ชีวิตที่พอเพียง  4264. อาหารค่ำประเทืองปัญญา


 

เป็นสไตล์การจัดงานงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ “โอชะ” ที่สุดในชีวิตของผม    เป็น “ทวิโอชะ”    คือทั้งอร่อยปาก และอร่อยสมองหรือประเทืองปัญญา                

มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ จัดงานเลี้ยงตอนค่ำ ต้อนรับ Elizabeth Yee, Executive Vice President, Program Strategy and Chief of Staff ที่มาเยือนไทยและประเทศใกล้เคียงเป็นครั้งแรก    โดยเธอเปลี่ยนอาชีพจากนักการธนาคาร มาเป็นนักบริหารกิจการการกุศลที่ มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ ในปี ๒๕๕๘  และก้าวหน้าในตำแหน่งอย่างรวดเร็ว 

โปรดสังเกตว่าระบบกิจกรรมการกุศล หรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะของภาคการกุศลในต่างประเทศเขามีการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ   เดาว่าค่าตอบแทนคงจะเท่าเทียมกับในภาคธุรกิจ    จึงสามารถดึงคนเก่งในภาคการธนาคารมาทำงานในภาคการกุศลได้    แนวคิดนี้ในประเทศเราไม่พัฒนา    เรามองว่าทำงานการกุศลก็ต้องทำฟรี หรือเสียสละยอมรับค่าตอบแทนต่ำ    ทำให้ไม่ได้คนเก่งเข้ามาทำงาน    และกิจการมูลนิธิต่างๆ จึงไม่มีการบริหารแบบมืออาชีพ

Deepali Khanna, Vice President, Asia (สำนักงานอยู่ในกรุงเทพ) เป็นผู้ออกแบบกิจกรรมอาหารค่ำนี้    และเป็นผู้ดำเนินรายการเชิญแขกพูดสั้นๆ ทีละคน    ตั้งแต่ก่อนเสิร์ฟอาหาร และระหว่างอาหาร    เมื่องานเลี้ยงจบผมบอกเธอว่า เป็นดินเน่อร์ที่ประเทืองปัญญาที่สุดในชีวิตของผม     เป็นคำกล่าวจากใจจริง 

เริ่มจากการเตรียมงาน เชิญแขกที่เป็นผู้ริเริ่มงานสร้างสรรค์สังคม มาจากหลากหลายวงการ   ที่สะท้อนความกว้างและทันสมัยของมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์    ได้แก่ด้าน เมืองแห่งอนาคต    ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน    ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม    การเฝ้าระวังโรค    และด้านสุขภาพ   

ผมตีความว่า มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ มีการจัดการแบบมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการทำงานที่ก่อผลกระทบต่อโลก    เมื่อบอร์ดชัดเจนในแนวทางที่จะสนับสนุนในอนาคตก็หาคนเก่งมาทำงาน     

เมื่อกว่าสี่สิบปีมาแล้ว ผู้นำของ  มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ มีความคิดว่า   วงการแพทย์ของโลกอ่อนแอเรื่องระบาดวิทยา   หมอที่ทำหน้าที่รักษาโรค ควรมีความรู้ด้านระบาดวิทยา สำหรับทำหน้าที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพ    จึงจัดให้มีการอบรม “ระบาดวิทยาคลินิก” (clinical epidemiology) แก่อาจารย์ในโรงเรียนแพทย์เครือข่าย    และในที่สุดพัฒนาเป็น INCLEN – International Clinical Epidemiology Network   มีสามโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทยอยู่ในเครือข่าย คือจุฬา  มหิดล และขอนแก่น   ผมเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พยายามสมัครเป็นสมาชิกโรงเรียนแทย์แห่งที่ ๔ ของไทย แต่ไม่สำเร็จ   แต่ก็ได้รับเชิญเข้าร่วมการสัมมนา นำเสนอผลงานของ INCLEN หลายครั้ง ในหลายปี    ตอนนี้คิดว่าเป็นการวางรากฐานให้หมอไทยมีแนวคิดเชิงระบาดวิทยา    ก่อผลดีต่อการต่อสู้กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD – Non-Communicable Diseases) ในปัจจุบันอย่างมากมาย         

เมื่อ Deepali Khanna เริ่มขอให้แขกที่มาเล่าเรื่องที่ตนทำหรือเชื่อมโยงสัมพันธ์กับ มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ ผมก็เล่าเรื่องดังกล่าว

ผมเอ่ยกับ นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ที่นั่งติดกันว่า วิธีจัดเลี้ยงแบบนี้ดีมาก   เราน่าจะเอาไปใช้บ้าง   

ระหว่างนั่งกินอาหารไป ฟังแขกแต่ละคนเล่าบทบาทของตน ผมจด keywords ลงกระดาษไว้ว่า   Foundation that leads the future, Innovate the future, Precision public health, Build science behind rice. 

มูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ เป็นตัวอย่างของการทำงานสาธารณประโยชน์ แบบผลักดันหรือดึงโลกหรือสังคม สู่มิติอนาคตที่ก้าวข้ามรูปแบบเดิมๆ  สู่โลกใหม่ที่มีการเปลี่ยนใหญ่ (transformation)    ผ่านการจัดการที่ทรงพลัง   

วิจารณ์ พานิช

๒๔ มิ.ย. ๖๕

ห้อง ๕๑๑  โรงแรมไมด้า   นครปฐม 

 

หมายเลขบันทึก: 704188เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2022 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กรกฎาคม 2022 17:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท