สมรรถนะสำคัญไฉน (Why competencies?)


ดีใจที่ประเทศไทยหันมาให้ความสนใจที่จะนำใช้แนวคิด ‘สมรรถนะ (competency)’ ในการทำงานและการจัดการศึกษาของประเทศครับ วันนี้่จึงอยากแชร์ความเข้าใจและความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้หน่อยครับ

คำว่า ‘สมรรถนะ’ ในภาษาไทยของเราใช้สลับกันไปมาระหว่างคำว่า  ‘capability กับ competency’ ครับ ซึ่งสองคำนี้มีความหมายต่างกัน แม้จะสัมพันธ์กัน แต่ถ้าไม่เข้าใจความแตกต่างของสองคำนี้อาจจะทำให้การนำใช้แนวคิด'competency' ไม่เป็นไปตามแนวคิดหลักของเรื่องนี้เท่าที่ควรครับ

คำว่า ‘competency​’ หรือ ที่เราแปลว่า ‘สมรรถนะ’ นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ครับ David McClelland เสนอให้นำใช้แนวคิดนี้กับการวัดผลการศึกษาตั้งแต่ต้นทศวรรตที่ 1970 นัยว่าในการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานั้นควรวัดทั้งคุณลักษณะภายในและภายนอกของบุคคลจึงจะเป็นการวัดสมรรถนะที่แท้จริงของบุคคล 

ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้แนวคิดและวิธีการนำใช้แนวคิดดังกล่าวได้พัฒนาไปมากถึงขนาดมีการเสนอให้นำใช้ในการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งการจัดการศึกษาของไทยก็กำลังนำใช้แนวคิดดังกล่าวอยู่ในปัจจุบัน 

ในการนำใช้แนวคิด ‘สมรรถนะ’ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการสร้างหลักสูตรสมรรถนะนั้นจำเป็นต้องทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่าง ‘สมรรถนะในความหมาย capability กับ competency’ และความแตกต่างระหว่าง 'หลักสูตรเนื้อหา (content-based curriculum) กับ หลักสูตรสมรรถนะ (competency-based curriculum)' เป็นอย่างดีก่อน ซึ่งแน่นอนครับมีคำอธิบายหลายแนวคิด แต่ผมขอทำความเข้าใจดังนี้ครับ 

ความแตกต่างระหว่าง ‘capability  กับ competency’ 

 capability  เป็นระดับความสามารถที่ทำให้บุคคลมีศักยภาพในการที่จะทำสิ่งใดสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามระดับความสามารถที่เขามีอยู่ บุคคลที่มี​ capability ที่จำทำอะไรได้นั้นจำเป็นต้องมีความสามารถหรือทักษะเฉพาะในเรื่องนั้นในฐานความรู้ของเขา ส่วน competency หมายถึงความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่สำคัญและจำเป็นที่ทำให้าบุคคลมีความสามารถที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดี ดังนั้นในการจะกำหนดว่าคนในชาติ หรือบุคลากรในองค์การควรมีสมรรถนะ (competency) ด้านใดบ้าง เราต้องรู้ก่อนว่าเราต้องการให้คนในชาติ หรือบุคลากรในองค์การของเราสามารถในการทำอะไรได้ก่อน (capability​) แล้วค่อยดูว่าถ้าต้องทำสิ่งนั้นได้ดีแล้ว เขาต้องมีสมรรถนะ ​(competency) อะไร ครับ 

ความแตกต่างระหว่าง ‘content-based กับ​ ​​​competency-based curriculum​'

ความแตกต่างระหว่างหลักสูตรเนื้อหากับหลักสูตรสมรรถนะไม่ได้อยู่ว่าผู้เรียนต้องเรียนรู้และทำอะไรเป็น เพราะไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรเนื้อหา หรือหลักสูตรสมรรถนะ สิ่งที่จะบรรจุในหลักสูตรเป็นสิ่งเดียวกันคือ “ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์' แต่ความแตกต่างของหลักสูตรสองแบบนี้อยู่ที่จุดตั้งต้น กล่าวคือ 

หลักสูตรเนื้องหาเร่ิมต้นที่ว่า เพื่อให้การจัดการศึกษาตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร  ’ผู้เรียนจะเรียนเนื้อหา (ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึ่งประสงค์) อะไร'  ด้วยหวังว่าผู้เรียนจะนำสิ่งที่เรียนไปใช้ต่อไป ส่วนหลักสูตรสมรรถนะนั้นเร่ิมต้นที่ว่า การที่ผู้เรียนจะเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร ผู้เรียนต้องมี ‘สมรรถนะอะไรบ้าง" แล้วค่อยดกำหนด ’ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่จำเป็นของสมรรถนะเหล่านั้นครับ'  

ด้วยหลักคิดที่แตกต่างกันข้างต้น จะทำให้หลักสูตรสมรรถนะเป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความจำเป็นของสมรรถนะที่พึงมีในการทำงาน การดำรงชีวิต และการอยู่ร่วมกันในอนาคต ซึ่งจำทำให้สิ่งที่ต้องเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่จำเป็นตามหลักสูตรสมรรถนะนี้ไม่มาก ขณะที่หลักสูตรเนื้อหานั้นต้องเรียนรู้ทั้งความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่มีขอบเขตกว้าง เพื่อให้มีมากพอในการนำใช้ในอนาคต 

เปรียบเทียบง่าย ๆ หลักสูตรสมรรถนะก็เหมือนการตัดสินใจล่วงหน้าว่าเราจะสร้างคฤหาสน์ หรือกระท่อม  จะได้เตรียมวัสดุได้ถูก ขณะที่หลักสูตรเนื้อหานั้นจะเตรียมวัสดุไว้เป็นโกดัง เพื่อจะได้เลือกใช้ตอนจะสร้างที่อยู่อาศัยครับ 

หวังว่าแนวคิดที่นำเสนอจะก่อนประโยชน์ในการนำใช้แนวคิด ‘competency’ นะครับ

สมาน อัศวภูมิ 

25 กรกฎาคม 2565

หนังสือค้นอ่านเพิ่มเติม

Koech, P.K. Competency-Based Curriculum: Developing Suitable Competencies in Students.  e-book, bought from Amazon.com.

 

หมายเลขบันทึก: 704481เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2022 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มีนาคม 2023 09:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท