำหนดให้พูดเป็นคนแรก    แต่ผมเจรจาต่อรองขอพูดเป็นคนสุดท้าย    ด้วยเหตุผลว่า ผมจะได้ช่วยสังเคราะห์ความเห็นของวิทยากร ๖ ท่านที่พูดก่อนหน้า     

แต่เอาเข้าจริงๆ ผมก็เตรียมใช้ PowerPoint หนึ่งหน้าอธิบายความเห็นสั้นๆ เรื่องงานวิจัยด้านสุขภาพไทยในอนาคต ใช้เวลาพูดสามสี่นาที (เพราะคนก่อนๆ พูดเกินโควตาเวลา ๗ นาทีทุกคน) ดังนี้ 

 

 

 

  ที่จริงยังมีประเด็น dilemma ที่ต้องตีโจทย์ให้แตกอีกมาก เช่น 

ทำงานตามสถานการณ์ - มีสติอยู่กับงานหลัก เป้าหมายหลัก   

เน้นปัจจุบัน  - เน้นอนาคต

ทำงานให้เป็นที่ถูกใจของฝ่ายนโยบาย  -  เน้นความถูกต้องต่อผลประโยชน์แท้จริงของบ้านเมือง

เป้าหมายที่สุขภาวะของประชาชน - เป้าหมายที่ธุรกิจบริการสุขภาพ

ดำเนินตามนโยบายสุขภาพโลก - กล้าคิดระบบของเราเอง 

เป็นต้น

โดยที่ส่วนใหญ่เป็นสมดุลระหว่างด้านซ้าย – ขวา    แต่ในบางเรื่องบางกรณีก็ต้องเลือกจุดเน้น

เรื่องสนองนโยบายผู้มีอำนาจทางการเมืองนั้น ผมเคยเผชิญด้วยตนเองสมัยเพิ่งพ้นหน้าที่ ผอ. สกว.   แต่ก็ยังได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา (พ.ศ. ๒๕๔๕)    ตอนนั้น ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานคณะกรรมการนโยบาย สกว.    และ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง เป็น ผอ. สกว.  เราชวนกันไปขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี ดร. ทักษิณ ชินวัตร   เราไปอธิบายวิธีทำงานสนับสนุนการวิจัยเพื่อใช้ผลงานวิจัยหนุนการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ     โดยเรามีผลงานเป็นที่ประจักษ์    แต่เมื่อ ศ. นพ. จรัสพูดไปหน่อยเดียว ท่านนายกฯ ก็แสดงภูมิรู้เรื่องงานวิจัยของท่านยืดยาว    จนหมดเวลา   เมื่อออกมาท่าน อ. หมอจรัสรำพึงว่า “ได้พบมนุษย์ประหลด มีแต่ปาก ไม่มีหู” 

แต่ที่ประทับใจผมมากคือ ก่อนจาก ท่านายกฯ บอกพวกเราว่า    หากต้องการงบประมาณ ง่ายนิดเดียว ไม่ต้องไปเที่ยวหาโจทย์วิจัย    ให้เอานโยบายของรัฐบาลมาตั้งเป็นโจทย์ ว่าจะใช้งานวิจัยช่วยให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายนโยบายที่กำหนดไว้อย่างไร    สะท้อนความฉลาด (แกม...) ของท่าน    ซึ่งคนมี integrity แบบพวกเราไม่ซื้อ    เพราะเราทำเพื่อประเทศ ไม่ได้ทำเพื่อพรรคการเมือง

กลับมาที่การประชุมวันนี้   ผมอยู่ร่วมประชุมได้เฉพาะช่วงเช้า     และชอบการเสวนาช่วงต่อมามาก    ในหัวข้อ “๓๐ ปี ที่ผ่านมา: งานวิจัยเพื่อสุขภาพคนไทย”   ได้ความรู้มากจริงๆ    ท่านที่สนใจสาระน่าจะเข้าไปหาจากเว็บไซต์ของ สวรส. ได้   

ข้อสรุปที่ผมได้คือ วิทยากรที่เป็นทหารเสือยุคเริ่มต้น สวรส. และได้เรียนรู้พัฒนาตนเอง  และทำงานริเริ่มจัดตั้งหน่วยงานสำคัญ ให้แก่ระบบสาธารณสุข คือ สช., สสส., สวสส., สรพ., IHPP    สะท้อนตรงกันว่า    ในทศวรรษที่ ๔ สวรส. ควรโฟกัสที่งานวิจัยระบบสาธารณสุข    ไม่ควรขยายออกไปดูแลงานวิจัยสุขภาพทั้งหมด         

ตรงกับที่ผมเสนอไว้ว่า ต้องตีโจทย์ให้แตก   

วิจารณ์ พานิช

๗ ก.ค. ๖๕            

         

หมายเลขบันทึก: 705563เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2022 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 สิงหาคม 2022 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท