เก็บตกวิทยากร (72) ชวนครูรัก(ษ์)ถิ่น อ่านเรื่องสั้น "เหมือนอย่างไม่เคย"


เหตุผลที่นำเอาเรื่องสั้นเรื่องดังกล่าวมาเป็น “โจทย์การเรียนรู้”  ก็เพราะว่า ผมหาบันเทิงคดี หรือวรรณกรรม ตลอดจนสื่อที่มีเรื่องราวทำนอง “นิสิตนักศึกษา” กับ “การเรียนรู้คู่บริการ” ต่อชุมชนยังไม่ได้ และที่สำคัญก็คือ ผมมองว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้มีกลิ่นอายอันเป็นแก่นคิดที่ลุ่มลึก-ครอบคลุมเกี่ยวกับบทบาทของปัญญาชนที่มีต่อสังคม รวมถึงมิติชวนคิดในเรื่องการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม

ในเวทีการจัดการเรียนรู้ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข”  ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2565 ที่คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผมนำเรื่องสั้น “เหมือนอย่างไม่เคย” ของอาจารย์วิทยากร  เชียงกูล มาให้นิสิตในแต่ละกลุ่มอ่านและวิเคราะห์ หรือที่เรียกว่า “อ่านเอาเรื่อง”

เบื้องต้นก็เกริ่นแบบกรายๆ ว่า “ให้อ่านมาล่วงหน้า”


 

 

ที่ไม่เกริ่นแบบย้ำเน้นก็เพราะ ผมกลัวว่านักศึกษา “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” จะไปสืบค้นบทวิจารณ์มาล่วงหน้า จนทำให้กระบวนการที่จะเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะไปไม่ถึงฝั่งฝัน  อันหมายถึง ทักษะการอ่าน ทักษะการตีความ ทักษะวิเคราะห์ -สังเคราะห์ร่วมกันอย่างเป็นทีมผ่านแนวคิดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning

 

ส่วนประเด็นเหตุผลที่นำเอาเรื่องสั้นเรื่องดังกล่าวมาเป็น “โจทย์การเรียนรู้”  ก็เพราะว่า ผมหาบันเทิงคดี หรือวรรณกรรม ตลอดจนสื่อที่มีเรื่องราวทำนอง “นิสิตนักศึกษา” กับ “การเรียนรู้คู่บริการ” ต่อชุมชนยังไม่ได้ และที่สำคัญก็คือ ผมมองว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้มีกลิ่นอายอันเป็นแก่นคิดที่ลุ่มลึก-ครอบคลุมเกี่ยวกับบทบาทของปัญญาชนที่มีต่อสังคม รวมถึงมิติชวนคิดในเรื่องการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ฯลฯ

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องสั้นเรื่องดังกล่าว ยังคงมีความร่วมสมัยอยู่อย่างชัดเจน เรื่องทั้งเรื่องสะท้อนโลกทัศน์ของนิสิตนักศึกษาในเมืองไทยอย่างน่าสนใจ  แม้จะถูกเขียนและเผยแพร่มามากกว่า 50 ปี  แต่เรื่องราวทั้งปวงกลับเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อน ๆ 

 

 

 

เริ่มต้น : อ่าน : ล้อมวงโสเหล่ ระดมความคิด

 

กระบวนการทั้งปวงเริ่มต้นจากการแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละประมาณ 7-8 คน โดยกำหนดให้ ”อ่านเอาเรื่อง” แล้วช่วยกันวิเคราะห์ สังเคราะห์ ถอดรหัสผ่านประเด็นหลักๆ  คือ “มีความหมายใดในเรื่องสั้น”

 

ผมเจตนาตั้งประเด็นกว้างๆ เช่นนั้น เพราะอยากให้นักศึกษาทำการขบคิดร่วมกัน- ออกแบบกันเอง –ตัดสินใจกันเองว่า “เห็นอะไร-มีอะไรน่าสนใจ-จะนำเสนอประเด็นอะไร-จะนำไปใช้กับความเป็นครู หรือการใช้ชีวิตได้อย่างไร” 

 

 

 

ใช่ครับ  ผมไม่อยาก “ชี้นำ” ว่าให้สะท้อนประเด็นสำคัญๆ อาทิเช่น ระบบการศึกษาไทย บทบาทของนิสิตนักศึกษาไทยที่มีต่อการพัฒนาสังคม หลักการเรียนรู้และทำงานแบบมีส่วนร่วม ปัญหาความยากไร้ของคนในชนบท ปัญหาความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือกระทั่งความคิดความเชื่อของชาวบ้าน ตลอดจนเรื่องทัศนคติที่ชาวบ้านมีต่อนักศึกษา ต่อผู้นำชุมชนและต่อผู้แทนของรัฐฯ

 

ผมยืนยันว่ากระบวนการและประเด็นคำถามเปิดกว้างเช่นนั้น อยู่บนกรอบแนวคิดการจัดการเรียนรู้ในแบบ “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” และ “การเรียนรู้เชิงรุก”  ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติการจริงร่วมกัน (ทีม) ผ่านกรณีศึกษา (เรื่องสั้น) 

 

 

นำเสนอ : ทักษะการสื่อสารสร้างสรรค์

 

กระบวนการ “อ่านเอาเรื่อง” ผมเริ่มต้นจากให้แต่ละคนอ่านด้วยตนเอง จากนั้นจึงหันกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันว่า “พบเจออะไรในเรื่องสั้นบ้าง” โดยเน้นการพูดคุย ระดมความคิด สังเคราะห์แล้วนำประเด็นที่ค้นพบมาประมวลในรูปของผังมโนทัศน์  หรือแม้แต่รูปแบบใดๆ ก็ได้ สุดแล้วแต่นักศึกษาจะพึงพอใจ

จากนั้นจึงเตรียมการนำเสนอ

กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าว  ยังยืนยันว่ายึดมั่นในหลักคิด “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” และ “การเรียนรู้เชิงรุก”  โดยแต่ละกลุ่มสามารถเลือกได้เองว่า จะนำเสนอในรูปแบบใด จะนำเสนอผ่านการบรรยาย การเล่าเรื่อง มีการเปิดตัวกลุ่ม หรือละครสั้น ก็สามารถทำได้อย่างเต็มที่ 

ผมย้ำ หนักแน่นว่า ในตอนนำเสนอประเด็นต่างๆ นั้น หากสามารถหยิบยกกรณี หรือเหตุการณ์ในเรื่องมาประกอบได้จะดีมากๆ เพราะนั่นหมายถึงข้อเท็จจริง หรือหลักฐานเชิงประจักษ์อันเป็นต้นสายปลายเหตุของประเด็นที่นำมาเสนอ

และประเด็นที่นักศึกษานำมาสะท้อนการเรียนรู้ ก็ไปในทิศทางเดียวกัน  ได้แก่ 

  • การศึกษา
  • สังคม
  • การเมือง
  • ประเพณี 
  • วัฒนธรรม 
  • เศรษฐกิจ / อาชีพ

 



ปิดเรื่อง : ชวนโสเหล่

พอกลุ่มทุกกลุ่มนำเสนอเสร็จสิ้นลง  ผมก็หยิบจับเอาประเด็น หรือเหตุการณ์ที่นักศึกษาได้นำเสนอมาพูดคุยอีกรอบ รวมถึงการหยิบจับประเด็นอื่นๆ ในมุมของผมมาเป็นโจทย์ ชวนคิดชวนคุย เพื่อต่อยอด-ยกระดับความคิด  เป็นต้นว่า

  • ภาพลักษณ์ของนักศึกษาในสายตาของเด็กๆ และชาวบ้าน
  • รูปแบบกิจกรรมสันทนาการของนักศึกษาที่มีท่าเต้นแปลกๆ ไม่เหมือนกิจกรรมบันเทิงของชาวบ้าน
  • การแต่งกายและภาษาของชาวบ้าน  
  • ช่องว่างเรื่องการแต่งกายของชาวบ้านกับนักศึกษา
  • การปรับตัวของนักศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับชาวบ้าน
  • ทัศนคติของชาวบ้านที่มีต่อผู้นำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือแม้แต่มุมมองชาวบ้านที่มีต่อนักศึกษา
  • กิจกรรมที่ไม่สัมพันธ์กับความต้องการอันแท้จริงของชาวบ้าน
  • วัฒนธรรมการรับแขกบ้านแขกเมือง  “ช้างเหยียบนาพญาเหยียบเมือง”
  • ภาวะผู้นำของนักศึกษา  
  • ภาวะผู้นำของผู้นำชุมชน  (ผู้ใหญ่บ้าน)
  • ประเพณี อาชีพของชาวบ้าน
  • การวางตัวของชาวบ้านในฐานะ “เจ้าบ้าน”
  • ฯลฯ

     


โดยสรุปแล้ว ผมยังยืนยันว่ากระบวนการนี้ถูกออกแบบบนฐานคิดสำคัญคือ “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” และ “การเรียนรู้เชิงรุก” ตลอดจนการ “เรียนรู้ผ่านกรณีศึกษา” (เรื่องสั้น)  เน้นการเรียนรู้ในแบบสังคม หรือทีม โดยเริ่มต้นจากการให้แต่ละคนอ่านเอาเรื่องด้วยตนเองเสียก่อน จากนั้นจึงนำสิ่งที่ได้จากการอ่านมาแลกเปลี่ยนร่วมกัน

ด้วยเหตุนี้จึงอาจเรียกได้ว่ามีกระบวนการอ่าน  การคิดวิเคราะห์ การสังเคราะห์ อยู่ในตัวอย่างเสร็จสรรพ มีกระบวนการฝึกการอยู่ร่วมกันและฝึกการสื่อสารสร้างสรรค์ผสมปนเปอยู่ในนั้น หรือแม้แต่การฝึกทักษะของการทำงานเป็นทีมภายใต้เงื่อนไขของเวลาและความแตกต่างทางความคิดที่มีภายในกลุ่ม

หรือแม้แต่การเรียนรู้ความเป็นประชาธิปไตยในกลุ่ม ก็ถูกออกแบบอยู่ในนั้น

….

เขียน  ศุกร์ที่  5 สิงหาคม 2565
มหาสารคาม

 



ความเห็น (2)

ขอบคุณมากครับ คุณแผ่นดิน ;)…

ครับผม อาจารย์ Wasawat Deemarn

ทุกๆครั้งที่ผมมีโอกาสได้จัดกระบวนการกับนักศึกษาของอาจารย์ ส่งผลให้ผมได้รับพลังคืนกลับมาเสมอ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท