วิพากษ์ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ๒๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๐ - ๒๕๗๙) ๑๓๒. เรียนรู้ระบบนวัตกรรมไทย


  ผมโชคดี ได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาระบบนวัตกรรมไทย  ของ สกสว.  ที่มี ศ. ดร. พีระพงศ์ ทีฆสกุล เป็นประธาน    ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องระบบนวัตกรรม   และได้มีโอกาสใคร่ครวญเรื่องการพัฒนาระบบนวัตกรรม ในบริบทไทย   

คณะอนุกรรมการระบุระบบนวัตกรรมไทยดังแผนผัง

 

 

ผมชอบแนวคิดที่ให้ความสำคัญของปฏิสัมพันธ์ ๔ มิติ คือ (๑) ความต้องการ/ตลาด  (๒) การสร้างความรู้  (๓) การสร้างคุณค่าจากความรู้  และ (๔) การประสานถ่ายทอดความรู้    โดยผมขอย้ำว่า ปัจจัยกำหนดเป้าหมายคือ ควาต้องการ/ตลาด   

คำถามต่อมาคือ กลไกการพัฒนาระบบดังกล่าวควรเป็นอย่างไร   

คำตอบแบบกำปั้นทุบดินคือ  (๑) มีการหมุนวงจรการเรียนรู้จากการปฏิบัติ  (๒) มีทั้งแนว top-down  และ bottom-up   โดยที่ต้องตระหนักว่า ไทยเราอ่อนแอในด้านกลไกพัฒนาระบบที่เป็นแนวทาง bottom-up    เพราะสังคมไทยเป็นสังคมแนวดิ่ง สั่งการจากบนลงล่าง   

คณะอนุกรรมการชุดนี้ ควรหาข้อมูลการดำเนินการริเริ่มสร้างสรรค์จากหน่วยปฏิบัติ    เอามาตีความสู่การพัฒนาระบบภาพใหญ่ ที่สนองตอบ และส่งเสริมการดำเนินการให้ได้ผลจริง   ตัวอย่างหนึ่งของการริเริ่มสร้างสรรค์กิจกรรมนวัตกรรมและวิจัยที่หน่วยปฏิบัติคือ กิจกรรม SiCORE-M ที่ผมเล่าไว้ เป็นระยะๆ ที่ https://www.gotoknow.org/posts/tags/SiCORE-M    

SiCORE-M ชื่อเต็มคือ Siriraj Center of Research Excellence Management    จากการที่ผมได้เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาโครงการมาตลอดเวลา ๕ ปี ที่มีการดำเนินการ   ผมตีความว่าเป้าหมายสำคัญคือ การมีระบบจัดการให้มีการวิจัยจริงจังเป็นทีมใหญ่ ที่มีเป้าหมายชัดเจน สู่งานวิจัย impact สูง    ทั้ง academic impact  และ economic impact ซึ่งก็คือผลงานนวัตกรรม   ระบบจัดการนี้เอาจริงเอาจังมาก มีการลงทุนมาก   น่าศึกษามากว่าเป็นวิธีที่ควรเอามาขยายผลหรือไม่    โดยต้องไม่ลืมว่า กิจกรรมนี้เกิดขึ้นได้เพราะ leadership & commitment ของ CEO คือ ศ. ดร. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา        

ประเทศไทยมีผลงานจำนวนไม่น้อย ที่นำสู่การใช้งานสาธารณะ หรืออกสู่ตลาดได้อย่างมีคุณค่าสูง    คณะอนุกรรมการชุดนี้น่าจะส่งทีมไปศึกษาที่มาที่ไป ว่าผลงานนั้นๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร    นำมาเสนอต่อคณะอนุกรรมการ    และน่าจะเลือกเชิญ key person ที่สร้างผลงานดังกล่าวมาเล่าให้คณะอนุกรรมการฟัง หนึ่งผลงานต่อการประชุมหนึ่งครั้ง 

ข้อมูลจากหน่วยปฏิบัติ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยปฏิบัติที่ริเริ่มสร้างระบบส่งเสริมนวัตกรรมภายในหน่วยงานของตนเอง และหาทางเชื่อมโยงสู่ระบบใหญ่อย่าง SiCORE-M จะบอกคณะอนุกรรมการว่า กรอบแนวคิดระบบนวัตกรรมไทยในรูปข้างบน ยังไม่ครบถ้วน    และควรปรับปรุงโมเดลข้างบนอย่างไร        

วิจารณ์ พานิช

๓๐ มิ.ย. ๖๕          

                                                                                                                                                       

หมายเลขบันทึก: 704917เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2022 17:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2022 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท