เพื่อครูและนักเรียน เป็นนักพัฒนาตนเอง  9. กรอบ ๑.๔ การเรียนรู้เชิงรุก (active learning) 


 

การเรียนรู้จากการปฏิบัติ ที่อธิบายในตอนที่แล้ว คือตอนที่ ๘ เป็นการเรียนรู้เชิงรุกอย่างหนึ่ง   

ที่จริงวิธีจัดการเรียนรู้เชิงรุก มีรายละเอียดโดยพิสดารในหนังสือ ครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยง (https://www.scbfoundation.com/stocks/14/file/16061988173lfnp14.pdf)     หลักการโดยย่อคือ เริ่มจากการให้นักเรียนได้เรียนรู้ระดับตื้น (superficial)  เคลื่อนสู่ระดับลึก (deep)  และต่อไปยังระดับเชื่อมโยง (transfer)    โดยครูจัดกระบวนการให้นักเรียนได้เรียนอย่างมีแรงบันดาลใจ  สนุกสนาน เห็นคุณค่า และเห็นความก้าวหน้าของตนเอง   พร้อมๆ ไปกับได้พัฒนาสมรรถนะสำคัญต่างๆ ใส่ตนเอง   

หนังสืออีกเล่มหนึ่ง ที่จะช่วยแนะนำวิธีการให้ครูจัดการเรียนรู้เชิงรุกได้อย่างมีพลังคือ สอนเสวนา สู่การเรียนรู้เชิงรุก (https://www.scbfoundation.com/media_knowledge/document/292/สอนเสวนาสู่การเรียนรู้เชิงรุก-21237)    หลักการโดยย่อคือ ครูมีวิธีการหนุนให้ศิษย์พูดเพื่อสร้างความรู้ใส่ตน   

อีกเล่มหนึ่ง ที่แนะนำวิธีสอนวิชาให้นักเรียนได้เรียนรู้เชิงรุกคือ สอนอย่างมือชั้นครู (https://www.leadershipforfuture.com/teaching-at-its-best-book/)   หนังสือเล่มนี้มุ่งสื่อสารต่ออาจารย์มหาวิทยาลัย   แต่นำมาปรับใช้ได้กับครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เป็นอย่างดี   

หากจะให้ผมนิยาม “การเรียนรู้เชิงรุก” ผมนิยามว่า หมายถึงการเรียนรู้ที่มีเป้าหมายชัดเจน สมองตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา    เพื่อให้เครือข่ายใยสมองส่วน “ความจำใช้งาน” (working memory) ทำหน้าที่สร้างเครือข่ายใยสมองส่วน “ความจำระยะยาว” (longterm memory) ที่แน่นแฟ้น    ตามที่เสนอไว้ในการบรรยายเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕  และมีการบันทึกวิดีทัศน์ออกเผยแพร่   เข้าไปศึกษาได้ที่ https://gotoknow.org/posts/702563 

นอกจากมีเป้าหมายชัดเจนแล้ว ผู้เรียนต้องประเมินความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของตนเองได้   และตระหนักว่าตนจะต้องปรับปรุงตนเองในด้านใดบาง ในสมรรถนะที่ต้องการพัฒนา    รวมทั้งเพื่อใช้ปรับปรุงวิธีเรียนรู้ของตนเอง   

การเรียนรู้เชิงรุก ใช้ประสาทสัมผัสทุกด้าน   ใช้กระบวนการทางสังคม คือเรียนเป็นทีม   และมีการสังเกต ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) อยู่ตลอดเวลา     มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และรับฟังซึ่งกันและกัน 

การเรียนรู้เชิงรุก เริ่มด้วยกิจกรรมกระตุ้นสมอง เพื่อให้สมองตื่นตัว     และควรมีการกระตุ้นสมองเป็นระยะๆ เมื่อครูสังเกตว่านักเรียนเริ่มง่วงหรืออ่อนล้า   

องค์ประกอบของการเรียนรู้เชิงรุกแสดงด้วยลักษณะ ๑๒ ประการของห้องเรียนประสิทธิผลสูง (high functioning classroom) ดังแผนผัง

A picture containing bar chartDescription automatically generated     

โดยผมขอแก้ไขปัจจัยที่ ๔ “การจัดพื้นที่” เปลี่ยนคำว่า “การประชุมปฏิบัติการ”  เป็น “ห้องทำงาน” หรือ “ห้องปฏิบัติการ” (workshop หรือ studio)    ซึ่งหมายความว่า การจัดพื้นที่ภายในห้องเรียนไม่จัดเรียงโต๊ะนักเรียนเป็นแถวหันหน้าเข้าหากระดานดำและครู    แต่จัดเป็น “ห้องทำงาน” ร่วมกันเป็นกลุ่มๆ ของนักเรียน 

การเรียนรู้เชิงรุก ใช้การสื่อสารแสดงออกหลากหลายแบบผสมกัน ได้แก่ทาง พูด – ฟัง (auditory)    การใช้สื่อทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพยนตร์ (audio-visual)    การแสดงท่าทาง    การวาดภาพหรือสร้างประติมากรรม    รวมทั้งการแสดงละคร   หรือนิทรรศการ    และกิจกรรมกลุ่มหลากหลายรูปแบบ    ทั้งนี้ เพื่อสื่อสารและเรียนรู้ในมิติที่ซับซ้อน ลึกและเชื่อมโยง    ทั้ง ๔ ด้านของ VASK    

ควรใช้การสื่อสารหลากหลายแบบสลับกัน เพื่อกระตุ้นสมองของให้ผู้เรียนให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา   

วิธีเรียนรู้เชิงรุกที่สำคัญที่สุดคือ การปฏิบัติในสถานการณ์จริง หรือการทำงานนั่นเอง    โดยที่ผู้เรียนไม่เพียงเสนอผลงานหรือความสำเร็จในงานของตนเองได้   แต่ต้องอธิบายได้ว่าชิ้นงานนั้นสำเร็จได้ด้วยความรู้หรือทักษะอะไร    ตน (พวกตน -  ทีมงาน) ได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานนั้น   ทั้งจากขั้นตอนหรืองานส่วนที่ทำสำเร็จ และจากความล้มเหลวที่เผชิญระหว่างทาง     

ครูใช้คำถามกระตุ้นการสังเกตและใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) ของนักเรียนเป็นระยะๆ   โดยใช้คำถามให้สะท้อนคิดเกี่ยวกับ V, A, S, K สลับกันไปตามสถานการณ์    เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ครบทั้ง ๔ มิติของสมรรถนะดังกล่าว     

การเรียนรู้เชิงรุกเป็น “การเรียนรู้ขาออก”   ไม่ใช่การเรียนรู้ขาเข้า ที่เน้นการรับความรู้สำเร็จรูปจากภายนอก 

วิจารณ์ พานิช

๓ ก.ค. ๖๕

   

 

 

        

     

หมายเลขบันทึก: 704853เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2022 18:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2022 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่ดีๆๆ นะค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท