ศิษย์เก่านักกิจกรรม (12) โค้ชฟร้องช์ "วริทธินันท์ สังฆฤทธิ์"


โค้ชฟร้องช์ มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมขนให้ห่างไกลจากอบายมุข มีฐานคิดของการเป็นพลเมืองที่ดี มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม มีความตรงต่อเวลา รักเพื่อนพ้อง รู้แพ้รู้ชนะ รู้อภัย

“ตอนที่ผมเรียนมหา’ลัย พ่อกับแม่ไปทำงานต่างจังหวัดเพื่อส่งให้ผมเรียน ที่บ้านมีแค่ยาย ซึ่งยายก็แก่มากแล้ว ยายผมอายุ 84 ผมได้แต่ไปๆ มาๆ ระหว่างมหา’ลัยกับบ้านเพื่อดูแลยาย พอเรียนจบ ผมจึงกลับมาดูแลยายเต็มตัว และใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในละแวกบ้านเกิด โดยใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือ”

นั่นคือเรื่องราวที่ “ฟร้องซ์” หรือที่เด็กๆ เรียกกันว่า “โค้ชฟร้องช์” อดีตผู้นำองค์กรนิสิตได้บอกเล่ากับผมเมื่อหลายเดือนที่แล้ว

 



โค้ชฟร้อง มีชื่อจริงว่า “นายวริทธินันท์ สังฆฤทธิ์” เป็นศิษย์เก่ารุ่นภุมริน 11ปีการศึกษา 2559 ได้เข้าเรียนในสาขารัฐศาสตร์ เอกการเมืองการปกครอง สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2562 ด้วยเกรดเฉลี่ย 2.62

เมื่อครั้งมีสถานะเป็นนิสิต “ฟร้องช์”  มีตัวตนในแวดวงผู้นำนิสิตอย่างไม่ต้องกังขา

ตลอดระยะเวลาของการเป็นนิสิต เจ้าตัวได้ท่องทะยานอยู่ในถนนสายกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นต้นว่า ประธานเอกการเมืองการปกครอง รุ่นที่ 13 ประธานยุทธศาสตร์พรรคมอน้ำชี หรือแม้แต่เป็นหนึ่งในขุนพลองค์การนิสิต ปีการศึกษา 2560 และ 2562




โดยส่วนตัวแล้ว ผมชื่นชอบเจ้าตัวอย่างเงียบๆ มาสักพักแล้วล่ะ เป็นความชื่นชอบมาตั้งแต่สมัยที่เป็นนิสิต -

ฟร้องช์เป็นคนร่างใหญ่ อวบอิ่ม เสียงดังฟังชัด สีผิวเข้มข้น แววตามุ่งมั่น

จะว่าไปแล้ว ในช่วงที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย แม้ผมกับฟร้องช์ วริทธินันท์ สังฆฤทธิ์ จะเคยพูดคุยกันแบบนับครั้งได้ กระนั้น ผมก็สัมผัสได้ถึงบางอย่างผ่านแววตาของเขา โดยเฉพาะในเรื่องของการ “จริงจัง-จริงใจ” กับ “ความฝัน” ของเขาเอง โดยเฉพาะความฝันของชีวิตที่เกี่ยวโยงกับบ้านเกิดเมืองนอน ที่บ่อยครั้งถูกสื่อสารออกจากเจ้าตัวอย่างเรียบง่ายแต่แฝงฝังซึ่งพลัง





โดยส่วนตัวแล้ว – ผมกับฟร้องซ์ไม่ค่อยสบโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างลึกซึ้ง เพราะส่วนใหญ่เจ้าตัวจะวางตัวเป็น "กุนซือ" และ “คนเบื้องหลัง” ของทีมงานเสียมากกว่า ด้วยเหตุนี้ วิถีของเราสองคนบนถนนสายกิจกรรม จึงดูจะเฉียดๆ กรายๆ กันอยู่ตลอดเวลา

ใช่ครับ -เฉียดๆ กรายๆ แต่สัมผัสได้ว่ามีบางอย่างเกาะเกี่ยวกันอยู่ในที

จวบจนกระทั่งกลางดึกของปลายปี 2562 จู่ๆ ผมกลับได้รับข้อความจากเจ้าตัวผ่านเฟชบุ๊ก

ข้อความที่ว่านั้นคือการ “ร่ำลาหลังเรียนจบและขอบพระคุณที่ผมเคยหนุนเสริมการเรียนรู้แก่เจ้าตัว”

พออ่านจบ ผมยิ่งแปลกใจ เพราะด้วยความที่เราคุยกันน้อยมาก ผมจึงไม่คิดฝันเลยว่า จะได้รับเกียรติจากเจ้าตัวมากถึงเพียงนี้


 

หลังจบการศึกษา ภาพชีวิตของ "ฟร้องช์" ที่กรีดกรายโลดแล่นอยู่ในสังคมออนไลน์ แทนที่จะเป็นเรื่องวิถีครอบครัว หรือแม้แต่วิถีของการเป็นมนุษย์เงินเดือน ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นภาพของการฝังตัวอยู่กับฟุตบอล อันเป็นที่มาของการถูกเรียกขานว่า “โค้ชฟร้องช์” แห่ง “โคกม้า เอสเคอาร์”

ใช่ครับ – เจ้าตัวปลุกปั้นทีมฟุตบอล “โคกม้า เอสเคอาร์” ขึ้นกับมือของตนเอง

 

 

 

ภายหลังโบกมือลาตักสิลานครในปลายปี 2563 เจ้าตัวใช้เวลาไม่นานกับการถักทอความฝันของตนเองและเด็กๆ ในชุมชน โดยมีสนามหญ้าเป็นประหนึ่งห้องเรียนและเวทีแห่งการเพาะบ่มชีวิต โดยวันที่ 4 มกราคม 2563 คือจุดเริ่มต้นของการนัดเด็กและเยาวชนแถวบ้านเกิดมารวมตัวเพื่อซ้อมบอล –

ฟร้องซ์ ยืนยันกับผมหนักแน่นว่า สำหรับเจ้าตัวแล้ว "ฟุตบอลเป็นมากว่าฟุตบอล" เป็นคำยืนยันในทำนองเดียวกับสิ่งที่ผมเคยพูดในวิถีของผู้นำนิสิตว่า “กิจกรรมเป็นยิ่งกว่ากิจกรรม”

ฟร้องช์ เริ่มทำทีม “โคกม้า เอสเคอาร์” ในแบบ “ใจนำพา ศรัทธานำทาง” นั่นคือเริ่มต้นในแบบไม่มีลูกฟุตบอลแม้แต่ลูกเดียว ไม่มีสนามซ้อมเป็นของตัวเอง ทุกๆ อย่างใช้ใจขับเคลื่อน ซึ่งเจ้าตัวเดินเท้าเข้าหาคนที่รู้จัก เพื่อขอรับการสนับสนุน ซึ่งมีทั้งคนที่เข้าใจ และไม่เข้าใจ

รวมถึงมีทั้งที่เมตตาให้ความช่วยเหลือ และไม่ให้การช่วยเหลือ

 

 

โค้ชฟร้องช์ บอกเล่ากับผมต่อเนื่องมาโดยตลอดว่า เหตุผลที่อยากทำทีมฟุตบอล ไม่ใช่แค่ว่าหลงรักเกมส์ฟุตบอลเป็นการส่วนตัว รวมถึงไม่ใช่อยากสร้างบารมีให้กับตัวเองโดยมีเด็กและฟุตบอลลูกกลมๆ เป็นเครื่องนำพา

โค้ชฟร้องช์ มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมขนให้ห่างไกลจากอบายมุข มีฐานคิดของการเป็นพลเมืองที่ดี มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม มีความตรงต่อเวลา รักเพื่อนพ้อง รู้แพ้รู้ชนะ รู้อภัย

 

 

ด้วยฐานคิดเช่นนั้น วิถีการพัฒนาเด็กและเยาวชนของโค้ชฟร้องช์ จึงไม่ใช่แค่ใช้เกมส์ฟุตบอลเป็นเครื่องมือ บ่มเพาะ ตรงกันข้ามกลับผูกโยงชีวิตของเด็กๆ ในสังกัดเข้ากับกิจกรรมทางสังคมอย่างสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างเช่น เป็นกองหนุนภาครัฐและชุมชนสู้รบปรบมือกับโควิดอย่างไม่ย่อท้อ บ่อยครั้งยกทีมฟุตบอลลงพื้นที่ไปแจกหน้ากากอนามัยและข้าวของต่างๆ บ้างไปช่วยประกอบเตียงให้กับศูนย์ที่พักคอย หรือโรงพยาบาลสนามในเขตอำเภอประโคนชัย

รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง เช่น ส่งมอบน้ำดื่มให้กับนักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งปวงนั้นล้วนเป็นกระบวนการที่เจ้าตัวปั้นแต่งขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาให้เด็กๆ ในทีมได้เรียนรู้และสัมผัสอย่างลึกซึ้งถึงคุณค่าและความหมายของชีวิต อาทิเช่น จิตอาสา ทำงานกันเป็นทีม รู้จักเป้าหมายชีวิตและการวางแผนชีวิต

 

 

จากวันนั้นถึงวันนี้ ถึงแม้วิถีแห่งการงานของโค้ชฟร้องช์จะเปลี่ยนผ่านอยู่บ่อยครั้ง แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนผ่านไปเลยก็คือการใช้ชีวิตที่บ้านเกิด-ดูแลยาย และการสวมบทบาทโค้ช หรือการเรียนรู้ที่จะเป็นวิศวกรชีวิตให้กับเด็กๆ ผ่านฟุตบอลลูกกลมๆ

ในทำนองเดียวกัน จากวันนั้นถึงวันนี้ ทีม “โคกม้า เอสเคอาร์” มีระยะทางของการเดินทางร่วมๆ จะ 4 ปี เห็นได้ชัดว่า โค้ชฟร้องช์ ยังคง “จริงจัง-จริงใจ” ต่อความฝันของตนเองอย่างน่ายกย่อง กล่าวคือ ไม่ว่าจะล้มลุกคลุกคลานมาแค่ไหน เจ้าตัวก็ไม่ยอมถอดใจ ตรงกันข้ามกลับยิ่งมุ่งมั่นอุทิศกายและใจให้กับเด็กๆ อย่างระห่ำ

โค้ชฟร้องช์เพียรพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เด็กๆ ได้รับโอกาสในการพัฒนาตัวเองผ่านเกมส์ฟุตบอลและกิจกรรมทางสังคม โดยหลีกเลี่ยงที่จะให้เด็กๆ แบกรับค่าใช้จ่ายเอง เว้นเสียแต่จำเป็นจริงๆ และในความจำเป็นที่ว่านั้นก็คือ “เป็นภาระให้น้อยที่สุดเท่าที่พึงจะทำได้”

 

 

ความสำเร็จในมุมของ “โค้ชฟร้อช์” ผมเข้าใจว่าเจ้าตัวไม่ได้ชี้วัดด้วยจำนวนถ้วยรางวัล หรือเหรียญรางวัลใดๆ หากแต่หมายถึงเด็กๆ ในทีมเติบโตและเติบกล้าอย่างมีเหตุมีผล มีเป้าหมายในชีวิต รับผิดขอบต่อตนเองและสังคม มิใช่จ่อมจมอยู่กับอบายมุข หรือแม้แต่กักขังตัวเองไว้กับผลการแข่งขันทั้งในและนอกสนาม

ด้วยแนวคิด หรือปรัชญาเช่นนี้ จึงอาจเรียกได้ว่า สำหรับโค้ชฟร้องช์แล้ว “ฟุตบอลจึงเป็นมากกว่าฟุตบอล” เพราะสิ่งที่กำลังปลุกปั้นอยู่นั้นคือการ “สร้างคน สร้างทีม” หรือแม้แต่ “การสร้างพลเมืองที่ดี” ให้กับสังคม

จึงไม่แปลกที่วันนี้ “โคกม้า เอสเคอาร์” เริ่มได้รับความสนใจและเมตตามากขึ้นจากคนในท้องถิ่น เช่นเดียวกับที่กองร้อย ตชด.216 ให้ความอนุเคราะห์ด้านสนามการฝึกซ้อม ซึ่งเด็กเกือบๆ 50 คน ส่วนใหญ่ล้วนมาจากอำเภอประโคนชัยและอำเภอพลับพลาชัย อันเป็นมาตุภูมิของเขาเอง

เป็นที่น่าขื่นใจว่า วันนี้ เด็กในทีมบางคนก้าวเข้าสู่โรงเรียนกีฬาได้อย่างสง่า บางคนก้าวเข้าสู่อะคาเดมี่ของทีมฟุตบอลในไทยลีค บ้างก็เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น

นี่คือความงดงามในอีกมุมหนึ่งที่ผมสัมผัสได้จากชายหนุ่มร่างใหญ่อันอวบอิ่มและมีแววตาอันมุ่งมั่นต่อความฝันของตนเอง

และนี่คือความงอกงามในทีมฟุตบอลที่สื่อให้เห็นว่า การสร้างคนสร้างทีมของโค้ชฟร้องช์ บัดนี้เริ่มก่อเกิดมรรคผลบ้างแล้ว และโค้ชฟรองช์ก็กำลังทำให้เด็กๆ ในทีมเชื่อและศรัทธาว่า "ฟุตบอลเป็นยิ่งกว่าฟุตบอล"

ชื่นชม และให้กำลังใจ นะครับ

 

เรื่อง : พนัส ปรีวาสนา

ภาพ : วริทธินันท์ สังฆฤทธิ์

#บอกเล่าเก้าสิบ #ศิษย์เก่า #มมส. #มศว มหาสารคาม

 

 

 

 

 


 

หมายเลขบันทึก: 704909เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2022 16:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2022 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท