ชีวิตที่พอเพียง  4277. ทำงานเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ๑๕๑. สมรรถนะการประเมินระดับโรงเรียน


 

โรงเรียนคุณภาพสูงต้องมีความสามารถในการ “เดินทาง”  บนเส้นทางพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง    ซึ่งก็คือเป็น องค์กรเรียนรู้ (Learning Organization) นั่นเอง   

องค์กรเรียนรู้ต้องมีความสามารถในการปรับตัว ยกระดับคุณภาพของผลงาน และประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง     คือต้องหมุนวงจรการเรียนรู้ และยกระดับวงจรดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง   

การประเมินผลงานของตนเอง เป็นกลไกสำคัญ ของวงจรการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง    การหนุนให้โรงเรียนมีสมรรถนะประเมินตนเองด้านคุณภาพผลงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับโรงเรียนในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง     และจริงๆ แล้ว สำคัญต่อทุกโรงเรียน

ไม่ว่าองค์กรใด หากต้องการเจริญก้าวหน้า ต้องมีวงจรพัฒนาตนเองต่อเนื่อง โดยมีการประเมินผลงานของตนเองเป็นกลไกสำคัญชิ้นหนึ่งในวงจรนั้น         

 การประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนจึงต้องเป็นหน้าที่ของโรงเรียนเอง    ไม่ใช่ยกให้หน่วยงานภายนอกเป็นผู้ประเมินเท่านั้น อย่างที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน    หลักการนี้ใช้โดยหลายประเทศที่คุณภาพการศึกษาสูง รวมทั้งฟินแลนด์   กลไกประเมินภายนอกหรือของส่วนกลาง ใช้ยืนยันว่าโรงเรียนประเมินได้แม่นยำ เชื่อถือได้   

เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนคุณภาพ และความเสมอภาคของผลการศึกษา     ที่ กสศ. ดำเนินการผ่านโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองทั้งระบบ    กสศ. จึงควรดำเนินการให้โรงเรียนในเครือข่ายมีสมรรถนะในการประเมินผลงานของตัวเองอย่างแม่นยำ น่าเชื่อถือ   เป็นที่เชื่อถือของสาธารณชน   

รวมทั้งมีระบบ accredit การประเมินผลงานของตนเองของโรงเรียน     

ก็จะเป็นกลไกให้ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง” ได้อย่างต่อเนื่อง   

การประเมินดังกล่าว ต้องประเมินให้ครบ VASK  ไม่ใช่ประเมินเฉพาะ K  หรือเฉพาะ S และ K เท่านั้น   V = values – ค่านิยม,  A = attitude – เจตคติ,   S = skills – ทักษะ,  K = knowledge – ความรู้   

ชีวิตที่ดีของคนเราขึ้นต่อ V มากที่สุด   หาก V พัฒนาขึ้นในแนวทางที่ผิด    เด็กก็จะเติบโตขึ้นเป็นคนเลว    เป็นปัญหา หรือเป็นภาระของสังคม   V จึงเป็นตัวกำหนดชตาชีวิต    โรงเรียนจึงต้องเอาใจใส่การพัฒนา V ของนักเรียน   ซึ่งก็หมายความว่า ต้องแก้ไข V ผิดๆ ของครูด้วย    ผมมีความเห็นว่า คนที่ V (ค่านิยม) เป็นไปในทางที่ผิด ไม่ควรเป็นครู   

วิธีการประเมิน VASK หานักการศึกษามาวางรูปแบบได้ไม่ยาก    ส่วนที่ควรบูรณาการคือมีการคำนวณ Effect Size – ES ด้วย   เพื่อให้เข้าใจว่าวิธีการที่โรงเรียนใช้พัฒนานักเรียนนั้น ก่อผลกระทบต่อการเรียนรู้และพัฒนาของนักเรียนได้มากน้อยแค่ไหน   ก่อผลกระทบต่อนักเรียนต่างสถานะด้านเศรษฐสังคมอย่างเสมอภาคแค่ไหน   

นี่คือส่วนหนึ่งของการวางรากฐานระบบการศึกษาคุณภาพสูง และเสมอภาค   

โรงเรียนพัฒนาตนเอง ต้องเป็นโรงเรียนประเมินตนเอง      

วิจารณ์ พานิช

๒๒ มิ.ย. ๖๕

 

หมายเลขบันทึก: 705135เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2022 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2022 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท